ข้อควรระวัง ของ พลูโทเนียม

ความเป็นพิษ

ไอโซโทปและสารประกอบพลูโทเนียมเป็นสารพิษที่มีความเป็นพิษสูงซึ่งมีสาเหตุมาจากภาวะกัมมันตภาพรังสี การปนเปื้อนของพลูโทเนียมออกไซด์ (พลูโทเนียมรวมตัวกับออกซิเจนด้วยตนเอง) เป็นผลมาจากอุบัติเหตุนิวเคลียร์ทางทหารเมื่ออาวุธนิวเคลียร์ถูกเผา[65] แต่เมื่อเทียบคุณสมบัติความเป็นพิษทางเคมีเพียงอย่างเดียวแล้ว พลูโทเนียมเป็นอันตรายน้อยกว่าสารหนูหรือไซยาไนด์และมีพิษพอๆกับคาเฟอีน[66][67]

พลูโทเนียมจะเป็นอันตรายมากถ้าเราหายใจเอาพลูโทเนียมเข้าไป อันตรายมากกว่าการรับประทานพลูโทเนียมเข้าไปเสียอีก ความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งปอดจะเพิ่มขึ้นเมื่อรับรังสีในหนึ่งครั้งมีค่าปริมาณรังสีสมมูลของการหายใจเอารังสีเข้าไปเกินกว่า 400 mSv[68] กระทรวงพลังงานแห่งสหรัฐอเมริกาประมาณว่าความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งในช่วงชีวิตเมื่อสูดเอาพลูโทเนียมเข้าไป 5,000 อนุภาคซึ่งแต่ละอนุภาคมีขนาด 3 ไมครอน จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 1% จากค่าเฉลี่ยในสหรัฐอเมริกา[69] ร่างกายคนเราจะไม่ดูดซึมพลูโทเนียมจากการรับประทานเข้าไป (ร่างกายจะดูดซึมพลูโทเนียมออกไซด์เพียง 0.04% เท่านั้นจากการรับประทาน) [27] เมื่อพลูโทเนียมถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย จะถูกขับออกจากร่างกายอย่างช้าๆ ซึ่งมีครึ่งชีวิตทางชีวภาพ 200 ปี[70] พลูโทเนียมนั้นมีรสชาติเหมือนโลหะ[71]

รังสีแอลฟาที่พลูโทเนียมปล่อยออกมาไม่สามารถทะลุผิวหนังเข้าไปได้ แต่สามารถฉายเข้าไปในอวัยวะภายในได้เมื่อรับประทานหรือสูดดมพลูโทเนียมเข้าไป[27] โดยเฉพาะกระดูกซึ่งดูดซับพลูโทเนียมอยู่บริเวณผิวหน้าของกระดูกและตับซึ่งจะสะสมพลูโทเนียมเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ[26]

เมื่อพิจารณาภาพรวมแล้วพลูโทเนียมอาจเป็นเหตุของการรับพิษรังสีอย่างรุนแรงจนถึงตายได้ถ้าสูดดมหรือรับประทานเข้าไป อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีใครตายจากการสูดดมหรือรับประทานพลูโทเนียมและพบว่ามีหลายคนที่ตรวจพบพลูโทเนียมในร่างกาย[67]

ความสามารถในการเกิดวิกฤต

แบบจำลองพลูโทเนียมทรงกลมที่ล้อมรอบด้วยแท่งสารประกอบคาร์บอน-ทังสเตนสำหรับสะท้อนนิวตรอนในการจำลองการทดลองของแฮรี่ เดกเลี่ยน (Harry Daghlian) ในปี ค.ศ. 1945

สิ่งที่ต้องระวังอีกอย่างหนึ่งคือ ต้องระวังไม่ให้พลูโทเนียมสะสมจนถึงค่าของมวลวิกฤต เนื่องจากมวลวิกฤตของพลูโทเนียมมีค่าหนึ่งในสามของยูเรเนียม-235 เท่านั้น[6] พลูโทเนียมที่เกิดวิกฤตจะปลดปล่อยนิวตรอนและรังสีแกมมาออกมาทำให้ถึงตายได้[72] พลูโทเนียมในสารละลายสามารถมีมวลถึงระดับของมวลวิกฤตได้ง่ายกว่าของแข็งเพราะจากสารหน่วงนิวตรอนโดยไฮโดรเจนในน้ำ[12]

ในอดีตพลูโทเนียมเคยมีมวลถึงระดับวิกฤตโดยอุบัติเหตุมาแล้ว โดยบางครั้งทำให้เกิดอันตรายจนถึงแก่ชีวิต การจัดการกับแท่งสารประกอบคาร์บอน-ทังสเตนที่ล้อมรอบพลูโทเนียมทรงกลมหนักประมาณ 6.2 กก.ซึ่งเป็นระดับทำให้เป็นอันตรายถึงชีวิต อย่างขาดความระมัดระวังที่ลอส อลามอส ในวันที่ 21 สิงหาคม ค.ศ. 1945 เป็นผลให้ แฮรี่ เค เดกเลี่ยน จูเนียร์ (Harry K. Daghlian, Jr) นักวิทยาศาสตร์ โดยได้รับรังสีประมาณ 5.1 ซีเวอร์ต (510 rems) และตายใน 28 วันให้หลัง[73] เก้าเดือนถัดมา ลูอิส สโลทิน (Louis Slotin) นักวิทยาศาสตร์อีกคนหนึ่งของลอส อลามอส ก็เสียชีวิตในอุบัติเหตุลักษณะเดียวกัน โดยเกิดจากตัวสะท้อนเบริลเลียมและแกนพลูโทเนียม (หรือที่เรียกว่า "แก่นปีศาจ") ชุดเดียวกันกับที่ทำให้เดกเลี่ยนเสียชีวิต[74] เหตุการณ์นี้ถูกจำลองอยู่ในภาพยนตร์ ปี ค.ศ. 1989 เรื่อง แฟตแมนแอนด์ลิตเติลบอย

ในเดือนธันวาคม ปี ค.ศ. 1958 ระหว่างกระบวนการทำให้พลูโทเนียมบริสุทธิ์ที่ลอส อลามอสนั้น มวลในถังผสมได้เพิ่มขึ้นจนถึงระดับวิกฤต ทำให้ผู้ควบคุมเครนเสียชีวิต[75] อุบัติเหตุในลักษณะเดียวกันนี้ได้เกิดขึ้นอีกในสหภาพโซเวียต ญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศ[75]

ความสามารถในการติดไฟ

โลหะพลูโทเนียมเป็นวัตถุติดไฟอันตราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นผงละเอียด[76] ในสิ่งแวดล้อมที่มีความชื้น พลูโทเนียมจะสร้างสารประกอบไฮโดรเจนบนผิวหน้าซึ่งอาจเกิดการลุกไหม้เองได้ในอากาศที่อุณหภูมิห้อง[76] พลูโทเนียมเมื่อรวมตัวกับออกซิเจน ปริมาตรจะขยายมากกว่า 70% ของปริมาตรเดิม อาจทำให้หีบห่อที่บรรจุพลูโทเนียมนั้นแตกหักได้[76] กัมมันตภาพรังสีจากการไหม้ของวัสดุพลูโทเนียมจะยิ่งเพิ่มความอันตราย ทรายแม็กนีเซียมออกไซด์เป็นวัสดุที่ดีที่สุดในการใช้ดับไฟที่เกิดจากพลูโทเนียม โดยจะทำหน้าที่กันความร้อนและออกซิเจน[76] วัสดุที่ช่วยระบายความร้อน เช่น ฮีตซิงก์ สามารถช่วยปิดกั้นออกซิเจนได้อีกด้วย ควรระมัดระวังเป็นพิเศษในการเก็บหรือใช้พลูโทเนียมในทุกรูปแบบ โดยทั่วไปแล้วจะเก็บในที่แห้งโดยมีบรรยากาศเป็นก๊าซเฉื่อย[77][note 11]

แหล่งที่มา

WikiPedia: พลูโทเนียม http://discovermagazine.com/2005/nov/end-of-pluton... http://fr.jpost.com/servlet/Satellite?cid=12358983... http://www.philosophy.umd.edu/Faculty/LDarden/scii... http://alsos.wlu.edu/qsearch.aspx?browse=science/P... http://georgewbush-whitehouse.archives.gov/news/re... http://www.nndc.bnl.gov/chart/ http://www.nndc.bnl.gov/content/evaluation.html http://www.atsdr.cdc.gov/toxprofiles/tp143.html http://www.cfo.doe.gov/me70/manhattan/publications... http://consolidationeis.doe.gov/PDFs/PlutoniumANLF...