ประวัติ ของ ภาษาถิ่นพิเทน

ผู้ใช้ภาษาถิ่นพิเทนเชื่อว่าตนมีบรรพบุรุษอพยพมาจากกรุงศรีอยุธยา[1][2][3] ตามมุขปาฐะนั้นว่าบรรพบุรุษได้เดินทางลงมาทางใต้เพื่อตามหาช้างสำคัญของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งผู้นำในการติดตามช้างสำคัญนั่นคือพี่เณร (หรือโต๊ะหยัง) แต่การติดตามช้างสำคัญนั้นไม่สำเร็จ ด้วยเกรงกลัวพระราชอาญาจึงหลบลี้ไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในป่า อันเป็นที่มาของชื่อตำบลพิเทนซึ่งเพี้ยนมาจากชื่อของพี่เณรนั้นเอง[1][3][4] ลูกหลานที่สืบสันดานลงมาก็แต่งงานกับคนท้องถิ่นและเข้ารับอิสลาม[2][5] ส่วนสุสานพี่เณรตั้งอยู่ที่บ้านควน หมู่ 2 ตำบลพิเทนในปัจจุบัน[6] ในอดีตชาวพิเทนจะมีกิจกรรมรำลึกถึงพี่เณรที่สุสาน โดยจะมีงานจอระทาให้ชาวพิเทนจุดเทียนเป็นกะทา (รูปโดม) แห่จากบ้านไปยังสุสานพี่เณรในยามกลางคืนเพื่อทำบุญให้ รวมทั้งมีการเข้าทรงและการละเล่นต่าง ๆ เช่น สิละหรือมโนราห์ และมีการตัดกิ่งไผ่ยาวสามเมตรและผูกอาหารคาวหวาน ผู้ชนะในการแข่งสิละจะใช้กริชตัดไม้ไผ่ดังกล่าว เด็ก ๆ ที่ล้อมวงชมก็จะเข้าไปแย่งอาหารกันอย่างสนุกสนาน แต่ปัจจุบันมิได้จัดพิธีดังกล่าวแล้ว[1][3]

ภาษาถิ่นพิเทนเป็นภาษาถิ่นที่ใช้เฉพาะกลุ่มชาวไทยมุสลิม[7] ในตำบลพิเทนเท่านั้น[6][8] ผู้ใช้ส่วนใหญ่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป แต่ปัจจุบันนี้ภาษาถิ่นดังกล่าวใกล้สูญหายและไม่เป็นที่นิยมใช้ เพราะชนนิยมใช้ภาษามลายูปัตตานีมากกว่า[1]

แหล่งที่มา

WikiPedia: ภาษาถิ่นพิเทน http://164.115.27.97/digital/files/original/908a1b... http://hhdpiten.blogspot.com/p/blog-page.html http://www.thaitambon.com/tambon/940602 http://soreda.oas.psu.ac.th/show_detail.php?resear... http://soreda.oas.psu.ac.th/show_detail.php?resear... http://district.cdd.go.th/thungyangdaeng/about-us/... http://www.piten.go.th/html/menu-2.asp?action=2&id... https://prachatai.com/journal/2015/04/58680 https://web.archive.org/web/20170519162710/http://... https://web.archive.org/web/20180324080335/http://...