ภาษามลายูเกอดะฮ์ในไทย ของ ภาษามลายูเกอดะฮ์

ผู้ใช้ภาษามลายูเกอดะฮ์ในไทยสามารถใช้พูดภาษาไทยได้ มีความแตกต่างจากภาษามลายู และภาษามลายูปัตตานีไม่มากนัก แต่ในช่วงระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งร้อยปีชาวสตูลก็ลืมภาษามลายูถิ่นของตน เยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีไม่มีใครพูดภาษามลายูถิ่นได้[1] ด้วยเหตุผลทางภูมิศาสตร์ที่ทำให้สตูลต้องติดต่อกับสงขลามากกว่าไทรบุรี[1] ปัจจุบันในสตูลผู้ใช้ภาษานี้ไม่มาก เพราะนิยมใช้ภาษาไทยในชีวิตประจำวันมากกว่าในอดีต

ชาวสตูลที่ใช้ภาษามลายูถิ่นนี้เป็นชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูที่อยู่ในบางหมู่บ้าน บางตำบลของสตูลเท่านั้น เช่น ตำบลเจ๊ะบิลัง, ตำบลตำมะลัง, ตำบลปูยู และตำบลฉลุง แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 3 ตำบล คือ ตำบลเจ๊ะบิลัง, ตำบลตำมะลัง และตำบลบ้านควนเท่านั้นที่ยังใช้ในการอ่านคุตบะห์บรรยายธรรมในมัสยิด[1] แม้ผู้ใช้ภาษาจะมีน้อยลง แต่อิทธิพลของภาษามลายูถิ่นนี้ยังมีปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน เช่น บ้านกุบังปะโหลด (แปลว่า บ้านหนองปลาไหล), บ้านภูเก็ตยามู (แปลว่า บ้านเขาที่มีต้นฝรั่ง), คลองบันนังปุเลา (แปลว่า เกาะที่มีการทำนา), หนองน้ำทุ่งปาดังกลิงค์ (แปลว่า บริเวณที่แขกกลิงคราษฎร์ตั้งถิ่นฐานอยู่) และเขาปูยู (แปลว่า เขาที่กั้นลมพายุ) เป็นต้น[2]

ยังมีจำนวนหนึ่งใช้พูดในจังหวัดตรัง แต่ได้รับอิทธิพลจากภาษาไทยค่อนข้างมาก[3] ในปี พ.ศ. 2544 มีเพียงผู้สูงอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป ที่สามารถใช้ภาษามลายูถิ่นได้ พบได้ในตำบลเกาะลิบง (แปลว่า ต้นหลาวชะโอน) และในตำบลบ่อน้ำร้อน เช่น บ้านสิเหร่ (แปลว่า พลู) และท่าปาบในอำเภอกันตัง[4] ซึ่งบรรพบุรุษของพวกเขาอพยพมาจากเกาะหมาก (ปีนัง) ในมาเลเซีย[5] นอกจากสำเนียงเกอดะฮ์แล้ว ก็ยังพบผู้ใช้ภาษามลายูสำเนียงชวา ซึ่งมีผู้ใช้บนเกาะมุก อำเภอกันตัง[4]

เลยขึ้นไปพบผู้ใช้สำเนียงถิ่นนี้บนเกาะสินไห จังหวัดระนอง[6][7] และพบผู้ใช้จำนวนหนึ่งในบ้านคลองดิน อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ และกำลังลดจำนวนผู้พูดอย่างรวดเร็วเนื่องจากวัยรุ่นหันมาใช้ภาษาไทยถิ่นใต้[8] นอกจากนี้ยังเคยมีการใช้ภาษามลายูถิ่นนี้ในแถบจังหวัดภูเก็ต แต่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อคราวเสด็จประพาสก็พบว่าชาวภูเก็ตพูดภาษามลายูไม่ได้แล้ว[9]