ประวัติศาสตร์ ของ ภาษาฮีบรู

ภาษาฮีบรูจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับภาษาคานาอันไนต์ โดยภาษาฮีบรูและภาษามัวไบต์ (ในจอร์แดน) เป็นกลุ่มคานาอันไนต์ใต้ ในขณะที่ภาษาฟินิเชีย (ในเลบานอน) เป็นกลุ่มคานาอันไนต์เหนือ ภาษากลุ่มคานาอันไนต์ใกล้เคียงกับภาษาอราเมอิกและภาษาอาหรับสำเนียงทางใต้และตอนกลาง สำเนียงต่าง ๆ ของภาษาคานาอันไนต์กลายเป็นภาษาตายไปหมดแล้ว เหลือภาษาฮีบรูเพียงภาษาเดียว ภาษาฮีบรูเป็นภาษาพูดในอิสราเอลตั้ง 1,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช จนถึงยุคไบแซนไทน์ ในคริสต์ศตวรรษที่ 2 หลังจากนั้นกลายเป็นภาษาเขียนจนถึงสมัยการตั้งสถาปนารัฐอิสราเอล

จุดกำเนิดของภาษาฮีบรู

ภาษาฮีบรูจัดอยู่ในภาษากลุ่มเซมิติก โดยอยู่ในสาขาตะวันตกเฉียงเหนือ เริ่มปรากฏเมื่อ 3,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช ภาษาคานาอันไนต์ที่อยู่ในกลุ่มนี้เริ่มปรากฏเมื่อราว 2,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช คาดว่าแยกออกมาจากภาษาอราเมอิกและภาษายูการิติก ภายในภาษากลุ่มคานาอันไนต์ด้วยกันนั้น ภาษาฮีบรูอยู่ในกลุ่มย่อยเดียวกับภาษาอีโดไมต์ ภาษาอัมโมไนต์ และภาษามัวไบต์ ส่วนภาษาคานาอันไนต์อีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มของภาษาฟินิเชียและภาษาลูกหลานคือภาษาปูนิก

ภาษาฮีบรูในฐานะสำเนียงของภาษาคานาอันไนต์

หลักฐานการเขียนด้วยภาษาฮีบรูที่เก่าที่สุดคือปฏิทินเกเซอร์ มีอายุราว 1,000 ปีก่อนคริสต์ศักราชในยุคของดาวิดและโซโลมอน เขียนด้วยอักษรเซมิติกโบราณ คล้ายกับอักษรฟินิเชียที่เป็นต้นแบบของอักษรอีทรัสคัน อักษรกรีกและอักษรโรมัน การเขียนในปฏิทินไม่มีรูปสระ และไม่มีการใช้รูปพยัญชนะแทนเสียงสระดังที่ปรากฏในการเขียนภาษาฮีบรูรุ่นต่อมา ในบริเวณเดียวกันนั้น มีแผ่นจารึกเก่าที่เขียนด้วยภาษากลุ่มเซมิติกอื่น ๆ จำนวนมาก ส่วนใหญ่เขียนด้วยอักษรที่มาจากไฮโรกลิฟของอียิปต์

ภาษาที่เป็นต้นตระกูลของภาษาฮีบรูและภาษาฟินิเชียเรียกภาษาคานาอันไนต์ เป็นภาษาแรกที่ใช้อักษรที่พัฒนามาจากเฮียโรกลิฟฟิก เอกสารโบราณอีกชิ้นหนึ่งที่เป็นที่รู้จักกันดีคือ จารึกมัวไบต์ เขียนด้วยภาษามัวไบต์ จารึกซีลอมที่พบในเยรูซาเลมเป็นตัวอย่างในยุคแรก ๆ ของภาษาฮีบรู

ภาษาฮีบรูคลาสสิก

ในความหมายอย่างกว้าง ภาษาฮีบรูคลาสสิกหมายถึงภาษาพูดในยุคโบราณของอิสราเอลตั้งแต่ 1,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช จนถึงพุทธศตวรรษที่ 9 มีสำเนียงที่เหลือรอดและผสมผสานกันมาก ชื่อที่ใช้เรียกมักมาจากวรรณคดีที่มีชื่อเสียงที่เกี่ยวข้องกับสำเนียงนั้น ๆ

  • ภาษาฮีบรูไบเบิลโบราณ อยู่ในช่วง 457 – 57 ปีก่อนพุทธศักราช เริ่มตั้งแต่ยุคโมนาร์จิกจนถึงการอพยพไปบาบิโลเนีย บางครั้งเรียกภาษาฮีบรูโบราณหรือฮีบรู-ปาเลา เขียนด้วยอักษรคานาอันไนต์
  • ภาษาฮีบรูไบเบิล ใช้ในช่วง 57 ปีก่อนพุทธศักราช ใกล้เคียงกับการอพยพไปบาบิโลเนียและปรากฏในคัมภีร์ไบเบิลที่เขียนขึ้นในยุคเดียวกันมักเรียกว่าภาษาฮีบรูไบเบิลคลาสสิก เขียนด้วยอักษรอราเมอิก
  • ภาษาฮีบรูไบเบิลรุ่นหลังใช้ในช่วง 57 ปีก่อนพุทธศักราช ถึง พ.ศ. 143 ซึ่งเป็นยุคเดียวกับยุคของจักรวรรดิเปอร์เซีย ปรากฏในคัมภีร์ไบเบิลฉบับของเอซราและเนเฮเมียห์
  • ภาษาฮีบรูในม้วนหนังสือทะเลสาบเดดซี มีอายุราว พ.ศ. 243 – 643 ซึ่งเป็นยุคที่กรีกและโรมันมีอิทธิพลเหนือกรุงเยรูซาเลมและมีการทำลายวิหารต่าง ๆ พบในม้วนหนังสือคุมรานซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของม้วนหนังสือแห่งทะเลสาบเดดซี บางครั้งเรียกภาษาฮีบรูคุมราน ในยุคแรกเขียนด้วยอักษรอราเมอิกที่พัฒนามาเป็นอักษรฮีบรูทรงเหลี่ยม ม้วนหนังสือรุ่นหลัง ๆ เขียนด้วยอักษรฮีบรูอย่างที่ใช้ในปัจจุบัน
  • ภาษาฮีบรูมิซนาอิก ใช้ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 6 จนถึงช่วงพุทธศตวรรษที่ 8 - 9 ซึ่งเป็นยุคที่โรมันปกครองเยรูซาเลม พบในมิซนะห์และโตเซฟตาซึ่งอยู่ในคัมภีร์ทัลมุดและบางส่วนของม้วนหนังสือแห่งทะเลสาบเดดซี บางครั้งเรียกภาษาฮีบรูตันไนติกหรือฮีบรูรับบินิกยุคต้น

ในบางครั้ง ภาษาฮีบรูคลาสสิกที่กล่าวมาข้างต้นจะเรียกรวม ๆ ว่าภาษาฮีบรูไบเบิล นักภาษาศาสตร์ที่ศึกษาภาษาฮีบรูลงความเห็นว่าภาษาฮีบรูในม้วนหนังสือแห่งทะเลสาบเดดซีพัฒนามาเป็นภาษาฮีบรูไบเบิลยุคหลังแล้วจึงมาเป็นภาษาฮีบรูมิซนาอิก เมื่อเข้าสู่ยุคไบแซนไทน์ในพุทธศตวรรษที่ 9 ภาษาฮีบรูใช้เป็นภาษาพูดน้อยลง

ภาษาฮีบรูในมิซนะห์และทัลมุด

เป็นคำที่ใช้เรียกภาษาฮีบรูที่ใช้ในคัมภีร์ทัลมุดของชาวยิว สำเนียงของภาษานี้คือภาษาฮีบรูมิซนาอิกที่เป็นภาษาพูดและภาษาฮีบรูอโมราอิกที่เป็นภาษาทางศาสนา

ส่วนแรกของทัลมุดเรียกว่ามิซนะห์ซึ่งมีการตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 743 เขียนด้วยสำเนียงมิซนาอิก ซึ่งพบในม้วนหนังสือทะเลสาบเดดซีด้วย จัดว่าเป็นสำเนียงหนึ่งของภาษาฮีบรูคลาสสิก อีก 100 ปีต่อมาหลังการเผยแพร่ ภาษาฮีบรูมิซนาอิกไม่มีการใช้เป็นภาษาพูดอีก ส่วนท้ายของทัลมุดคือเกมารา ให้ความเห็นเกี่ยวกับมิซนะห์และเกไรตอต เขียนด้วยภาษาอราเมอิก ภาษาฮีบรูที่เหลืออยู่ในฐานะภาษาเขียนคือภาษาฮีบรูอโมราอิกที่ปรากฏในเกมาราด้วย

ภาษาฮีบรูยุคกลาง

หลังจากยุคของทัลมุดมีพัฒนาการของภาษาฮีบรูในฐานะภาษาเขียนที่เรียกภาษาฮีบรูยุคกลางขึ้น ที่สำคัญคือภาษาฮีบรูติเบอเรียนซึ่งเป็นสำเนียงพื้นเมืองของกาลิลีที่กลายเป็นมาตรฐานของภาษาฮีบรู ใช้ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 – 15 และใช้ในการอ่านออกเสียงภาษาฮีบรูในไบเบิล

ภาษาฮีบรูติเบอเรียนได้มีการเพิ่มเครื่องหมายสระและกำหนดไวยากรณ์เพื่อรักษาลักษณะของภาษาฮีบรูไว้ การกำหนดสระนี้เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกับการกำหนดเครื่องหมายสระในอักษรซีเรียคที่กำหนดโดยใช้จุดเช่นกัน ในยุคทองของวัฒนธรรมยิวในคาบสมุทรไอบีเรีย มีการกำหนดคำศัพท์และไวยากรณ์ของภาษาฮีบรูไบเบิลโดยได้พื้นฐานาจากภาษาอาหรับคลาสสิก

เนื่องจากมีความต้องการที่จะแสดงแนวคิดทางวิทยาศาสตร์และปรัชญาจากภาษากรีกคลาสสิกและภาษาอาหรับยุคกลาง ภาษาฮีบรูยุคกลางจึงมีการยืมศัพท์เฉพาะจากภาษาเหล่านี้ หรือสร้างคำเพิ่มจากรากศัพท์เดิมในภาษาฮีบรู นอกจากนี้ ภาษาฮีบรูยังใช้เป็นภาษาทางการค้าระหว่างชาวยิวที่อยู่คนละประเทศ