ภาษาแต้จิ๋วในไทย ของ ภาษาแต้จิ๋ว

ภาษาจีนแต้จิ๋วในประเทศไทยส่วนใหญ่มีภาษาใกล้เคียงกับคนแต้จิ๋วแถบเมืองเตี่ยอังและเถ่งไห้ ซึ่งมีลักษณะเสียงที่นุ่มนวลไม่แข็งกระด้างเช่นถิ่นอื่น อีกทั้งภาษาพูดของชาวแต้จิ๋วในประเทศไทยก็ไม่เหน่อเช่นคนแต้จิ๋วในจีนพูดกัน หากเป็นรุ่นลูกรุ่นหลานที่เกิดในไทย ก็จะยิ่งเห็นความแตกต่างกันในเรื่องภาษาพูดได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ภาษาแต้จิ๋วจะยึดภาษาเมืองเตี่ยอังเป็นเกณฑ์ ส่วนชาวแต้จิ๋วในไทยรุ่นแรกใช้ภาษาเมืองเถ่งไห้ แต่ทั้งสองภาษานี้คล้ายกันมาก จนแทบไม่มีความแตกต่างกัน จึงอาจถือได้ว่าภาษาจีนแต้จิ๋วในไทยมีความเป็นเอกภาพมากกว่าภาษาแต้จิ๋วในประเทศจีนเสียอีก

ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศมหาอำนาจได้แบ่งโลกออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ทุนนิยม และคอมมิวนิสต์ ด้วยเหตุนี้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและจีนแผ่นดินใหญ่จึงถูกตัดขาดมานานกว่า 30 ปี ส่งผลให้ชาวจีนในไทยแทบไม่มีโอกาสติดต่อไปมาหาสู่กับญาติพี่น้องได้ ทำให้เกิดวิวัฒนาการทางด้านภาษาของจีนในไทย โดยภาษาจีนในไทยยังคงลักษณะดั้งเดิมก่อนทศวรรษ 1950 แต่อย่างไรก็ตามภาษาจีนในไทยเองก็ได้รับอิทธิพลของภาษาไทยมากขึ้น ทำให้ภาษาแต้จิ๋วในไทยแตกต่างกับภาษาแต้จิ๋วในจีน

ภาษาแต้จิ๋วในไทยยังมีการใช้คำศัพท์เก่า ในขณะที่ภาษาแต้จิ๋วในจีนไม่มีใช้ ไม่ได้ใช้ หรือใช้กันน้อยมากจนแทบหายไปจากการประมวลคำ ภาษาแต้จิ๋วในไทยและจีนมีคำศัพท์ที่ต่างกันมากมายหลายสิบคำ และมีคำหลาย ๆ คำที่ภาษาแต้จิ๋วในไทยมีใช้กัน ขณะที่ภาษาแต้จิ๋วในจีนไม่ใช้ เช่น แขะจั่ง (客棧) — โรงแรม, เอี่ยฮั้ง (洋行) — ห้างสรรพสินค้า, เถ่าแก (頭家) — เจ้าของกิจการ, เถ่าแกเนี้ย (頭家娘) — ภรรยาของเจ้าของกิจการ, อาเสี่ย (阿舍) — ลูกคนรวย, อาเสี้ยเนี้ย (阿舍娘) — ภรรยาของลูกคนรวย, เซ้ง (承)—รับโอนกรรมสิทธิ์, เชียอู่ (車塢) — อู่ซ่อมรถ, ยัวะ (熱)—ร้อน, กาเชีย (駕車) — ขับรถ ฯลฯ

ภาษาแต้จิ๋วในไทยยังรับเอาเสียงและความหมายจากภาษาอื่นมาใช้ในภาษาของตนเอง เช่น แพทย์—หมอ, แม่ค้า—แมค่า, ตลาด—ตั๊กลั๊ก, วัด—อวก, จักรยานยนต์—มอตอไซ, เครื่องปรับอากาศ—แอ, ลิฟต์—ลิบ, ขวด—ก๊วก, กะปิ—กั้บติ๊, ชมพู่—เจียมผุ ฯลฯ

ภาษาแต้จิ๋วในไทยมีคำใช้ที่ใช้เฉพาะภาษาแต้จิ๋วในไทยเท่านั้น แต่คนแต้จิ๋วในจีนไม่นิยมใช้หรือไม่มีใช้กันอาทิเช่น แปะเจี้ย—เงินกินเปล่าที่แลกกับสิทธิบางประการ, โต่ยจี๊—การบริจาคเงินเพื่อการกุศลด้วยจิตศรัทธา, จ่อซัว—คนรวยมั่งมีเงินทอง (เจ้าสัว), เจี๊ยะฮวงฉู่—บ้านพักตากอากาศต่อมาได้ขยายความเป็นบ้านเดี่ยวหรูหราตามชานเมือง, ซึงกาเกี้ย หรือ ซึงกา—มะนาว, ซึงตู๊—ตู้เย็น, ซัวปา—คนต่างจังหวัดนอกกรุงเทพฯ, ซัวปานั้ง—พวกบ้านนอก, เค้กเกี้ย—แขกอินเดีย—ปากีสถาน, เหลาเกี้ย—ชาวอีสานและชาวลาว[3]

ตัวอย่างคำแต้จิ๋วในไทย

ภาษาแต้จิ๋วในไทยภาษาแต้จิ๋วในจีนคำแปลภาษาไทย
1บะย้ง (肉毧)เหน็กซง (肉鬆)หมูหยอง
2บะโป้ว (肉脯)เหน็กโป้ว (肉脯)หมูแผ่น
3เขี่ยเงี้ยบ (企業)กี่เงี้ยบ (企業)กิจการค้า
4หวยลั้ง (火砻)เตียงบีเฉี้ยง (碾米廠)โรงสี
5อั่งม้อ (紅毛)ไซฮึงนั้ง (西方人)คนต่างชาติ (ฝรั่ง)
6ฮวงนั้ง (番人)ไทก๊กนั้ง (泰國人)คนไทย
7ตึ่งนั้ง (唐人)ตงก๊กนั้ง (中國人)คนจีน
8ตึ่งหนั่งเกี้ย (唐人仔)ฮั่วอี้ (華裔)ลูกคนจีนในไทย
9กกบู่อี่เจี้ยง (國務院長)จ๋งลี่ (總理)นายกรัฐมนตรี