เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยศิลปากร ของ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ชื่อและความหมาย

มหาวิทยาลัยศิลปากร ใช้คำว่า "ศิลปากร" (อ่านว่า สิน–ละ–ปา–กอน) เป็นชื่อภาษาไทยของมหาวิทยาลัย และใช้อักษรโรมันว่า "Silpakorn"

"ศิลปากร" เป็นคำสมาสระหว่าง "ศิลป" หมายถึง ฝีมือ, ฝีมือทางการช่าง, การทำให้วิจิตรพิสดาร และ "อากร" หมายถึง บ่อเกิด, ที่เกิด ดังนั้น "ศิลปากร" จึงมีความหมายว่า "บ่อเกิดแห่งศิลปะ"

อีกทั้งชื่อของมหาวิทยาลัยศิลปากร ยังพ้องกับชื่อของ กรมศิลปากร เนื่องจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ถือกำเนิดจาก "โรงเรียนประณีตศิลปกรรม สังกัดกรมศิลปากร" และต่อมาได้พัฒนาขึ้นเป็นลำดับจนเป็น "โรงเรียนศิลปากร" จนกระทั่งได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น "มหาวิทยาลัยศิลปากร" ในปัจจุบัน ซึ่งชื่อ "ศิลปากร" นั้นมาจาก

...แยกการช่างที่เป็นประณีตศิลปไว้ส่วนหนึ่ง แลให้ยกกรมพิพิธภัณฑ์จากกระทรวงธรรมการ มารวมกันตั้งขึ้นเป็น "กรมศิลปากร" มีผู้บัญชาการกรมขึ้นตรงต่อพระเจ้าแผ่นดิน...

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระบรมราชโองการ ณ วันที่ 27 มีนาคม ร.ศ. 130 (พ.ศ. 2454)[12]

ดังนั้น การใช้ชื่อ "ศิลปากร" จึงดูเหมาะสมและถูกต้อง เพราะมหาวิทยาลัยศิลปากรมีความเกี่ยวข้องกับกรมศิลปากรในอดีต ต่อมาในสมัยที่ศาสตราจารย์หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และอธิการบดีมหาวิทยาลัย ได้แยกมหาวิทยาลัยศิลปากรกับกรมศิลปากรออกจากกัน ในปัจจุบันทั้งสองส่วนราชการจึงไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกันแล้ว

สัญลักษณ์มหาวิทยาลัยศิลปากร

พระคเณศ เป็นเทพเจ้าแห่งความสำเร็จ ทั้งยังเป็นเทพแห่งศิลปวิทยาการและการประพันธ์ พระหัตถ์ขวาบนถือตรีศูล พระหัตถ์ขวาล่างถืองาช้าง พระหัตถ์ซ้ายบนถือปาศะ (เชือก) พระหัตถ์ซ้ายล่างถือครอบน้ำ ประทับบนบัลลังก์เมฆที่เขียนด้วยลายกนก ภายใต้มีอักษรว่า "มหาวิทยาลัยศิลปากร" โดยประกาศใช้เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2494[13] ซึ่งคล้ายคลึงกับกรมศิลปากร

และเมื่อมหาวิทยาลัยศิลปากรปรับเปลี่ยนสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ มหาวิทยาลัยได้มีประกาศใช้ตราสัญลักษณ์ใหม่แทนตราสัญลักษณ์ครุฑเพื่อใช้ในหนังสือราชการ หนังสือประทับตรา บันทึกข้อความ คำสั่ง และประกาศต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย โดยประกาศใช้เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2559[14]

สีประจำมหาวิทยาลัย

██ "สีเขียวเวอร์ริเดียน" หรือที่เรียกตามสีไทยโทนว่า "สีเขียวตั้งแช"[6] เป็นสีของน้ำทะเลระดับลึกที่สุด แต่ในระยะแรกก่อตั้งมหาวิทยาลัยได้กำหนดใช้สีเขียว ซึ่งเป็นสีพื้นป้ายมหาวิทยาลัยป้ายแรก แต่ช่วงนั้น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ มหาวิทยาลัยมหิดล ก็ใช้สีเขียวเป็นสีประจำมหาวิทยาลัยเช่นกัน จึงมีแนวคิดที่จะสร้างความแตกต่าง และเนื่องจากนักศึกษาคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ นิยมพารุ่นน้องปี 1 ไปทำกิจกรรมรับน้องที่เกาะเสม็ด จึงได้มีโอกาสชื่นชมสีของน้ำทะเลใส และได้นำมาเป็นสีประจำมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นสีที่บ่งบอกถึงความสร้างสรรค์ของชาวศิลปากร

ต้นไม้และดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัย

  • ต้นจัน เป็นต้นไม้ใหญ่ ยืนต้นเก่าแก่อยู่คู่กับ วังท่าพระ มาช้านาน และยังมีต้นเก่าแก่อีกต้นที่ พระตำหนักทับขวัญ พระราชวังสนามจันทร์ มหาวิทยาลัยจึงกำหนดให้ต้นจันเป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย เป็นที่มาของเพลงกลิ่นจัน ปัจจุบันมีการปลูกต้นจันที่วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรีเพิ่มขึ้นด้วย[15]
  • ดอกแก้ว ด้านข้างท้องพระโรงวังท่าพระ มีสวนแก้วอยู่ด้านใน ยามเมื่อดอกแก้วออกดอก จะส่งกลิ่นหอมฟุ้งไปทั่วทั้งวัง

เพลงประจำมหาวิทยาลัย

  • ซานตาลูชีอา (Santa Lucia) เป็นเพลงพื้นเมืองของประเทศอิตาลีที่แต่งขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยเตโอโดโร กอตตราอู (Teodoro Cottrau) มีเนื้อหาชื่นชมความสวยงามของชายหาดที่มีชื่อเสียงของเมืองเนเปิลส์ ประเทศอิตาลี เพลงซานตาลูชีอาได้นำมาใช้เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยศิลปากรสืบเนื่องจากศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี หรือชื่อเดิม กอร์ราโด เฟโรชี (Corrado Feroci) ซึ่งเป็นชาวอิตาลีและเป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร ชอบร้องเพลงดังกล่าวในเวลาทำงานหรือในช่วงเวลาพักผ่อนหลังเลิกงาน[16]
  • กลิ่นจัน เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยศิลปากรที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความผูกพันและความรักของผู้ที่เคยใช้ชีวิตช่วงหนึ่งภายในรั้วมหาวิทยาลัยศิลปากร รวมถึงความสามัคคีที่นักศึกษาของมหาวิทยาลัยมีให้แก่กันและกัน เพลงกลิ่นจันเป็นเพลงที่มาจาก คณะอักษรศาสตร์ โดยเป็นเพลงที่ใช้ในพิธีการหรือกิจกรรมที่สำคัญต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย[17]

ใกล้เคียง

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยนเรศวร

แหล่งที่มา

WikiPedia: มหาวิทยาลัยศิลปากร http://www.trueplookpanya.com/blog/content/67376/-... http://www.oknation.net/blog/phaen/2007/09/13/entr... //tools.wmflabs.org/geohack/geohack.php?pagename=%... http://www.admissions.su.ac.th/ http://www.thapra.lib.su.ac.th/princess/text/artic... http://www.plan.su.ac.th/mis-info/detail-basic/Fil... http://www.su.ac.th/ http://www.tnews.co.th/contents/207621 http://www.tnews.co.th/contents/361165 http://art.culture.go.th/art01.php?nid=15