นิยามของการยืม ของ ยืม_(กฎหมาย)

กฎหมายของหลาย ๆ ประเทศมิได้นิยามของ "การยืม" ไว้โดยตรง แต่ให้นิยามประเภทต่าง ๆ ของการยืมไว้ ซึ่งนักกฎหมายอธิบายว่า เป็นเพราะ "...ความหมายของสัญญายืม มีปัญหาว่าไม่สามารถที่จะให้ความหมายที่เป็นที่ยอมรับกันได้..." และ "...ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องให้ความหมายของสัญญายืมเฉย ๆ เนื่องจากไม่มีประโยชน์ เพราะเมื่อสัญญายืมมีเพียง 2 ประเภท คือ สัญญายืมใช้คงรูป กับสัญญายืมใช้สิ้นเปลือง จึงควรให้ความหมายของสัญญายืมใช้คงรูปและสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองไว้โดยตรง จะมีความชัดเจนเป็นการเฉพาะเจาะจงและเป็นประโยชน์มากกว่า"[10] อย่างไรก็ดี ในวงวิชาการของประเทศไทย มีผู้พยายามให้นิยามของสัญญายืมไว้หลายคน เช่น

จิ๊ด เศรษฐบุตร ศาสตราจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่า "...[ยืม] เป็นสัญญาซึ่งคู่สัญญาฝ่ายหนึ่ง เรียกว่า 'ผู้ให้ยืม' ได้ส่งมอบทรัพย์สินให้แก่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง เรียกว่า 'ผู้ยืม' เมื่อใช้ทรัพย์สินแล้วผู้ยืมต้องคืนใช้ให้"[11]

กมล สนธิเกษตริน ศาสตราจารย์คณะเดียวกัน ว่า "...[ยืม คือ] สัญญาซึ่งคู่สัญญาฝ่ายหนึ่ง เรียกว่า 'ผู้ให้ยืม' ได้ส่งมอบทรัพย์สินให้แก่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง เรียกว่า 'ผู้ยืม' เพื่อได้ใช้ทรัพย์สินนั้น และผู้ยืมต้องคืนทรัพย์สินที่ยืมแก่ผู้ให้ยืม"[12]

ผไทชิต เอกจริยกร ศาสตราจารย์คณะเดียวกัน ว่า "... สัญญายืม เป็นสัญญาซึ่งบุคคลฝ่ายหนึ่ง เรียกว่า 'ผู้ให้ยืม' ให้บุคคลอีกฝ่ายหนึ่ง เรียกว่า 'ผู้ยืม' ได้ใช้สอยทรัพย์สิน และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินให้"[2]

ดังนั้น โดยปรกติ สัญญายืมจึงต้องมีลักษณะเป็นการที่ผู้ให้ยืมส่งมอบทรัพย์สินให้ผู้ยืมใช้สอย และผู้ยืมเมื่อใช้สอยเสร็จก็คืนทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ให้ยืม ทว่า สัญญาใดจะเป็นสัญญายืมหรือไม่ต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไป[2]

ฎ.122/2501 โจทก์มอบเงินให้จำเลยไปหาซื้อกระบือให้โจทก์ มิใช่เป็นเรื่องกู้ยืมเงิน ไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ เมื่อจำเลยไม่ซื้อกระบือให้โจทก์ โจทก์ก็ฟ้องเรียกเงินคืนจากจำเลยได้

ฎ.1631/2508 การเล่นแชร์เปียหวยเกิดขึ้นจากความตกลงกันในระหว่างผู้เล่น จึงเป็นสัญญาชนิดหนึ่ง แต่การเล่นแชร์เปียหวยไม่เป็นการกู้ยืม แม้ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือก็ฟ้องร้องกันได้ การประมูลให้ดอกเบี้ยกันก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการให้ดอกเบี้ยในการกู้ยืม หากเป็นลักษณะการประมูลว่าใครจะให้ประโยชน์สูงกว่ากันเท่านั้น มิได้กำหนดอัตราให้เรียกร้องกันได้อย่างไร เมื่อไม่มีกฎหมายห้ามก็ใช้บังคับได้ จำเลยก็ไม่มีเหตุที่จะอ้างได้ว่าจำเลยได้ทรัพย์ไปโดยไม่มีมูลที่จะอ้างได้ตามกฎหมาย กรณีนี้ไม่เป็นลาภมิควรได้

ฎ.4805/2540 จำเลยเป็นเจ้าของเรือประมงสี่ลำนำปลามาขายแก่โจทก์ โดยโจทก์ให้จำเลยยืมเงินและทดรองจ่ายจ่ายค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เกี่ยวกับประมงของจำเลยไปก่อน เมื่อจำเลยนำสัตว์น้ำมาขายแก่โจทก์ภายหลัง โจทก์จึงคิดหักหนี้เงินที่จำเลยรับล่วงหน้าและทดรองจ่ายไป ดังนี้ นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยดังกล่าวมิใช่เป็นการกู้ยืม แต่เป็นการรับเงินไปเป็นทุนหมุนเวียนในการทำการประมงของจำเลย กล่าวคือ โจทก์รับดำเนินการในภาระต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเฉพาะกับเรือประมงที่จะออกทะเลโดยมุ่งที่จะซื้อสัตว์น้ำจากเรือของจำเลย สำหรับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่โจทก์ออกไปจะนำมาหักกับค่าซื้อขายสัตว์น้ำที่เรือแต่ละลำได้มา ต่างกับการกู้ยืมเงินทั่ว ๆ ไปที่ไม่มีข้อผูกมัดว่าจะต้องใช้จ่ายเงินได้เฉพาะเรื่อง และถือเอาผลประโยชน์จากดอกเบี้ยเป็นสำคัญ นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนประเภทหนึ่ง ไม่มีแบบ และย่อมสมบูรณ์ด้วยการแสดงเจตนา ในเมื่อมิใช่การกู้ยืม จึงฟ้องร้องบังคับกันได้โดยไม่จำต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือมาแสดง

แหล่งที่มา

WikiPedia: ยืม_(กฎหมาย) http://www.samuiforsale.com/Civil_Code_text_Englis... http://www.samuiforsale.com/Civil_Code_text_Englis... http://www.gesetze-im-internet.de/englisch_bgb/ http://www.amazon.fr/gp/product/2856230520/ref=olp... http://www.japaneselawtranslation.go.jp/law/detail... http://www.napoleon-series.org/research/government... http://www.napoleon-series.org/research/government... http://www.ams.cmu.ac.th/pub/law/civil/ http://www.krisdika.go.th/wps/portal/general http://rirs3.royin.go.th/coinages/webcoinage.php