ลักษณะ ของ ยืม_(กฎหมาย)

ลักษณะด้านความสมบูรณ์ของสัญญา

"การให้ยืมใช้คงรูปนั้น ท่านว่าย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินซึ่งให้ยืม"
ป.พ.พ. ม.641
"สัญญานี้ [สัญญายืมใช้สิ้นเปลือง] ย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม"
ป.พ.พ. ม.650 ว.2
"การใดมิได้ทำให้ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายบังคับไว้ การนั้นเป็นโมฆะ"
ป.พ.พ. ม.152

ตามกฎหมายไทย โดย ป.พ.พ. ม.641 และ ม.650 ว.2 แล้ว สัญญายืม ทั้งประเภทยืมใช้คงรูป และยืมใช้สิ้นเปลือง จะ "บริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินซึ่งให้ยืม" (อังกฤษ: "complete only on delivery of the property lent")

ซึ่งความ "บริบูรณ์" นี้ ในวงการนิติศาสตร์ไทยมีความเห็นเป็นหลายฝ่าย ฝ่ายแรกว่า การส่งมอบทรัพย์สินที่ยืมเป็น "แบบ" (อังกฤษ: form) ซึ่งถ้าไม่ทำตามแบบ สัญญาจะไม่บริบูรณ์ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. ม.152[13] ฝ่ายที่สองว่า การส่งมอบทรัพย์สินที่ยืมมิใช่แบบ แต่เป็นองค์สมบูรณ์ของสัญญา หากไม่มีแล้วถือว่าสัญญายังไม่เกิดขึ้นและยังใช้บังคับมิได้[14] และฝ่ายที่สามว่า คำว่า "บริบูรณ์" ไม่ได้แปลว่า "สมบูรณ์" ดังนั้น การส่งมอบทรัพย์สินที่ยืมจึงมิใช่แบบของสัญญายืม สัญญายืมแม้ยังไม่ส่งมอบทรัพย์สินกันก็ไม่เป็นโมฆะ บังคับกันได้[13]

ในประเด็นนี้ จิ๊ด เศรษฐบุตร ศาสตราจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เห็นว่า แบบของสัญญามีหลายประเภทซึ่งรวมถึงการส่งมอบด้วย ดังนั้น "...การส่งมอบเป็นแบบของสัญญายืมใช้คงรูปและสัญญายืมใช้สิ้นเปลือง กล่าวคือ ตราบใดที่ยังไม่มีการส่งมอบทรัพย์ คือ ยื่นทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งสัญญาให้แก่กัน ตราบนั้นสัญญายืมก็ไม่เกิดขึ้น ไม่บริบูรณ์ ไม่สมบูรณ์ หรือเป็นโมฆะนั่นเอง"[15] ขณะที่ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย และพิพากษาเสมอมาว่าการส่งมอบทรัพย์สินเป็นแบบของสัญญายืม หากไม่มีแล้วสัญญาย่อมเป็นโมฆะ[16]

ศักดิ์ สนองชาติ ศาสตราจารย์คณะเดียวกัน เห็นตรงกันข้ามว่า[17]

"...การส่งมอบทรัพย์มิใช่พิธีการเพื่อความสมบูรณ์ของนิติกรรม แต่เป็นเพียงส่วนประกอบของการแสดงเจตนาในการทำนิติกรรมบางประเภท...ถ้าไม่มีการส่งมอบทรัพย์ ถือว่าการแสดงเจตนายังไม่สมบูรณ์ นิติกรรมจึงยังไม่เกิด แต่ไม่ตกเป็นโมฆะ ถ้ามีการส่งมอบทรัพย์เมื่อไร นิติกรรมก็สมบูรณ์ ถ้าถือว่าการส่งมอบทรัพย์เป็นแบบของนิติกรรม เมื่อไม่ส่งมอบทรัพย์ นิติกรรมย่อมตกเป็นโมฆะ แม้จะมีการส่งมอบทรัพย์ในภายหลังก็ไม่ทำให้นิติกรรมนั้นกลับสมบูรณ์ขึ้นได้..."

ไผทชิต เอกจริยกร ศาสตราจารย์คณะเดียวกัน เห็นด้วยกับศักดิ์ สนองชาติ ว่า[16]

"...คำว่า 'บริบูรณ์' นี้ น่าจะหมายความว่า หากตราบใดที่ผู้ให้ยืมยังไม่ได้ส่งมอบทรัพย์สินที่ยืมให้แก่ผู้ยืม สัญญายืมจะยังไม่เกิด ยังบังคับอะไรกันไม่ได้ แต่เมื่อต่อมามีการส่งมอบเมื่อใด สัญญายืมก็เกิดขึ้นโดยบริบูรณ์และผูกพันกัน...ไม่ได้หมายความว่า สัญญายืมเป็นโมฆะ คำว่า 'ไม่บริบูรณ์' (is not complete) น่าจะมีความหมายต่างจากคำว่า 'โมฆะ' (void) เพราะว่า นิติกรรมที่เป็นโมฆะนั้น นิติกรรมได้เกิดขึ้นแล้วแต่ตกเป็นโมฆะภายหลัง แต่คำว่า 'ไม่บริบูรณ์' น่าจะหมายความว่า นิติกรรม (สัญญายืม) ยังไม่เกิดขึ้น"

ลักษณะด้านสภาพของสัญญา

สัญญายืมมิใช่สัญญาต่างตอบแทน (อังกฤษ: synallagmatic contract) เพราะผูกพันผู้ยืมแต่ฝ่ายเดียวที่จะต้องคืนทรัพย์สินที่ยืมให้แก่ผู้ให้ยืม โดยสัญญายืมประเภทยืมใช้คงรูปนั้นจะมีการตอบแทนกันมิได้เลย สาระสำคัญคือการให้ยืมเปล่า หาไม่แล้วจะกลายเป็นสัญญาอย่างอื่นไป เช่น สัญญาเช่าทรัพย์ เป็นต้น[18] และสัญญายืมประเภทยืมใช้สิ้นเปลือง รวมถึงยืมเงินอันเรียกว่า "กู้ยืม" นั้น แม้เกิดดอกเบี้ยเป็นค่าตอบแทนในการยืมเงิน แต่ก็เป็นหนี้ของผู้ยืมเพียงฝ่ายเดียวที่ต้องชำระดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้ยืม หาก่อหน้าที่อย่างใด ๆ ให้แก่ผู้ให้ยืมไม่[19]

แหล่งที่มา

WikiPedia: ยืม_(กฎหมาย) http://www.samuiforsale.com/Civil_Code_text_Englis... http://www.samuiforsale.com/Civil_Code_text_Englis... http://www.gesetze-im-internet.de/englisch_bgb/ http://www.amazon.fr/gp/product/2856230520/ref=olp... http://www.japaneselawtranslation.go.jp/law/detail... http://www.napoleon-series.org/research/government... http://www.napoleon-series.org/research/government... http://www.ams.cmu.ac.th/pub/law/civil/ http://www.krisdika.go.th/wps/portal/general http://rirs3.royin.go.th/coinages/webcoinage.php