เหตุการณ์ ของ รัฐประหารในประเทศไทย_พ.ศ._2549

ชนวนเหตุ

พลเอก สนธิ บุญรัตกลิน เปิดเผยว่าใช้เวลาเตรียมรัฐประหารประมาณ 7 เดือน ซึ่งหมายความว่า เริ่มวางแผนในราวเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549[5][6][7] ซึ่งเป็นห้วงเวลาเดียวกับที่มีการเปิดตัวพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2549 พลเอกสนธิเคยรับประกันว่าทหารจะไม่ยึดอำนาจ

ในเดือนกรกฎาคม แม่ทัพภาคที่ 3 พลเอก สพรั่ง กัลยาณมิตร ให้สัมภาษณ์ว่าการเมืองไทยอยู่ในระดับต่ำกว่ามาตรฐาน และความเป็นผู้นำที่อ่อนแอ เขายังกล่าวว่าประเทศไทยมีระบอบประชาธิปไตยที่ไม่ถูกต้อง[ต้องการอ้างอิง] เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม นายทหารกองทัพบกระดับกลางกว่าร้อยนายซึ่งถูกมองว่าเป็นผู้สนับสนุน ดร.ทักษิณถูกกองบัญชาการทหารสูงสุดบรรจุใหม่ทำให้มีข่าวลือว่ากองทัพแตกเป็นฝ่ายสนับสนุนและต่อต้านนายกรัฐมนตรี[ต้องการอ้างอิง]

ต่อมา ในเดือนสิงหาคม มีรายงานเคลื่อนไหวของรถถังใกล้กับกรุงเทพมหานคร แต่กองทัพว่าเป็นการฝึกซ้อมตามกำหนดการ[8] เมื่อต้นเดือนกันยายน ตำรวจไทยจับกุมนายทหารกองทัพบก 5 นาย ซึ่งมีตำแหน่งในกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน หลังพบว่าหนึ่งในนั้นมีระเบิดซุกซ่อนอยู่ในรถ ซึ่งมีเป้าหมายมุ่งหน้าไปยังที่พักของนายกรัฐมนตรีตามข้อกล่าวหา[9] ซึ่งสามในห้าของผู้ที่ถูกจับกุมถูกปล่อยตัวหลังรัฐประหาร[10]

พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 คมช. ได้ออก "สมุดปกขาว"[11] ชี้แจงสาเหตุของรัฐประหารยึดอำนาจ โดยมีสาระสำคัญ ได้แก่ การทุจริตผลประโยชน์ทับซ้อน การใช้อำนาจในทางมิชอบ การละเมิดจริยธรรมคุณธรรมของผู้นำประเทศ การแทรกแซงระบบการตรวจสอบทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ ข้อผิดพลาดเชิงนโยบายที่นำไปสู่การละเมิดสิทธิเสรีภาพและการบ่อนทำลายความสามัคคีของคนในชาติ[12]

อย่างไรก็ตาม บทวิเคราะห์จากหลายฝ่ายชี้ให้เห็นว่ายังมีสาเหตุอีกบางประการนอกเหนือจากเหตุผลของ คปค. ที่นำมาสู่รัฐประหาร เช่น ความขัดแย้งทางอำนาจที่เห็นได้จากการโยกย้ายนายทหารประจำปี อาทิ ภุชงค์ รัตนวรรณ เรืองศักดิ์ ทองดี ศานิต พรหมาศ ไตรรงค์ อินทรทัต อำนวย จิระชุณหะ วีร์วลิต จรสัมฤทธิ์ ฉัตรชัย ถาวรบุตร จิรสิทธิ์ เกษะโกมล อนุพงษ์ เผ่าจินดา พรชัย กรานเลิศ สุเมธ โพธิ์มณี กำธร พุ่มหิรัญ พฤณท์ สุวรรณทัต ทรงกิตติ จักกาบาตร์ สุกำพล สุวรรณทัต ธวัช บุญเฟื่อง หม่อมหลวงสุทธิรัตน์ เกษมสันต์ รวมไปถึงความขัดแย้งระหว่างพันตำรวจโททักษิณกับประธานองคมนตรี[13]

ลำดับเหตุการณ์

พลตรี ประพาศ ศกุนตนาค อ่านแถลงการณ์คณะปฏิรูปการปกครองฯทหารบกมีส่วนสำคัญในการก่อรัฐประหารครั้งนี้ มีริบบิ้นสีเหลืองผูกกระบอกปืน และมีผ้าพันคอสีเหลือง

เช้าวันที่ 19 กันยายน มีคำสั่งจาก ดร. ทักษิณ ชินวัตร เรียกผู้นำทุกเหล่าทัพเข้าประชุมร่วมกับคณะรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล แต่ไม่มีผู้นำเหล่าทัพคนใดเข้าร่วม ยกเว้น พลตำรวจเอก โกวิท วัฒนะ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติทำให้ช่วงบ่ายมีกระแสข่าวลือรัฐประหารแพร่สะพัดไปทั่วทำเนียบรัฐบาลและตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีข่าวลือว่ารัฐมนตรีและนักการเมืองร่วมรัฐบาลหลายคนหลบหนีออกนอกประเทศแล้ว ช่วงพลบค่ำมีข่าวว่ากำลังทหารหน่วยรบพิเศษจากจังหวัดลพบุรี เคลื่อนกำลังเข้ากรุงเทพมหานคร

เวลา 18.00 น. สมชาย มีเสน ผู้จัดรายการวิทยุ เอฟ.เอ็ม. 92.25 เมกกะเฮิร์ซ นัดผู้ฟังรายการจำนวนหนึ่งเข้าพบพลเอกสนธิ ที่หน้ากองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) เพื่อขอให้ทหารให้ความคุ้มครองกลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่จะชุมนุมขับไล่ทักษิณในวันรุ่งขึ้น ประมาณ 21.00 น. กำลังทหารจากพลร่มป่าหวาย หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ เข้ามาประจำการที่กองบัญชาการกองทัพบก เวลา 22.00 น. ขบวนรถถังเคลื่อนเข้าคุมเชิงที่สะพานมัฆวานรังสรรค์และถนนราชดำเนิน ไม่กี่นาทีต่อมา ทหารจำนวนมากออกมาตรึงกำลังตามถนนต่าง ๆ ตั้งแต่แยกเกียกกาย ผ่านมาถึงถนนราชสีมา บริเวณสวนรื่นฤดี สี่แยกราชตฤณมัยสมาคม (สนามม้านางเลิ้ง) โดยมีทหารแต่งกายลายพรางเต็มยศเป็นผู้ควบคุมกำลัง

เวลา 22.54 น. โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยออกอากาศทางสถานีทุกช่อง ขึ้นคำประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พร้อมขออภัยในความไม่สะดวก และเปิดเพลง "ความฝันอันสูงสุด" ประกอบ ด้านสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็นและบีบีซีเผยแพร่ข่าวรถถังและกำลังทหารควบคุมสถานการณ์ภายในกรุงเทพมหานคร[14] หลังจากนั้น พลตรี ประพาศ ศกุนตนาค อดีตโฆษก ททบ.5 อ่านแถลงการณ์คณะปฏิรูปการปกครองฯ ที่แสดงไว้ในหน้าจอก่อนหน้านี้ซ้ำสองครั้ง

เกือบเที่ยงคืน ผู้บัญชาทหารทุกเหล่าทัพเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต

การกะเวลารัฐประหาร

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โปรดเกล้าฯ ให้พลเอก เปรม ติณสูลานนท์, พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน, พลเรือเอก สถิรพันธุ์ เกยานนท์ และพลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุก เข้าเฝ้าฯ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต

ภายหลัง พลเอกสนธิ ให้สัมภาษณ์ครั้งหนึ่งว่า เดิมวางแผนให้ดำเนินรัฐประหารในวันที่ 20 กันยายน เพื่อให้ตรงกับการเดินขบวนต่อต้านรัฐบาลครั้งใหญ่ที่กำหนดแล้ว เขาอ้างถึง "ตัวอย่างที่เกิดขึ้นในโปรตุเกส" ซึ่งมีการเดินขบวนต่อต้านรัฐบาล พร้อมกับรัฐประหารโดยกองทัพ ซึ่งโค้นล่มพระเจ้ามานูเอลที่ 2 แห่งโปรตุเกส และจัดตั้งสาธารณรัฐโปรตุเกสที่หนึ่ง รัฐประหารถูกเลื่อนขึ้นมาเป็นวันที่ 19 กันยายน ขณะที่รักษาการนายกรัฐมนตรียังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่ในนครนิวยอร์ก พลเอกสนธิยังได้กล่าวอีกว่า ครั้งหนึ่งที่ทักษิณกำลังรับประทานอาหารกลางวันกับผู้บัญชาการทหารสูงสุด เขาได้ถามพลเอกสนธิว่า "คุณจะปฏิวัติผมหรือเปล่า" ซึ่งพลเอกสนธิก็ตอบว่า "ใช่"[15] ซึ่งเป็นเรื่องที่ขัดแย้งกับแถลงการณ์ต่อสาธารณะซึ่งเขาปฏิเสธว่ากองทัพจะก่อรัฐประหาร[16]

เดอะ เนชั่น ยังได้มีข้อสังเกตถึงการกะเวลารัฐประหาร โดยมีหลายกรณีที่เดียวข้องกับเลข 9 ซึ่งเป็นเลขมงคลอย่างยิ่งตามความเชื่อ รัฐประหารครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 เดือน 9 พุทธศักราช 2549 หัวหน้าคณะรัฐประหาร พลเอก สนธิ บุญยรัตกลินได้ประกาศต่อสาธารณชนหลังรัฐประหารเมื่อเวลา 9.39 น.[17]

ใกล้เคียง

รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 รัฐประหารในประเทศไทย รัฐประหาร รัฐประหารในประเทศพม่า พ.ศ. 2564 รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2490 รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2519 รัฐประหารในอิหร่าน พ.ศ. 2496 รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2534 รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2500

แหล่งที่มา

WikiPedia: รัฐประหารในประเทศไทย_พ.ศ._2549 http://english.people.com.cn/200609/20/eng20060920... http://www.bangkokbiznews.com/2006/special/revolut... http://www.bangkokbiznews.com/2006/special/whiteco... http://www.bangkokpost.com/breaking_news/breakingn... http://www.bloomberg.com/apps/news?pid=20601080&si... http://www.channelnewsasia.com/stories/afp_asiapac... http://www.cnn.com/2006/WORLD/asiapcf/09/23/thaila... http://www.cnn.com/interactive/world/0609/gallery.... http://www.cnn.com/video/player/player.html?url=/v... http://www.feer.com/articles1/2006/0609/free/p023....