ปฏิกิริยาของประชาชน ของ รัฐประหารในประเทศไทย_พ.ศ._2549

ในประเทศไทย

ฝ่ายสนับสนุน

ทหารได้รับดอกไม้จากผู้สนับสนุนอาหารที่ประชาชนผู้สนับสนุนนำมาให้กับทหาร
  • ประชาชนจำนวนหนึ่งออกมาให้กำลังใจทหารที่จุดต่าง ๆ โดยเฉพาะบริเวณกองบัญชาการกองทัพบก หลังการยึดอำนาจของคณะปฏิรูปฯ โดยแสดงความชื่นชมเหล่าทหาร ด้วยการมอบดอกไม้ ส่งยิ้ม ถ่ายรูปด้วย กระทั่งมีการพ่นสีข้อความว่า "พล.อ.สนธิ วีรบุรุษชาวไทย" และ "กองทัพเพื่อประชาชน" บนตัวถังรถยนต์บีเอ็มดับเบิลยู ซีรีส์ 7 เป็นต้น นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจำนวนหนึ่ง ในบริเวณถนนราชดำเนินให้สัมภาษณ์ว่าไม่ตื่นตะหนก และร่วมถ่ายรูปกับทหารและรถถัง (ซึ่งประดับด้วยดอกไม้ที่ประชาชนมอบให้) เป็นที่ระลึก หรือมอบน้ำ อาหาร ให้แก่ทหารด้วย[21]
  • หม่อมราชวงศ์ ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวชื่นชมว่า "จากที่ดูภาพในซีเอ็นเอ็น เป็นการยึดอำนาจที่เรียบร้อยที่สุด ไม่มีเสียเลือดเสียเนื้อ เราก็รู้สึกสบายใจว่ามันคงไม่กระทบความเชื่อมั่น เพราะการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ประชาชนยอมรับ ขณะที่ต่างชาติก็รู้สึก ไม่น่าจะมีผลกระทบต่อการลงทุน"[22]
  • สวนดุสิตโพลสอบถามความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 2,019 คน ในวันที่ 20 กันยายน 49 พบว่า 83.98% เห็นด้วยกับรัฐประหาร เนื่องจากเห็นว่าการเมืองจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ส่วนประชาชนที่ไม่เห็นด้วย มีความเห็นว่าภาพลักษณ์ของประเทศอาจตกต่ำลง[23] ผลสำรวจแตกต่างจากโพลสำรวจการเลือกตั้งเดือนตุลาคม พ.ศ. 2549 ซึ่งมีผู้สนับสนุนพรรคไทยรักไทยถึง 49%[24]
  • กลุ่มนักธุรกิจทั่วประเทศแสดงความคิดเห็นโดยส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการปฏิรูปการปกครองครั้งนี้ โดยเชื่อว่าเศรษฐกิจกระทบบ้างแต่ชั่วคราว และจะสยบความวุ่นวายของประเทศ[25]
  • นายแพทย์พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ประธานชมรมแพทย์ชนบท เห็นด้วยต่อการยึดอำนาจ เนื่องจากประเทศมีปัญหาจากผู้นำที่ไม่ชอบธรรม และบริหารด้วยระบอบเผด็จการประชาธิปไตย จึงควรหยุดระบอบเผด็จการนั้น เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศน้อยที่สุด การปฏิรูปฯ ครั้งนี้เป็นการดีที่ไม่เสียเลือดเนื้อ[25]
  • สมภพ บุนนาค แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จังหวัดขอนแก่น กล่าวเห็นชอบกับ คปค.ว่า "การยึดอำนาจของ คปค.ครั้งนี้ แม้จะขัดกับหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่ประชาชนส่วนใหญ่ก็เห็นชอบ เพราะเป็นการปลดล็อกปมปัญหาของชาติ เพื่อสะสางอุปสรรคสังคมการเมืองให้สามารถเดินต่อไปได้อย่างมั่นคง การต่อสู้ของภาคประชาชนที่ผ่านมาเพื่อล้มระบอบทักษิณ ไม่สามารถผ่าทางตันได้ จำเป็นที่ทหารต้องเข้ามาจัดการหาทางออกให้ อย่างไรก็ตาม ภาคประชาชนต้องติดตามต่อว่า ภายหลัง เข้ามาแก้ปัญหาของ คปค.ครั้งนี้จะคืนอำนาจให้ประชาชนได้เร็ว ตามที่หัวหน้าคณะฯได้ประกาศไว้หรือไม่" และแสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า อาจมีกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารของ คปค.ว่า "กลุ่มบุคคลกลุ่มนี้ไม่เข้าใจระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง ประชาธิปไตยไม่ได้มีความหมายเพียงแค่ว่าประชาชนใช้สิทธิหย่อนบัตรเลือกตั้งแล้วก็จบ มีบริบทแวดล้อมหลายประการที่ประกอบเป็นระบอบประชาธิปไตย"[26]

ฝ่ายคัดค้าน

วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2549 ช่วงเที่ยงวัน ร้อยตรี ฉลาด วรฉัตร และทวี ไกรคุปต์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประท้วงรัฐประหารที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ทวีกางป้ายขนาดใหญ่สองป้ายระบุว่า "กระผม นายทวี ไกรคุปต์ ขออดข้าวประท้วงผู้ที่ล้มล้างประชาธิปไตย ทำให้บ้านเมืองถอยหลังและแตกแยก" พร้อมแจกจ่ายจดหมายเปิดผนึกของตนให้สื่อมวลชนด้วย ต่อมามีเจ้าหน้าที่ทหารเชิญตัวร้อยตรีฉลาดขึ้นรถมิตซูบิชิที่มีรถบัสทหารติดตามระบุ ร.๑ พัน๑ รอ. ไปที่หน่วยบังคับบัญชา จากนั้น 3 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่ทหารจำนวน 7 นาย ได้ล็อกตัวทวีขึ้นรถตู้สีขาวและขับออกไปทันที ระหว่างขึ้นรถทวีมีอาการขัดขืน จากนั้นทหารบางส่วนได้เข้าเก็บป้ายประท้วงออกจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย[27]

ศูนย์ข่าวสารกิจกรรมนักศึกษาประณามรัฐบาลเผด็จการทหารว่า "ฉีก" รัฐธรรมนูญฉบับที่ประชาชนมีส่วนร่วมร่างมากที่สุด ปิดหูปิดตาประชาชนด้วยการควบคุมสื่ออย่างเบ็ดเสร็จ ตลอดจนลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนและเรียกร้องประชาชนร่วมกันใส่ชุดดำหรือปลอกแขนดำเพื่อไว้อาลัยประชาธิปไตย[28]

กลุ่มนักศึกษาล้อการเมืองธรรมศาสตร์ขึ้นป้ายคัตเอาต์ขนาดใหญ่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต คัดค้านรัฐประหาร[29]

กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร" ชุมนุมและกล่าวแถลงการณ์ที่หน้าศูนย์การค้าสยามพารากอน เมื่อวันศุกร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2549 เวลา 18.00 น. ซึ่งศูนย์ข่าวสารกิจกรรมนักศึกษาได้เข้าร่วมการชุมนุมด้วยและกล่าวว่าพวกเขาจะยื่นแถลงการณ์ต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพื่อเรียกร้องให้ปกป้องสิทธิในการชุมนุมที่หน้าสยามพารากอน โดยเห็นว่ารัฐบาลชั่วคราวขาดความชอบธรรม และเรียกร้องให้มีการจัดการเลือกตั้งตามครรลองประชาธิปไตย ที่จะนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองได้อย่างแท้จริง[ต้องการอ้างอิง]

กลุ่มผู้ประท้วงที่สยามสแควร์ เมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2549

หลังรัฐประหาร มีการประท้วงครั้งแรกหน้าห้างสยามเซ็นเตอร์ เมื่อเย็นวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2549 โดยมีผู้ประท้วงประมาณ 20-100 คนหรือมากกว่า[30][31][32][33][34][35][36][37] ผู้ประท้วงแต่งชุดดำไว้อาลัยให้กับประชาธิปไตย และเชิญชวนให้ประชาชนที่คัดค้านรัฐประหารใส่เสื้อดำประท้วง[38]) ป้ายประท้วงมีข้อความ "No to Thaksin. No to coup" ("ไม่เอาทักษิณ ไม่เอารัฐประหาร") และ "Don't call it reform - it's a coup" ("อย่าเรียกปฏิรูป มันคือรัฐประหาร") มีป้ายหนึ่งเป็นรูปอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีกำกับว่า "On vacation again" ("พักร้อนอีกครั้ง") รองศาสตราจารย์ใจ อึ๊งภากรณ์ หนึ่งในผู้ประท้วง กล่าวว่า "เราเชื่อว่าเราเป็นกระบอกเสียงของคนไทยอีกมากที่ยังเป็นห่วงหรือที่ยังกลัวที่จะพูดออกมา" ไม่มีผู้ใดถูกจับกุม แต่ตำรวจนายหนึ่งกล่าวว่า "ตำรวจได้บันทึกวิดีโอการประท้วงไว้เป็นหลักฐาน และจะตรวจสอบเทปเพื่อหาผู้ที่ละเมิดกฎอัยการศึก คือ มีการชุมนุมทางการเมืองมากกว่า 5 คน" ไม่มีใครรู้ว่าต่อมาตำรวจหรือทหารได้จับกุมเขาเหล่านั้นหรือไม่ ไม่มีสถานีโทรทัศน์ไทยช่องใดรายงานเรื่องการประท้วงครั้งนี้[38] หนังสือพิมพ์ ดิอินดีเพนเดนต์ รายงานว่าตำรวจติดอาวุธหลายนายฝ่าฝูงชนและผู้ชุมนุมเข้าจับกุมผู้ประท้วงซึ่งเป็นนักศึกษาหญิงไม่ทราบชื่อคนหนึ่งซึ่งนับเป็นผู้ประท้วงคนแรก ขณะกำลังอ่านแถลงการณ์ต่อต้านรัฐประหาร โดยมีตำรวจนายหนึ่งใช้ปืนกระแทกที่บริเวณท้องของเธอและจับกุม ในขณะที่ผู้ประท้วงหลายคนต่างพยายามฉุดเธอกลับ[39]

วันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2549 เวลา 17.00 น. กลุ่มประท้วงกลุ่มที่สองซึ่งประกอบด้วยผู้ประท้วงจำนวน 50-60 คน ชุมนุมที่ลานปรีดี หน้าตึกโดมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่ออภิปรายคัดค้านรัฐประหารและจัดเสวนาหัวข้อ "ทำไมเราต้องคัดค้านรัฐประหาร?" ซึ่งจัดโดยศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในชื่อ"กลุ่มโดมแดง", เครือข่ายนิสิตจุฬาฯ เพื่อเสรีภาพ, นิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยรามคำแหง, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยระบุว่าเป็น "อารยะขัดขืน" ภาคปฏิบัติ อุเชนทร์ เชียงแสน ผู้ก่อตั้งกลุ่มโดมแดงกล่าวว่า "ถ้าพวกเขา [ทหาร] จับกุมหรือทำร้ายเรา เราจะไม่สู้ แต่นี่แสดงให้เห็นว่าการปฏิรูปทางการเมืองตามที่ คปค.กล่าวอ้างเป็นเรื่องโกหก"[40] การชุมนุมครั้งนี้กินเวลาประมาณ 1 ชั่วโมงโดยมีการขึงป้ายผ้าที่มีข้อความว่า "Council of Demented and Ridiculous Military" การชุมนุมเป็นไปด้วยความสงบ ปราศจากวี่แววของเจ้าหน้าที่[41]

วันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2549 มีผู้กล่าวโทษพลเอก สนธิ บุญยรัตกลินกับพวกในฐานความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักรต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งดีเอสไอรับเรื่องไว้ดำเนินการตามกฎหมาย ตามเลขรับ ที่ 03614 พอทางกองทัพบกและรัฐบาลได้ทราบ จึงได้มีคำสั่งให้ยุติเรื่องดังกล่าว โดยยึดถือตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ได้นิรโทษกรรมการกระทำความผิดทุกกรณีของคณะปฏิรูปฯ แต่ดีเอสไอได้แย้งว่า พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษต่างจากกฎหมายอย่างอื่น ที่กฎหมายแม่สามารถหักล้างกฎหมายลูกได้ กล่าวคือ พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษและกรมสอบสวนคดีพิเศษตั้งขึ้นตามสนธิสัญญาทางกฎหมายกับกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นสนธิสัญญาความร่วมมือแนวนโยบายและปฏิบัติระหว่างสำนักสอบสวนกลางและหน่วยงานสอบสวนกลางของประเทศในกลุ่มภาคีสมาชิกเพื่อต่อต้านการกระทำผิดกฎหมายอย่างร้ายแรง นิรโทษกรรมตามรัฐธรรมนูญจึงไม่สามารถกระทำได้[42]

วันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2549 เวลา 16.00 น. "เครือข่ายนิสิตจุฬาฯ เพื่อเสรีภาพ" จัดเสวนากลางแจ้งในหัวข้อ "ทำไมเราต้องคัดค้านรัฐประหาร" ที่ลานหน้าตึก 1 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์, รศ.ใจ อึ๊งภากรณ์, ผศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง และที่ปรึกษาสมัชชาคนจน ร่วมอภิปราย[43] วันเดียวกัน "เครือข่ายนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตย เชียงใหม่" ได้จัดเสวนาทางวิชาการในหัวข้อ "เราจะทำความเข้าใจกับการเมืองไทยได้อย่างไร" ที่บริเวณลานสนามหญ้า หน้าคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขณะที่การเสวนาดำเนินไประยะหนึ่ง มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสถานีตำรวจภูธรภูพิงค์ พร้อมเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบประมาณ 20 นาย ขอความร่วมมือให้ผู้จัดยุติการเสวนา เนื่องจากขัดต่อประกาศกฎอัยการศึก แต่การเสวนาก็ดำเนินต่อไปภายใต้สถานการณ์ที่ตึงเครียด กระทั่งผู้จัดประกาศเลิกการเสวนา เมื่อเวลา 19.40 น.[44]

วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2549 เวลา 12:46 น. นวมทอง ไพรวัลย์ อายุ 60 ปี ขับรถแท็กซี่พ่นสีคำว่า "พลีชีพ" ที่กระโปรงท้าย ส่วนบริเวณด้านข้างประตูรถทั้งสองข้างพ่นเป็นตัวหนังสือจับใจความว่า "พวกทำลายประเทศ" ​พุ่งเข้าชนรถถังบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า​จนรถพังยับเยิน และตัวเองได้รับบาดเจ็บสาหัส ซี่โครงซ้ายหัก คางแตก ปากแตก และตาซ้ายบวมเป่ง หลังจากนั้นแท๊กซี่จำนวนหลายร้อยคันรีบรุดไปเยี่ยมแต่ถูกห้ามไม่ให้เข้าเยี่ยม ไม่มีการรายงานข่าวนี้[ต้องการอ้างอิง]

วันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2549 เวลา 17:00-18:00 น. เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร จัด ‘อารยะขัดขืนภาคปฏิบัติสัญจร’ ด้วยการชุมนุมทางการเมืองเกินกว่า 5 คน บริเวณหน้ากองบัญชาการทหารบก ถนนราชดำเนินนอก (ตรงข้ามเวทีมวยราชดำเนิน) มีประชาชนให้ความสนใจเข้าร่วมรับฟัง และในช่วงท้ายยังมีการจุดไฟเผารัฐธรรนูญชั่วคราวของ คปค. เพื่อแสดงความไม่ยอมรับในการเข้ามาทำหน้าที่ของ คปค.[ต้องการอ้างอิง]

วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2549 นักศึกษาและญาติร่วมพิธีเวียนประทีปจากลานโพธิ์ไปรอบสนามฟุตบอลในงาน "30 ปี 6 ตุลา" เพื่อรำลึกเหตุการณ์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ณ สวนประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม เวลาประมาณ 14.00 น. ที่หอประชุมเล็ก มธ. มีการจัดเสวนาในหัวข้อ เรื่อง "ประวัติศาสตร์ที่ยังไม่ได้ชำระ" โดยมี รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ศ. (พิเศษ) ดร.ชลธิรา สัตยาวัฒนา อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต, ผศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และพิเชียร อำนาจวรประเสริฐ ร่วมเสวนา โดยมีการเปรียบเทียบเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 กับ 19 กันยายน 2549 ว่าเมื่อมีการนำมาพูดคุยกันก็เกิดการทะเลาะกันตลอด แต่ไม่มีการนองเลือดเหมือนเหตุการณ์ 6 ตุลา[45]

วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2549 มีการรวมตัวกันอีกในงานรำลึกวีรชน 14 ตุลาฯ มีเครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร เริ่ม 16:30 น. ใช้สัญลักษณ์คือชุดดำ เพื่อไว้อาลัยให้กับประชาธิปไตย โดยเวลา 19.50 น.เคลื่อนขบวนมาจากบริเวณสนามฟุตบอลหน้าตึกโดมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตอนเริ่มขบวนหัวแถวอยู่ประตูใหญ่ท้ายแถวอยู่หน้าตึกคณะวารสารฯ เคลื่อนมาหยุดยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถ.ราชดำเนินเพื่อประท้วงรัฐประหาร ระหว่างทางร้องตะโกนว่า "คปค.ออกไป" จากนั้นตั้งแผ่นป้าย "ขอไว้อาลัยแด่ รธน.ฉบับประชาชน" และป้ายผ้าไม่มี ปชต.ในระบบเผด็จการ และจุดเทียนไว้อาลัย[46]

วันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2549 กลุ่มผู้เข้าร่วมงานสมัชชาสังคมไทย เครือข่ายผู้พิการ เครือข่ายแรงงาน กว่า 200 คน เดินขบวนจากอนุสรณ์สถาน 14 ตุลาไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อประกาศเจตนารมณ์และข้อเสนอปฏิรูปการเมือง ตลอดจนการประกาศยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยภาคประชาชน ผู้ชุมนุมถือป้ายผ้าข้อความเรียกร้องต่าง ๆ เช่น "ยกเลิกกฎอัยการศึก" "ค่าแรงขั้นต่ำ 7,000 บาท" "Right Base not Charity Base" โดยมีทหารราว 20 นายเฝ้าจับตา ทั้งหมดมีอาวุธพร้อมรบและกระจายกำลังจุดละ 2 นายในมุมตึกต่าง ๆ ก่อนที่ขบวนจะเดินทางกลับสู่อนุสรณ์สถานฯ ทหารนายหนึ่งขอเชิญตัวผู้แจกใบปลิว โดยระบุว่าข้อความในใบปลิวขัดต่อกฎอัยการศึก ทำให้ประชาชนและสื่อมวลชนเข้ามาห้อมล้อม ทหารนายนั้นจึงกล่าวว่า "ถ่ายรูปไว้ก่อน ค่อยเชิญตัววันหลัง"[47]

จดหมายลาตายของนวมทอง ไพรวัลย์

เมื่อกลางดึกของวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2549 นวมทอง ไพรวัลย์ได้ผูกคอเสียชีวิตบนสะพานลอยข้ามถนนวิภาวดีรังสิต หน้าสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ พร้อมด้วยจดหมายประท้วงรัฐบาลโดยมีข้อความตอนหนึ่งว่า "เหตุที่ผมกระทำการพลีชีพครั้งที่ 2 โดยการทำลายตัวเอง เพื่อมิให้เสียทรัพย์เหมือนครั้งแรก ก็เพื่อลบคำสบประมาทของท่านรองโฆษก คปค. (พันเอก อัคร ทิพย์โรจน์) ที่ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์หลายฉบับว่า 'ไม่มีใครมีอุดมการณ์มากขนาดยอมพลีชีพได้'"[ต้องการอ้างอิง]

1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 ประชาชนจำนวน 200 คน ได้มาชุมนุมกันเพื่อขับไล่พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติโดยเรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึก และจัดการเลือกตั้งภายใน 2 เดือน ชนาพัทธ์ ณ นครและวรัญชัย โชคชนะ ผู้นำกลุ่มพิราบขาว กล่าวโจมตีคณะรัฐประหาร และเชิดชูวีรกรรมของนวมทอง ไพรวัลย์ ช่วงค่ำแกนนำกลุ่มเครือข่าย 19 กันยาฯ ตามมาสมทบการชุมนุม[48]

18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 เวลา 19.00 น. กลุ่มพันธมิตรต่อต้านรัฐประหารซึ่งนำโดยเครือข่าย 19 กันยาต้านรัฐประหาร ได้เคลื่อนขบวนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมทบด้วยกลุ่มพิราบขาว 2006 รวมทั้งมวลชนบางส่วนที่ท้องสนามหลวงร่วมกันเดินไปตามถนนราชดำเนิน ผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปจนถึงหน้ากองทัพบก เพื่อประกาศเจตนารมย์ต่อต้านการสืบทอดอำนาจเผด็จการ และให้ยกเลิกกฎอัยการศึกโดยทันที การชุมนุมในครั้งนี้มีผู้ร่วมชุมนุมกว่า 700 คน โดยได้รับการสนับสนุนจากหลายกลุ่มมวลชน อาทิเช่นกลุ่มกรรมกรปฏิรูป, ตัวแทนนักศึกษาจากสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย, กลุ่มพิราบขาว 2006 และประชาชนผู้สนใจ การชุมนุมยุติลงในเวลา 20.00 น.[49]

ความคิดเห็น

วันที่ 24 กันยายน สำนักวิจัยเอแบค โพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง "ความคิดเชิงประเมินผลของประชาชนต่อสังคมไทยและคุณลักษณะของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่ประชาชนต้องการ : กรณีศึกษาประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล" โดยสอบถามประชาชนจำนวน 1,550 คน ระหว่างวันที่ 22-23 กันยายน[50] พบว่า

  • ร้อยละ 92.1 รู้สึกว่าทหารเป็นที่พึ่งได้
  • ร้อยละ 89.1 รู้สึกปลอดภัย
  • ร้อยละ 87 รู้สึกทหารเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง
  • ร้อยละ 82.6 รู้สึกอบอุ่น
  • ร้อยละ 24.9 รู้สึกกังวล
  • ร้อยละ 20.5 รู้สึกไม่สะดวก
  • ร้อยละ 19.7 รู้สึกตกใจ
  • ร้อยละ 7.6 รู้สึกไม่ชอบ
  • ร้อยละ 6.5 รู้สึกกลัว

ในต่างประเทศ

  • พันธมิตรฯ ใน ลอสแอนเจลิส ชุมนุมพร้อมออกแถลงการณ์สนับสนุนคณะปฏิรูปการปกครองฯ ปฏิรูปทั้งการเมือง การศึกษาและสังคม หน้าสถานกงสุลใหญ่[ต้องการอ้างอิง]
  • พันธมิตรฯ ในนครชิคาโก ออกแถลงการณ์สนับสนุนคณะปฏิรูปฯ เมื่อที่ 19 กันยายน (ตามเวลานครชิคาโก) ซึ่งเดิมได้นัดรวมตัวกันประท้วงขับไล่พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร พร้อมกับพันธมิตรฯในไทย ได้เปลี่ยนมาเป็นการชุมนุมแสดงความยินดี หลังจากทราบข่าวรัฐประหาร[ต้องการอ้างอิง]
  • ในนครนิวยอร์ก มีการรวมตัวสนับสนุนคณะปฏิรูปฯ หน้าสหประชาชาติโดยมีการถือป้ายล้อเลียนพันตำรวจโททักษิณ[51]
  • กลุ่มนักศึกษาไทยระดับปริญญาบัณฑิต มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด กลุ่ม Oxford Initiative (OI) ได้ประชุมประจำเดือนกันที่ร้านรอยัลโอ๊คผับ และแถลงแสดงความเสียใจและคัดค้านรัฐประหาร[52]
  • สื่อมวลชนในประเทศมาเลเซียออกข่าวว่า "หากไม่มีความจำเป็นขอให้ประชาชนงดเดินทางข้ามแดนไทยเป็นการชั่วคราว เนื่องจากอยู่ในระหว่างการปฏิรูปการปกครอง และมีการประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศ ซึ่งอาจจะถูกจับกุมดำเนินคดีได้ หากทำผิดกฎหมายโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์" แต่ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในจังหวัดภาคใต้ ได้ประชาสัมพันธ์ว่าเหตุการณ์ไม่ได้รุนแรง และไม่ได้เป็นไปตามสื่อต่างประเทศประโคมข่าวแต่อย่างใด[53]
  • ในประเทศเกาหลีใต้ มีการรวมตัวต่อต้านรัฐประหารหน้าสถานทูตไทยในกรุงโซลเมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2549[54]

ในโลกอินเทอร์เน็ต

  • เกิดปรากฏการณ์จำนวนสมาชิกออนไลน์อยู่มากเป็นประวัติการณ์ ในช่วงเวลาค่ำของวันที่ 19 กันยายน 2549 มีการตั้ง/ตอบกระทู้รายงานสถานการณ์รัฐประหาร และภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง มีคนเข้ามาเขียนต่อท้ายยาวไปเป็นสิบหน้า อย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน[55]
  • มีผู้ประท้วงกลุ่มหนึ่งที่เรียกตัวเองว่า เครือข่ายปกป้องรัฐธรรมนูญ ประชาชนไทย[56] ระบุว่าได้มีการประท้วงต่อต้านรัฐประหารเกิดขึ้นในนครนิวยอร์ก หน้าสถานกงสุลไทย ในเว็บไซต์ดังกล่าวยังไม่ปรากฏภาพถ่าย รายชื่อกลุ่มบุคคล หรือหลักฐานอ้างอิงอื่น[ต้องการอ้างอิง]
  • มีการรวบรวมรายชื่อในจดหมายเปิดผนึกของศาสตราจารย์ธงชัย วินิจจะกูล เพื่อขอร้องให้ คปค. ไม่จับและไม่ทำร้ายผู้ประท้วงการกระทำของ คปค. ผ่านเว็บไซต์ petitiononline.com[57]

กลุ่มสิทธิมนุษยชน

  • ศาสตราจารย์ เสน่ห์ จามริก ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ไม่เห็นว่าการปฏิรูปการปกครองฯครั้งนี้ เข้าองค์ประกอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ถือเป็นแนวทางในการแก้ปัญหา ศ.เสน่ห์ มีความเห็นว่า "อย่ามองว่ามันถอยหลัง เพราะเราถอยหลังมาจนถึงจุดแล้ว และรัฐธรรมนูญถูกต้อนเข้ามุม ดังนั้น ส่วนตัวผมมองว่าไม่ใช่เรื่องเดินหน้าหรือถอยหลัง แต่เป็นเรื่องของการแก้สถานการณ์ และหลังจากนี้ก็ขึ้นอยู่กับประชาชนและสื่อมวลชนว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป"[58] คำให้สัมภาษณ์ของเสน่ห์ถูกวิจารณ์จากสุวิทย์ เลิศไกรเมธี ผู้ก่อตั้งเครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร ว่า "หน้าที่ของเสน่ห์คือเป็นปากเสียงสำหรับผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่คำกล่าวของเขากลับตรงกันข้าม" สุวิทย์ได้เรียกร้องให้เสน่ห์ลาออกจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ[36]
  • ผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชียขององค์กร Human Right Watch และ นักสิทธิมนุษยชนหลายคน ได้ออกมาแสดงท่าทีไม่พอใจต่อการลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานของคณะปฏิวัติ[59]
  • นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องว่าเมื่อใดที่สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ ก็อยากให้ยกเลิกข้อจำกัดสิทธิเสรีภาพให้เร็วที่สุด เพื่อประโยชน์ในเรื่องของความเชื่อมั่นของทุกฝ่าย[60]
  • คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (Asian Human Rights Commission) ได้กล่าวถึงรัฐประหารว่า "เรามีความวิตกกังวลกับการยึดอำนาจครั้งนี้เป็นอย่างมาก การใช้กำลังทหารครั้งนี้เป็นการไม่สมควรเป็นอย่างยิ่งในขณะนี้ ที่ถึงแม้จะอยู่ในภาวะวิกฤต แต่ประชาธิปไตยแบบระบบรัฐสภาในประเทศไทย ก็กำลังเติบโตหยั่งรากลึก และศาลกำลังมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในการบังคับใช้กฎหมาย การปฏิวัติรัฐประหารครั้งนี้เป็นการละเมิดกฎหมายและบทบัญญัติระหว่างประเทศอย่างสิ้นเชิง ซึ่งประเทศไทยในปัจจุบันได้พยายามปฏิบัติตามกฎหมายและบทบัญญัติระหว่างประเทศมาโดยตลอด" คณะกรรมการได้เรียกร้องให้ คปค.ประกาศสละอำนาจในทันที และให้มีรัฐบาลรักษาการพลเรือนมาทำหน้าที่บริหารประเทศ และเรียกร้องให้ที่ประชุมสามัญสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก และ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ณ กรุงเจนีวา ซึ่งกำลังมีการประชุมกันอยู่ ออกแถลงการณ์ประณามการยึดอำนาจครั้งนี้[61]
  • 24 กันยายน 2549 กลุ่มนักวิชาการสิทธิมนุษยชนจำนวน 23 คนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ได้ร่วมกันลงชื่อคัดค้านรัฐประหาร และทวงคืนสิทธิเสรีภาพให้ประชาชน ภายใต้หัวข้อ "แถลงการณ์ ทวงคืนสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน"[62]

ใกล้เคียง

รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 รัฐประหารในประเทศไทย รัฐประหาร รัฐประหารในประเทศพม่า พ.ศ. 2564 รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2490 รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2519 รัฐประหารในอิหร่าน พ.ศ. 2496 รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2534 รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2500

แหล่งที่มา

WikiPedia: รัฐประหารในประเทศไทย_พ.ศ._2549 http://english.people.com.cn/200609/20/eng20060920... http://www.bangkokbiznews.com/2006/special/revolut... http://www.bangkokbiznews.com/2006/special/whiteco... http://www.bangkokpost.com/breaking_news/breakingn... http://www.bloomberg.com/apps/news?pid=20601080&si... http://www.channelnewsasia.com/stories/afp_asiapac... http://www.cnn.com/2006/WORLD/asiapcf/09/23/thaila... http://www.cnn.com/interactive/world/0609/gallery.... http://www.cnn.com/video/player/player.html?url=/v... http://www.feer.com/articles1/2006/0609/free/p023....