ประวัติศาสตร์ ของ ราชอาณาจักรเนเปิลส์


ราชวงศ์โฮเฮินสเตาเฟิน

ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 12 ชาวนอร์มันได้ครอบครองรัฐในอิตาลีตอนใต้และซิซิลีที่ในอดีตเคยเป็นของชาวไบเซนไทน์, ชาวลอมบาร์ด และชาวมุสลิม ปี ค.ศ. 1130 โรเจอร์ที่ 2 ผู้รวบรวมดินแดนทั้งหมดของชาวนอร์มันเข้าด้วยกันตั้งตนเป็นกษัตริย์แห่งซิซิลีและปุลยา การมีตัวตนของรัฐนอร์มันดังกล่าวนี้ในช่วงแรกถูกคัดค้านจากสมเด็จพระสันตะปาปาและจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ที่อ้างตนเป็นพระมหากษัตริย์ปกครองพื้นที่ทางตอนใต้ ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 12 ราชอาณาจักรถูกส่งต่อให้จักรพรรดิราชวงศ์โฮเฮินสเตาเฟิน (ที่โด่งดังที่สุดคือจักรพรรดิฟรีดริชที่ 2 กษัตริย์แห่งซิซิลีตั้งแต่ ค.ศ. 1198 ถึง ค.ศ. 1250) ภายใต้ผู้ปกครองกลุ่มแรกนี้ราชอาณาจักรเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด ในทางการเมืองราชอาณาจักรเป็นรัฐที่รวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางมากที่สุดในยุโรป ในทางเศรษฐกิจราชอาณาจักรเป็นศูนย์กลางสำคัญทางการค้าและผู้ผลิตธัญพืช และในทางวัฒนธรรมราชอาณาจักรซึบซับเอาศาสตร์ของชาวกรีกและชาวอาหรับเข้ามาในยุโรปตะวันตก

ราชวงศ์อ็องฌู

ธงอ็องฌูของเนเปิลส์ ค.ศ. 1282–1442

หลังสิ้นเชื้อสายตามกฎหมายของราชวงศ์โฮเฮินสเตาเฟิน ชาร์ลส์แห่งอ็องฌู พระอนุชาของพระเจ้าหลุยส์ที่ 9 แห่งฝรั่งเศสได้รับสิทธิ์ในการควบคุมราชอาณาจักรในปี ค.ศ. 1266 ตามคำเชื้อเชิญของสมเด็จพระสันตะปาปาที่กลัวว่าพื้นที่ทางใต้จะตกเป็นของกษัตริย์ที่เป็นปรปักษ์กับพระองค์ ชาร์ลส์ได้ย้ายเมืองหลวงจากปาแลร์โมบนเกาะซิซิลีมาอยู่ที่เนเปิลส์ซึ่งตั้งอยู่บนแผ่นดินใหญ่ เป็นการแสดงให้เห็นถึงแนวคิดทางการเมืองของพระองค์ที่เอนเอียงไปทางอิตาลีตอนเหนือที่ทรงเป็นผู้นำของฝ่ายเกลฟ์ (ผู้นิยมสมเด็จพระสันตะปาปา) แต่การปกครองที่รุนแรงและการเรียกเก็บภาษีอย่างขูดเลือดขูดเนื้อก่อให้เกิดการปฏิวัติที่มีชื่อว่า "เวสปรี ซีซีลีอานี" ในปี ค.ศ. 1282 ส่งผลให้เกาะซิซิลีแยกตัวออกจากแผ่นดินใหญ่ไปอยู่ในการครอบครองของราชตระกูลอารากอนของชาวสเปน เหตุการณ์นี้ส่งผลอย่างมากต่อทั้งเนเปิลส์และซิซิลี ความขัดแย้งระหว่างชาวอ็องฌูกับชาวอารากอนดำเนินต่อไปเป็นเวลากว่าหนึ่งศตวรรษ ซึ่งผู้ชนะตัวจริงคือกลุ่มบารอนที่แผ่ขยายอำนาจที่ได้มาจากกษัตริย์ ภาวะอนาธิปไตยที่เกิดขึ้นทำให้ระบอบศักดินาของราชอาณาจักรทั้งสองแข็งแกร่งขึ้น

ราชวงศ์อารากอน

ธงหลังพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 1 (พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 5 แห่งอารากอน) แห่งราชวงศ์ตรัสตามาราขึ้นเป็นกษัตริย์ ค.ศ. 1442–1516

เนเปิลส์เจริญรุ่งเรืองในช่วงสั้น ๆ ในรัชสมัยของพระเจ้ารอแบต์แห่งเนเปิลส์ (ค.ศ. 1309–43) แต่ตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 14 ไปจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 15 ประวัติศาสตร์ของราชอาณาจักรมีเพียงเรื่องราวความขัดแย้งภายในราชวงศ์อ็องฌู สุดท้ายในปี ค.ศ. 1422 ราชอาณาจักรเนเปิลส์ก็ตกเป็นของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 5 แห่งอารากอน ผู้ปกครองซิซิลีที่ในปี ค.ศ. 1443 ได้ตั้งตนเป็น "กษัตริย์แห่งเนเปิลส์และซิซิลี"

ราชวงศ์ฮับสบวร์กและราชวงศ์บูร์บงของสเปน

ใช้ธงของจักรวรรดิสเปนหลังพระเจ้าการ์โลสที่ 5 แห่งราชวงศ์ฮับสบวร์กขึ้นเป็นกษัตริย์ในปี ค.ศ. 1516

ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 15 ราชอาณาจักรเนเปิลส์ยังคงพัวพันอยู่ในความขัดแย้งระหว่างกลุ่มอำนาจจากต่างแดนที่เข้ามาครอบงำอิตาลี ในปี ค.ศ. 1495 พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 8 แห่งฝรั่งเศสอ้างตนเป็นผู้ปกครองราชอาณาจักรในช่วงสั้น ๆ หลังตกเป็นของชาวสเปนในปี ค.ศ. 1504 เนเปิลส์และซิซิลีอยู่ภายใต้การปกครองของอุปราชเป็นเวลาสองศตวรรษ ภายใต้การปกครองของสเปนประเทศถูกมองเป็นเพียงแหล่งรายได้และประสบกับความเสื่อมถอยทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง การเรียกเก็บภาษีที่ขูดเลือดขูดเนื้อก่อให้เกิดการก่อกบฏของชนชั้นกลางและชนชั้นล่างในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1647 (การปฏิวัติของมาซานีเอโล) แต่ชาวสเปนกับกลุ่มบารอนร่วมมือกันปราบจราจลได้ในปี ค.ศ. 1648

เปลี่ยนธงหลังจักรพรรดิคาร์ลที่ 6 ขึ้นเป็นกษัตริย์ ค.ศ. 1714–1738

สงครามสืบราชบัลลังก์สเปนในปี ค.ศ. 1701–14 ส่ผลให้ราชอาณาจักรเนเปิลส์ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของราชวงศ์ฮับสบวร์กของออสเตรีย (ซิซิลีตกอยู่ภายในการปกครองของปีเยมอนเตในช่วงสั้น ๆ) ปี ค.ศ. 1734 ดอนการ์โลส เด บูร์บง เจ้าชายสเปนที่ต่อมากลายเป็นพระเจ้าการ์โลสที่ 3 ได้พิชิตเนเปิลส์และซิซิลีที่ขณะนั้นอยู่ภายใต้การบริหารราชการของราชวงศ์บูร์บงของสเปนในฐานะราชอาณาจักรแยก ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 กษัตริย์ราชวงศ์บูร์บงที่ปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อันทรงภูมิธรรมได้สนับสนุนการปฏิรูปเพื่อเปลี่ยนจากความอยุติธรรมในทางสังคมและการเมืองมาเป็นรัฐสมัยใหม่

ราชอาณาจักรของนโปเลียน

ค.ศ. 1738–1806 และ ค.ศ. 1815–1816 เปลี่ยนธงหลังพระเจ้าการ์โลสที่ 3 กลายเป็นกษัตริย์แห่งเนเปิลส์ ธงถูกนำกลับมาใช้เป็นธงชาติเนเปิลส์อีกครั้งหลังสงครามนโปเลียน

พระเจ้าเฟร์นันโดที่ 4 แห่งราชวงศ์บูร์บงหยุดโครงการปฏิรูปชั่วคราวโดยมีการปฏิวัติฝรั่งเศสเป็นตัวอย่างให้เห็นว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากปล่อยให้แนวคิดเรื่องสาธารณรัฐและระบอบประชาธิปไตยดำเนินต่อไป แนวคิดดังกล่าวเป็นที่เรียกร้องของกลุ่มเสรีชน อันได้แก่ กลุ่มปัญญาชนชั้นกลาง, กลุ่มขุนนาง และกลุ่มนักบวช ที่มองว่าการปฏิรูปของราชวงศ์บูร์บงเป็นการทำเพื่อเพิ่มอำนาจให้กษัตริย์มากกว่าเพื่อผลประโยชน์ของชาติ กลุ่มผู้รักชาติเริ่มวางแผนการสมคบคิดและถูกตอบโต้ด้วยความรุนแรง กองทัพของพระเจ้าเฟร์นันโดร่วมมือกับกองทัพพันธมิตรต่อต้านสาธารณรัฐฝรั่งเศสในสงครามสัมพันธมิตรครั้งที่สองซึ่งผลลัพธ์ที่ได้คือความหายนะ เนเปิลส์ถูกชาวฝรั่งเศสแย่งชิงไป พระเจ้าเฟร์นันโดหนีไปซิซิลี วันที่ 24 มกราคม ค.ศ. 1799 มีการประกาศตั้งสาธารณรัฐปาเตโนเปอาแต่ถูกทอดทิ้งไม่ได้รับการคุ้มครอง นครเนเปิลส์ที่ถูกชาวฝรั่งเศสทอดทิ้งถูกกองกำลังของพระเจ้าเฟร์นันโดตีแตกในวันที่ 13 มิถุนายน ค.ศ. 1799 กลุ่มคนรักชาติที่ต้านทานด้วยความสิ้นหวังได้รับการสัญญาว่าจะให้อิสรภาพในการตัดสินใจว่าจะอยู่ต่อหรือจะออกจากประเทศจึงยอมแพ้ แต่ในวันที่ 24 มิถุนายน กองเรือของโฮราชิโอ เนลสันมาถึง เนลสันที่ทำข้อตกลงกับกลุ่มอำนาจในซิซิลีได้ยกเลิกเงื่อนไขในข้อตกลงยอมแพ้ ชาวสาธารณรัฐหลายคนถูกจับตัวและถูกประหารชีวิต พระเจ้าเฟร์นันโดเสด็จกลับเนเปิลส์ แต่การสมคบคิดวางแผนกับชาวออสเตรียและชาวบริเตนของพระองค์ทำให้นโปเลียนเดือดดาล

ค.ศ. 1806–1808 เปลี่ยนธงชาติเนเปิลส์ใหม่หลังโฌแซ็ฟ โบนาปาร์ต ขึ้นเป็นกษัตริย์ค.ศ. 1808–1811 ธงชาติเนเปิลเปลี่ยนหลังฌออากีม มูว์ราขึ้นเป็นกษัตริย์

หลังปราบชาวออสเตรียได้ที่เอาสเทอร์ลิทซ์ นโปเลียนส่งโฌแซ็ฟ น้องชายของตนไปพิชิตราชอาณาจักรของพระเจ้าเฟร์นันโดซึ่งตอนแรกนโปเลียนได้ผนวกเข้ากับราชอาณาจักรฝรั่งเศส แต่ต่อมาในวันที่ 30 มีนาคม ค.ศ. 1806 ได้ประกาศให้เป็นเอกราชโดยมีโฌแซ็ฟเป็นกษัตริย์ เมื่อโฌแซ็ฟถูกย้ายไปสเปนในปี ค.ศ. 1808 นโปเลียนยกเนเปิลส์ให้ฌออากีม มูว์รา ซึ่งเป็นน้องเขย ภายใต้การปกครองของชาวฝรั่งเศสเนเปิลส์ถูกทำให้เป็นสมัยใหม่มากขึ้นด้วยการล้มเลิกระบอบศักดินาและนำกฏข้อบัญญัติต่าง ๆ มาใช้ มูว์ราเป็นกษัตริย์ที่ได้รับความนิยมพอสมควร พระเจ้าเฟร์นันโดที่ 4 (ต่อมาคือพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 1 แห่งซิซิลีทั้งสอง) ถูกบีบให้หนีไปซิซิลีสองครั้ง ที่นั่นทรงได้รับการช่วยเหลือจากชาวบริเตน

ค.ศ. 1811–1815 ธงชาติเนเปิลเปลี่ยน

การฟื้นฟูราชอาณาจักรที่ในตอนนี้ถูกเรียกว่าราชอาณาจักรซิซิลีทั้งสองทำให้สุดท้ายถูกจัดให้เป็นรัฐอนุรักษ์นิยมของยุโรป แม้มีหลายคนในราชอาณาจักรที่รับเอาแนวคิดแบบเสรีชนมา แต่กษัตริย์ยืนยันหลายครั้งว่าราชอาณาจักรปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ทำให้เกิดการบดขยี้กันทางการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การปฏิวัติครั้งรุนแรงเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1820 เมื่อพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 1 ถูกบีบให้มอบรัฐธรรมนูญและเกิดขึ้นอีกครั้งในปี ค.ศ. 1848 ในรัชสมัยของพระเจ้าฟรานเชสโกที่ 2 เมื่อซิซิลีพยายามจะประกาศอิสรภาพ การเมืองและเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ของราชอาณาจักรนำไปถูกการแตกพ่ายอย่างง่ายดายเมื่อต้องรับมือกับการรุกรานของจูเซปเป การีบัลดีในปี ค.ศ. 1860 ในการลงประชามติในปีเดียวกันนั้นทั้งเนเปิลส์กับซิซิลีลงคะแนนเสียงขอรวมตัวกับอิตาลีเหนืออย่างท่วมท้น

ใกล้เคียง

ราชอาณาจักรอิตาลี ราชอาณาจักรฮังการี (ค.ศ. 1920–1946) ราชอาณาจักรยูโกสลาเวีย ราชอาณาจักรกัมพูชา (พ.ศ. 2496–2513) ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ราชอาณาจักรโรมาเนีย ราชอาณาจักรลิเบีย ราชอาณาจักรปรัสเซีย ราชอาณาจักรนาวาร์ ราชอาณาจักรมาเกโดนีอา