ภาพรวม ของ ราชาธิปไตยเดือนกรกฎาคม

ราชอาณาจักรฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1839หลังจากการปฏิวัติเดือนกรกฎาคม ธงไตรรงค์ฝรั่งเศส ได้มาแทนที่ ธงขาวของราชวงศ์บูร์บง นี้เป็นการพยายามโยงรัฐบาลใหม่เข้ากับผลกระทบของ การปฏิวัติฝรั่งเศส

พระเจ้าหลุยส์-ฟีลิปทรงได้รับการสนับสนุนโดยพันธมิตรระหว่างประชาชนชาวปารีส พวกสาธารณรัฐนิยม ซึ่งได้ทำการประท้วงอยู่ในเมืองหลวง; และพวกชนชั้นกระฎุมพีที่มีอุดมการณ์เสรีนิยม อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงปลายรัชสมัยของพระองค์ พระเจ้าหลุยส์-ฟีลิป ผู้ทรงมีพระราชสมญาว่า "กษัตริย์แห่งประชาชน" (ฝรั่งเศส: le Roi-Citoyen) ถูกโค่นล้มด้วยวิธีการเดียวกันใน การปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ ส่งผลให้เกิดการจัดตั้งสาธารณรัฐ[1]

หลังจากการสละราชสมบัติและการลี้ภัยไปยังสหราชอาณาจักรของพระเจ้าหลุยส์-ฟีลิป พวกเสรีนิยม ออร์เลอองนีสต์ (ฝ่ายตรงข้ามของพวกต่อต้านการปฏิวัติ เลชีตีมีสต์) ยังคงสนับสนุนการกลับมาของราชวงศ์ออร์เลอ็อง แต่ราชาธิปไตยเดือนกรกฎาคมก็ถือเป็นการสิ้นสุดการปกครองของราชวงศ์บร์บงและสาขาย่อยออร์เลอ็องของฝรั่งเศส (ถึงแม้ระบอบราชาธิปไตยได้รับการฟื้นฟูอีกครั้งโดยหลุยส์-นโปเลียน โบนาปาร์ต พระราชนัดดาของจักรพรรดินโปเลียน ในภายหลัง และครองราชย์ในฐานะจักรพรรดิระหว่างปี ค.ศ. 1852- ค.ศ. 1870) ต่อมา พวกเลชีตีมีสต์ถอนตัวออกจากเวทีการเมือง เหลือเพียงพวกออร์เลอองนีสต์ที่ยังคงต่อสู้กับพวกสาธารณรัฐนิยม

สมัยราชาธิปไตยเดือนกรกฎาคม (ค.ศ. 1830–ค.ศ. 1848) ถูกมองว่าเป็นยุคแห่งการครอบงำของชนชั้นกระฎุมพี และเป็นจุดเปลี่ยนของรัฐบาลที่มีพวกต่อต้านการปฏิวัติเลซีตีมีสต์เป็นผู้นำ มาสู่รัฐบาลเสรีนิยมที่มีพวกออร์เลอองนีสต์เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องการประณีประณอมกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการปฏิวัติปี 1789 อย่างเช่น พระเจ้าหลุยส์-ฟีลิป ทรงใช้พระราชอิสริยยศ "พระมหากษัตริย์แห่งชาวฝรั่งเศส" แทนที่พระราชอิสริยยศ "พระมหากษัตริย์แห่งฝรั่งเศส" เพื่อเป็นการบ่งบอกว่าพระองค์ทรงยอมรับอธิปไตยของปวงชน

พระเจ้าหลุยส์-ฟีลิป ผู้ทรงนิยมแนวคิดเสรีนิยมเมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ ปฏิเสธความเอิกเกริกและวิถีชีวิตอันหรูหราของราชวงศ์บูร์บง และทรงแวดล้อมพระองค์เองด้วยพวกพ่อค้าและนักธนาคาร อย่างไรก็ตามรัชสมัยของพระองค์ก็นับว่าเป็นช่วงเวลาที่วุ่นวายที่สุดสมัยหนึ่ง โดยเฉพาะในด้านการเมือง พวกฝ่ายขวาเลซีตีมีสต์กลุ่มใหญ่ต้องการฟื้นฟูราชวงศ์บร์บง ส่วนพวกสาธารณรัฐนิยม (และในภายหลังรวมถึงพวกสังคมนิยมด้วย) ยังคงเป็นกลุ่มที่ทรงอิทธิพล ในช่วงหลังของรัชสมัย พระเจ้าหลุยส์-ฟีลิปทรงมีอุปนิสัยเข้มงวดและดื้อรั้นมากขึ้น อีกทั้งประธานรัฐสภา ฟรองซัวส์ กิโซต์ ที่พระองค์ทรงแต่งตั้งก็ไม่ได้รับความนิยมอย่างรุนแรง แต่พระองค์ก็ทรงปฏิเสธที่จะปลดเขาออก สถานะการณ์อยู่ในภาวะตึงเครียด จนกระทั่งเกิด การปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ ส่งผลให้เกิดการล้มล้างราชาธิปไตยและตามมาด้วยการสถาปนาสาธารณรัฐ

อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกๆของรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์-ฟีลิป พระองค์ทรงทำการปฏิรูปหลายๆประการ รัฐบาลของพระองค์เองก็มีรากฐานมาจากกฎบัตร ค.ศ. 1830 ซึ่งถูกร่างขึ้นโดยสมาชิกที่มีแนวคิดหัวปฏิรูปของสภาผู้แทนราษฎร และยังมีการประกาศให้ความเท่าเทียมทางศาสนาแก่ชาวคาทอลิกและโปรเตสแตนต์ การเพิ่มอำนาจให้แก่ประชาชนด้วยการฟื้นฟูกองกำลังรักษาความสงบแห่งชาติ การปฏิรูปการเลือกตั้ง และการปฏิรูประบบบรรดาศักดิ์ขุนนาง และการลดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ พระเจ้าหลุยส์-ฟีลิปและเหล่ารัฐมนตรีของพระองค์ดำเนินนโยบายที่มีท่าทีเหมือนจะเป็นกลางภายใต้รัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม นโยบายเหล่านั้นมีจุดมุ่งหมายในการเพิ่มอำนาจและอิทธิพลให้แก่รัฐบาลและชนชั้นกระฎุมพี มากกว่าจะเป็นการพยายามส่งเสริมความเท่าเทียมและเพิ่มอำนาจให้แก่ประชาชนทั่วไป ดังนั้น ถึงแม้รัฐบาลของพระเจ้าหลุยส์-ฟีลิปจะมีท่าทีเหมือนสนับสนุนการปฏิรูป แต่ความจริงแล้วความคิดเหล่านั้นถือว่าไม่ถูกต้องนัก

ใกล้เคียง

ราชาธิปไตยฮาพส์บวร์ค ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ราชาธิราช ราชาธิปไตย ราชาธิปไตยของไอร์แลนด์ ราชาธิปไตยโดยเลือกตั้ง ราชาธิปไตยแบบสืบสันตติวงศ์ ราชาธิปไตยเดือนกรกฎาคม ราชาธิปไตยของปวงชน ราชาธิปไตยโดยสมบูรณ์