ผลที่ตามมา ของ สงครามอังกฤษ–แซนซิบาร์

ทหารอังกฤษวางท่าถ่ายรูปคู่กับปืนใหญ่ที่ยึดได้นอกพระราชวังสุลต่าน

ชายหญิงแซนซิบาร์ราว 500 คนเสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บระหว่างการระดมยิง ส่วนใหญ่เสียชีวิตเพราะเพลิงที่ลุกไหม้พระราชวัง[1][6] ไม่ทราบว่าผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บเหล่านี้เป็นพลรบมากเท่าใด แต่กล่าวกันว่าพลปืนใหญ่ของสุลต่านคาลิด "เสียชีวิตไปมาก"[42] กำลังพลสูญเสียฝ่ายอังกฤษมีหนึ่งนาย เป็นจ่าบนเรือทรูชซึ่งได้รับบาดเจ็บสาหัส ภายหลังหายเป็นปกติ[1] แม้ชาวเมืองแซนซิบาร์ส่วนใหญ่จะเข้าข้างอังกฤษ แต่ย่านคนอินเดียของเมืองกลับถูกฉวยโอกาสปล้น และผู้อยู่อาศัยราวยี่สิบคนเสียชีวิตไปในความวุ่นวาย[43] ทหารซิกอังกฤษ 150 นายถูกย้ายจากเมืองมอมบาซามาลาดตระเวนตามท้องถนน เพื่อฟื้นฟูความสงบเรียบร้อย[40] กะลาสีจากเรือเซนต์จอร์จและเรือฟิโลเมลขึ้นบกเพื่อตั้งกองดับเพลิงเพื่อจำกัดเพลิงที่ลุกลามจากพระราชวังไปยังอาคารตรวจสอบทางศุลกากร (customs shed) ที่อยู่ใกล้เคียง[44] มีความกังวลอยู่บ้างเกี่ยวกับเพลิงที่อาคารตรวจสอบทางศุลกากร เพราะมีวัตถุระเบิดเก็บไว้จำนวนหนึ่ง แต่โชคดีที่ไม่เกิดการระเบิดขึ้น[42]

สุลต่านคาลิด ร้อยเอกซาเลห์ และผู้ติดตามอีกประมาณ 40 คนลี้ภัยในสถานกงสุลเยอรมนีหลังการหลบหนีจากพระราชวัง[42][45] โดยมีกะลาสีและนาวิกโยธินเยอรมันติดอาวุธสิบนายคอยพิทักษ์ ขณะที่แมตทิวส์ประจำคนอยู่ข้างนอกเพื่อจับกุมหากพวกเขาพยายามหลบหนี[46] แม้มีการขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน แต่กงสุลเยอรมันปฏิเสธไม่ส่งองค์สุลต่านคาลิดให้แก่อังกฤษ เพราะตามสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างแซนซิบาร์และอังกฤษนั้นเจาะจงยกเว้นนักโทษการเมือง[40] กงสุลเยอรมันสัญญาว่าจะนำองค์สุลต่านคาลิดไปยังแอฟริกาตะวันออกของเยอรมนีแทน โดยมิให้พระองค์ "เหยียบแผ่นดินแซนซิบาร์" เมื่อเวลา 10.00 น. ของวันที่ 2 ตุลาคม เรือหลวงเซอัดเลอร์ (SMS Seeadler) แห่งกองทัพเรือเยอรมันเดินทางถึงท่า เมื่อเวลาน้ำขึ้น เรือเล็กลำหนึ่งของเซอัดเลอร์สามารถแล่นมาถึงประตูสวนของสถานกงสุลได้ และคาลิดเดินทางพื้นที่สถานกงสุลไปยังเรือรบเยอรมันทันที จึงปลอดการจับกุม[46] เขาถูกย้ายจากเรือเล็กสู่เรือเซอัดเลอร์และนำไปยังเมืองดาร์ เอส ซาลาม (Dar es Salaam) ในแอฟริกาตะวันออกของเยอรมนี[47] คาลิดถูกกองกำลังอังกฤษจับกุมใน ค.ศ. 1916 ระหว่างการทัพแอฟริกาตะวันออกในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และถูกเนรเทศไปยังเซเชลส์และเซนต์เฮเลนาก่อนได้รับอนุญาตให้กลับแอฟริกาตะวันออก เขาเสียชีวิตที่เมืองบอมบาซาใน ค.ศ. 1927[48] ผู้สนับสนุนคาลิดถูกลงโทษโดยถูกบังคับให้จ่ายค่าปฏิกรรมให้ครอบคลุมค่ากระสุนปืนใหญ่ที่ยิงใส่พวกเขา และสำหรับความเสียหายอันเกิดจากการปล้นซึ่งคิดเป็นมูลค่า 300,000 รูปี[40]

สุลต่านฮามัดนั้นภักดีต่ออังกฤษและประพฤติตนเป็นหุ่นเชิดของรัฐบาลซึ่งแท้จริงแล้วอังกฤษเป็นผู้ดำเนินงาน อังกฤษยังคงรัฐสุลต่านไว้เพียงเพื่อเลี่ยงค่าใช้จ่ายของการบริหารแซนซิบาร์เป็นมกุฎราชอาณานิคม (crown colony) โดยตรง[40] หลายเดือนให้หลังสงคราม สุลต่านฮามัด ด้วยการกระตุ้นของอังกฤษ ทรงเลิกความเป็นทาสในทุกรูปแบบ[40] การเลิกทาสกำหนดให้ทาสต้องแสดงตนที่สำนักงานรัฐบาล และพิสูจน์ด้วยกระบวนการอันเชื่องช้า ภายในสิบปี มีทาสถูกปล่อยเป็นไทเพียง 17,293 คน จากที่ประมาณไว้ 60,000 คน ใน ค.ศ. 1891[49]

เสากระโดงของเรือกลาสโกว์ที่อับปางลงสามารถมองเห็นได้ในภาพพาโนรามาท่าเรือแซนซิบาร์ทาวน์ที่ถ่ายในปี ค.ศ. 1902 ภาพนี้ เมื่อมองไปทางทิศตะวันออก House of Wonder (บ้านอัศจรรย์) เป็นอาคารสีขาวที่มีหอและระเบียงจำนวนมากอยู่ในตำแหน่งกลางภาพ ฮาเร็มและพระราชวังอยู่ทางซ้าย อาคารสถานกงสุลอยู่ทางขวา

สงครามทำให้กลุ่มอาคารพระราชวังที่ได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ฮาเร็ม ประภาคาร และพระราชวังถูกทำลายจากการระดมยิง ทำให้ไม่ปลอดภัย[43] ที่ตั้งพระราชวังกลายเป็นสวน ขณะที่พระราชวังหลังใหม่ถูกสร้างเหนือที่ตั้งฮาเร็ม[11][50] House of Wonder แทบไม่ได้รับความเสียหาย และภายหลังเป็นสำนักงานเลขานุการหลักของทางการอังกฤษ[42][51] ระหว่างการบูรณะ House of Wonder ใน ค.ศ. 1897 หอนาฬิกาถูกสร้างเพิ่มด้านหน้าอาคารแทนประภาคารที่ถูกทำลายไปในการระดมยิง[50] ซากเรือกลาสโกว์ยังคงอยู่ในท่าเรือด้านหน้าพระราชวัง ด้วยเป็นบริเวณน้ำตื้น ทำให้เสากระโดงเรือยังสามารถมองเห็นได้อีกหลายปีต่อมา กระทั่งถูกทำลายเป็นเศษเล็กเศษน้อยในที่สุด เมื่อ ค.ศ. 1912[52]

ผู้นำฝ่ายอังกฤษในเหตุการณ์ได้รับการยกย่องอย่างสูงจากรัฐบาลในกรุงลอนดอนและแซนซิบาร์สำหรับการกระทำของพวกเขาทั้งก่อนและระหว่างสงคราม และหลายคนได้รับรางวัลการแต่งตั้งและเกียรติยศ พลเอกไรคีส ผู้นำทหารอัสคารี ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ Order of the Brilliant Star of Zanzibar ชั้นที่หนึ่ง (ระดับสอง) เมื่อวันที่ 24 กันยายน ค.ศ. 1896 เครื่องราชอิสริยาภรณ์ Order of Hamondieh ชั้นที่หนึ่ง ของแซนซิบาร์ เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม ค.ศ. 1897 และภายหลังได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการกองทัพแซนซิบาร์[53][54] พลเอกแมตทิวส์ ผู้บัญชาการกองทัพแซนซิบาร์ ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ Grand Order of Hamondieh ในวันที่ 25 สิงหาคม ค.ศ. 1897 และกลายเป็นนายกรัฐมนตรีและขุนคลังของรัฐบาลแซนซิบาร์[54] บาซิล เคฟ กงสุล ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ Companion of the Order of the Bath เมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1897[55] และได้รับเลื่อนตำแหน่งเป็นกงสุลใหญ่ในวันที่ 9 กรกฎาคม ค.ศ. 1903[56] แฮร์รี รอว์ซันได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ Knight Commander of the Order of the Bath สำหรับผลงานในแซนซิบาร์ และภายหลังเป็นผู้ว่าการรัฐนิวเซาท์เวลส์ในออสเตรเลีย และได้รับการเลื่อนยศเป็นพลเรือเอก[57] รอว์สันยังได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ Order of the Brilliant Star of Zanzibar ชั้นที่หนึ่ง ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1897 และ Order of Hamondieh ในวันที่ 18 มิถุนายน ค.ศ. 1898[58][59]

อาจเป็นเพราะแสนยานุภาพของกองทัพเรืออังกฤษที่แสดงให้เห็นในระหว่างการระดมยิง ส่งผลให้ไม่มีการกบฏต่อต้านอิทธิพลของอังกฤษอีกใน 67 ปีที่เหลือในฐานะรัฐในอารักขา[60] สงครามครั้งนี้ ซึ่งกินเวลาราว 40 นาที[nb 1] ได้รับการพิจารณาว่าเป็นสงครามที่สั้นที่สุดในประวัติศาสตร์[61]

ใกล้เคียง

สงครามโลกครั้งที่สอง สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สงครามเวียดนาม สงครามกลางเมืองอเมริกา สงครามเกาหลี สงครามรัสเซีย–ญี่ปุ่น สงครามเย็น สงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่สอง สงครามแปซิฟิก สงครามอ่าว

แหล่งที่มา

WikiPedia: สงครามอังกฤษ–แซนซิบาร์ http://books.google.com/?id=NrgBAAAAYAAJ&printsec=... http://books.google.com/?id=Z9sLAAAAYAAJ&printsec=... http://books.google.com/?id=vR9BAAAAIAAJ http://books.google.com/books?id=YUm142jq6F8C http://hansard.millbanksystems.com/commons/1804/au... http://hansard.millbanksystems.com/commons/1890/au... http://query.nytimes.com/gst/abstract.html?res=940... http://query.nytimes.com/gst/abstract.html?res=980... http://query.nytimes.com/gst/abstract.html?res=980... http://query.nytimes.com/gst/abstract.html?res=9B0...