การทัพทางบก ของ สงครามอ่าว

การเคลื่อนไหวของทหารราบในวันที่ 24–28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 ในปฏิบัติการพายุทะเลทราย

กองกำลังผสมได้ยึดครองน่านฟ้าด้วยเทคโนโลยีที่เหนือกว่าอิรัก กองกำลังของพวกเขาได้เปรียบอย่างมากเพราะได้รับการป้องกันจากเป็นเจ้าอากาศ ซึ่งได้มาโดยกองทัพอากาศก่อนที่จะมีการรุกทางบก กองกำลังผสมยังมีความได้เปรียบทางเทคโนโลยีสองอย่างด้วยกัน คือ

  1. รถถังประจัญบานหลักของกองกำลังผสม เช่น เอ็ม1 เอบรามส์ของสหรัฐ ชาลเลนเจอร์ 1 ของอังกฤษ และเอ็ม-84เอบีของคูเวต มีความสามารถเหนือกว่าไทป์ 69 ของจีนและที-72 ของอิรักอย่างมาก รวมทั้งทหารยานเกราะของกองกำลังผสมเองก็ได้รับการฝึกฝนมาดีกว่า
  2. การใช้จีพีเอสทำให้กองกำลังผสมสามารถหาหนทางได้โดยไม่ต้องพึ่งถนนหรือสัญลักษณ์ใด ๆ เมื่อรวมกับการลาดตระเวนทางอากาศทำให้พวกเขาเลือกที่จะสู้ด้วยการสงครามกลยุทธ์แทนที่จะใช้การรบแบบแตกหัก เพราะพวกเขารู้ว่าพวกเขาอยู่ตรงไหนและศัตรูอยู่ตรงไหน พวกเขาจึงสามารถโจมตีเป้าหมายเฉพาะแทนที่จะเป็นการค้นหาศัตรูตามพื้นดิน

ปลดปล่อยคูเวต

สหรัฐได้วางแผนหลอกล่ออิรักด้วยการโจมตีทางอากาศและทางเรือในคืนก่อนการปลดปล่อยคูเวตเพื่อให้อิรักเชื่อว่ากองกำลังหลักจะเข้าโจมตีส่วนกลางของคูเวต

รถถังจากกองพลยานเกราะที่ 3 ของสหรัฐไทป์ 69 ของอิรักบนถนนในคูเวตซิตีรถถังสองคันของอิรักที่ถูกทิ้งไว้ใกล้คูเวตซิตีในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534

เป็นเวลาหลายเดือนที่ทหารของอเมริกาในซาอุดิอาระเบียต้องตกอยู่ภายใต้การยิงจากอิรักและขีปนาวุธสกั๊ด ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 กองนาวิกโยธินที่ 1 และ 2 พร้อมกับกองพันทหารยานเกราะเบาที่ 1 ได้เข้าไปยังตูเวตและมุ่งหน้าไปยังคูเวตซิตี พวกเขาปะทะกับแนวสนามเพลาะ ลวดหนาม และทุ่งกับระเบิด อย่างไรก็ตามอิรักมีการป้องกันที่เบาบางและถูกเอาชนะภายในไม่กี่ชั่วโมงแรก การรบระหว่างรถถังจำนวนมากเกิดขึ้นแต่นอกจากนั้นแล้วกองกำลังผสมก็พบเพียงการต่อต้านเพียงเล็กน้อยเพราะทหารอิรักส่วนใหญ่เลือกที่จะยอมจำนน วิธีทั่วไปของทหารอิรักคือสู้ก่อนสักเล็กน้อยแล้วค่อยยอมแพ้ อย่างไรก็การป้องกันทางอากาศของอิรักได้ยิงอากาศยานของสหรัฐตกได้ถึง 9 ลำ ในขณะเดียวกันกองกำลังจากประเทศอาหรับก็รุกคืบเข้าไปในคูเวตจากทางตะวันออกและปะทะกับการต่อต้านเล็กน้อยพร้อมกับสูญเสียทหารไปไม่มากนัก

แม้ว่ากองกำลังผสมจะประสบความสำเร็จ แต่ก็เป็นที่กลัวกันว่าริพับลิกันการ์ดของอิรักจะสามารถหลบหนีเข้าไปยังอิรักก่อนที่จะถูกทำลายได้ จากนั้นจึงมีการตัดสินใจส่งกองกำลังยานเกราะของอังกฤษเข้าไปยังคูเวต 15 ชั่วโมงก่อนกำหนดการและให้กองกำลังของสหรัฐไล่ตามริพับลิกันการ์ด การรุกของกองกำลังเริ่มด้วยการระดมยิงด้วยปืนใหญ่และจรวดเพื่อเปิดทางให้กับทหาร 150,000 นายและรถถังอีก 1,500 คัน กองกำลังของอิรักในคูเวตตอบโต้ทหารสหรัฐตามคำสั่งโดยตรงของซัดดัม แม้ว่าการรบจะดุเดือดแต่กระนั้นทหารอเมริกันก็สามารถตอบโต้ทหารอิรักและรุกต่อไปยังคูเวตซิตี

กองกำลังของคูเวตได้รับมอบหมายให้ทำการปลดปล่อยเมือง ทหารอิรักทำการต่อต้านได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น คูเวตเสียทหารไปหนึ่งนายและเครื่องบินอีกหนึ่งลำ ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ซัดดัมได้สั่งให้กองทัพล่าถอยออกจากคูเวต ประธานาธิบดีบุชประกาศว่าคูเวตได้รับอิสรภาพแล้ว อย่างไรก็ดีทหารอิรักที่ท่าอากาศยานนานาชาติคูเวตดูเหมือนจะไม่ได้รับข้อความดังกล่าวและทำการต่อสู้อย่างดุเดือด นาวิกโยธินสหรัฐต้องต่อสู้เป็นชั่วโมงจึงจะสามารถยึดสนามบินไว้ได้ หลังจากผ่านไปสี่วันของการรบ กองกำลังของอิรักก็ถูกขับไล่ออกจากคูเวต พวกเขาวางเพลิงบ่อน้ำมันของคูเวตเกือบ 700 แห่งและวางทุ่นระเบิดไว้รอบ ๆ บ่อน้ำมันเพื่อให้การควบคุมเพลิงเป็นไปได้ยาก

เริ่มต้นบุกอิรัก

ที-62 ของอิรักที่ถูกทำลายโดยกองพลยานเกราะที่ 3 ของสหรัฐ

การทัพทางบกถูกเรียกอย่างเป็นทางการว่าปฏิบัติการดีเซิร์ทเซเบอร์[90]

หน่วยรบแรกที่ถูกส่งเข้าไปยังอิรักคือหน่วยลาดตระเวนสามหน่วยจากหน่วยเอสเอเอสของอังกฤษ โดยมีรหัสว่า บราโววันซีโร บราโวทูซีโร และบราโวทรีซีโร[ต้องการอ้างอิง] หน่วยลาดตระเวนหน่วยละแปดนายนี้ได้เข้าไปยังหลังแนวของอิรักเพื่อรวบรวมข้อมูลของขีปนาวุธสกั๊ด ซึ่งไม่สามารถตรวจพบด้วยเครื่องบินได้ เพราะพวกมันถูกซ่อนไว้ใต้สะพานและถูกอำพรางในตอนกลางวัน อีกเป้าหมายหนึ่งคือการทำลายสายสื่อสารไฟเบอร์ออพติกที่อยู่ในท่อและตัวส่งสัญญาณไปยังเครื่องยิงขีปนาวุธสกั๊ด ปฏิบัติการนี้มีเพื่อป้องกันไม่ให้อิสราเอลเข้าแทรกแซง แต่เนื่องจากไม่มีที่กำบังเพียงพอที่จะทำภารกิจทำให้บราโววันซีโรและบราโวทรีซีโรต้องยกเลิกภารกิจ ในขณะที่บราโวทูซีโรดำเนินภารกิจต่อจนกระทั่งพวกเขาถูกตรวจพบ มีเพียงสิบเอกคริส ไรอันเท่านั้นที่สามารถหลบหนีไปยังซีเรียได้

ทหารบางส่วนจากกองพลน้อยที่ 2 กรมทหารม้าที่ 5 จากกองพลทหารม้าที่ 1 ของสหรัฐเข้าทำการโจมตีโดยตรงใส่อิรักในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 ตามมาด้วยการโจมตีอีกครั้งในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ตั้งแต่วันที่ 15-20 กุมภาพันธ์ได้เกิดยุทธการวาดิอัลบาตินขึ้นในอิรัก เหตุการณ์นี้เป็นการโจมตีครั้งแรกในสองครั้งโดยกองพันที่ 1 กรมทหารม้าที่ 5 จากกองพลทหารม้าที่ 1 การโจมตีครั้งนั้นเป็นการโจมตีหลอกล่อเพื่อให้ทหารอิรักคิดว่ากองกำลังผสมจะทำการรุกจากทางใต้ ทหารอิรักทำการป้องกันอย่างดุเดือดทำให้ทหารอเมริกันต้องล่าถอยตามแผนไปยังวาดิอัลบาติน ทหารสหรัฐสามนายถูกสังหารและได้รับบาดเจ็บเก้านาย ยานพาหนะต่อสู้ทหารราบสูญเสียป้อมปืนไปหนึ่ง แต่สามารถจับเชลยได้ 40 นายและทำลายรถถัง 5 คันพร้อมกับลวงอิรักได้สำเร็จ การโจมตีครั้งนี้นำด้วยกองพลน้อยทางอากาศที่ 18 เพื่อกวาดพื้นที่หลังกองพลทหารม้าที่ 1 และโจมตีกองทหารอิรักทางทิศตะวันตก ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 อิรักเห็นด้วยกับข้อตกลงหยุดยิงที่โซเวียตเสนอ ข้อตกลงดังกล่าวเรียกร้องให้อิรักถอนทหารให้ไปอยู่ในตำแหน่งก่อนการรุกรานคูเวตภายใน 6 อาทิตย์และให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเฝ้าดูการหยุดยิงและล่าถอยของอิรัก

กองกำลังผสมปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าวแต่ให้การว่าจะไม่ทำการโจมตีทหารอิรักที่ล่าถอย[ต้องการอ้างอิง]และให้เวลา 24 ชั่วโมงเพื่อเริ่มการล่าถอย ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์มีทหารอิรักถูกจับเป็นเชลย 500 นาย ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์กองกำลังยานเกราะของอังกฤษและสหรัฐจำนวนมหาศาลข้ามชายแดนอิรักคูเวตและเข้าไปยังอิรักพร้อมจับเชลยได้นับร้อย อิรักทำการต่อต้านเพียงเล็กน้อยเท่านั้น สหรัฐสูญเสียทหารไป 4 นาย[91]

กองกำลังผสมตราทัพเข้าอิรัก

ยานพาหนะของทหารและพลเรือนอิรักที่ถูกทำลายบนทางหลวงมรณะภาพถ่ายทางอากาศแสดงให้เห็นซากที-72 บีเอ็มพี-1 และไทป์ 63 พร้อมรถบรรทุกของอิรักบนทางหลวงหมายเลข 8 เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2534การใช้นโยบายทำลายเพื่อตัดกำลังศัตรูของอิรักถูกนำมาใช้กับบ่อน้ำมันในคูเวต

ไม่นานนักในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ก็เกิดการโจมตีทหารอิรักที่อยู่ทางตะวันตกของคูเวตโดยกองพลน้อยที่ 5 ของสหรัฐอย่างเต็มอัตราโดยมีกรมทหารม้ายานเกราะที่ 2 เป็นหัวหอก ในขณะเดียวกันกองพลน้อยทางอากาศที่ 18 ของสหรัฐก็เปิดการโจมตีจากทางซ้ายผ่านทะเลทรายทางใต้ของอิรักโดยมีหัวหอกเป็นกรมทหารม้ายานเกราะที่ 3 และกองพลทหารราบที่ 24 ของสหรัฐ ทางปีกซ้ายของการโจมตีได้รับการคุ้มครองโดยกองพลยานเกราะเบาที่ 6 ของฝรั่งเศส

กองกำลังฝรั่งเศสเข้าปะทะกับกองพลทหารราบที่ 45 ของอิรักอย่างรวดเร็ว ฝรั่งเศสสูญเสียทหารไปเล็กน้อยและสามารถจับเชลยได้เป็นจำนวนมาก จากนั้นก็รักษาตำแหน่งเพื่อป้องกันการตอบโต้จากอิรัก ทางปีกขวาได้รับการคุ้มกันโดยกองพลยานเกราะที่ 1 ของอังกฤษ เมื่อกองกำลังพันธมิตรบุกทะลวงลึดเข้าไปในเขตของอิรักก็เลี้ยวไปทางตะวันออกเพื่อเริ่มการโจมตีโอบกองทหารริพับลิกันการ์ดก่อนที่พวกเขาจะหลบหนีไป อิรักทำการต่อสู้อย่างดุเดือดในที่มั่น

การปะทะครั้งนี้ไม่เหมือนครั้งก่อน ๆ เพราะทหารอิรักไม่ยอมแพ้หลังจากที่รถถังคันของฝ่ายตนถูกทำลาย ทหารอิรักสูญเสียเป็นจำนวนมาก รวมทั้งยานพาหนะและรถถังจำนวนมากเช่นกัน ในขณะที่สหรัฐสูญเสียน้อยมากโดยเสียยานเกราะไปเพียงหนึ่งคัน กองกำลังผสมรุกเข้าไปอีก 10 กิโลเมตรและบรรลุเป้าหมายภายในสามชั่วโมง พวกเขาจับเชลยได้ 500 นายและสร้างความเสียหายเป็นจำนวนมหาศาลด้วยการเอาชนะกองพลทหารราบที่ 26 ของอิรัก มีทหารสหรัฐหนึ่งนายเสียชีวิตจากกับระเบิด อีกห้าคนเสียชีวิตเพราะยิงกันเอง และอีกสามสิบได้รับบาดเจ็บขณะปะทะ ขณะเดียวกันกองกำลังของอังกฤษก็เข้าโจมตีกองพลเมดินาและฐานส่งกำลังบำรุงของริพับลิกันการ์ด เกือบสองวันที่มีการรบกันดุเดือดที่สุด อังกฤษได้ทำลายรถถังไป 40 คันและสามารถจับตัวผู้บังคับบัญชากองพลได้หนึ่งนาย

ขณะเดียวกันกองกำลังของสหรัฐก็เข้าโจมตีหมู่บ้านอัลบูเซย์ยาห์และพบกับการต่อต้านที่รุนแรง สหรัฐไม่มีการสูญเสียแต่สามารถทำลายยุทโธปกณ์พร้อมกับจับเชลยได้เป็นจำนวนมาก

ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 กองกำลังอิรักได้ยิงขีปนาวุธสกั๊ดใส่ค่ายทหารของอเมริกาในเมืองดาห์รานในซาอุดิอาระเบีย สังหารทหารอเมริกาไป 28 นาย[92]

การรุกคืบของกองกำลังผสมทำได้รวดเร็วกว่าที่นายพลของสหรัฐคาดการณ์เอาไว้ ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ทหารอิรักก็เริ่มถอยทัพออกจากคูเวตหลังจากที่พวกเขาวางเพลิงทุ่งน้ำมัน (มีบ่อน้ำมัน 737 แห่งถูกเผา) ขบวนทหารอิรักที่ล่าถอยเคลื่อนขบวนไปตามทางหลวงอิรัก-คูเวต แม้ว่าพวกเขากำลังล่าถอยแต่ขบวนรถก็ถูกโจมตีอย่างรุนแรงโดยกองทัพอากาศของกองกำลังผสมทำให้ถนนสายนั้นได้ชื่อว่าทางหลวงมรณะ ทหารอิรักนับร้อยถูกสังหาร กองกำลังทั้งสหรัฐ อังกฤษ และฝรั่งเศสดำเนินการไล่ล่าทหารอิรักที่ล่าถอยต่อตั้งแต่ชายแดนจนไปถึงอิรัก จนในที่สุดก็ห่างจากกรุงแบกแดดเพียง 240 กิโลเมตรก่อนที่จะถอยกลับไปยังชายแดนอิรักที่ติดกับคูเวตและซาอุดิอาระเบีย

ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ หลังจากผ่านการศึกทางบกได้ 100 ชั่วโมง ประธานาธิบดีบุชก็ประกาศหยุดยิงและประกาศว่าคูเวตเป็นอิสระแล้ว

การวิเคราะห์เชิงทหารหลังการรบ

บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด กรุณาช่วยปรับปรุงบทความนี้ โดยเพิ่มการอ้างอิงแหล่งที่มาที่น่าเชื่อถือ เนื้อความที่ไม่มีแหล่งที่มาอาจถูกคัดค้านหรือลบออก (December 2011)

แม้ว่าสื่อตะวันตกในตอนนั้นได้รายงานว่ามีทหารอิรักประมาณ 545,000-600,000 นายในการรบ แต่ปัจจุบันผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่เชื่อว่าข้อมูลเชิงปริมาณและคุณภาพของกองทัพอิรักนั้นกล่าวกันเกินจริง เพราะข้อมูลเหล่านั้นนับรวมกองกำลังชั่วคราวและกองกำลังสนับสนุนเข้าไปด้วย ทหารอิรักจำนวนมากเป็นคนหนุ่มและเป็นทหารเกณฑ์ที่ฝึกมาน้อย

กองกำลังผสมมีทหาร 540,000 นายพร้อมกับอีก 1 แสนนายจากกองทัพตุรกีที่วางกำลังตามแนวชายแดนตุรกี-อิรัก สิ่งนี้ทำให้อิรักต้องกระจายทหารของตนไปตามแนวชายแดนทั้งหมด ดังนั้นกำลังรุกหลักโดยสหรัฐจึงสามารถบุกทะลวงได้โดยอาศัยความได้เปรียบทางเทคโนโลยีและจำนวนที่มากกว่า

การที่อิรักได้รับการสนับสนุนเมื่อครั้งสงครามอิหร่าน-อิรักทำให้อิรักมีอาวุธมากมายจากชาติผู้ค้าอาวุธระดับโลก อิรักจึงไม่มีมาตรฐานในการคัดเลือกสรรพาวุธทำให้กองทัพอิรักมีกความหลากหลายเกินไปซึ่งรวมทั้งการได้รับการฝึกที่ไม่มีมาตรฐานและทหารที่ขาดแรงผลักดัน กองกำลังส่วนใหญ่ของอิรักเคยชินกับการใช้รถถังรุ่นเก่าอย่างไทป์ 59 และไทป์ 69 ของจีนและที-55 ของโซเวียตที่มีมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 2493 และ 2503 นอกจากนี้ยังมีรถถังคุณภาพต่ำอย่างอะซัดบาบิล (เป็นรถถังที่ดัดแปลงมาจากที-72 ของโปแลนด์) รถถังเหล่านี้ไม่มีอุปกรณ์ที่ทันสมัย เช่น กล้องมองกลางคืนหรือเลเซอร์วัดระยะ ทำให้ประสิทธิภาพในการรบนั้นด้อยคุณภาพ

ทหารอิรักไม่สามารถหามาตรการตอบโต้กล้องจับความร้อนและกระสุนแซบบอตของกองกำลังผสมได้ อุปกรณ์เหล่านี้เองที่ทำให้รถถังฝ่ายพันธมิตรมีความเหนือกว่าและสามารถทำลายรถถังของอิรักจากระยะที่ไกลกว่าถึงสามเท่า ทหารอิรักใช้กระสุนเจาะเหล็กกล้าเพื่อจัดการกับเกราะช็อบแฮมที่ก้าวหน้าของรถถังสหรัฐและอังกฤษ ผลคือกระสุนดังกล่าวไร้ประโยชน์ ทหารอิรักไม่สามารถอาศัยความได้เปรียบในการสงครามในเมืองด้วยสู้รบภายในคูเวตซิตี ซึ่งอาจสามารถสร้างความเสียหายแก่กองกำลังผสมได้มหาศาล การรบในเมืองนั้นจะลดระยะในการสู้รบและทำให้กองกำลังที่มีเทคโนโลยีก้าวหน้าเสียเปรียบได้

ทหารอิรักยังได้พยายามที่จะใช้รูปแบบการรบแบบโซเวียตอีกด้วย แต่ก็ต้องล้มเหลวเพราะผู้บังคับบัญชาของอิรักนั้นขาดทักษะ ประกอบกับการที่กองทัพอากาศของกองกำลังผสมได้เข้าทำลายศูนย์สื่อสารหลักและบังเกอร์ของอิรัก

แหล่งที่มา

WikiPedia: สงครามอ่าว http://afa.at/histomun/HISTOMUN2008-Paper-Kuwait.p... http://www.colegioweb.com.br/historia/guerra-do-go... http://www.iraquenewst55.jex.com.br/3+guerra+terro... http://www1.folha.uol.com.br/folha/livrariadafolha... http://www.uel.br/grupo-pesquisa/gepal/segundosimp... http://www.checkpoint-online.ch/CheckPoint/Histoir... http://www.wikileaks.ch/cable/1990/07/90BAGHDAD423... http://www.al-monitor.com/pulse/originals/2013/04/... http://www.apnewsarchive.com/1991/Soldier-Reported... http://www.britains-smallwars.com/gulf/Roll.html