องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมภายในของอาสนวิหาร ของ สถาปัตยกรรมอาสนวิหารในยุโรปตะวันตก

“ทางเดินกลาง” และ “ทางเดินข้าง”

“ทางเดินกลาง” เป็นเนื้อที่หลักของตัวอาสนวิหารจะเป็นส่วนที่ยาวกว่าแขนกางเขนขวาง เป็นที่ชุมนุมของคริสต์ศาสนิกชนมาเข้าร่วมพิธีศาสนา คำว่า “nave” มาจาก ภาษาละตินที่แปลว่าเรือ อาสนวิหารก็เปรียบเหมือนเรือสำหรับบรรทุกผู้ศรัทธาในพระเจ้าฝ่าอุปสรรคต่างๆในชีวิตเพื่อจะนำไปสู่พระองค์ ในสมัยโบราณเพดานอาสนวิหารจะทำด้วยไม้และโค้งเหมือนท้องเรือ[12]

“ทางเดินกลาง” จะประกบสองข้างด้วย “ทางเดินข้าง” ที่ส่วนใหญ่จะมีระดับต่ำกว่าแยกด้วยแนวเสา ประโยชน์ของ “ทางเดินข้าง” คือช่วยแบ่งเบาการจราจรจาก “ทางเดินกลาง” โดยเฉพาะเมื่อวัดแน่นไปด้วยผู้เข้าร่วมพิธี นอกจากนั้นยังช่วยทำให้สิ่งก่อสร้างแข็งแรงขึ้นเพราะจะใช้เป็นผนังค้ำยันไปในตัวทำให้สามารถรับน้ำหนักกดดันจากหลังคาและกำแพงได้เพิ่มขึ้น ทางเดินข้างแต่ละข้างอาจจะมีมากกว่าหนึ่งก็ได้ถ้าเป็นวัดใหญ่มากๆ แต่จะเป็นส่วนน้อยที่มีถึงห้าประตูเข้าด้านหน้า

อ่างล้างบาป แท่นอ่านคัมภีร์ไบเบิล และ ธรรมาสน์

ภายในบริเวณโถงกลางส่วนใหญ่จะเป็นที่ตั้งของอ่างล้างบาป แท่นอ่านคัมภีร์ไบเบิล และ ธรรมาสน์ อ่างล้างบาปใช้ในการทำพิธีศีลจุ่มมักจะตั้งอยู่ทางด้านหน้าวัดใกล้ประตูทางเข้าเพื่อเป็นสัญลักษณ์การรับเข้าสู่คริสตจักร แท่นอ่านคัมภีร์จะอยู่ไม่ไกลจากแท่นบูชาจะเป็นที่ใช้อ่านคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ แท่นนี้บางครั้งก็จะเป็นรูปอินทรีกางปีกรองรับหนังสือเพราะอินทรีเป็นสัญลักษณ์ของจอห์นอีแวนเจลลิส ผู้เป็นหนึ่งใน “อีแวนเจลลิสทั้งสี่” ผู้เขียนพระวรสาร สิ่งที่สามที่ตั้งอยู่ที่ทางเดินกลางคือธรรมาสน์ซึ่งอาจจะทำด้วยไม้ หิน หินอ่อนแกะสลักอย่างงดงาม หรือปูนปั้น บางธรรมาสน์จะตกแต่งด้วยมนุษย์ นกอินทรี วัว และ สิงโตมีปีกเพราะทั้งสี่อย่างเป็นสัญลักษณ์ของอีแวนเจลลิสสี่องค์คือ แม็ทธิว จอห์น ลูค และ มาร์ค [13]

  • “ทางเดินกลาง” และ “ทางเดินข้าง” ที่อาสนวิหารฟลอเรนซ์ ที่เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี
  • ธรรมาสน์ที่อาสนวิหารอาลบี (Albi cathedral) ประเทศฝรั่งเศส
  • แท่นอ่านคัมภีร์รูปนกอินทรีที่วัดมาดอนนาเดลลากราซี (Chiesa Madonna delle Grazie) พิสโตเอีย
    ประเทศอิตาลี
  • แท่นบูชาเอกที่อาสนวิหาร
    เซียนนา ที่เมืองเซียนนา ประเทศอิตาลี เป็นหินอ่อนหลากสี และ มีซุ้มชิโบเรียมและ เชิงเทียนทีทำด้วยสำริด

บริเวณสวดมนต์และร้องเพลงสวด

บริเวณที่สองภายในอาสนวิหารคือบริเวณที่เรียกว่าบริเวณร้องเพลงสวด เป็นบริเวณที่ใช้สวดมนต์และร้องเพลงสวด บริเวณนี้บางครั้งอาจจะแยกจากทางเดินกลางด้วยฉาก ซึ่งอาจจะทำด้วยไม้ฉลุอย่างละเอียด หรือหินแกะสลัก นอกจากที่นั่งแล้วบริเวณนี้ก็จะมีออร์แกนอยู่ด้วย ที่นั่งภายในบริเวณนี้เรียกว่า “Choir stall” หรือที่นั่ง บางอาสนวิหารที่นั่งในบริเวณนี้จะสลักเสลาอย่างงดงาม บางครั้งก็อาจจะมีอาสนะหรือบัลลังก์ของบาทหลวงตั้งอยู่ในบริเวณนี้ด้วย ที่ตั้งออร์แกนถ้าไม่อยู่ในบริเวณนี้ก็อาจจะอยู่เหนือฉากกางเขน เช่นที่อาสนวิหารกลอสเตอร์ หรือ อาสนวิหารรอเชสเตอร์ที่อังกฤษ หรือบางครั้งอาจจะตั้งอยู่เหนือประตูด้านตะวันตกก็ได้

บริเวณศักดิ์สิทธิ์

จากบริเวณทำพิธีและบริเวณร้องเพลงสวดไปก็เป็น “บริเวณศักดิ์สิทธิ์” (Sanctuary) ซึ่งเป็นวางสิ่งของสำหรับพิธีศีลศักดิ์สิทธิ์ บนแท่นบูชาสำหรับพิธีศีลมหาสนิท คำว่า “Sanctuary” แปลว่าสถานที่ศักดิ์สิทธิ แต่ในภาษาอังกฤษปัจจุบันความหมายมาเปลี่ยนไปใช้สำหรับสถานที่นักโทษสามารถเข้ามาอาศัยโดยไม่ต้องถูกจับจึงเท่ากับเป็นการให้ “เขตปลอดภัย” ของวัด

คูหาสวดมนต์

บางอาสนวิหารจะมีบริเวณต่อไปที่เรียกว่า “บริเวณสงฆ์” (Presbytery) ซึ่งใช้เป็นที่ที่นักบวชสามารถทำการสวดมนต์ต์ส่วนตัวแยกจากสวดมนต์ต์ต์ร่วมกับนักบวชอื่นๆ และมักจะมีคูหาสวดมนต์ยื่นออกไปจากบริเวณนี้ทางหลังวัด คูหาสวดมนต์ตรงกลางตรงกับแท่นบูชาทางตะวันออกสุดของวัดมักจะเป็นคูหาสวดมนต์ที่อุทิศให้พระแม่มารี ที่เรียกว่า “Lady Chapel” เช่นที่อาสนวิหารกลอสเตอร์ หรือ อาสนวิหารอาเมียง คูหาสวดมนต์พระแม่มารีมักจะเป็นคูหาสวดมนต์ที่ใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุดภายในอาสนวิหาร ภายในอาจจะเป็นเหมือนวัดเล็กๆ มีที่นั่ง แท่นบูชา หน้าต่างกระจกประดับสีอย่างสวยงาม

บางอาสนวิหารในอังกฤษจะที่มีแขนกางเขนสองชั้น ชั้นที่สั้นกว่ามักจะใช้เป็นที่สร้างคูหาสวดมนต์[14]

คูหาสวดมนต์อาจจะอยู่สองฝั่งทางเดินข้าง ถ้าเป็นคูหาสวดมนต์แบบนี้ก็เรียกว่า “คูหาสวดมนต์ข้าง” (Side chapel) ลักษณะสถาปัตยกรรมของแต่ละคูหาภายในอาสนวิหารเดียวกันก็อาจจะแตกต่างจากกันมากไม่ว่าจะเป็นขนาด ลักษณะทางสถาปัตยกรรม และการตกแต่ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าใครจะอุทิศให้สร้าง ถ้าผู้ออกเงินสร้างร่ำรวยคูหาก็อาจจะตกแต่งอย่างวิจิตร และอาจจะใช้เป็นที่ที่ผู้รับจ้างสวดมนต์ต์มาสวดมนต์ต์แทนให้ผู้ว่าจ้างก็ได้

ใกล้เคียง

สถาปัตยกรรมบารอก สถาปัตยกรรมอาสนวิหารในยุโรปตะวันตก สถาปัตยกรรมมหาวิหารสมัยกลางในอังกฤษ สถาปัตยกรรมกอทิกแบบอังกฤษ สถาปัตยกรรมอินเดีย สถาปัตยกรรมโรมาเนสก์ สถาปัตยกรรมไทย สถาปัตยกรรมมาซิโดเนียเหนือ สถาปัตยกรรมกอทิก สถาปัตยกรรมแบบอิตาลี

แหล่งที่มา

WikiPedia: สถาปัตยกรรมอาสนวิหารในยุโรปตะวันตก http://www.stephansdom.at/data http://www.cathedraledeparis.com/ http://www.lincolncathedral.com/ http://www.paradoxplace.com/Photo%20Pages/UK/Brita... http://www.xrysostom.com/askthepastor/columns/0190... http://www.koelner-dom.de/ http://www.mcah.columbia.edu/Amiens.html http://www.stpatrickscathedral.ie/ http://www.basilicasanmarco.it/ http://www.duomofirenze.it/