เผยแพร่คำสอน ของ สถาปัตยกรรมอาสนวิหารในยุโรปตะวันตก

ระเบียงคำสอนที่ อาสนวิหารอาเมียง “พระคัมภีร์คนยาก” ที่อาสนวิหารวูสเตอร์ปนาลี ที่ อาสนวิหารโนเตรอดาม

ไม่ว่าสถาปัตยกรรมของอาสนวิหารจะเป็นรูปแบบใด ความประสงค์ของการสร้างอาสนวิหารคือเป็นที่สร้างความประทับใจ ความตื่นตาตื่นใจให้แก่ผู้เห็น และทำให้ผู้เห็นรู้สึกเกรงขาม เป็นที่ทำให้เกิดแรงบันดาลใจแก่ผู้ศรัทธา และเป็นที่เผยแพร่คำสอนของคริสต์ศาสนา ความประสงค์อันหลังนี้เป็นความประสงค์สำคัญที่สุดของคริสต์ศาสนสถาน ไม่ว่าจะเป็นอาสนวิหารหรือวัดประจำท้องถิ่น

การตกแต่งเพื่อการเผยแพร่คำสอนจะเริ่มมาจากด้านนอกที่มีรูปปั้นหรือกลุ่มรูปปั้นซึ่งอาจจะเป็นฉากจากชีวิตของพระเยซู, พระแม่มารี, นักบุญ หรือคนสำคัญๆ ในคริสต์ศาสนา เรื่อยเข้าไปภายในโดยเริ่มจากทางเข้าด้านตะวันตกไปจนถึงแท่นบูชา ซึ่งอาจจะเป็นในรูปของ จิตรกรรมฝาผนัง, จิตรกรรม หรือ ประติมากรรม ไม่ว่าจะเป็นบนผนังวัด หรือ ในคูหาสวดมนต์ ด้านข้างและด้านหลังแท่นบูชา หรือหน้าต่างประดับกระจกสีรอบวัด เรื่องราวที่แสดงก็อาจจะเป็นฉากชีวิตของนักบุญเช่นที่ชั้นบนของ อาสนวิหารเซนต์ฟรานซิสแห่งอาซิซิ ที่เมืองอาซิซิ ประเทศอิตาลี ที่ผนังด้านบนสองข้างทางเดินกลางจะเป็นจิตรกรรมฝาผนังฉากชีวิตของนักบุญฟรานซิสโดย จอตโต ดี บอนโดเน จิตรกรผู้มีชื่อเสียงของอิตาลี หรือ ภาพเขียนในคูหาสวดมนต์ทางด้านข้างของอาสนวิหารโวลแทร์ราในประเทศอิตาลี ที่แสดงให้เห็นนักบุญเซบาสเตียนถูกยิงด้วยธนู ศิลปะเหล่านี้ใช้เป็นเครื่องมือสำหรับเพิ่มความเข้าใจและความศรัทธาให้แก่ผู้เลื่อมใสรวมทั้งผู้มีการศึกษาน้อย จนบางครั้งเรียกกัน “พระคัมภีร์คนยาก”

การตกแต่งประตูทางเข้า

อาสนวิหารแบบโรมาเนสก์และกอธิคมักจะมีรูปสลักหิน “พระเยซูผู้ทรงเดชานุภาพ” บนหน้าบันเหนีอประตูกลาง รูปนี้จะพบเหนือประตูอาสนวิหารหลายแห่งในประเทศฝรั่งเศสเช่นที่อาสนวิหารโนเทรอดามแห่งชาร์ทร์ และ อาสนวิหารอ็องเฌ อีกรูปหนึ่งที่นิยมกันคือ “การตัดสินครั้งสุดท้าย” ที่มีพระเยซูทรงนั่งเป็นประธาน และ การชั่งวิญญาณ เช่นที่อาสนวิหารอาเมียง จุดประสงค์การมีภาพไว้เหนือประตูก็คือเป็นการเตือนสติผู้มีศรัทธารู้สึกสำนึกตัวและเตรียมตัวก่อนที่พระเยซูจะเสด็จกลับมาเป็นครั้งที่สอง เมื่อถึงวันนั้นผู้ที่ทำความดีก็จะได้ถูกเลือกขึ้นสวรรค์ ผู้ที่ทำความชั่วก็จะถูกส่งลงนรก ภาพที่เห็นกันบ่อยอีกภาพหนึ่งคือรูปหญิงพรหมจารีดีและไม่ดี 10 คน (The Ten Virgins) ที่เป็นคติเตือนให้รู้จักเตรียมตัวล่วงหน้าต่อเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น

รายรอบรูปสลักใหญ่เหนือประตูก็จะเป็นซุ้มโค้งที่มีรูปแกะสลักเล็กลงของศาสดาจากในคัมภีร์ นักบุญต่าง หรือ ผู้ที่ทำความดีต่อศาสนา อาสนวิหารที่อังกฤษหลายแห่งจะมีรูปแกะสลักจำนวนมากและขนาดใหญ่ด้านหน้าวัดเช่น อาสนวิหารลิงคอล์น อาสนวิหารซอลสบรี อาสนวิหารเอ็กซีเตอร์ หรือ อาสนวิหารเวลส์ แต่รูปสลักเหล่านี้ถูกทำลายหรือถูกกัดกร่อนเพราะสภาวะอากาศไปมากจนเกือบไม่เหลือรูปทรงเดิม[11][15] อาสนวิหารที่ฝรั่งเศสก็เช่นกันจะมีประตูใหญ่ที่มีรูปสลักมากมาย เช่นที่ อาสนวิหารอาเมียง หรือ อาสนวิหารรีมส์

พระคัมภีร์คนยาก

ดูบทความหลักที่: พระคัมภีร์คนยาก

พระคัมภีร์คนยาก” คือการใช้วัดเป็นที่สอนศาสนาสำหรับผู้ที่ไม่มีการศึกษาหรือไม่มีเงินพอที่จะซื้อพระคัมภีร์เป็นของตนเองได้ คนเหล่านี้ก็สามารถจะเรียนรู้เรื่องราวทางคริสต์ศาสนาได้โดยดูจากทัศนศิลป์ที่ใช้ตกแต่งทั้งภายนอกและภายในวัด หัวเรื่องมักจะเป็นเรื่องราวที่เอามาจากพันธสัญญาเดิม พันธสัญญาใหม่กิจการของสาวก” (Acts of the Apostles) บางครั้งก็เป็นภาพประวัติชีวิตของพระเยซู ประวัติชีวิตของพระแม่มารี ประวัติของนักบุญ หรือบางครั้งก็จัดเรื่องที่มีคำสอนคล้ายคลึงกันเช่นเอาภาพการนำร่างพระเยซูลงจากกางเขน มาคู่กับรูปโจเซฟถูกจับโยนลงไปในบ่อ หรือ เอารูป “พระเยซูฟื้นชีพ” ตั้งคู่กับปลาโลมาที่กำลังขย้อนโจนาห์ออกมาจากท้องหลังจากที่กลืนไปสามวัน ลักษณะของศิลปะที่ใช้อาจจะเป็นงานโมเสก จิตรกรรมฝาผนัง รูปสลักแผ่น หรือ หน้าต่างประดับกระจกสี ที่ตั้งของศิลปะอาจจะทำบนกำแพงโดยตรง บนผนัง บนเพดาน บนฉากรอบบริเวณพิธี ในคูหาสวนมนต์ และ สถานศักดิ์สิทธิ์หลังแท่นบูชา หน้าต่างกระจกสีที่เด่นก็มีหลายแห่งโดยเฉพาะในอังกฤษและฝรั่งเศสเช่นที่ อาสนวิหารแคนเตอร์บรี หรือ อาสนวิหารแซงต์เอเตียนน์แห่งบูร์ก[16]

สัญลักษณ์ของพระเจ้า

ส่วนหนึ่งของการตกแต่งมักจะมาจากการแสดงเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้าผู้เป็นผู้สร้างจักรวาล พร้อมกับที่แสดงให้เห็นการที่พระองค์ทรงก่อสร้างโลกตามที่ทรงกำหนดอย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยใช้ภาพจักรราศี และ “แรงงานสิบสองเดือน” (Labours of the Months) ซึ่งเป็นหัวข้อที่เหมาะมากกับการตกแต่งด้วยหน้าต่างกุหลาบ[3][11]

การตกแต่งด้วยสิงสาราสัตว์และยุวเทพ

ฉาก “Holy Rood” ที่อาสนวิหารโดเบอราน (Bad Doberan Cathedral) ประเทศเยอรมนีดูบทความหลักที่ ปนาลี

นอกจากตกแต่งด้วยเรื่องราวทางศาสนาแล้ว อาสนวิหารก็ยังตกแต่งด้วย สิงสาราสัตว์หรืออสุรกาย ตามจินตนาการหรือมนุษย์กึ่งสัตว์ ซึ่งบางทีก็ไม่เกี่ยวข้องกับคริสต์ศาสนา สิงสาราสัตว์เหล่านี้มักจะเป็นสัญลักษณ์ความควรความไม่ควร หรือความดีและความชั่ว และเป็นการให้คติแก่ผู้มีศรัทธา ที่ใช้กันบ่อยคือรูปนกพิลลิแกนจิกอกตนเองเพื่อเลี้ยงลูก การกระทำของนกพิลลิแกนเป็นความเสียสละอันใหญ่หลวงที่เป็นสัญลักษณ์ของความรักพระเยซูผู้มีต่อคริสต์ศาสนิกชนพอที่พระองค์เองยอมพลีชีพเพื่อไถ่บาปให้มวลมนุษย์ได้[11]

สัตว์อื่นๆ ที่ใช้ตกแต่งก็มี กระต่าย ห่าน ลิง หมาจิ้งจอก สิงโต อูฐ ผึ้ง นกตะกรุม หรือสัตว์ในตำนานเช่น กริฟฟิน หรือยูนิคอร์น ตำแหน่งหรือที่ตั้งของรูปแกะหรือปั้นก็จะทำตามหัวเสา แกะนูนบนกำแพงหรือผนัง รอบซุ้มโค้ง เพดาน หรือ บนปุ่มหินบนเพดาน หรือการตกแต่งตามขอบคัน สิ่งตกแต่งเช่นปนาลีหรือที่เรียกว่าการ์กอลยที่อาสนวิหารโนเตรอดามมีชื่อเสียงจนเป็นที่รู้จักกันทั่วไป หรือสัตว์อื่นเช่น “Blemyah” และ “คนป่า” (Green Man) ทีอาสนวิหารริพพอน (Ripon Cathedral) ที่อังกฤษและบางประเทศจะมีการแกะสลักที่ยื่นออกมาจากใต้ม้านั่งพับที่ใช้กันในบริเวณที่ร้องเพลงสวดมนต์ที่เรียกว่าเก้าอี้อิง [3][17]

กางเขนเอก

กางเขนเอก มาจากคำว่า “Rood” ซึ่งมาจากคำว่า “Roda” ในภาษาแซ็กซอนเก่าหมายถึงกางเขนขนาดใหญ่ที่ตั้งเด่นภายในวัด กางเขนเอกจะเป็นกางเขนที่มักจะแขวนห้อยลงมาจากเพดานเหนือบริเวณที่ทำพิธีหรือตั้งอยู่บนฉากที่ใช้แยกระหว่างบริเวณสงฆ์และบริเวณทางเดินกลาง กางเขนเอกอาจจะแกะจากไม้แล้วทาสีหรือเป็นภาพเขียนบนกางเขน ในอังกฤษตัวกางเขนเอกส่วนใหญ่จะถูกทำลายไป จะเหลืออยู่ก็แต่เพียงฉากที่เคยเป็นที่ตั้งของกางเขนเอกที่เรียกว่า “ฉากกางเขน” กางเขนเอกมักจะประกบด้วยพระแม่มารีและจอห์นอีแวนเจลลิส หรือจอห์นแบ็พทิสต์ผู้ถือป้ายที่มีตัวอักษรว่า นี่คือพระเยซูผู้เป็นสาวกของพระเจ้า (“Behold, the Lamb of God”) กางเขนเอกที่ประเทศอิตาลีในบางวัดจะสร้างโดยจิตกรคนสำคัญๆ เช่น จอตโต ดี บอนโดเน ที่ สเปลโล (spello) ฟีลิปโป บรูเนลเลสกี และ โดนาเทลโล

แท่นบูชา

  • แท่นบูชาที่อาสนวิหารเชอร (Choeur Cathédrale) ประเทศฝรั่งเศส
  • แท่นบูชาที่อาสนวิหารปอยเตียร์ (Cathédrale Saint-Pierre) ประเทศฝรั่งเศส
  • แท่นบูชากอธิคที่อาสนวิหาร
    ชเลสวิช (Schleswiger Dom) ประเทศเยอรมนี
  • แท่นบูชาที่อาสนวิหารซาเล็ม
    (Salemer Münster)
    ประเทศเยอรมนี
  • แท่นบูชาฟื้นฟูกอธิคที่
    อาสนวิหารวูสเตอร์ อังกฤษ

สิ่งที่เป็นหลักและที่สำคัญที่ทาง “ตะวันออก” ของอาสนวิหารคือ “บริเวณศักดิ์สิทธิ์” และ “แท่นบูชาเอก” (High altar) ความหมายสำคัญที่ทางวัดจะสื่อสารกับผู้มีศรัทธาก็จะเป็นเช่นเดียวกันคือความเสียสละและการไถ่บาปของมนุษย์โดยพระเยซู แต่วิธีแสดงออกจะแตกต่างกันเป็นหลายแบบ ในประเทศอิตาลีทางด้านนี้อาจจะตกแต่งด้วยโมเสกทองเป็นประกายภายใต้มุขโค้งเหนือแท่นบูชาเช่นที่อาสนวิหารปิซา หรือที่ประเทศเยอรมนีและสเปนก็อาจจะเป็นการตกแต่งแท่นบูชาแบบบาโรกอย่างหรูหราเช่นที่เรียกกันว่า “Transparente” เช่นที่อาสนวิหารโทเลโด (Toledo cathedral) เป็นต้น [18]

ฉากแท่นบูชา (altarpiece) ที่แกะด้วยไม้ทำด้วยปูนปั้นใช้กันมากในประเทศเยอรมนีและฝรั่งเศสและบางอาสนวิหารในอังกฤษ บางครั้งที่อังกฤษจะใช้หน้าต่างประดับกระจกสีขนาดใหญ่หลังแท่นบูชาเป็นฉากหลังประกอบแท่นบูชาเช่นที่อาสนวิหารยอร์คที่เป็นเรื่องราวของไฟล้างโลก (Apocalypse) หรือที่อาสนวิหารกลอสเตอร์ที่มีหน้าต่างขนาดใหญ่กว่าสนามเทนนิสที่เรียกว่า “The Great East Window”

หมายเหตุ: ส่วนนี้เก็บความมาจาก อเลค คลิฟตัน-เทย์เลอร์ [19] และเพฟเนอร์[18]

ใกล้เคียง

สถาปัตยกรรมบารอก สถาปัตยกรรมอาสนวิหารในยุโรปตะวันตก สถาปัตยกรรมมหาวิหารสมัยกลางในอังกฤษ สถาปัตยกรรมกอทิกแบบอังกฤษ สถาปัตยกรรมอินเดีย สถาปัตยกรรมโรมาเนสก์ สถาปัตยกรรมไทย สถาปัตยกรรมมาซิโดเนียเหนือ สถาปัตยกรรมกอทิก สถาปัตยกรรมแบบอิตาลี

แหล่งที่มา

WikiPedia: สถาปัตยกรรมอาสนวิหารในยุโรปตะวันตก http://www.stephansdom.at/data http://www.cathedraledeparis.com/ http://www.lincolncathedral.com/ http://www.paradoxplace.com/Photo%20Pages/UK/Brita... http://www.xrysostom.com/askthepastor/columns/0190... http://www.koelner-dom.de/ http://www.mcah.columbia.edu/Amiens.html http://www.stpatrickscathedral.ie/ http://www.basilicasanmarco.it/ http://www.duomofirenze.it/