แง่มุมสังคม ของ สังคมคอมมิวนิสต์

ปัจเจกนิยม อิสรภาพและความคิดสร้างสรรค์

สังคมคอมมิวนิสต์จะปลดปล่อยปัจเจกจากการทำงานยาวนานโดยขั้นแรกทำให้การผลิตเป็นอัตโนมัติในระดับหนึ่งซึ่งให้ชั่วโมงทำงานเฉลี่ยลดลง[12] และขั้นที่สองกำจัดการขูดรีดซึ่งเป็นเนื้อในของการแบ่งแยกกรรมกรกับเจ้าของ ระบบคอมมิวนิสต์จะปลดปล่อยปัจเจกบุคคลจากอัญภาวะ (alienation) ในสำนึกว่าชีวิตของบุคคลสร้างอยู่รอบการเอาชีวิตรอด (อยู่เพื่อเอาค่าจ้างหรือเงินเดือนในสังคมทุนนิยม) ซึ่งมากซ์เรียกว่าเป็นการเปลี่ยนผ่านจาก "อาณาจักรแห่งความจำเป็น" ไปสู่ "อาณาจักรแห่งอิสรภาพ" ผลคือ มากซ์พยากรณ์ว่าสังคมคอมมิวนิสต์จะประกอบด้วยประชากรที่มักจะเป็นปัญญาชน มีทั้งเวลาและทรัพยากรในการประกอบงานอดิเรกที่สร้างสรรค์และความสนใจอย่างแท้จริงของตน และมีส่วนส่งเสริมความมั่งคั่งทางสังคมสร้างสรรค์ด้วยวิธีนี้ คาร์ล มากซ์มองว่า "ความร่ำรวยแท้จริง" นั้นได้แก่ปรมาณเวลาที่คนมีอยู่เพื่อบรรลุความปรารถนาเชิงสร้างสรรค์ของตน[13][14] ความคิดเรื่องนี้ของมากซ์ถือว่าเป็นปัจเจกนิยมมูลวิวัติทีเดียว[15]

มโนทัศน์เรื่อง "อาณาจักรแห่งอิสรภาพ" นี้ขนานไปกับความคิดเรื่องการยุติการแบ่งงานกันทำของเขา ซึ่งจะไม่มีความจำเป็นในสังคมที่มีการผลิตอัตโนมัติอย่างสูงและมีบทบาทงานจำกัด ในสังคมคอมมมิวนิสต์ ความจำเป็นและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจจะยุติการกำหนดความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมและสังคม เมื่อความขาดแคลนถูกกำจัดไป[10] กรรมกรที่ถูกทำให้แปลกแยกจะหมดไปด้วย และบุคคลจะมีอิสระในการติดตามเป้าหมายส่วนตัว[16] นอกจากนี้ เชื่อว่าหลักการ "จากทุกคนตามที่สามารถ ให้ทุกคนตามที่ต้องการ" (from each according to his ability, to each according to his needs) จะเป็นจริงได้เพราะความขาดแคลนหมดไป[17][18]

การเมือง กฎหมายและวิธีการปกครอง

มากซ์และเอ็งเงิลส์ยืนยันว่าสังคมคอมมิวนิสต์ไม่จำเป็นต้องมีรัฐเพราะรัฐมีอยู่ในสังคมทุนนิยมร่วมสมัย รัฐทุนนิยมมีอยู่เป็นหลักเพื่อบังคับใช้ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจแบบมีลำดับชั้น เพื่อบังคับใช้การควบคุมทรัพย์สินแต่ผู้เดียว และเพื่อวางระเบียบกิจกรรมทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยม รัฐจึงย่อมเข้าไม่ได้กับสังคมคอมมิวนิสต์[10][16]

เอ็งเงิลส์สังเกตว่าหน้าที่หลักของสถาบันสาธารณะในระบบสังคมนิยมจะเปลี่ยนจากการสร้างกฎหมายและการควบคุมประชากรมาสู่บทบาททางเทคนิคเป็นผู้บริหารกระบวนการผลิตทางเทคนิค โดยมีการลดขอบเขตการเมืองแต่เดิมเมื่อการบริหารทางวิทยาศาสตร์เข้ามาแทนการวินิจฉัยสั่งการทางการเมือง[19] สังคมคอมมิวนิสต์มีลักษณะเป็นกระบวนการประชาธิปไตย ซึ่งไม่ได้มีเพียงในแง่ประชาธิปไตยแบบการเลือกตั้งเท่านั้น แต่ในความหมายกว้างกว่าคือมีสิ่งแวดล้อมในที่ทำงานและสังคมแบบเปิดและร่วมมือกัน[10]

มากซ์ไม่เคยระบุชัดเจนว่าเขาคิดว่าสังคมคอมมิวนิสต์จะมีความเป็นธรรมหรือไม่ แต่นักคิดคนอื่นสันนิษฐานว่าเขาคิดว่าคอมมิวนิสต์จะก้าวข้ามเรื่องความยุติธรรมและสร้างสังคมที่ปลอดความขัดแย้ง ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องมีกฎเกณฑ์ความยุติธรรม[20]

ขั้นเปลี่ยนผ่าน

มากซ์ยังเขียนว่าระหว่างสังคมทุนนิยมและคอมมิวนิสต์จะมีระยะเปลี่ยนผ่านที่เรียกว่า เผด็จการของชนกรรมาชีพ[10] ในช่วงการพัฒนาทางสังคมนี้ ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจแบบุทนนิยมจะค่อย ๆ ถูกลบไปและแทนที่ด้วยสังคมนิยม ทรัพยากรธรรมชาติจะกลายเป็นสมบัติสาธารณะ ส่วนแหล่งการผลิตและที่ทำงานจะมีสังคมเป็นเจ้าของและการจัดการแบบประชาธิปไตย การผลิตจะมีการจัดระเบียบด้วยการประเมินและวางแผนแบบวิทยาศาสตร์ จึงเป็นการกำจัดสิ่งที่มากซ์เรียกกว่า "อนาธิปไตยในการผลิต" การพัฒนากำลังการผลิตดังกล่าวจะนำไปสู่การลดความสำคัญของแรงงานมนุษย์ และค่อย ๆ ถูกแทนที่ด้วยแรงงานอัตโนมัติ

แหล่งที่มา

WikiPedia: สังคมคอมมิวนิสต์ http://philosophy.fas.nyu.edu/docs/IO/19808/Allen-... http://plato.stanford.edu/entries/marx/ http://www.economictheories.org/2009/05/full-commu... http://www.marxists.org/archive/marx/works/1880/so... http://www.marxists.org/reference/archive/kropotki... https://books.google.com/?id=3bJHvA1H-2kC&pg=PA57 https://books.google.com/?id=6mq-H3EcUx8C https://books.google.com/books?id=mdLh5EMehwgC&pg=... https://web.archive.org/web/20090605001014/http://...