การเมืองการปกครอง ของ สาธารณรัฐโรมัน

Forum Romanum ศูนย์กลางการค้า วัฒนธรรม และการปกครองของกรุงโรมในอดีต

การปกครองในตอนต้นของสาธารณรัฐโรมัน อำนาจยังไม่ได้อยู่ในมือประชาชนอย่างแท้จริง อำนาจส่วนใหญ่ถูกผูกขาดโดยกลุ่มขุนนางและชนชั้นปกครอง ต่อมาจึงค่อยๆมีการขยายสิทธิทางการเมืองในโรมันให้กว้างขึ้น ทำให้ราษฎรส่วนใหญ่มีสิทธิมีเสียงในการปกครอง ซึ่งหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบสาธารณรัฐ พลเมืองโรมันสามารถแบ่งออกได้เป็นสองประเภท คือ

  • พวกคณะพรรค (Particians): คือกลุ่มขุนนางซึ่งมีที่ดินเป็นของตนเอง มีฐานะร่ำรวยและมั่นคง คิดเป็นจำนวน 10% ของประชากร
  • พวกสามัญ (Plebeaus): คือสามัญชน ผู้ที่ประกอบอาชีพค้าขาย กรรมกร และเกษตรกรที่ยากจน คิดเป็นจำนวน 90% ของประชากร

หลังจากชาวโรมันขับไล่ชาวอีทรัสคันออกไปได้แล้ว พวกคณะพรรคก็กลายเป็นผู้มีอำนาจทางการเมืองโดยผูกขาดที่นั่งในวุฒิสภาและคณะกงสุล ในขณะที่พวกสามัญซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่แม้จะถูกจำกัดสิทธิในอำนาจรัฐแต่ก็ยังสามารถสะสมเงินทองได้ ในเวลาต่อมา เมื่อพวกสามัญมีฐานะร่ำรวยขึ้น ก็ได้รณรงค์เรียงร้องสิทธิทางการเมืองที่มากขึ้นในปี 494 ก่อนค.ศ. ซึ่งในระยะแรกนั้น พวกคณะพรรคก็ไม่ยินยอม ส่งผลให้พวกสามัญได้พากันอพยพจากกรุงโรมไปยังเนินเขาศักดิ์สิทธิ์เพื่อสร้างเมืองใหม่ขึ้นมา เมื่อพวกคณะพรรคทราบเรื่องก็ต่างตกใจเพราะต่างต้องพึ่งพาอาศัยกำลังพวกสามัญเป็นแรงงานและทหาร ส่งผลให้พวกคณะพรรคต้องยอมจัดตั้งสภาขึ้นมาอีกคณะหนึ่งสำหรับให้พวกสามัญคัดเลือกผู้แทนของตนมารักษาผลประโยชน์ ผู้แทนเหล่านี้เรียกว่า ทริบุนุส (ละติน: Tribunus)

นับแต่นั้นมา สาธารณรัฐโรมันจึงกลายเป็นประเทศที่ปกครองด้วยอำนาจสามฝ่ายได้แก่ วุฒิสภา, สภาสามัญ และคณะกงสุล ซึ่งองค์กรทั้งสามต่างระแวดระวังกันและคอยคานอำนาจกัน ทำให้ไม่มีองค์กรใดองค์กรหนึ่งมีอำนาจมากล้นเพียงฝ่ายเดียว

วุฒิสภา

การประชุมวุฒิสภาโรมัน
ดูบทความหลักที่: วุฒิสภาโรมัน

วุฒิสภา (Senate) ประกอบด้วยสมาชิก 300 คนที่เลือกจากพวกคณะพรรค สมาชิกมีวาระดำรงตำแหน่งตลอดชีพ กงสุลที่หมดวาระจะได้เป็นสมาชิกวุฒิสภาโดยอัตโนมัติ วุฒิสภาดูแลด้านการคลัง การต่างประเทศ การสงคราม การยุติธรรม ผู้พิพากษาในคดีแพ่งจะถูกแต่งตั้งโดยสภานี้ วุฒิสภาโรมันได้ร่างกฎหมายโดยศึกษาจากกฎหมายโซลอนของกรีก แล้วปรับมาเป็นของโรมันที่เรียกว่า "กฎหมายสิบสองโต๊ะ" ซึ่งประกาศใช้ในปี 450 ก่อนค.ศ.

สภาสามัญ

ไกอุส กรัคคุส สมญา "ผู้แทนของปวงชน" กลายเป็นผู้นำของสภาสามัญ

สภาสามัญ (Plebeian Council) ประกอบด้วยสมาชิกจำนวนหนึ่งทั้งจากพวกคณะพรรคและพวกสามัญ สมาชิกสภานี้ถูกเรียกว่า ทริบุนุส (ละติน: Tribunus) สภานี้มีหน้าที่แต่งตั้งกงสุล เจ้าหน้าที่ของรัฐ ให้ความยินยอมหรือปฏิเสธกฎหมายที่เสนอโดยวุฒิสภา สภาสามัญมีอำนาจคัดค้านหรือออกคำสั่งหากมีการตรากฎหมายที่ขัดผลประโยชน์ สภาสามัญสามารถสั่งให้กฎหมายนั้นตกไปได้ ตำแหน่งทริบุนุสนี้ เริ่มแรกมีเพียง 2 คนก่อนที่ต่อมาจะเพิ่มขึ้นเป็น 10 คน ถือเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญในการตรากฎหมาย หากผู้ใดทำร้ายทริบุนุสจะต้องโทษถึงตาย

คณะกงสุล

กงสุล เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร มีจำนวนสองคน มีอำนาจเท่าเทียมกันโดยมีอำนาจเต็มทั้งในยามสงบและในยามสงคราม กงสุลเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดทั้งทางทหาร ตุลาการ ผู้ดำรงตำแหน่งกลสุลมาจากการสรรหาโดยวุฒิสภาและต้องได้รับการลงมติเลือกโดยสภาสามัญ มีวาระดำรงตำแหน่งคราวละหนึ่งปี มีอำนาจยับยั้งซึ่งกันและกันได้ ทั้งนี้ในยามสงครามหรือยามฉุกเฉิน คณะกงสุลอาจมอบอำนาจให้แก่บุคคลเดียวโดยความยินยอมจากวุฒิสภา ผู้รับมอบอำนาจนี้ถูกเรียกว่า ผู้เผด็จการ (ละติน: magister populi) โดยจะอยู่ในตำแหน่งได้ไม่เกิน 6 เดือน ผู้เผด็จการมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเฉกเช่นกงสุล

แม้ตำแหน่งกงสุลจะดูเป็นผู้มีอำนาจเด็ดขาดในกองทัพ แต่การทำสงครามหรือเดินทัพจำเป็นต้องใช้เสบียงและยุทธปัจจัยมากมาย การจะจัดหามาได้นั้นก็ต้องอาศัยการสนับสนุนจากวุฒิสภา ในขณะที่สภาสามัญก็มีสิทธิคัดค้านวุฒิสภาได้

ใกล้เคียง

สาธารณรัฐจีน (ค.ศ. 1912–1949) สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก สาธารณรัฐโดมินิกัน สาธารณสมบัติ สาธารณรัฐประชามานิตกัมพูชา สาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 3 สาธารณรัฐเท็กซัส สาธารณรัฐโซเวียตฮังการี สาธารณรัฐเขมร สาธารณรัฐประชาชนยูเครน