เกี่ยวกับกฎหมาย ของ สื่อลามกอนาจารเด็ก

ในประเทศไทย

พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2558 เสนอโดย ดร. จินตนันท์ ชญาต์ร ศุภมิตร สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติโดยการเสนอกฎหมาย เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งมีผลเริ่มตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม 2558 โดยมีนิยามคำว่า "เด็ก" ว่าหมายถึงบุคคลอายุไม่เกิน 18 ปี กำหนดโทษโดยเฉพาะเกี่ยวกับสื่อลามกอนาจารเด็ก ดังต่อไปนี้คือ[77][27]

  • ครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็กเพื่อแสวงหาประโยชน์ในทางเพศสำหรับตนเองหรือผู้อื่น มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 287/1)
  • ส่งต่อสื่อลามกอนาจารเด็กแก่ผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 287/1)
  • ทำ ผลิต มีไว้ นำเข้า ส่งออก พาไป ให้เช่า หรือทำให้แพร่หลาย (รวมทั้งโฆษณา ไขข่าวว่าจะหาได้อย่างไรจากที่ไหน) เพื่อการค้าหรือการแจกจ่ายโอ้อวดกับประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3-10 ปี และปรับตั้งแต่ 60,000-200,000 บาท (มาตรา 287/2)

โดยหมายเหตุพระราชบัญญัติให้เหตุผลในการกำหนดกฎหมายไว้ว่า[27]

  • การครอบครองเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของเด็กตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
  • การครอบครองเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กและส่งผลต่อสวัสดิภาพของเด็ก
  • ความผิดในเรื่องการค้าและการทำให้แพร่หลายซึ่งสื่อลามกผู้ใหญ่และเด็กมีความร้ายแรงแตกต่างกัน
  • เพื่อคุ้มครองป้องกันเด็กมากขึ้น
  • เพื่อกำหนดโทษในเรื่องการค้าและการทำให้แพร่หลายให้หนักขึ้น
  • เพื่อกำหนดโทษการมีครอบครอง (เพราะว่าการมีสื่อลามกผู้ใหญ่ไม่ใช่เพื่อการค้าไม่มีโทษทางกฎหมาย[78])

โดยผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายได้ระบุจุดอ่อนและข้อสังเกตของพระราชบัญญัติดังต่อไปนี้ว่า

  • "อายุไม่เกิน 18 ปี" พิสูจน์ได้ยากในกรณีที่ไม่ชัดเจน ในต่างประเทศคนที่ถูกดำเนินคดีส่วนใหญ่มีสื่อเกี่ยวกับเด็กที่ชัดเจนว่ามีอายุต่ำกว่าที่กำหนด แต่เด็กมีอายุใกล้ 18 ปีพิสูจน์ได้ยาก[77][78]
  • ไม่มีการยกเว้นการครอบครองสื่อในระหว่างเด็กเอง แม้เด็กถ่ายเก็บไว้ดูระหว่างกันเองก็ผิดกฎหมายได้[77][79]
  • การครอบครองไม่มีการยกเว้น เช่น มีในไฟล์แคช ในไฟล์ชั่วคราว ในป็อปอัพโฆษณา หรือมีเพื่อทำงานวิจัย หรือเพื่อทำการสอบสวน[77] คือการตีความเจตนาการครอบครองอาจเป็นปัญหา[78]
  • กฎหมายรวม "เอกสาร" และ "แถบบันทึกเสียง" ซึ่งเป็นเรื่องพิสูจน์ได้ยาก[77][79] คือมีการกำหนดนิยามของ "สื่อ" กว้างเกินไป[78]
  • ไม่ได้กำหนดสื่อลามกเทียมว่าผิดกฎหมาย[77][79][78]

ส่วนเลขาธิการสำนักงานอบรมศึกษากฎหมายเนติบัณฑิตยสภา นายสราวุธ เบญจกุล ได้ให้ข้อสังเกตและความเห็นไว้ว่า[80]

  • เป็นกฎหมายมีโทษสูง
  • ถ้าได้รับสื่อดังกล่าว ไม่เปิดดู ไม่ผิด เพราะขาดเจตนา
  • ถ้าเปิดดู ต้องลบออก ถ้าเก็บไว้ดูวันหลัง จัดว่ามีเจตนาพิเศษ ถ้าดูแล้วแสวงหาประโยชน์ทางเพศ จัดว่าผิด
  • คำว่าครอบครอง หมายถึงการมีในเครื่องมือ เช่นมือถือเป็นต้น

กฎหมายนิยาม "สื่อลามกอนาจารเด็ก" ดังนี้ว่า

“สื่อลามกอนาจารเด็ก” หมายความว่า วัตถุหรือสิ่งที่แสดงให้รู้หรือเห็นถึงการกระทำทางเพศของเด็กหรือกับเด็กซึ่งมีอายุไม่เกินสิบแปดปี โดยรูป เรื่อง หรือลักษณะสามารถสื่อไปในทางลามกอนาจาร ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบของเอกสาร ภาพเขียน ภาพพิมพ์ ภาพระบายสี สิ่งพิมพ์ รูปภาพ ภาพโฆษณา เครื่องหมาย รูปถ่าย ภาพยนตร์ แถบบันทึกเสียง แถบบันทึกภาพ หรือรูปแบบอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกัน และให้หมายความรวมถึงวัตถุหรือสิ่งต่าง ๆ ข้างต้นที่จัดเก็บในระบบคอมพิวเตอร์หรือในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นที่สามารถแสดงผลให้เข้าใจความหมายได้

– พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๔) พ.ศ. ๒๕๕๘[27]

สาระสำคัญการเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติ

เนื่องจากการครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็ก เป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของเด็กตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กและเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กและส่งผลกระทบต่อสวัสดิภาพของเด็ก ประกอบกับตามกฎหมายของไทยที่มีอยู่เดิม ไม่ได้แยกระหว่างการผลิตและการค้าสื่อลามกอนาจารผู้ใหญ่กับสื่อลามกอนาจารเด็กออกจากกัน ทั้งที่ลักษณะความผิดมีความร้ายแรงแตกต่างกัน

สื่อลามกอนาจารผู้ใหญ่ กฎหมายอนุญาตให้สามารถมีไว้ในความครอบครองได้ หากไม่ได้ทำเพื่อธุรกิจการค้า เพราะเป็นเรื่องรสนิยมของบุคคล แต่สำหรับสื่อลามกเด็กนั้น กฎหมายมีความจำเป็นต้องคุ้มครองให้เข้มงวดมากขึ้น เพราะเด็กอาจยังมีวุฒิภาวะไม่เพียงพอและตกเป็นเหยื่อของการล่วงละเมิดทางเพศในกระบวนการผลิตสื่อลามกได้ จึงทำให้หลายฝ่ายเห็นว่า กฎหมายควรจะควบคุมสื่อลามกอนาจารเด็กตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตและการครอบครองด้วย เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของเด็ก

กฎหมายของหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป ก็มีการแบ่งแยกประเภทสื่อลามกอนาจารเด็กออกจากสื่อลามกอนาจารผู้ใหญ่ และกำหนดว่าการครอบครองสื่อลามกเด็กเป็นความผิด โดยกำหนดโทษทั้งผู้ครอบครอง ผู้เผยแพร่ส่งต่อ และผู้ขาย มีบทลงโทษที่รุนแรงกว่ากรณีสื่อลามกอนาจารผู้ใหญ่

ดังนั้นเพื่อให้เด็กได้รับการคุ้มครองและป้องกันจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศมากขึ้น พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 24) จึงกำหนดให้ความผิดเกี่ยวกับการค้าหรือทำให้แพร่หลายซึ่งวัตถุหรือสิ่งลามกที่เป็นสื่อลามกอนาจารเด็กเป็นความผิดที่ผู้กระทำต้องได้รับโทษหนักขึ้น รวมทั้งกำหนดให้การครอบครองและส่งต่อซึ่งสื่อลามกอนาจารเด็กเป็นความผิดด้วย[81]

การร่วมมือกันระดับนานาชาติ

แม้ว่าจะมีการร่วมมือกันจับกุมผู้ทำผิดเกี่ยวกับสื่อลามกเด็กมากมาย แต่ว่า เจ้าหน้าที่ค้นเจอตัวเด็กน้อยกว่า 1% ที่พบในสื่อแต่ละปีตามสถิติของ Interpol[82]กูเกิลปี 2551 ได้ประกาศว่า กำลังทำงานร่วมกับ NCMEC เพื่อช่วยผู้ทำงานป้องกันเด็กในการกลั่นกรองรูปลามกเด็กเป็นล้าน ๆ เพื่อสืบหาระบุเหยื่อคือกูเกิลได้พัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถระบุเอกลักษณ์ของวิดีโอ และระบบอัตโนมัติที่ช่วยทบทวนภาพและวิดีโอลามกที่เจ้าหน้าที่ที่ศูนย์ก่อนหน้านี้ต้องทำด้วยมือ[83]

สำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐได้เริ่มโพ้สต์ไฮเปอร์ลิงก์ในระบบอินเทอร์เน็ตต่าง ๆ ที่ดูเหมือนจะลิงก์ไปยังวิดีโอของเด็กที่มีเพศสัมพันธ์โดยผิดกฎหมาย แล้วจะบุกเข้าตรวจค้นบ้านของทุกคนที่คลิกที่ลิงก์นั้น[84]ในเดือนตุลาคม 2554 กลุ่มนักเลงคอมพิวเตอร์ Anonymous (แปลว่านิรนาม) ประกาศว่ากลุ่มเริ่มโจมตีหยุดการทำงานของเว็บไซต์สื่อลามกใน darknet โดยทำในลักษณะศาลเตี้ย และปล่อยรายชื่อของผู้ร่วมใช้ในลิงก์ pastebin[85]

กฎหมายแต่ละประเทศและนานาชาติ

กฎหมายสื่อลามกเด็กมีโทษรุนแรงสำหรับผู้ผลิตและผู้เผยแพร่ในสังคมโดยมาก โดยปกติมีโทษจำคุก แต่จะจำเป็นระยะเวลาสั้นกว่าสำหรับการเผยแพร่ไม่ใช่เพื่อการค้าขึ้นอยู่กับจำนวนและเนื้อหาของสื่อที่แจกจ่ายการมีสื่อลามกเด็กปกติจะมีโทษจำคุกเช่นกัน แต่บ่อยครั้งมักจะผ่อนผันเป็นการรอลงอาญาสำหรับผู้ทำผิดเป็นครั้งแรก[7]ในปี 2549 ICMEC ตีพิมพ์รายงานเกี่ยวกับกฎหมายสื่อลามกเด็กในประเทศสมาชิก 184 ประเทศของ Interpol แล้วภายหลังจึงออกรายงานรวมประเทศสมาชิกสหประชาชาติทั้ง 196 ประเทศ[86][87][88][89]รายงานที่มีชื่อว่า "สื่อลามกอนาจารเด็ก กฎหมายที่เป็นแบบ และการทบทวนระดับโลก" ประเมินว่า กฎหมายของแต่ละประเทศ

  1. มีมาตราที่จำเพาะกับสื่อลามกอนาจารเด็กหรือไม่
  2. ให้คำนิยามของสื่อลามกอนาจารเด็กหรือไม่
  3. จัดการทำผิดทางคอมพิวเตอร์ให้เป็นอาชญากรรมโดยเฉพาะหรือไม่
  4. จัดการมีสื่อลามกอนาจารเด็ก ไม่ว่าตั้งใจจะแจกจ่ายหรือไม่ ให้เป็นอาชญากรรมหรือไม่
  5. บังคับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) ให้รายงานสื่อลามกอนาจารเด็กที่สงสัย ต่อเจ้าหน้าที่ทางกฎหมายหรือองค์กรอื่น ๆ ที่มอบหมายให้โดยกฎหมายหรือไม่[87][90][91]

ICMEC เบื้องต้นรายงานว่า มีเพียงแค่ 27 ประเทศที่มีกฎหมายพร้อมจะรับมือกับสื่อลามกอนาจารเด็ก ในขณะที่ประเทศ 95 ประเทศไม่มีกฎหมายที่จำเพาะกับสื่อลามกเด็ก ทำให้ปัญหาโลกนี้เลวร้ายขึ้นเนื่องจากฎหมายที่มีในประเทศต่าง ๆ ไม่กวดขันพอ[92]รายงานฉบับที่ 7 ก็ยังพบว่ามีเพียงแค่ 69 ประเทศเท่านั้นที่มีกฎหมายเพียงพอที่จะรับมือกับปัญหา ในขณะที่ 53 ประเทศไม่มีกฎหมายที่จำเพาะเจาะจง[86]ในช่วงงานวิจัยระหว่างปี 2549-2555 ICMEC และหุ้นส่วนได้ทำงานร่วมกับประเทศ 100 ประเทศที่ได้ปรับปรุงหรือออกฎหมายใหม่เกี่ยวกับสื่อลามกเด็ก[93][94][95][96]งานทบทวนกฎหมายสื่อลามกอนาจารเด็กใน 187 ประเทศปี 2551 ของ ICMEC แสดงว่า ประเทศ 93 ประเทศไม่มีกฎหมายที่จำเพาะเจาะจงในปัญหานี้ และใน 94 ประเทศที่มี 36 ประเทศไม่ได้จัดการมีสื่อลามกอนาจารเด็กให้ผิดกฎหมายไม่ว่าจะตั้งใจจะแจกจ่ายหรือไม่[97]แต่งานทบทวนนี้ ไม่ได้นับกฎหมายที่ทำสื่อลามกอนาจารทั้งหมดให้ผิดกฎหมาย ว่าเป็นกฎหมายเฉพาะต่อสื่อลามกอนาจารเด็ก และไม่ได้นับกฎหมายที่ห้าม "รูปแบบเลวร้ายที่สุดของแรงงานเด็ก"[28]

ประเทศบางประเทศเช่นแคนาดาและออสเตรเลีย ห้ามการ์ตูน มังงะ หรือวรรณกรรมที่เป็นสื่อลามกเด็ก และมีสังคมอื่นที่บังคับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตให้ตรวจเช็คข้อมูลที่ส่งทางอินเทอร์เน็ตเพื่อตรวจจับสื่อผิดกฎหมาย[98][99][100]ส่วนพิธีสารของสหประชาชาติที่เลือกปฏิบัติได้ (Optional Protocol on the Sale of Children, Child Prostitution, and Child Pornography) กำหนดให้ประเทศสมาชิกทำให้ผิดกฎหมายซึ่ง "การผลิต การแจกจ่าย การเผยแพร่ การนำเข้า การส่งออก การให้ การขาย หรือการมีเพื่อจุดประสงค์ดังที่กล่าวมาก่อน" ซึ่งสื่อลามกอนาจารเด็ก[101]ส่วนอนุสัญญาว่าด้วยอาชญากรรมไซเบอร์ของสภายุโรปและกฎหมายของสหภาพยุโรปที่มีผลในปี 2549 บังคับให้ประเทศสมาชิกทำกิจกรรมทุกอย่างเกี่ยวกับสื่อลามกอนาจารเด็กให้ผิดกฎหมาย[7]ส่วนมาตรา 34 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กของสหประชาชาติ (United Nations Convention on the Rights of the Child) กล่าวว่า ประเทศสมาชิกทั้งหมดต้องทำกิจที่สมควรเพื่อป้องกันการฉวยประโยชน์จากเด็กเกี่ยวกับการแสดงหรือสื่อลามกอนาจารเด็ก

แหล่งที่มา

WikiPedia: สื่อลามกอนาจารเด็ก http://www.theage.com.au/victoria/sexting-youths-p... http://www.afp.gov.au/media_releases/national/2007... http://www.cbc.ca/canada/story/2002/03/26/sharpe02... http://www.efc.ca/pages/law/cc/cc.163.1.html http://www.rcmp-grc.gc.ca/factsheets/fact_org_e.ht... http://www.animenewsnetwork.com/news/2005-03-04/ca... http://www.buffalonews.com/339/story/184849.html http://news.cnet.com/8301-13578_3-9899151-38.html http://edition.cnn.com/2009/CRIME/04/07/sexting.bu... http://www.cybercrimelawyerblog.com/2008/12/miami_...