ประวัติ ของ หน้าต่างกุหลาบ

“ตา” (oculus) หรือช่องลมเปิดทรงกลมบนหลังคาของตึกแพนเธียน ที่โรม

ที่มาของหน้าต่างกลมอาจจะพบในสถาปัตยกรรมโรมันที่เรียกว่า “อ็อคคิวลัส” (oculus) หรือ “ตา” ซึ่งเป็นช่องกลมกว้างบนเพดานให้แสงและอากาศส่องเข้ามาภายในสิ่งก่อสร้างได้ “อ็อคคิวลัส” ที่สำคัญที่สุดคือ อ็อคคิวลัสที่เป็นช่องเปิดกลมบนหลังคาของตึกแพนเธียน (Pantheon) ที่ โรม

ในศิลปะสมัยศาสนาคริสต์ยุคแรก และสถาปัตยกรรมไบแซนไทน์มีตัวอย่างของการก่อสร้างลักษณะนี้ ซึ่งมักจะตั้งอยู่ตรงศูนย์กลางของโดมเช่นที่โบสถ์ Holy Sepulchre ที่กรุงเยรูซาเลม หรือบนจั่วตื้นแบบสถาปัตยกรรมคลาสสิก เช่นที่โบสถ์นักบุญแอกเนสนอกกำแพง (Saint Agnes Outside the Walls) หรือที่มหาวิหารตอร์เชลโล (Torcello Cathedral) ที่ เวนิส[2]

หน้าต่างที่สร้างเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 8 ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่เมืองเวนิสนั้นเจาะจากหินแผ่นเดียว หรือหน้าต่างครึ่งวงกลมที่แบ่งเป็นช่อง ๆ ที่ทำในคริสต์ศตวรรษที่ 8 และหน้าต่างที่ทำต่อมาภายหลังที่ประเทศกรีซยังพอมีหลงเหลือให้ดูอยู่บ้าง[3]

หน้าต่างกลมเล็ก เช่น ที่โบสถ์นักบุญแอกเนสนอกกำแพงและมหาวิหารตอร์เชลโล และหน้าต่างที่ใช้ตกแต่งด้วยกระจกด้านภายในหน้าต่างกลมที่เว้าลึกเข้าไปในผนังยังคงทำกันต่อมาในการสร้างโบสถ์ที่ประเทศอิตาลีจนมารุ่งเรืองเอาเมื่อสมัยโรมาเนสก์

อีกประการหนึ่งที่ทำให้การสร้างหน้าต่างกลมมีความนิยมขึ้นในทวีปยุโรป ตามการสันนิษฐานโดยนักประวัติศาสตร์ชาวเยอรมนีอ็อตโต ฟอน ซิมสัน (Otto von Simson) ผู้กล่าวว่าหน้าต่างกลมมีรากฐานมาจากหน้าต่างรูปแปดเหลี่ยมที่ตกแต่งผนังภายนอกของปราสาทอุมเมยัด (Umayyad palace) ที่ ประเทศจอร์แดน ระหว่างปี ค.ศ. 740 ถึงปี ค.ศ. 750 ตามทฤษฎีแล้วผู้ที่นำการสร้างหน้าต่างลักษณะนี้เข้ามาในทวีปยุโรป คือผู้ที่กลับมาจากสงครามครูเสดโดยนำมาใช้ในการก่อสร้างคริสต์ศาสนสถาน[ต้องการอ้างอิง]