ไรช์ที่สาม ของ อดอล์ฟ_ฮิตเลอร์

เศรษฐกิจและวัฒนธรรม

"โทเทเนรุง" (สรรเสริญผู้ตาย) บนระเบียงหน้า "เอเรนฮัลเลอ" (หอเกียรติยศ) ในฉากหลังเป็นที่ชุมนุมนาซี "เอเรนทรีบือเน" (เวทีเกียรติยศ) รูปจันทร์เสี้ยว ในการชุมนุมที่เนือร์นแบร์ค กันยายน ค.ศ. 1934

ใน ค.ศ. 1935 ฮิตเลอร์แต่งตั้งฮียัลมาร์ ชัคท์ เป็นผู้มีอำนาจเต็มด้านเศรษฐกิจสงคราม รับผิดชอบการเตรียมเศรษฐกิจเพื่อสงคราม การฟื้นฟูบูรณะและการติดอาวุธใหม่ได้รับจัดหาเงินทุนผ่านเมโฟบิล การพิมพ์เงิน และการยึดสินทรัพย์ของผู้ที่ถูกจับกุมในข้อหาเสี้ยนหนามแผ่นดิน รวมทั้งยิว[174] การว่างงานลดลงอย่างมาก จากหกล้านคนใน ค.ศ. 1932 เหลือหนึ่งล้านคนใน ค.ศ. 1936[175] ฮิตเลอร์เป็นผู้ดูแลหนึ่งในโครงการพัฒนาสาธารณูปโภคหนึ่งในครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์เยอรมนี ซึ่งนำไปสู่การก่อสร้างเขื่อน ทางหลวงพิเศษ ทางรถไฟและงานสาธารณะอื่น ๆ ค่าแรงลดลงเล็กน้อยในช่วงปีก่อนสงครามโลกครั้งที่สองเมื่อเทียบกับในสมัยไวมาร์ ขณะที่ค่าครองชีพเพิ่มขึ้น 25%[176]

รัฐบาลฮิตเลอร์สนับสนุนสถาปัตยกรรมอย่างกว้างขวาง อัลแบร์ท สเพร์ ผู้นำการตีความแบบคลาสสิกของฮิตเลอร์นำไปปรับกับวัฒนธรรมเยอรมัน ถูกกำหนดให้รับผิดชอบการปฏิสังขรณ์สถาปัตยกรรมในเบอร์ลิน[177] ฮิตเลอร์เปิดกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนในเบอร์ลิน

การสร้างเสริมอาวุธและพันธมิตรใหม่

ในการประชุมกับผู้นำทางทหารของเยอรมนีเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1933 ฮิตเลอร์กล่าวถึง "การพิชิตเพื่อเลเบินส์เราม์ในทางตะวันออกและทำให้เป็นเยอรมันอย่างไร้ความปรานี" เป็นความมุ่งหมายนโยบายต่างประเทศสูงสุดของเขา[178] ในเดือนมีนาคม เจ้าชายแบร์นาร์ด วิลเฮล์ม ฟอน บือโลว์ เลขานุการเอาสวแวร์ทีเกส อัมท์ (กระทรวงการต่างประเทศ) ออกแถลงการณ์ใหญ่ถึงเป้าประสงค์ของนโยบายต่างประเทศกับเยอรมนี คือ อันชลูสส์กับออสเตรีย การฟื้นฟูพรมแดนแห่งชาติของเยอรมนีใน ค.ศ. 1914 การปฏิเสธการจำกัดทางทหารภายใต้สนธิสัญญาแวร์ซาย การได้อดีตอาณานิคมเยอรมนีในแอฟริกาคืน และเขตอิทธิพลของเยอรมนีในยุโรปตะวันออก ฮิตเลอร์พบว่าเป้าหมายของบือโลว์นั้นถ่อมเกินไป[179] ในสุนทรพจน์ของเขาช่วงนี้ เขาเน้นย้ำเป้าหมายของนโยบายและความเต็มใจทำงานภายในความตกลงระหว่างประเทศอย่างสันติ[180] ในการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งแรกใน ค.ศ. 1933 ฮิตเลอร์จัดลำดับรายจ่ายทางทหารมาก่อนเงินช่วยเหลือผู้ว่างงาน[181]

เยอรมนีถอนตัวจากสันนิบาตชาติและการประชุมปลดอาวุธโลกในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1933[182] ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1935 ฮิตเลอร์ประกาศขยายกำลังพลเวร์มัคท์เป็น 600,000 นาย หกเท่าของจำนวนที่สนธิสัญญาแวร์ซายอนุญาต รวมถึงการพัฒนากองทัพอากาศ (ลุฟท์วัฟเฟอ) และการเพิ่มขนาดกองทัพเรือ (ครีกสมารีเนอ) อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลีและสันนิบาตชาติประณามแผนการเหล่านี้ว่าเป็นการละเมิดสนธิสัญญาแวร์ซาย[183] ความตกลงนาวิกอังกฤษ-เยอรมัน วันที่ 18 มิถุนายน ค.ศ. 1935 อนุญาตให้ระวางน้ำหนักของกองทัพเรือเยอรมันเพิ่มขึ้นเป็น 35% ของราชนาวีอังกฤษ ฮิตเลอร์เรียกการลงนามความตกลงดังกล่าวว่าเป็น "วันที่สุขที่สุดในชีวิตเขา" ดังที่เขาเชื่อว่าความตกลงนี้เป็นจุดเริ่มต้นของพันธมิตรอังกฤษ-เยอรมันที่เขาได้ทำนายไว้ในไมน์คัมพฟ์[184] ฝรั่งเศสและอิตาลีไม่ได้รับการปรึกษาก่อนลงนาม ซึ่งเป็นการบั่นทอนสันนิบาตชาติโดยตรง และทิ้งสนธิสัญญาแวร์ซายบนหนทางสู่ความไม่ลงรอยกัน[185]

เยอรมนียึดครองเขตปลอดทหารในไรน์ลันท์อีกครั้งในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1936 อันเป็นการละเมิดสนธิสัญญาแวร์ซาย ฮิตเลอร์ส่งกำลังเข้าไปในสเปนเพื่อสนับสนุนพลเอกฟรังโก หลังได้รับการขอความช่วยเหลือในเดือกรกฎาคม ค.ศ. 1936 ในขณะเดียวกัน ฮิตเลอร์พยายามสร้างพันธมิตรอังฤษ-เยอรมนีอย่างต่อเนื่อง[186] ในการสนองต่อวิกฤตเศรษฐกิจที่ลุกลามขึ้นอันเกิดจากความพยายามสร้างเสริมอาวุธขึ้นใหม่ ฮิตเลอร์จึงออกบันทึกข้อความสั่งแฮร์มัน เกอริงเพื่อดำเนินการแผนการสี่ปีเพื่อให้เยอรมนีพร้อมทำสงครามภายในสี่ปีข้างหน้า[187] "บันทึกข้อความแผนการสี่ปี" เดือนสิงหาคม ค.ศ. 1936 กำหนดการต่อสู้สุดกำลังระหว่าง "ยิว-บอลเชวิค" กับชาติสังคมนิยมเยอรมัน ซึ่งในมุมมองของฮิตเลอร์ จำเป็นต้องมีความพยายามที่ผูกมัดในการเสริมสร้างอาวุธโดยไม่คำนึงถึงมูลค่าทางเศรษฐกิจ[188]

วันที่ 25 ตุลาคม ค.ศ. 1936 อิตาลีกับเยอรมนีประกาศเป็นอักษะต่อกัน

เคานต์กาเลอัซโซ ซีอาโน รัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐบาลเบนิโต มุสโสลินี ประกาศอักษะระหว่างเยอรมนีกับอิตาลี และในวันที่ 25 พฤศจิกายน เยอรมนีลงนามในสนธิสัญญาต่อต้านองค์การคอมมิวนิสต์สากลกับญี่ปุ่น อังกฤษ จีน อิตาลีและโปแลนด์ได้รับเชิญให้เข้าร่วมสนธิสัญญาดังกล่าวด้วย แต่มีเพียงอิตาลีเท่านั้นที่ลงนามใน ค.ศ. 1937 ฮิตเลอร์ละทิ้งความฝันพันธมิตรอังกฤษ-เยอรมนี โดยกล่างโทษว่าผู้นำอังกฤษ "ไม่เหมาะสม"[189] เขาจัดการประชุมลับที่ทำเนียบรัฐบาลไรช์กับรัฐมนตรีสงครามและต่างประเทศ ตลอดจนหัวหน้าทางทหารในเดือนพฤศจิกายนปีนั้น ตามบันทึกการประชุมฮ็อสบัค ฮิตเลอร์แถลงเจตนาในการได้มาซึ่งเลเบินส์เราม์สำหรับชาวเยอรมัน และสั่งเตรียมทำสงครามในทางตะวันออก ซึ่งจะเริ่มขึ้นไม่ช้ากว่า ค.ศ. 1943 เขาแถลงว่าบันทึกการประชุมถือว่าเป็น "พินัยกรรมการเมือง" ในกรณีเขาเสียชีวิต[190] เขารู้สึกว่าวิกฤตเศรษฐกิจเยอรมนีได้มาถึงจุดที่มาตรฐานการครองชีพในเยอรมนีถดถอยรุนแรงจนต้องใช้เฉพาะนโยบายก้าวร้าวทางทหาร คือ ยึดออสเตรียและเชโกสโลวาเกีย เท่านั้น[191][192] ฮิตเลอร์กระตุ้นการปฏิบัติอย่างรวดเร็ว ก่อนที่อังกฤษและฝรั่งเศสจะเป็นผู้นำการแข่งขันอาวุธอย่างถาวร[191] ต้น ค.ศ. 1938 ตามติดกรณีอื้อฉาวบล็อมแบร์ค-ฟริทช์ ฮิตเลอร์ถือสิทธิ์ควบคุมระบบนโยบายทางทหาร-ต่างประเทศ โดยปลดนอยรัทจากตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ เขาครองบทบาทและตำแหน่งโอแบร์สเทียร์ เบเฟลชาแบร์ แดร์ เวร์มัคท์ (ผู้บัญชาการทหารสูงสุด)[187] จากต้น ค.ศ. 1938 สืบมา ฮิตเลอร์ดำเนินนโยบายต่างประเทศซึ่งมีสงครามเป็นเป้าหมายสูงสุด[193]

การล้างชาติ

ดูบทความหลักที่: ฮอโลคอสต์

มโนทัศน์หลักของนาซี คือ แนวคิดความสะอาดเชื้อชาติ วันที่ 15 กันยายน ค.ศ. 1935 เขาเสนอกฎหมายสองฉบับ ซึ่งรู้จักกันในชื่อ กฎหมายเนือร์นแบร์ค แก่ไรชส์ทาค กฎหมายนี้ห้ามการสมรสระหว่างผู้ที่มิใช่ยิวกับเยอรมันเชื้อสายยิว และห้ามการจ้างสตรีมิใช่ยิวอายุต่ำกว่า 45 ปีในครัวเรือนยิว กฎหมายกีดกันผู้ที่ "มิใช่อารยัน" จากประโยชน์ของพลเมืองเยอรมัน[194] นโยบายสุพันธุศาสตร์ช่วงแรกของฮิตเลอร์มุ่งไปยังเด็กที่บกพร่องทางกายและการพัฒนาในโครงการที่ถูกขนานนามว่า การปฏิบัติบรันดท์ (Action Brandt) และภายหลังอนุมัติโครงการการุณยฆาตแก่ผู้ใหญ่ที่บกพร่องทางจิตและกายอย่างร้ายแรง ซึ่งปัจจุบันมักเรียกว่า การปฏิบัติเท4 (Action T4)[195]

แนวคิดเลเบินส์เราม์ของฮิตเลอร์ ซึ่งรับหลักการในไมน์คัมพฟ์ มุ่งการได้มาซึ่งดินแดนใหม่สำหรับการตั้งถิ่นฐานของชาวเยอรมันในยุโรปตะวันออก[196] เจเนรัลพลันโอสท์ ("แผนการทั่วไปสำหรับทางตะวันออก") กำหนดให้ประชากรในยุโรปตะวันออกและสหภาพโซเวียตส่วนที่ถูกยึดครองเนรเทศไปยังไซบีเรียตะวันตก เพื่อใช้เป็นแรงงานทาสหรือสังหารทิ้ง ดินแดนที่ถูกพิชิตจะถูกตั้งเป็นอาณานิคมของผู้ตั้งถิ่นฐานชาวเยอรมันหรือที่ถูก "ทำให้เป็นเยอรมัน"[197] แผนการเดิมกำหนดให้กระบวนการนี้เริ่มต้นหลังการพิชิตสหภาพโซเวียต แต่เมื่อไม่เป็นผล ฮิตเลอร์จึงเลื่อนแผนการออกไป[198][199] จนถึงเดือนมกราคม ค.ศ. 1942 การตัดสินใจนี้ได้นำไปยังการสังหารชาวยิวและผู้ถูกเนรเทศอื่นซึ่งถูกพิจารณาว่าไม่พึงปรารถนา[200]

ฮอโลคอสต์ (อังกฤษ: The Holocuast) (Endlösung der jüdischen Frage หรือ "การแก้ปัญหาชาวยิวครั้งสุดท้าย") จัดขึ้นและดำเนินการโดยไฮน์ริช ฮิมเลอร์และไรนาร์ด ไฮดริช บันทึกการประชุมวันน์เซ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 1942 และนำโดยไรนาร์ด ไฮดริช ร่วมกับเจ้าหน้าที่นาซีอาวุโสอื่นอีกสิบห้าคน เป็นหลักฐานชัดเจนที่สุดถึงการวางแผนฮอโลคอสต์อย่างเป็นระบบ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ มีบันทึกคำกล่าวของฮิตเลอร์ต่อเพื่อนร่วมงานว่า "สุขภาพดีของเราจะฟื้นคืนก็ด้วยการสังหารยิวเท่านั้น"[201] มีค่ายกักกันและค่ายมรณะนาซีประมาณสามสิบแห่งใช้เพื่อวัตถุประสงค์นี้[202] จนถึงฤดูร้อน ค.ศ. 1942 สถานที่ตั้งค่ายกักกันเอาชวิทซ์ถูกดัดแปลงให้สามารถรองรับผู้ถูกเนรเทศจำนวนมากเพื่อสังหารหรือใช้แรงงานทาส[203]

ทหารอเมริกันยืนอยู่ข้างรถเข็นซึ่งมีศพกองเต็มบนรถบรรทุกนอกเมรุในค่ายกักกันบูเคินวัลท์ที่เพิ่งได้รับการปลดปล่อย เมษายน ค.ศ. 1945

แม้ไม่ปรากฏว่ามีคำสั่งเจาะจงจากฮิตเลอร์ที่อนุมัติการสังหารหมู่[204] เขาได้อนุมัติไอน์ซัทซกรุพเพน หน่วยสังหารซึ่งติดตามกองทัพเยอรมันผ่านโปแลนด์และรัสเซีย เขายังได้รับรายงานอย่างดีเกี่ยวกับพฤติกรรมของหน่วยนี้ด้วย[205] ระหว่างการสอบสวนโดยสายลับโซเวียต บันทึกซึ่งได้รับการเปิดเผยในอีกกว่าห้าสิบปีให้หลัง คนขับรถของฮิตเลอร์ ไฮนซ์ ลินเกอ และผู้ช่วยของเขา อ็อทโท กึนเชอ แถลงว่าฮิตเลอร์มีความสนใจโดยตรงในการพัฒนาห้องรมแก๊ส[206]

ระหว่าง ค.ศ. 1939 ถึง 1945 เอ็สเอ็ส ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลผู้ให้ความร่วมมือและทหารเกณฑ์จากประเทศที่ถูกยึดครอง รับผิดชอบต่อการเสียชีวิตถึงสิบเอ็ดถึงสิบสี่ล้านชีวิต รวมทั้งชาวยิวหกล้านคน คิดเป็นสองในสามของประชากรยิวในยุโรป[207][208] และชาวโรมาระหว่าง 500,000 ถึง 1,500,000 คน[209] การเสียชีวิตเกิดขึ้นในค่ายกักกันและค่ายมรณะ ย่านชาวยิว และการประหารชีวิตหมู่ เหยื่อการล้างชาติหลายคนถูกรมแก๊สจนเสียชีวิต ขณะที่บ้างเสียชีวิตเพราะหิวโหยหรือป่วยขณะใช้แรงงานทาส[210]

นโยบายของฮิตเลอร์ยังส่งผลให้มีการสังหารชาวโปแลนด์[211] และเชลยศึกโซเวียต พวกคอมมิวนิสต์และศัตรูการเมืองอื่น พวกรักร่วมเพศ ผู้พิการทางกายหรือใจ[212][213] ผู้นับถือลัทธิพยานพระยาเวห์ นิกายแอดเวนติสต์ และผู้นำสหภาพแรงงาน ฮิตเลอร์ไม่เคยปรากฏว่าเยือนค่ายกักกันและมิได้พูดถึงการสังหารอย่างเปิดเผย.[214]

แหล่งที่มา

WikiPedia: อดอล์ฟ_ฮิตเลอร์ http://www.findarticles.com/p/articles/mi_m0FQP/is... http://www.foxnews.com/story/0,2933,100474,00.html http://www.nytimes.com/2002/01/13/weekinreview/wor... http://www.theglobeandmail.com/news/arts/books/hit... http://www.time.com/time/magazine/article/0,9171,7... http://www.time.com/time/magazine/article/0,9171,7... http://www.time.com/time/magazine/article/0,9171,7... http://www.glasnost.de/hist/ns/eingabe.html http://www.ns-archiv.de/personen/hitler/oesterreic... http://www.potsdam.de/cms/beitrag/10000945/33981/