สงครามโลกครั้งที่สอง ของ อดอล์ฟ_ฮิตเลอร์

ดูบทความหลักที่: สงครามโลกครั้งที่สอง

ความสำเร็จทางการทูตช่วงต้น

ฮิตเลอร์กับโยซูเกะ มัตสึโอกะ รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น ที่การประชุมในกรุงเบอร์ลินเมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 1941 ที่ยืนอยู่ข้างหลังนั้นคือ โยอาคิม ฟ็อน ริบเบินทร็อพ

พันธมิตรกับญี่ปุ่น

ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1938 ด้วยการแนะนำจากรัฐมนตรีต่างประเทศที่เพิ่งได้รับแต่งตั้งใหม่ เชโกสโลวาเกีย ผู้นิยมญี่ปุ่นอย่างแข็งขัน ฮิตเลอร์จึงยุติพันธมิตรจีน-เยอรมันกับสาธารณรัฐจีนและเข้าเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นที่ทันสมัยและทรงอำนาจกว่า ฮิตเลอร์ประกาศรับรองแมนจูกัว รัฐที่ญี่ปุ่นยึดครองในแมนจูเรีย ของเยอรมนี และสละการอ้างสิทธิ์ของเยอรมนีเหนืออดีตอาณานิคมในแปซิฟิกที่ญี่ปุ่นถือครองอยู่ ฮิตเลอร์สั่งยุติการส่งอาวุธไปยังจีน และเรียกนายทหารเยอรมันที่ทำงานกับกองทัพจีนทั้งหมดกลับ[215] เพื่อเป็นการตอบโต้ พลเอก เจียง ไคเช็ก ของจีนยกเลิกความตกลงเศรษฐกิจจีน-เยอรมนีทั้งหมด ทำให้เยอรมนีขาดวัตถุดิบจากจีน แม้จีนจะยังขนส่งทังสเตนซึ่งเป็นโลหะสำคัญในการผลิตอาวุธ ต่อไปจนกระทั่ง ค.ศ. 1939[216]

ออสเตรียและเชโกสโลวาเกีย

วันที่ 12 มีนาคม ค.ศ. 1938 ฮิตเลอร์ประกาศรวมออสเตรียเข้ากับนาซีเยอรมนีในอันชลุส[217][218] จากนั้นฮิตเลอร์มุ่งความสนใจของเขาไปยังประชากรเชื้อชาติเยอรมันในเขตซูเดเทินลันท์ของเชโกสโลวาเกีย[219]

วันที่ 28-29 มีนาคม ค.ศ. 1938 ฮิตเลอร์จัดการประชุมลับขึ้นหลายครั้งในกรุงเบอร์ลินกับคอนรัด เฮนไลน์ แห่งซูเดเตนไฮม์ฟรอนท์ (Heimfront, "แนวสนับสนุน") พรรคการเมืองเชื้อชาติเยอรมันใหญ่ที่สุดในซูเดเทินลันท์ ทั้งสองตกลงว่าเฮนไลน์จะเรียกร้องสิทธิปกครองตนเองสำหรับชาวเยอรมันซูเดเตนเพิ่มขึ้นจากรัฐบาลเชโกสโลวาเกีย ซึ่งจะเป็นข้ออ้างสำหรับการปฏิบัติทางทหารต่อเชโกสโลวาเกีย ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1938 เฮนไลน์บอกรัฐมนตรีต่างประเทศฮังการีว่า "ไม่ว่ารัฐบาลเช็กจะเสนออะไร เขาจะเรียกร้องสูงขึ้นเสมอ ... เขาต้องการบ่อนทำลายความเข้าใจทุกทาง เพราะนี่เป็นเพียงวิธีเดียวที่จะระเบิดเชโกสโลวาเกียอย่างรวดเร็ว"[220] โดยส่วนตัว ฮิตเลอร์มองว่าปัญหาซูเดเตนไม่สำคัญ เจตนาที่แท้จริงของเขานั้นคือสงครามพิชิตเชโกสโลวาเกีย[221]

เดือนตุลาคม ค.ศ. 1938 ฮิตเลอร์ (ยืนอยู่ในเมอร์ซิเดส) ขับผ่านฝูงชนในเชบ ส่วนหนึ่งของภูมิภาคซูเดเทินลันท์ที่มีประชากรชาวเยอรมันอาศัยอยู่มากของเชโกสโลวาเกีย ซึ่งถูกผนวกเข้ากับนาซีเยอรมนีจากความตกลงมิวนิก

ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1938 ฮิตเลอร์สั่งให้ OKW เตรียมการสำหรับฟัลกรึน (Fall Grün, "กรณีเขียว") ชื่อรหัสสำหรับการบุกครองเชโกสโลวาเกีย[222] ด้วยผลของแรงกดดันทางการทูตอย่างหนักจากฝรั่งเศสและอังกฤษ วันที่ 5 กันยายน ค.ศ. 1938 ประธานาธิบดีเชโกสโลวาเกีย เอ็ดวาร์ด เบเนช จึงประกาศ "แผนการที่สี่" เพื่อจัดระเบียบประเทศใหม่ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งตกลงรับข้อเรียกร้องส่วนใหญ่ของเฮนไลน์ว่าด้วยการปกครองตนเองของซูเดเตน[223] ไฮม์ฟรอนท์ของเฮนไลน์สนองต่อข้อเสนอของเบเนชด้วยการปะทะอย่างรุนแรงหลายครั้งกับตำรวจเชโกสโลวาเกีย ซึ่งนำไปสู่การประกาศกฎอัยการศึกในบางเขตของซูเดเตน[224][225]

เยอรมนีนั้นพึ่งพาน้ำมันนำเข้า การเผชิญหน้ากับอังกฤษเหนือกรณีพิพาทเชโกสโลวาเกียอาจตัดทอนเสบียงน้ำมันของเยอรมนีได้ ฮิตเลอร์จึงเลื่อนฟัลกรึนออกไป ซึ่งเดิมวางแผนไว้เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1938[226] วันที่ 29 กันยายน ค.ศ. 1938 ฮิตเลอร์, เนวิลล์ เชมเบอร์เลน, เอดัวร์ ดาลาดีเย และเบนิโต มุสโสลินีเข้าร่วมการประชุมหนึ่งวันในกรุงมิวนิกซึ่งนำไปสู่ความตกลงมิวนิก ซึ่งได้มอบเขตซูเดเทินลันท์ให้แก่เยอรมนี[227][228]

เชมเบอร์เลนพอใจกับการประชุมมิวนิก โดยเรียกผลว่า "สันติภาพในสมัยของเรา" ขณะที่ฮิตเลอร์โกรธกับโอกาสทำสงครามที่พลาดไปใน ค.ศ. 1938[229][230] ฮิตเลอร์แสดงความผิดหวังของเขาต่อความตกลงมิวนิกออกมาในสุนทรพจน์เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม ค.ศ. 1938 ในซาร์บรึกเคน[231] ในมุมมองของฮิตเลอร์ สันติภาพซึ่งอังกฤษเป็นนายหน้านั้น แม้จะอำนวยประโยชน์ต่อการเรียกร้องบังหน้าของเยอรมนี แต่ก็เป็นความพ่ายแพ้ทางการทูตซึ่งยิ่งกระตุ้นเจตนาของฮิตเลอร์ในการจำกัดอำนาจของอังกฤษเพื่อกรุยทางแก่การขยายตัวไปทางตะวันออกของเยอรมนี[232][233] ผลจากการประชุมนี้ ฮิตเลอร์ได้รับเลือกเป็นบุคคลแห่งปีของนิตยสารไทม์ ค.ศ. 1938[234]

ฮิตเลอร์เยือนปราสาทปราก ไม่นานหลังเชโกสโลวาเกียถูกยึดครอง 15 มีนาคม ค.ศ. 1939

ในปลาย ค.ศ. 1938 และต้น ค.ศ. 1939 วิกฤตการณ์เศรษฐกิจที่ดำเนินต่อไปซึ่งเกิดขึ้นจากความพยายามสร้างเสริมอาวุธใหม่บีบให้ฮิตเลอร์ตัดงบประมาณป้องกันประเทศลงอย่างมาก[235] วันที่ 30 มกราคม ค.ศ. 1939 ฮิตเลอร์กล่าวสุนทรพจน์ "ส่งออกหรือตาย" โดยเรียกร้องการรุกทางเศรษฐกิจของเยอรมนีเพื่อเพิ่มสินทรัพย์แลกเปลี่ยนต่างประเทศเยอรมนีเพื่อจ่ายเป็นค่าวัตถุดิบ เช่น เหล็กคุณภาพสูงซึ่งจำเป็นต่ออาวุธทางทหาร[235]

วันที่ 15 มีนาคม ค.ศ. 1939 โดยเป็นการละเมิดข้อตกลงมิวนิกและอาจเป็นเพราะผลของวิกฤตการณ์เศรษฐกิจที่ถลำลึกซึ่งต้องการสินทรัพย์เพิ่มเติม ฮิตเลอร์จึงสั่งให้เวร์มัคท์บุกครองปราก และจากปราสาทปรากได้ประกาศให้โบฮีเมียและโมราเวียเป็นรัฐในอารักขาของเยอรมนี[236]

สงครามโลกครั้งที่สองปะทุ

ในการประชุมส่วนตัวใน ค.ศ. 1939 ฮิตเลอร์อธิบายว่าอังกฤษเป็นศัตรูหลักที่จำต้องถูกพิชิต ในมุมมองของเขา การลบล้างโปแลนด์จากการเป็นชาติมีอธิปไตยเป็นการโหมโรงที่จำเป็นสู่เป้าหมายนั้น ปีกตะวันออกจำต้องได้รับการทำให้ปลอดภัย และที่ดินจะถูกเพิ่มเข้าไปในเลเบินส์เราม์ของเยอรมนี[237] ฮิตเลอร์ต้องการให้โปแลนด์เป็นรัฐบริวารของเยอรมนีหรือมิฉะนั้นก็ถูกทำให้เป็นกลางเพื่อให้ปีกทางตะวันออกของไรช์ปลอดภัย และเพื่อป้องกันการปิดล้อมของอังกฤษที่เป็นไปได้[238] แต่เดิม ฮิตเลอร์ชอบแนวคิดรัฐบริวาร ซึ่งถูกปฏิเสธโดยรัฐบาลโปแลนด์ ดังนั้น ฮิตเลอร์จึงตัดสินใจบุกครองโปแลนด์ ซึ่งเขาถือว่าเป็นเป้าหมายนโยบายต่างประเทศหลักของเยอรมนีใน ค.ศ. 1939[239] ฮิตเลอร์ถูกขัดใจที่อังกฤษ "รับประกัน" เอกราชของโปแลนด์ ซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 31 มีนาคม ค.ศ. 1939 และบอกแก่เพื่อนร่วมงานเขาว่า "ฉันจะบ่มเครื่องดื่มปิศาจให้พวกมัน"[240] ในสุนทรพจน์ในวิลเฮล์มชาเวนเพื่อปล่อยเรือประจัญบานเทียร์พิทซ์ลงน้ำเมื่อวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 1939 ฮิตเลอร์ขู่จะบอกเลิกความตกลงนาวีอังกฤษ-เยอรมันเป็นครั้งแรก หากอังกฤษยืนกรานการรับประกันเอกราชของโปแลนด์ ซึ่งเขามองว่าเป็นนโยบาย "ตีวงล้อม"[240] วันที่ 3 เมษายน ค.ศ. 1939 ฮิตเลอร์สั่งการให้ฝ่ายทหารเตรียมการสำหรับฟัลไวสส์ (Fall Weiss, "กรณีขาว") แผนการสำหรับการบุกครองของเยอรมนีในวันที่ 25 สิงหาคม ค.ศ. 1939[239] ในสุนทรพจน์ต่อไรชส์ทาคเมื่อวันที่ 28 เมษายน ฮิตเลอร์บอกเลิกทั้งความตกลงนาวิกอังกฤษ-เยอรมันและสนธิสัญญาไม่รุกรานเยอรมนี–โปแลนด์ ฮิตเลอร์กล่าวแก่นายพลของเขาว่าแผนการดั้งเดิมของเขาใน ค.ศ. 1939 คือ "... จัดตั้งความสัมพันธ์ที่ยอมรับได้กับโปแลนด์เพื่อต่อสู้กับตะวันตก" เนื่องจากโปแลนด์ปฏิเสธจะเป็นบริวารของเยอรมนี ฮิตเลอร์จึงเชื่อว่าทางเลือกเดียวของเขาคือการบุกครองโปแลนด์[241]

นักประวัติศาสตร์ เช่น วิลเลียม คาร์, แกร์ฮาร์ด ไวน์แบร์ก และเอียน เคอร์ชอว์ เสนอว่า สาเหตุหนึ่งที่ฮิตเลอร์เร่งทำสงคราม เพราะความกลัวผิดปกติและหมกมุ่นของเขาว่าจะตายก่อนวัยอันควร และดังนั้น จึงมีความรู้สึกว่า เขาอาจไม่มีชีวิตอยู่จนสำเร็จงานของเขาก็ได้[242][243][244]

ฮิตเลอร์เดิมกังวลว่าการโจมตีทางทหารต่อโปแลนด์อาจส่งผลให้เกิดสงครามกับอังกฤษก่อนเวลาอันควร[238][245] อย่างไรก็ดี รัฐมนตรีต่างประเทศของฮิตเลอร์ และอดีตเอกอัครราชทูตประจำกรุงลอนดอน โยอาคิม ฟ็อน ริบเบินทร็อพ ยืนยันแก่เขาว่าทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสจะไม่เคารพการผูกมัดของพวกตนต่อโปแลนด์ และสงครามเยอรมนี-โปแลนด์จะเป็นเพียงสงครามในภูมิภาคจำกัด[246][247] ริบเบินทร็อพอ้างว่าในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1938 รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส ฌอร์ฌ บอแน (Georges Bonnet) ได้แถลงว่า ฝรั่งเศสมองว่ายุโรปตะวันออกเป็นเขตอิทธิพลจำเพาะของเยอรมนี[248] ริบเบินทร็อพได้แสดงโทรเลขภายใน (diplomatic cable) แก่ฮิตเลอร์ซึ่งสนับสนุนการวิเคราะห์ของเขา[249] เอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำกรุงลอนดอน แฮร์แบร์ท ฟอน ดีร์คเซน สนับสนุนการวิเคราะห์ของริบเบินทร็อพด้วยการเดินหนังสือในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1939 โดยรายงานว่าเชมเบอร์เลนทราบ "โครงสร้างสังคมของอังกฤษ กระทั่งกรอบความคิดของจักรวรรดิอังกฤษ ว่าจะไม่รอดพ้นความยุ่งเหยิงของสงครามแม้จะชนะก็ตาม" และดังนั้นจึงจะยอมอ่อนตาม[247] เมื่อเป็นเช่นนั้น วันที่ 21 สิงหาคม ค.ศ. 1939 ฮิตเลอร์จึงสั่งระดมพลทางทหารต่อโปแลนด์[250]

แผนการสำหรับการทัพทางทหารในโปแลนด์ของฮิตเลอร์เมื่อปลายเดือนสิงหาคมหรือต้นเดือนกันยายนนั้นต้องอาศัยการสนับสนุนโดยปริยายของโซเวียต[251] สนธิสัญญาไม่รุกราน (กติกาสัญญาโมโลตอฟ–ริบเบินทร็อพ) ระหว่างเยอรมนีกับสหภาพโซเวียต ภายใต้การนำของโจเซฟ สตาลิน รวมภาคผนวกลับด้วยความตกลงแบ่งโปแลนด์ระหว่างสองประเทศ ในการสนองต่อสนธิสัญญาโมโลตอฟ-ริบเบินทร็อพ อังกฤษและโปแลนด์ลงนามในพันธมิตรทางการทหารอังกฤษ-โปแลนด์เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม ค.ศ. 1939 ซึ่งขัดกับที่ริบเบินทร็อพพยากรณ์ไว้ว่าสนธิสัญญาที่เพิ่งก่อตั้งนี้จะตัดความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษ-โปแลนด์ พันธมิตรนี้ ร่วมกับข่าวจากอิตาลีที่ว่ามุสโสลินีจะไม่เคารพสนธิสัญญาเหล็ก ทำให้ฮิตเลอร์เลื่อนการโจมตีโปแลนด์ออกไปจากวันที่ 25 สิงหาคม ไปเป็น 1 กันยายน[252] ไม่กี่วันก่อนสงครามเริ่มต้น ฮิตเลอร์พยายามออกอุบายให้อังกฤษวางตัวเป็นกลางโดยเสนอการรับประกันไม่รุกรานต่อจักรวรรดิอังกฤษเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม และโดยให้ริบเบินทร็อพเสนอแผนสันติภาพนาทีสุดท้ายด้วยจำกัดเวลาสั้นอย่างเป็นไปไม่ได้ในความพยายามที่จะกล่าวโทษว่าสงครามเป็นผลจากความเฉื่อยชาของอังกฤษและโปแลนด์[253][254]

เพื่อใช้เป็นข้ออ้างสำหรับการบุกครองทางทหารต่อโปแลนด์ ฮิตเลอร์จึงอ้างสิทธิเหนือนครเสรีดันท์ซิชและสิทธิในถนนนอกอาณาเขตข้ามฉนวนโปแลนด์ ซึ่งเยอรมนีได้ยกให้ภายใต้สนธิสัญญาแวร์ซาย[255] แม้ความกังวลของฮิตเลอร์ว่าอังกฤษอาจเข้าแทรกแซง ท้ายที่สุด เขาไม่ได้ยุติเป้าหมายในอันที่จะบุกครองโปแลนด์[256] และวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1939 เยอรมนีก็ได้บุกครองโปแลนด์ทางตะวันตก อังกฤษและฝรั่งเศสสนองโดยประกาศสงครามต่อเยอรมนีในวันที่ 3 กันยายน ซึ่งได้สร้างความประหลาดใจแก่ฮิตเลอร์ ทำให้เขาหันไปหาริบเบินทร็อพและถามเขาอย่างโกรธ ๆ ว่า "ไงล่ะทีนี้"[257] ฝรั่งเศสและอังกฤษมิได้ปฏิบัติตามการประกาศของตนในทันที และเมื่อวันที่ 17 กันยายน กองทัพโซเวียตบุกครองโปแลนด์จากทางตะวันออก[258]

โปแลนด์จะไม่มีวันผงาดขึ้นมาอีกเหมือนครั้งสนธิสัญญาแวร์ซาย! นี่ไม่เพียงถูกการันตีโดยเยอรมนีเท่านั้น แต่ยังถูกการันตีโดยรัสเซียด้วย

– ฮิตเลอร์ กล่าวสุนทรพจน์ต่อสาธารณะในดันท์ซิช กันยายน ค.ศ. 1939[259]
สมาชิกไรชส์ทาคแสดงความเคารพต่อฮิตเลอร์ที่โรงอุปรากรครอลล์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ค.ศ. 1939 หลังสิ้นสุดการทัพต่อโปแลนด์

การสูญเสียโปแลนด์ตามมาด้วยสิ่งที่นักหนังสือพิมพ์ร่วมสมัยเรียกว่า "สงครามลวง" หรือซิทซครีก ฮิตเลอร์สั่งการให้เกาไลเทอร์แห่งโปแลนด์ตะวันตกเฉียงเหนือ อัลแบร์ท ฟอร์สแตร์ และอาร์ธูร์ ไกรแซร์ ที่เพิ่งได้รับแต่งตั้งใหม่ "แผลง[พื้นที่]เป็นเยอรมัน" (Germanise) และให้สัญญาแก่ทั้งสองว่า "จะไม่มีการตั้งคำถาม" ถึงวิธีการที่ใช้[260] ด้วยความรำคาญใจของฮิมเลอร์ ฟอร์สแตร์ให้ชาวโปแลนด์ท้องถิ่นลงนามในแบบซึ่งประกาศว่าพวกเขามีเลือดเยอรมัน และไม่ต้องใช้เอกสารหลักฐานอื่นประกอบ[261] แต่อีกด้านหนึ่ง ไกรแซร์เริ่มการรณรงค์ล้างเชื้อชาติอย่างโหดร้ายต่อประชากรโปแลนด์ในอำนาจของเขา[260] ไกรแซร์บ่นกับฮิตเลอร์ว่าฟอร์สแตร์อนุญาตให้ชาวโปแลนด์หลายพันคนได้รับการยอมรับว่าเป็นชาวเยอรมัน "โดยเชื้อชาติ" และดังนั้น ในมุมมองของไกรแซร์ จึงเป็นอันตรายต่อ "ความบริสุทธิ์ทางเชื้อชาติ" ของเยอรมัน ฮิตเลอร์บอกฮิมเลอร์และไกรแซร์ให้ยอมรับความขับข้องกับฟอร์สแตร์ และไม่ให้พาดพิงถึงเขา[260] การจัดการกับกรณีพิพาทฟอร์สแตร์-ไกรแซร์นั้น ได้ถูกพัฒนาเป็นตัวอย่างของทฤษฎี "ทำงานมุ่งสู่ฟือเรอร์" ของเคอร์ชอว์ หมายความว่า ฮิตเลอร์สั่งการอย่างคลุมเครือและคาดหวังให้ผู้ใต้บังคับบัญชาของเขาดำเนินนโยบายนั้นเอง

อีกกรณีพิพาทหนึ่งเกิดขึ้นระหว่างฝ่ายที่แตกต่างกัน ด้านหนึ่ง นำโดยฮิมเลอร์และไกรแซร์ สนับสนุนการกวาดล้างเชื้อชาติในโปแลนด์ และอีกด้านหนึ่ง นำโดยเกอริงและฮันส์ ฟรังค์ ข้าหลวงใหญ่ดินแดนเจเนรัลกอแวร์นเมนท์ในโปแลนด์เขตยึดครอง เรียกร้องให้เปลี่ยนโปแลนด์เป็น "ยุ้งฉาง" ของไรช์[262] ในการประชุมซึ่งจัดที่คฤหาสน์คารินฮัลของเกอริงเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1940 กรณีพิพาทนี้เดิมได้รับการตัดสินเห็นชอบกับมุมมองการแสวงหาประโยชน์ทางเศรษฐกิจของเกอริง-ฟรังค์ ซึ่งยุติการเนรเทศขนานใหญ่ซึ่งรบกวนเศรษฐกิจ[262] อย่างไรก็ดี วันที่ 15 พฤษภาคม ค.ศ. 1940 ฮิมเลอร์นำเสนอฮิตเลอร์ด้วยบันทึกข้อความ "บางคติว่าด้วยการปฏิบัติต่อประชากรต่างด้าวในทางตะวันออก" ซึ่งเรียกร้องให้ขับไล่ประชากรยิวทั้งยุโรปไปยังแอฟริกาและลดฐานะประชากรโปแลนด์ที่เหลือลงเป็น "ชนชั้นแรงงานไร้ผู้นำ"[262] ฮิตเลอร์ลงความเห็นต่อข้อเสนอดังกล่าวว่า "ดีงาม"[262] เขาจึงละเลยเกอริงและฟรังค์ และนำนโยบายของฮิมเลอร์-ไกรแซร์ไปปฏิบัติในโปแลนด์

ฮิตเลอร์เยือนกรุงปารีสพร้อมด้วยสถาปนิก อัลแบร์ท ชเปียร์ (ซ้าย) และศิลปิน อาร์โน เบรเกอร์ 23 มิถุนายน ค.ศ. 1940

ฮิตเลอร์สั่งการให้เสริมสร้างกำลังทหารตามชายแดนตะวันตกของเยอรมนี และในเดือนเมษายน ค.ศ. 1940 กองทัพเยอรมันบุกครองเดนมาร์กและนอร์เวย์ ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1940 กองทัพของฮิตเลอร์โจมตีฝรั่งเศส และพิชิตลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ และเบลเยียม ชัยชนะเหล่านี้กระตุ้นให้มุสโสลินีนำอิตาลีเข้าพวกกับฮิตเลอร์ในวันที่ 10 มิถุนายน ค.ศ. 1940 ฝรั่งเศสยอมจำนนเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ. 1940[263]

อังกฤษ ซึ่งกองทัพถูกบีบให้ออกจากฝรั่งเศสทางทะเลจากดันเคิร์ก[264] ยังคงสู้รบเคียงข้างเครือจักรภพอังกฤษอื่น ๆ ในยุทธนาวีแอตแลนติก ฮิตเลอร์ทาบทามสันติภาพต่ออังกฤษ ซึ่งขณะนี้นำโดยวินสตัน เชอร์ชิลล์ และเมื่อการทาบทามนั้นถูกปฏิเสธ เขาได้สั่งการทิ้งระเบิดโฉบฉวยต่อสหราชอาณาจักร โหมโรงสู่การบุกครองสหราชอาณาจักรที่วางแผนไว้ของฮิตเลอร์เป็นชุดการโจมตีทางอากาศในยุทธการบริเตนต่อฐานทัพอากาศกองทัพอากาศอังกฤษ และสถานีเรดาร์ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอังกฤษ อย่างไรก็ดี ลุฟท์วัฟเฟอของเยอรมนีไม่สามารถเอาชนะกองทัพอากาศอังกฤษ[265]

วันที่ 27 กันยายน ค.ศ. 1940 กติกาสัญญาไตรภาคีได้รับการลงนามในกรุงเบอร์ลิน โดยซาบูโร คูรูซุ ผู้แทนญี่ปุ่น, โยอาคิม ฟ็อน ริบเบินทร็อพ ผู้แทนไรช์ และกาลีอาซโซ ซิอาโน ผู้แทนอิตาลี[266] ความตกลงดังกล่าวภายหลังขยายไปรวมถึงฮังการี โรมาเนียและบัลแกเรีย ประเทศเหล่านี้รู้จักกันในชื่อกลุ่มอักษะประเทศ จุดประสงค์ของสนธิสัญญาคือ เพื่อขัดขวางสหรัฐอเมริกามิให้สนับสนุนอังกฤษ จนถึงปลายเดือนตุลาคม ค.ศ. 1940 ความเป็นเจ้าทางอากาศสำหรับการบุกครองอังกฤษ ปฏิบัติการสิงโตทะเล ไม่อาจบรรลุได้ และฮิตเลอร์สั่งการตีโฉบฉวยทางอากาศยามกลางคืนตามนครต่าง ๆ ของอังกฤษ รวมทั้งลอนดอน พลีมัธ และคอเวนทรี[267]

ในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1941 ฮิตเลอร์ถูกทำให้ไขว้เขวจากแผนการทางตะวันออกโดยกิจกรรมทางทหารในแอฟริกาเหนือ คาบสมุทรบอลข่านและตะวันออกกลาง ในเดือนกุมภาพันธ์ กองทัพเยอรมันไปถึงลิเบียเพื่อสนับสนุนอิตาลี ในเดือนเมษายน ฮิตเลอร์สั่งการบุกครองยูโกสลาเวีย และตามด้วยการบุกครองกรีซในเวลาอันรวดเร็ว[268] ในเดือนพฤษภาคม กองทัพเยอรมันถูกส่งไปสนับสนุนกำลังกบฏอิรักที่สู้รบต่ออังกฤษและบุกครองครีต วันที่ 23 พฤษภาคม ฮิตเลอร์ออกคำสั่งฟือเรอร์ ฉบับที่ 30[269]

ทางสู่ความปราชัย

เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ. 1941 โดยฝ่าฝืนสนธิสัญญาไม่รุกรานฮิตเลอร์-สตาลิน ทหารเยอรมันสามล้านนายโจมตีสหภาพโซเวียตในปฏิบัติการบาร์บารอสซา[270] การบุกครองนี้ได้ยึดพื้นที่ได้กว้างใหญ่ไพศาล รวมทั้งรัฐบอลติก เบลารุส และยูเครน อย่างไรก็ดี การรุกคืบของเยอรมนีหยุดลงไม่ไกลจากกรุงมอสโกในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1941 โดยฤดูหนาวของรัสเซียและการต้านทานอย่างดุเดือดของโซเวียต[271]

การชุมนุมของทหารโซเวียตตรงพรมแดนตะวันออกของเยอรมนีในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1941 อาจเป็นเหตุให้ฮิตเลอร์มามีส่วนในฟลุคท์ นัค ฟอร์น ("บินไปข้างหน้า") เพื่อเผชิญหน้ากับความขัดแย้งอันหลีกเลี่ยงไม่ได้ วิกตอร์ ซูโวรอฟ, แอ็นสท์ โทพิทช์, โจอาคิม ฮอฟฟ์มันน์, แอ็นสท์ นอลเทอ และเดวิด เอียร์วิง ได้ถกเถียงกันว่าเหตุผลอย่างเป็นทางการสำหรับบาร์บารอสซาที่กองทัพเยอรมันให้นั้นเป็นเหตุผลแท้จริง คือ สงครามป้องกันเพื่อปัดป้องการโจมตีของโซเวียตที่เตรียมการไว้เมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1941 อย่างไรก็ดี ทฤษฎีนี้ถูกติเตียน นักประวัติศาสตร์อเมริกัน เกอร์ฮาร์ด ไวน์เบิร์ก เคยเปรียบผู้สนับสนุนทฤษฎีสงครามป้องกันกับผู้ที่เชื่อใน "เทพนิยาย"[272]

การบุกครองสหภาพโซเวียตของกองทัพบกเยอรมันถึงขีดสุดเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ค.ศ. 1941 เมื่อกองพลทหารราบที่ 258 รุกเข้าไปภายในรัศมี 24 กิโลเมตรจากกรุงมอสโก ใกล้พอที่จะเห็นยอดแหลมของเครมลิน[271] อย่างไรก็ดี พวกเขาไม่ได้เตรียมการสำหรับสภาพอันโหดร้ายของฤดูหนาวรัสเซีย และกองทัพโซเวียตผลักดันกองทัพเยอรมันกลับมาเป็นระยะทางกว่า 320 กิโลเมตร

วันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ. 1941 ญี่ปุ่นโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ รัฐฮาวาย สี่วันให้หลัง การประกาศสงครามอย่างเป็นทางการต่อสหรัฐอเมริกาของฮิตเลอร์ ทำให้เยอรมนีเข้าสู่สงครามกับกำลังผสมซึ่งมีประเทศจักรวรรดิใหญ่ที่สุดในโลก คือ จักรวรรดิอังกฤษ ประเทศอุตสาหกรรมและการเงินยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก คือ สหรัฐอเมริกา และประเทศที่มีกองทัพใหญ่ที่สุดในโลก คือ สหภาพโซเวียต[273]

ฮิตเลอร์ประกาศสงครามกับสหรัฐ 11 ธันวาคม 1941

เมื่อฮิมเลอร์เข้าพบฮิตเลอร์ในวันที่ 18 ธันวาคม ค.ศ. 1941 แล้วตั้งคำถาม "จะให้ทำยังไงกับพวกยิวในรัสเซีย?" ฮิตเลอร์ตอบว่า "ก็กำจัดทิ้งเหมือน ๆ กันนั่นแหละ")[274] นักประวัติศาสตร์อิสราเอล เยฮูดา บาวเออร์ (Yehuda Bauer) ได้ออกความเห็นว่า ความเห็นของฮิตเลอร์นี้อาจใกล้เคียงมากที่สุดเท่าที่นักประวัติศาสตร์จะหาคำสั่งสรุปขั้นสุดท้ายจากฮิตเลอร์ในพันธุฆาตที่ดำเนินระหว่างการล้างชาติโดยนาซี[274]

ปลาย ค.ศ. 1942 กองทัพเยอรมันปราชัยในยุทธการเอล อาลาเมนครั้งที่สอง[275] ขัดขวางแผนการของฮิตเลอร์ในการยึดคลองสุเอซและตะวันออกกลาง เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1943 ยุทธการสตาลินกราดสิ้นสุดลงด้วยกองทัพเยอรมันที่หกถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิง ตามด้วยความพ่ายแพ้เด็ดขาดในยุทธการเคิสก์[276] การตัดสินใจทางทหารของฮิตเลอร์เริ่มไม่มั่นคงเพิ่มขึ้น และฐานะทางทหารและเศรษฐกิจของเยอรมนีบั่นทอนลงไปพร้อมกับสุขภาพของฮิตเลอร์ เคอร์ชอว์และคนอื่น ๆ เชื่อว่า ฮิตเลอร์อาจป่วยเป็นโรคพาร์กินสัน[277]

หลังการบุกครองอิตาลีของฝ่ายสัมพันธมิตรใน ค.ศ. 1943 มุสโสลินีถูกปลดโดยปีเอโตร บาโดลโย[278] ผู้ยอมจำนนต่อฝ่ายสัมพันธมิตร ตลอด ค.ศ. 1943 และ 1944 สหภาพโซเวียตค่อย ๆ บีบให้กองทัพของฮิตเลอร์ล่าถอยตามแนวรบด้านตะวันออก วันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ. 1944 กองทัพสัมพันธมิตรตะวันตกขึ้นฝั่งทางตอนเหนือของฝรั่งเศสในหนึ่งในปฏิบัติการสะเทินน้ำสะเทินบกที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ปฏิบัติการโอเวอร์ลอร์ด[279] ด้วยเหตุความเสื่อมถอยของกองทัพเยอรมัน นายทหารหลายคนจึงสรุปว่า ความพ่ายแพ้หลีกเลี่ยงไม่ได้ และการตัดสินใจผิดพลาดหรือการปฏิเสธของฮิตเลอร์จะยืดสงครามออกไปและส่งผลให้ประเทศชาติพังพินาศย่อยยับ[280] ความพยายามลอบสังหารที่ได้รับความสนใจหลายครั้งต่อฮิตเลอร์เกิดขึ้นระหว่างช่วงนี้

ห้องแผนที่ซึ่งถูกทำลายที่รังหมาป่าหลังแผนลับ 20 กรกฎาคม

ระหว่าง ค.ศ. 1939 และ 1945 มีหลายแผนในการลอบสังหารฮิตเลอร์ ซึ่งบางแผนดำเนินไปยังระดับที่สำคัญ[281] แผนที่เป็นที่รู้จักกันมากที่สุดมาจากภายในเยอรมนี และอย่างน้อยบางส่วนมาจากโอกาสที่เพิ่มขึ้นที่เยอรมนีจะแพ้สงคราม[282] ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1944 แผนลับ 20 กรกฎาคม ส่วนหนึ่งของปฏิบัติการวาลคือเรอ เคลาส์ ฟ็อน ชเตาเฟินแบร์ค ติดตั้งระเบิดไว้ในกองบัญชาการแห่งหนึ่งของฮิตเลอร์ โวลฟ์สชันเซอ (รังหมาป่า) ที่รัสเทนบูร์ก ฮิตเลอร์รอดชีวิตอย่างหวุดหวิดเพราะบางคนผลักกระเป๋าเอกสารที่บรรจุระเบิดไปหลังขาโต๊ะประชุมที่หนักอย่างไม่รู้ เมื่อเกิดระเบิดขึ้น โต๊ะสะท้อนแรงระเบิดส่วนมากไปจากฮิตเลอร์ ภายหลัง ฮิตเลอร์สั่งการตอบโต้อย่างโหดร้าย ซึ่งส่งผลให้มีการประหารชีวิตคนกว่า 4,900 คน[283]

ความปราชัยและอสัญกรรม

จนถึงปลาย ค.ศ. 1944 กองทัพแดงได้ขับกองทัพเยอรมันถอยกลับไปยังยุโรปตะวันตก และสัมพันธมิตรตะวันตกกำลังรุกคืบเข้าไปในเยอรมนี หลังได้รับแจ้งความล้มเหลวของการรุกอาร์เดนเนสของเขา ฮิตเลอร์จึงตระหนักว่าเยอรมนีกำลังแพ้สงคราม ความหวังของเขา ซึ่งขึ้นอยู่กับการถึงแก่อสัญกรรมของแฟรงกลิน ดี. โรสเวลต์เมื่อวันที่ 12 เมษายน ค.ศ. 1945 คือ การเจรจาสันติภาพกับอเมริกาและอังกฤษ[284] ฮิตเลอร์สั่งการให้ทำลายโครงสร้างพื้นฐานทางอุตสาหกรรมทั้งหมดของเยอรมนีก่อนที่จะตกอยู่ในมือฝ่ายสัมพันธมิตร[285] โดยทำตามมุมมองของเขาที่ว่าความล้มเหลวทางทหารของเยอรมนีเสียสิทธิ์ในการอยู่รอดเป็นชาติ การดำเนินการแผนการเผาทุกสิ่งทุกอย่างนี้ถูกมอบหมายไปยังรัฐมนตรีอาวุธ อัลแบร์ท ชเปียร์ ผู้ขัดคำสั่งเขาอย่างเงียบ ๆ [285]

วันที่ 20 เมษายน วันเกิดปีที่ 56 ของเขา ฮิตเลอร์เดินทางครั้งสุดท้ายจากฟือเรอร์บุงเคอร์ไปยังพื้นที่กลางแจ้ง ในสวนที่ถูกทำลายของทำเนียบรัฐบาลไรช์ เขามอบกางเขนเหล็กให้ทหารหนุ่มแห่งยุวชนฮิตเลอร์ จนถึงวันที่ 21 เมษายน แนวรบเบลารุสที่ 1 ของเกออร์กี จูคอฟ ได้เจาะผ่านการป้องกันสุดท้ายของกองทัพกลุ่มวิสตูลาของพลเอก กอททาร์ด ไฮน์รีซี ระหว่างยุทธการที่ราบสูงซีโลว์ และรุกเข้าไปยังชานกรุงเบอร์ลิน[286] ในการไม่ยอมรับเกี่ยวกับสถานการณ์อันเลวร้ายเพิ่มขึ้น ฮิตเลอร์ตั้งความหวังของเขาต่อหน่วย อาร์เมอับไทลุง ชไตเนอร์ ("กองทหารชไตเนอร์") ภายใต้การบังคับบัญชาของนายทหารวัฟเฟิน เอ็สเอ็ส พลโท เฟลิคส์ ชไตเนอร์ ฮิตเลอร์สั่งการให้ชไตเนอร์โจมตีปีกด้านเหนือของส่วนที่ยื่นออกมา และกองพลเยอรมันที่เก้าได้รับคำสั่งให้โจมตีไปทางเหนือแบบการโจมตีขนาบ (pincer attack)[287]

ระหว่างการประชุมทหารเมื่อวันที่ 22 เมษายน ฮิตเลอร์ถามถึงการรุกของชไตเนอร์ หลังความเงียบเป็นเวลานาน เขาได้รับบอกเล่าว่า การโจมตีนั้นไม่เคยเกิดขึ้นและพวกรัสเซียได้ตีฝ่าเข้าไปในกรุงเบอร์ลิน ข่าวนี้ทำให้ฮิตเลอร์ขอให้ทุกคนยกเว้นวิลเฮ็ล์ม ไคเทิล, อัลเฟรด โยเดิล, ฮันส์ เครพส์ และวิลเฮ็ล์ม บวร์คดอร์ฟ ออกจากห้อง[288] จากนั้น เขาได้ประณามต่อการทรยศและความไร้ความสามารถของผู้บังคับบัญชาของเขาอย่างเผ็ดร้อน และลงเอยด้วยการประกาศเป็นครั้งแรกว่า เยอรมนีแพ้สงคราม ฮิตเลอร์ประกาศว่าเขาจะอยู่ในกรุงเบอร์ลินจนถึงจุดจบและจากนั้นยิงตัวตาย[289]

เกิบเบิลส์ออกประกาศวันที่ 23 เมษายนกระตุ้นให้พลเมืองเบอร์ลินป้องกันนครอย่างกล้าหาญ[288] วันเดียวกันนั้น เกอริงส่งโทรเลขจากเบอร์ชเทสกาเดนในรัฐบาวาเรีย แย้งว่า ตั้งแต่ฮิตเลอร์ถูกตัดขาดในกรุงเบอร์ลิน ตัวเขาควรเป็นผู้นำเยอรมนีแทน เกอริงได้กำหนดเวลา หลังจากนั้นเขาจะพิจารณาว่าฮิตเลอร์ไร้ความสามารถ[290] ฮิตเลอร์สนองด้วยความโกรธโดยสั่งจับกุมเกอริง และเมื่อเขียนพินัยกรรมเมื่อวันที่ 29 เมษายน เขาถอดเกอริงออกจากตำแหน่งทั้งหมดในรัฐบาล[291][292]

กรุงเบอร์ลินได้มาถูกตัดขาดจากส่วนที่เหลือของเยอรมนีอย่างสิ้นเชิง วันที่ 28 เมษายน ฮิตเลอร์พบว่า ฮิมเลอร์กำลังพยายามเจรจาเงื่อนไขการยอมแพ้ต่อสัมพันธมิตรตะวันตก เขาจึงสั่งจับกุมฮิมเลอร์และสั่งยิงแฮร์มันน์ เฟเกิลไอน์ (ผู้แทนเอ็สเอ็สของฮิมเลอร์ที่กองบัญชาการของฮิตเลอร์ในกรุงเบอร์ลิน)[293]

หลังเที่ยงคืนวันที่ 29 เมษายน ฮิตเลอร์สมรสกับเอฟา เบราน์ในพิธีตามกฎหมายเล็ก ๆ ในห้องแผนที่ภายในฟือเรอร์บุงเกอร์ หลังทานอาหารเช้างานแต่งที่เรียบง่ายกับภรรยาใหม่ของเขา จากนั้น เขานำเลขานุการเทราเดิล ยุงเงอ (Traudl Junge) ไปอีกห้องหนึ่งและบอกให้เขียนพินัยกรรมฉบับหลังสุดของเขา[294] เหตุการณ์ดังกล่าวมีฮันส์ เครพส์, วิลเฮ็ล์ม บวร์คดอร์ฟ, โยเซ็ฟ เกิบเบิลส์ และมาร์ทีน บอร์มันเป็นพยานและผู้ลงนามเอกสาร[295] ในช่วงบ่าย ฮิตเลอร์ทราบข่าวการประหารชีวิตผู้เผด็จการชาวอิตาลี เบนิโต มุสโสลินี ซึ่งอาจเพิ่มความตั้งใจที่จะหนีการจับตัว[296]

หน้าแรกของหนังสือพิมพ์ของทัพสหรัฐ สตาส์แอนด์สไตรพ์ วันที่ 2 พฤษภาคม ค.ศ. 1945

วันที่ 30 เมษายน ค.ศ. 1945 หลังการสู้รบถนนต่อถนนอย่างเข้มข้น เมื่อกองทัพโซเวียตอยู่ในระยะหนึ่งหรือสองช่วงตึกจากทำเนียบรัฐบาลไรช์ ฮิตเลอร์และเบราน์ทำอัตวินิบาตกรรม เบราน์กัดแคปซูลไซยาไนด์[297] และฮิตเลอร์ยิงตัวตายด้วยปืนพกวัลเทอร์ เพเพคา (Walther PPK) 7.65 มม. ของเขา[298] ร่างไร้วิญญาณของฮิตเลอร์และเอฟา เบราน์ถูกนำขึ้นบันไดและผ่านทางออกฉุกเฉินของบังเกอร์ไปยังสวนที่ถูกระเบิดหลังทำเนียบรัฐบาลไรช์ ที่ซึ่งทั้งสองร่างถูกวางไว้ในหลุมระเบิด[299] ราดด้วยน้ำมัน และจุดไฟ[300] ขณะที่กองทัพแดงยิงปืนใหญ่ถล่มต่อเนื่อง[301]

เบอร์ลินยอมจำนนเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม บันทึกในจดหมายเหตุโซเวียต ซึ่งได้มาหลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย แสดงให้เห็นว่า ศพของฮิตเลอร์ เบราน์ โจเซฟและมักดา เกิบเบิลส์ ลูก ๆ เกิบเบิลส์ทั้งหกคน พลเอก ฮันส์ เครพส์ และสุนัขของฮิตเลอร์ ถูกฝังและขุดขึ้นมาหลายครั้ง[302] จากนั้นโซเวียตจัดการเผา บดและโปรยอัฐิที่แม่น้ำบีเดริทซ์ สาขาหนึ่งของแม่น้ำเอลเบ

แหล่งที่มา

WikiPedia: อดอล์ฟ_ฮิตเลอร์ http://www.findarticles.com/p/articles/mi_m0FQP/is... http://www.foxnews.com/story/0,2933,100474,00.html http://www.nytimes.com/2002/01/13/weekinreview/wor... http://www.theglobeandmail.com/news/arts/books/hit... http://www.time.com/time/magazine/article/0,9171,7... http://www.time.com/time/magazine/article/0,9171,7... http://www.time.com/time/magazine/article/0,9171,7... http://www.glasnost.de/hist/ns/eingabe.html http://www.ns-archiv.de/personen/hitler/oesterreic... http://www.potsdam.de/cms/beitrag/10000945/33981/