การเถลิงอำนาจ ของ อดอล์ฟ_ฮิตเลอร์

ผลการเลือกตั้งพรรคนาซี[127]
วันที่คะแนนเสียงทั้งหมดร้อยละคะแนนเสียงที่นั่งในไรช์สทาคหมายเหตุ
พฤษภาคม ค.ศ. 19241,918,3006.532ฮิตเลอร์อยู่ในเรือนจำ
ธันวาคม ค.ศ. 1924907,3003.014ฮิตเลอร์ได้รับการปล่อยตัว
พฤษภาคม ค.ศ. 1928810,1002.612 
กันยายน ค.ศ. 19306,409,60018.3107หลังวิกฤตการณ์การเงิน
กรกฎาคม ค.ศ. 193213,745,00037.3230หลังฮิตเลอร์ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี
พฤศจิกายน ค.ศ. 193211,737,00033.1196 
มีนาคม ค.ศ. 193317,277,18043.9288ระหว่างฮิตเลอร์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

รัฐบาลบรือนิง

ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในเยอรมนีเป็นโอกาสทางการเมืองสำหรับฮิตเลอร์ ชาวเยอรมันลังเลต่อสาธารณรัฐรัฐสภา ซึ่งเผชิญกับปัญหาคุกคามสำคัญจากทั้งพวกขวาและซ้ายจัดสุดโต่ง พรรคการเมืองสายกลางไม่สามารถหยุดยั้งกระแสแห่งลัทธิสุดโต่งเพิ่มขึ้นทุกที และการลงประชามติเยอรมนี ค.ศ. 1929 ช่วยยกระดับอุดมการณ์นาซี[128] การเลือกตั้งเมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 1930 ส่งผลให้รัฐบาลผสมชุดใหญ่แตกหักและแทนที่โดยคณะรัฐมนตรีข้างน้อย นายกรัฐมนตรีไฮน์ริช บรือนิงแห่งพรรคกลาง ผู้นำคณะรัฐมนตรีชุดนั้น ปกครองโดยกฤษฎีกาฉุกเฉินจากประธานาธิบดี เพาล์ ฟ็อน ฮินเดินบวร์ค การปกครองโดยกฤษฎีกาจะกลายมาเป็นบรรทัดฐานใหม่และปูทางแก่รัฐบาลแบบอำนาจนิยม[129]พรรคนาซีเติบโตจากพรรคที่ไม่มีใครรู้จักและได้คะแนนเสียง 18.3% และ 107 ที่นั่งในรัฐสภาในการเลือกตั้ง ค.ศ. 1930 กลายมาเป็นพรรคใหญ่ที่สุดอันดับสองในสภา[130]

ฮิตเลอร์ปรากฏกายครั้งสำคัญในการพิจารณาคดีของนายทหารไรชส์แวร์สองนาย ร้อยตรีริชาร์ด เชรินแกร์ และฮันส์ ลูดิน ในฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. 1930 ทั้งสองถูกตั้งข้อหาเป็นสมาชิกพรรคนาซีซึ่งขณะนั้น กฎหมายไม่อนุญาตให้กำลังพลไรชส์แวร์เป็นสมาชิก[131] อัยการให้เหตุผลว่าพรรคนาซีเป็นพรรคสุดโต่ง ทนายฝ่ายจำเลย ฮันส์ ฟรังค์จึงเรียกฮิตเลอร์มาให้การเป็นพยานในศาล[132] วันที่ 25 กันยายน ค.ศ. 1930 ฮิตเลอร์ ให้การว่า พรรคของเขาจะแสวงหาอำนาจทางการเมืองเฉพาะผ่านการเลือกตั้งตามวิถีประชาธิปไตยเท่านั้น[133] การให้การนั้นทำให้เขาได้รับการสนับสนุนมากในหมู่นายทหารในกองทัพ[134]

มาตรการรัดเข็มขัดของบรือนิงทำให้เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นเล็กน้อยและไม่เป็นที่นิยมอย่างยิ่ง[135] ฮิตเลอร์ฉวยความอ่อนแอนี้โดยส่งข้อความทางการเมืองของเขาเจาะจงไปยังประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อช่วงคริสต์ทศวรรษ 1920 และภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ เช่น ชาวนา ทหารผ่านศึก และชนชั้นกลาง[136]

ฮิตเลอร์สละสัญชาติออสเตรียของเขาอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 7 เมษายน ค.ศ. 1925 แต่ในขณะนั้น เขายังไม่ได้สัญชาติเยอรมัน เป็นเวลาเกือบเจ็ดปีที่ฮิตเลอร์ไร้สัญชาติ ไม่สามารถเข้าชิงตำแหน่งทางการเมืองได้ และเสี่ยงต่อการถูกเนรเทศ[137] วันที่ 25 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1932 รัฐมนตรีมหาดไทยแห่งเบราน์ชไวก์ ผู้เป็นสมาชิกพรรคนาซีแต่งตั้งฮิตเลอร์เป็นผู้บริหารตัวแทนของรัฐในไรช์สรัท (สภาล่าง) ในเบอร์ลิน ทำให้ฮิตเลอร์เป็นพลเมืองเบราน์ชไวก์[138] และจึงเป็นพลเมืองเยอรมันอีกทอดหนึ่งเช่นกัน[139]

ค.ศ. 1932 ฮิตเลอร์ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีแข่งกับฟ็อน ฮินเดินบวร์ค เขาได้รับการสนับสนุนจากนักอุตสาหกรรมที่ทรงอำนาจที่สุดของเยอรมนีหลายคน หลังสุนทรพจน์วันที่ 27 มกราคม ค.ศ. 1932 ต่อสภาอุตสาหกรรมในดึสเซลดอร์ฟ[140] อย่างไรก็ดี ฮินเดินบวร์คได้รับการสนับสนุนจากพรรคชาตินิยม กษัตริย์นิยม คาทอลิกและสาธารณรัฐนิยม ตลอดจนสังคมประชาธิปไตยบางพรรค ฮิตเลอร์ใช้คำขวัญระหว่างหาเสียงว่า "ฮิตเลอร์อือแบร์ดอยท์ชลันด์" (ฮิตเลอร์เหนือเยอรมนี) โดยอ้างถึงทั้งความทะเยอทะยานทางการเมืองและการหาเสียงโดยเครื่องบินของเขา[141] ฮิตเลอร์มาเป็นอันดับสองในการเลือกตั้งทั้งสองรอบ โดยได้เสียงมากกว่า 35% ในการเลือกตั้งครั้งสุดท้าย แม้จะพ่ายต่อฮินเดินบวร์ค การเลือกตั้งครั้งนี้ได้ทำให้ฮิตเลอร์เป็นกำลังสำคัญในการเมืองเยอรมนี[142]

การได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี

การขาดรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพทำให้นักการเมืองทรงอิทธิพลสองคน ฟรันทซ์ ฟ็อน พาเพิน และอัลเฟรด ฮูเกนแบร์ก ตลอดจนนักอุตสาหกรรมและนักธุรกิจหลายคน เขียนจดหมายถึงฮินเดินบวร์ค ผู้ลงนามกระตุ้นให้ฮินเดินบวร์คแต่งตั้งฮิตเลอร์เป็นหัวหน้ารัฐบาล "ซึ่งเป็นอิสระจากพรรคการเมืองในรัฐสภา" ซึ่งอาจแปรเปลี่ยนเป็นขบวนการซึ่งอาจ "สร้างความยินดีแก่ประชากรหลายล้านคน"[143][144]

ฮิตเลอร์ที่หน้าต่างของทำเนียบรัฐบาลไรช์ ขณะได้รับการปรบมือต้อนรับจากประชาชนในเย็นวันที่เขาสาบานตนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเยอรมนี

ฮินเดินบวร์คตกลงแต่งตั้งฮิตเลอร์เป็นนายกรัฐมนตรีอย่างไม่เต็มใจ หลังการเลือกตั้งเป็นการทั่วไปอีกสองครั้ง คือ ในเดือนกรกฎาคมและพฤศจิกายน ค.ศ. 1932 ไม่มีพรรคใดจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากได้ ฮิตเลอร์จะเป็นหัวหน้ารัฐบาลผสมช่วงสั้น ๆ จัดตั้งโดยพรรคนาซีและพรรคประชาชนแห่งชาติเยอรมัน (DNVP) ของฮูเกนแบร์ก วันที่ 30 มกราคม ค.ศ. 1933 คณะรัฐมนตรีชุดใหม่สาบานตนเข้ารับตำแหน่งระหว่างพิธีการที่กระชับและเรียบง่ายในสำนักงานของฮินเดินบวร์คพรรคนาซีนั่งเก้าอี้สามจากสิบเอ็ดตำแหน่ง ฮิตเลอร์เป็นนายกรัฐมนตรี แฮร์มัน เกอริงเป็นรัฐมนตรีลอย และวิลเฮล์ม ฟริคเป็นรัฐมนตรีมหาดไทย[145]

เหตุการณ์เพลิงไหม้ไรชส์ทาค

ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ฮิตเลอร์ดำเนินการต่อต้านความพยายามของคู่แข่งพรรคพรรคนาซีในการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมาก เพราะการคุมเชิงทางการเมือง ฮิตเลอร์จึงขอประธานาธิบดีฮินเดินบวร์คให้ยุบสภาไรชส์ทาคอีกครั้ง และกำหนดการเลือกตั้งไว้ต้นเดือนมีนาคม วันที่ 27 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1933 อาคารไรชส์ทาคถูกวางเพลิง เกอริงกล่าวโทษว่าเป็นแผนการของคอมมิวนิสต์ เพราะมารีนึส ฟัน เดอร์ลึบเบอ ถูกพบตัวในอาคารที่เพลิงกำลังลุกโหมอยู่นั้น[146] ด้วยการกระตุ้นของฮิตเลอร์ ฮินเดินบวร์คตอบสนองโดยออกกฤษฎีกาเพลิงไหม้ไรชส์ทาค 28 กุมภาพันธ์ ซึ่งยับยั้งสิทธิขั้นพื้นฐาน รวมทั้งหมายสั่งให้ส่งตัวผู้ถูกคุมขังมาศาล (habeas corpus) กิจกรรมของพรรคคอมมิวนิสต์เยอรมันถูกปราบปราม และสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ราว 4,000 คนถูกจับกุม[147] นักวิจัย รวมทั้งวิลเลียม แอล. ชิเรอร์ และอลัน บูลล็อก เห็นว่าพรรคนาซีเองที่เป็นผู้รับผิดชอบต่อการวางเพลิงนั้น[148][149]

นอกเหนือไปจากการรณรงค์ทางการเมืองแล้วพรรคนาซียังมีส่วนกับความรุนแรงกึ่งทหารและการขยายการโฆษณาชวนเชื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ในช่วงก่อนการเลือกตั้ง ในวันเลือกตั้ง 6 มีนาคม ค.ศ. 1933 ส่วนแบ่งคะแนนเสียงของพรรคนาซีเพิ่มขึ้นเป็น 43.9% และพรรคได้รับที่นั่งมากที่สุดในรัฐสภา อย่างไรก็ดี พรรคของฮิตเลอร์ไม่สามารถครองเสียงข้างมากอย่างสมบูรณ์ได้ จำต้องร่วมรัฐบาลกับ DNVP อีกหน[150]

วันพ็อทซ์ดัมและรัฐบัญญัติมอบอำนาจ

เพาล์ ฟ็อน ฮินเดินบวร์ค กับอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ 21 มีนาคม ค.ศ. 1933

วันที่ 21 มีนาคม ค.ศ. 1933 มีการตั้งไรชส์ทาคใหม่ขึ้นในพิธีเปิดที่โบสถ์แกริซันในพ็อทซ์ดัม "วันพ็อทซ์ดัม" นี้จัดขึ้นเพื่อแสดงความสามัคคีระหว่างขบวนการนาซีกับอภิชนและทหารปรัสเซียเก่า ฮิตเลอร์ปรากฏกายในชุดมอร์นิงโค้ต ซึ่งเป็นชุดพิธีการกลางวัน และทักทายประธานาธิบดีฟ็อน ฮินเดินบวร์คอย่างถ่อมตน[151][152]

เพื่อให้ได้มาซึ่งการควบคุมทางการเมืองเต็มที่โดยไม่ต้องกุมเสียงข้างมากเด็ดขาดในรัฐสภา รัฐบาลของฮิตเลอร์นำแอร์แมคทิกุงสเกเซตซ์ (รัฐบัญญัติมอบอำนาจ) ขึ้นออกเสียงในไรชส์ทาคที่เพิ่งเลือกตั้งใหม่ รัฐบัญญัติดังกล่าวมอบอำนาจนิติบัญญัติเต็มให้แก่คณะรัฐมนตรีของฮิตเลอร์เป็นเวลาสี่ปีและอนุญาตให้เปลี่ยนวิธีปฏิบัติจากรัฐธรรมนูญได้ (โดยมีข้อยกเว้นบางประการ)[153] ร่างรัฐบัญญัติต้องการเสียงข้างมากสองในสามจึงผ่าน พรรคนาซีใช้บทบัญญัติแห่งกฤษฎีกาเพลิงไหม้ไรชส์ทาคกันมิให้ผู้แทนสังคมประชาธิปไตยหลายคนเข้าประชุม ขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์ถูกยุบไปก่อนแล้ว[154]

วันที่ 23 มีนาคม ไรชส์ทาคประชุมที่โรงอุปรากรครอลล์ ภายใต้สถานการณ์วุ่นวาย ชายเอ็สอาเป็นแถวปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยภายในอาคาร ขณะที่คนกลุ่มใหญ่ด้านนอกคัดค้านกฎหมายที่เสนอตะโกนคำขวัญและคุกคามสมาชิกรัฐสภาที่กำลังมาถึง[155] ฐานะของพรรคกลาง พรรคใหญ่ที่สุดอันดับสามในไรชส์ทาค กลายมาเป็นเด็ดขาด หลังฮิตเลอร์ให้คำมั่นด้วยวาจาแก่ ผู้นำพรรค ลุดวิก คาส ว่า ประธานาธิบดีฟ็อน ฮินเดินบวร์คจะยังคงมีอำนาจยับยั้ง (veto) คาสจึงประกาศว่า พรรคจะสนับสนุนรัฐบัญญัติมอบอำนาจ ท้ายสุด รัฐบัญญัติมอบอำนาจผ่านด้วยเสียง 441-84 โดยมีทุกพรรค ยกเว้นพรรคสังคมประชาธิปไตย เห็นชอบ รัฐบัญญัติมอบอำนาจ รัฐบัญญัติมอบอำนาจ ร่วมกับกฤษฎีกาเพลิงไหม้ไรชส์ทาค เปลี่ยนรัฐบาลของฮิตเลอร์เป็นเผด็ตการตามกฎหมายโดยพฤตินัย[156]

การปลดวิสัยที่เหลือ

วีดีโอฮิตเลอร์ปราศรัยเกี่ยวกับชาวยิว 10 พฤศจิกายน 1933

เมื่อมีอำนาจควบคุมเต็มเหนืออำนาจนิติบัญญัติและบริหารแล้ว ฮิตเลอร์และพันธมิตรทางการเมืองของเขาเริ่มการปราบคู่แข่งการเมืองที่เหลืออย่างเป็นระบบ พรรคสังคมประชาธิปไตยถูกยุบตามพรรคคอมมิวนิสต์และสินทรัพย์ทั้งหมดถูกยึด[157] ขณะที่ตัวแทนสหภาพแรงงานจำนวนมากอยู่ในกรุงเบอร์ลินเพื่อร่วมกิจกรรมเมย์เดย์ พลรบวายุของเอ็สเอได้ทำลายสำนักงานสหภาพแรงงานทั่วประเทศ วันที่ 2 พฤษภาคม ค.ศ. 1933 สหภาพแรงงานทั้งหมดถูกบีบให้ยุบและผู้นำถูกจับกุม บางคนถูกส่งไปยังค่ายกักกัน[158] องค์การสหภาพใหม่ถูกจัดตั้งขึ้น โดยเป็นตัวแทนของคนงาน นายจ้างและเจ้าของบริษัททุกคนเป็นกลุ่มเดียว สหภาพแรงงานใหม่นี้สะท้อนแนวคิดชาติสังคมนิยมในวิญญาณแห่ง "โฟล์คสเกไมน์ชัฟท์" (ชุมชนเชื้อชาติเยอรมัน) ของฮิตเลอร์[159]

เมื่อถึงปลายเดือนมิถุนายน พรรคอื่น ๆ ก็ได้ถูกยุบไปจนหมด และด้วยความช่วยเหลือของเอ็สเอ ฮิตเลอร์กดดันให้พรรครัฐบาลผสมในนามของเขา ฮูเกนแบร์ก ลาออก วันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1933 พรรคนาซีของฮิตเลอร์ได้รับการประกาศให้เป็นพรรคการเมืองชอบด้วยกฎหมายพรรคเดียวในเยอรมนี[159][157] ข้อเรียกร้องของเอ็สเอให้มีอำนาจทางการเมืองและการทหารเพิ่มขึ้นสร้างความกังวลอย่างมากในหมู่ผู้นำทางทหาร อุตสาหกรรมและการเมือง ฮิตเลอร์สนองโดยกวาดล้างผู้นำเอ็สเอทั้งหมด ในเหตุการณ์ซึ่งต่อมาเรียกว่า "คืนมีดยาว" ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายนถึง 2 กรกฎาคม ค.ศ. 1934[160] ฮิตเลอร์ตั้งเป้าหมายที่แอ็นสท์ เริห์ม และคู่แข่งการเมืองคนอื่น (เช่น เกรกอร์ ชตรัสเซอร์ และอดีตนายกรัฐมนตรี ควร์ท ฟ็อน ชไลเชอร์) เริห์มและผู้นำเอ็สเอคนอื่น ๆ ร่วมกับคู่แข่งการเมืองของฮิตเลอร์จำนวนหนึ่ง ถูกล้อม จับกุม และยิงทิ้ง[161] ขณะที่ประชาคมระหว่างประเทศและชาวเยอรมันบางคนตระหนกต่อการฆาตกรรม ชาวเยอรมันหลายคนมองว่าฮิตเลอร์กำลังฟื้นฟูระเบียบ[162]

วันที่ 2 สิงหาคม ค.ศ. 1934 ประธานาธิบดีฮินเดินบวร์คถึงแก่อสัญกรรม หนึ่งวันก่อนหน้านั้น คณะรัฐมนตรีได้ผ่านกฎหมายให้มีผลใช้บังคับเมื่อฮินเดินบวร์คเสียชีวิต ซึ่งล้มล้างตำแหน่งประธานาธิบดีและรวมอำนาจของประธานาธิบดีกับนายกรัฐมนตรี ฮิตเลอร์จึงกลายมาเป็นทั้งประมุขแห่งรัฐและประมุขรัฐบาล มีชื่อทางการว่า ฟือเรอร์อุนด์ไรชส์คันซเลอร์ (ผู้นำและนายกรัฐมนตรี)[163] กฎหมายนี้แท้จริงแล้วละเมิดรัฐบัญญัติมอบอำนาจ ขณะที่รัฐบัญญัติมอบอำนาจจะให้ฮิตเลอร์เปลี่ยนวิธีปฏิบัติจากรัฐธรรมนูญได้ แต่ห้ามเขาชัดเจนมิให้ผ่านกฎหมายใด ๆ ที่ขัดกับตำแหน่งประธานาธิบดี ใน ค.ศ. 1932 มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ประธานศาลยุติธรรมสูงสุด มิใช่นายกรัฐมนตรี รักษาการแทนประธานาธิบดีระหว่างที่มีการเลือกตั้งใหม่[164] ด้วยกฎหมายนี้ ฮิตเลอร์ได้ปลดทางแก้สุดท้ายตามกฎหมายที่จะถอดเขาออกจากตำแหน่ง

ในฐานะประมุขแห่งรัฐ ฮิตเลอร์จึงเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดด้วย การมอบสัตย์ปฏิญาณของทหารและกะลาสีตามประเพณีถูกเปลี่ยนเป็นการยืนยันความภักดีต่อฮิตเลอร์โดยตรง มากกว่าตำแหน่งผู้บัญชาการสูงสุด[165] วันที่ 19 สิงหาคม การรวมตำแหน่งประธานาธิบดีกับนายกรัฐมนตรีได้รับการอนุมัติโดยการลงประชามติ ซึ่งได้รับเสียงสนับสนุน 90% ของผู้ออกมาใช้สิทธิ[166]

มันอาจจะถูกมองเป็นเรื่องเหลวไหล ถ้าผมจะบอกคุณว่าขบวนการชาติสังคมนิยม (นาซี) จะคงอยู่ต่อไปอีกเป็นพันปี! ... อย่าลืมพวกที่เคยหัวเราะใส่ผมเมื่อ 15 ปีที่แล้วตอนผมบอกว่าวันหนึ่งผมจะปกครองเยอรมันสิ ลองให้พวกนั้นมาหัวเราะตอนนี้คงไม่ต่างอะไรจากพวกโง่ ตอนผมประกาศว่าผมจะอยู่ในอำนาจ!

– ฮิตเลอร์ให้สัมภาษณ์ต่อผู้สื่อข่าว, มิถุนายน 1934[167]

ต้น ค.ศ. 1938 ฮิตเลอร์บีบให้รัฐมนตรีว่าการสงคราม จอมพล แวร์เนอร์ ฟ็อน บล็อมแบร์ค ลาออก เมื่อสำนวนตำรวจพบว่า ภรรยาใหม่ของบล็อมแบร์คเคยมีประวัติเป็นโสเภณี[168][169] ฮิตเลอร์ถอดผู้บัญชาการทหารบก พลเอก แวร์แนร์ ฟอน ฟริทช์ หลังหน่วยเอ็สเอ็สกล่าวหาว่าเขามีส่วนในความสัมพันธ์ร่วมเพศ[170] นายทหารทั้งสองเริ่มดวงตกเมื่อพวกเขาคัดค้านคำสั่งของฮิตเลอร์ที่สั่งให้ทั้งสองเตรียมกองทัพบกให้พร้อมเข้าสู่สงครามภายในปี ค.ศ. 1938[171] ฮิตเลอร์เรียกเหตุการณ์ทั้งสองนี้ว่า "เหตุอื้อฉาวบล็อมแบร์ค-ฟริทซ์" และใช้มันเป็นข้ออ้างเพื่อควบรวมสายบัญชาการกองทัพ ฮิตเลอร์ตั้งตัวเองเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดแทนบล็อมแบร์ค ทำให้เขาสามารถบังคับบัญชากองทัพได้โดยตรง เขาเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการสงครามกับโอเบอร์คอมมันโดแดร์เวร์มัคท์ (กองบัญชาการทหารสูงสุด หรือ OKW) นำโดย พลเอก วิลเฮ็ล์ม ไคเทิล และในวันเดียวกัน นายพลสิบหกนายถูกถอดจากตำแหน่ง และ 44 นายถูกย้าย ทั้งหมดถูกสงสัยว่าไม่ภักดีต่อนาซีเพียงพอ[172] เมื่อถึงเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1938 นายพลอื่นอีกสิบสองนายถูกปลด[173]

หลังได้เสริมสร้างอำนาจการเมืองของเขาแล้ว ฮิตเลอร์ปราบปรามหรือกำจัดคู่แข่งของเขาด้วยกระบวนการชื่อ ไกลช์ชัลทุง ("จัดแถว") เขาพยายามหาการสนับสนุนจากสาธารณะเพิ่มเติมโดยสัญญาจะกลับผลของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและสนธิสัญญาแวร์ซาย

แหล่งที่มา

WikiPedia: อดอล์ฟ_ฮิตเลอร์ http://www.findarticles.com/p/articles/mi_m0FQP/is... http://www.foxnews.com/story/0,2933,100474,00.html http://www.nytimes.com/2002/01/13/weekinreview/wor... http://www.theglobeandmail.com/news/arts/books/hit... http://www.time.com/time/magazine/article/0,9171,7... http://www.time.com/time/magazine/article/0,9171,7... http://www.time.com/time/magazine/article/0,9171,7... http://www.glasnost.de/hist/ns/eingabe.html http://www.ns-archiv.de/personen/hitler/oesterreic... http://www.potsdam.de/cms/beitrag/10000945/33981/