หลักการเบื้องต้น ของ อักษรเทวนาครี

เช่นเดียวกับตระกูลอักษรพราหมีอื่นๆ หลักการเบื้องต้นของอักษรเทวนาครีคือ อักษรแต่ละตัวใช้แทนเสียงพยัญชนะซึ่งมีเสียงสระ a (อะ) [ə] อยู่ในตัว [1] ตัวอย่างเช่นอักษร क อ่านว่า ka (กะ) อักษรสองตัว कन อ่านว่า kana (กะนะ) อักษรสามตัว कनय อ่านว่า kanaya (กะนะยะ) เป็นต้น ส่วนเสียงสระอื่นๆ หรือการตัดเสียงสระทิ้ง จะต้องมีการดัดแปลงตัวพยัญชนะของมันเองดังนี้

  • กลุ่มพยัญชนะ (consonant cluster) จะถูกเขียนเป็นอักษรรวม (ligature) เรียกว่า saṃyuktākṣara (สังยุกตากษะระ) ตัวอย่างเช่นอักษรสามตัว कनय kanaya (กะนะยะ) สามารถรวมได้เป็น क्नय knaya (กนะยะ), कन्य kanya (กะนยะ/กันยะ), หรือ क्न्य knya (กนยะ)
  • เสียงสระอื่นที่นอกเหนือจากเสียง a (อะ) จะเขียนเครื่องหมายเสริมลงบนพยัญชนะ เช่นจาก क ka (กะ) เราจะได้ के ke (เก), कु ku (กุ), की kī (กี), का kā (กา) เป็นต้น
  • สำหรับสระที่ไม่มีพยัญชนะ ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อสระนั้นอยู่ต้นคำ หรืออยู่ถัดจากสระอื่นอย่างใดอย่างหนึ่ง จะมีอักษรตัวเต็มที่ใช้แทนเสียงสระนั้นเรียกว่าสระลอย ตัวอย่างเช่น ในขณะที่เสียงสระ ū (อู) เขียนขึ้นโดยการเติม ू ลงไปทำให้กลายเป็น कू kū (กู) เสียงสระนี้ก็ยังมีอักษรของมันคือ ऊ ใน ऊक ūka (อูกะ) และ कऊ kaū (กะอู) อย่างไรก็ตามภาษาปัจจุบันจำนวนหนึ่งมีการใช้อักษรตัวเต็มของ अ a (อะ) มาเติมเครื่องหมายโดยปกติวิสัย กลายเป็น अूक ūka (อูกะ) และ कअू kaū (กะอู) ซึ่งคอมพิวเตอร์บางระบบไม่รองรับ
  • พยัญชนะสะกดจะมีการกำกับเครื่องหมายนี้ ્ เรียกว่า virāma (วิรามะ) ในภาษาสันสกฤต หรือ halanta (หะลันตะ) ในภาษาฮินดี ไว้ที่ตัวอักษร ซึ่งจะทำให้เสียงสระ a (อะ) ถูกตัดออกไป เช่นจาก क्नय knaya (กนะยะ) เปลี่ยนเป็น क्नय् knay (กนัย) นอกจากนี้ halanta ถูกใช้เป็นการกำหนดกลุ่มพยัญชนะในข้อแรก ถ้าหากการพิมพ์ไม่สามารถกระทำได้