สถานที่น่าสนใจ ของ อัคระ

ทัชมาฮาล มองจากป้อมอัคระ

ทัชมาฮาล

ดูบทความหลักที่: ทัชมาฮาล

ทัชมาฮาล นั้นถือเป็นหนึ่งในสิ่งปลูกสร้างที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก เป็นอนุสรณ์สถานแห่งความรักของสมเด็จพระจักรพรรดิชาห์ชะฮันที่มีแก่พระมเหสีของพระองค์ คือ พระนางมุมตาซ มหัล ถือเป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลก และหนึ่งในโบราณสถานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก จากทั้งสามแห่งในเมืองอัคระ

หลุมพระศพของสมเด็จพระจักรพรรดิชาห์ชะฮัน คู่เคียงกับพระนางมุมตาซ มหัล

สร้างเสร็จในปีค.ศ. 1653 โดยสมเด็จพระจักรพรรดิชาห์ชะฮันแห่งราชวงศ์โมกุล เพื่อเป็นที่พักพิงหลังสุดท้ายของพระมเหสีของพระองค์ สร้างจากหินอ่อนสีขาว จึงถือได้ว่าเป็นหนึ่งในอนุสรณ์สถานที่สวยงามและมีเสน่ห์ที่สุดในประเทศอินเดีย โดยก่อสร้างได้อย่างสมมาตร ซึ่งกินเวลาถึง 22 ปี (ปีค.ศ. 1630 - ค.ศ. 1652) ด้วยแรงงานกว่า 20,000 คน เพื่อสร้างสรรค์สถานที่แห่งนี้ท่ามกลางภูมิทัศน์ที่ถูกรังสรรค์อย่างสวยงาม โดยสถาปนิกชาวเปอร์เซีย อุซถัด อิซา (Ustād 'Īsā) บนริมแม่น้ำยมนา ซึ่งสามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าจากบริเวณป้อมอัคระ ที่ซึ่งสมเด็จพระจักรพรรดิชาห์ชะฮันทรงใช้เวลา 8 ปีสุดท้ายของพระชนม์ชีพเฝ้ามองทัชมาฮาล จากการถูกกักขังโดยพระโอรสของพระองค์เอง

ทัชมาฮาลนี้ยังถือเป็นผลงานชิ้นเอกแห่งความสมมาตร และยังมีประโยคจากคัมภีร์อัลกุรอานสลักอยู่โดยรอบ และบริเวณยอดของประตู ประกอบด้วยโดมขนาดเล็กถึง 22 แห่ง ซึ่งแสดงถึงจำนวนปีที่ใช้สร้างอนุสรณ์สถานแห่งนี้ บริเวณฐานของอาคารหลักเป็นหินอ่อนสีขาว ซึ่งซ้อนอยู่บนหินทรายซึ่งเป็นฐานชั้นล่างสุด โดมหลังที่ใหญ่ที่สุดวัดเส้นผ่านศูนย์กลางได้ถึง 60 ฟุต (18 เมตร) ซึ่งภายใต้นั้นเป็นบริเวณที่ฝังพระศพของพระนางมุมตาซ มหัล ซึ่งต่อมาได้มีการสร้างหลุมพระศพของสมเด็จพระจักรพรรดิชาห์ชะฮันเคียงข้างกัน โดยสมเด็จพระจักพรรดิออรังเซ็บ (Aurangzeb) ซึ่งเป็นบุตรของพระองค์ ภายในอาคารนั้นตกแต่งด้วยงานฝีมืออันวิจิตรฝังอัญมณีต่างๆ

วิวแบบพาโนรามาของทัชมาฮาล

ป้อมอัคระ

ดูบทความหลักที่: ป้อมอัคระ
ประตูอามาร์ สิงห์ (Amar Singh Gate),
หนึ่งในสองประตูใหญ่ของป้อมอัคระ


ป้อมอัคระ (บางครั้งเรียก ป้อมแดง) สร้างโดยสมเด็จพระจักรพรรดิอัคบาร์ (Akbar) แห่งราชวงศ์โมกุลในปีค.ศ. 1565 และเป็นอีกสถานที่หนึ่งซึ่งถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของอัคระ หลักศิลาจารึกที่พบบริเวณประตูทางเข้าระบุว่าป้อมแห่งนี้ถูกสร้างก่อนปีค.ศ. 1000 และต่อมาได้ถูกบูรณะโดยสมเด็จพระจักรพรรดิอัคบาร์ ป้อมที่ทำจากหินทรายสีแดงแห่งนี้ต่อมาได้ถูกเปลี่ยนเป็นพระราชวังในรัชสมัยของสมเด็จพระจักรพรรดิชาห์ชะฮัน และถูกผสมผสานด้วยองค์ประกอบของหินอ่อนและการตกแต่งแบบฝังพลอย ที่เรียกว่า "ปิเอตรา ดูร่า" (pietra dura) อาคารหลักๆภายในป้อมอัคระ ได้แก่ มัสยิดไข่มุก (Moti Masjid) ท้องพระโรง (Dīwān-e-'Ām and Dīwān-e-Khās) พระราชวังพระเจ้าชะฮันคีร์ (Jahangir Palace) ตำหนักมูซัมมัน เบิร์จ (Musamman Burj) เป็นต้น

โครงสร้างภายนอกเป็นป้อมปราการอันหนาแน่น ซึ่งทำหน้าที่ปิดบังความงามดุจสวรรค์ที่อยู่ภายใน ป้อมปราการโดยรอบนั้นถูกสร้างในรูปเสี้ยวพระจันทร์ และแบนเรียบขึ้นทางฝั่งทิศตะวันออกซึ่งเป็นกำแพงตรงและยาวขนาบแม่น้ำ มีความยาวเป็นระยะทางรวมทั้งสิ้นถึง 2.4 กิโลเมตร (1.5 ไมล์) และมีกำแพงขนาดใหญ่ซ้อนถึงสองชั้น และมีมุขป้อมยื่นออกมาเป็นระยะๆตลอดความยาว และมีคูเมืองขนาดความกว้าง 9 เมตร (30 ฟุต) และลึกถึง 10 เมตร (33 ฟุต) ล้อมรอบกำแพงชั้นนอกอีกชั้นหนึ่ง

สมเด็จพระจักรพรรดิศิวจี (Shīvajī) แห่งจักรวรรดิมราฐา (Maratha Empire) เคยเสด็จมาภายในป้อมแห่งนี้ที่อาคารท้องพระโรง (Dīwān-i-Khās) เพื่อลงพระนามในสนธิสัญญาปูรันดาร์ (Treaty of Purandar) กับสมเด็จพระจักรพรรดิออรังเซ็บ โดยการคุมตัวของราชบุตรใจสิงห์ (Jai Singh I) ผู้เป็นแม่ทัพของจักรวรรดิโมกุล ซึ่งในการเข้าเฝ้าครั้งนั้นพระองค์ถูกจัดที่ประทับบริเวณด้านหลังของผู้มีบรรดาศักดิ์ที่ต่ำกว่า จึงทรงกริ้วอย่างมากเนื่องจากถูกลบหลู่หมิ่นพระเกียรติ และถูกจับกุมโดยราชบุตรใจสิงห์ (Jai Singh I)และคุมขังไว้ที่นั่นเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม ค.ศ. 1666 และต่อมาทรงหลบหนีได้สำเร็จเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ค.ศ. 1666 เนื่องจากเกรงว่าจะถูกประหารโดยสมเด็จพระจักรพรรดิออรังเซ็บ เหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้มีการสร้างอนุสาวรีย์สมเด็จพระจักรพรรดิศิวจี ด้านนอกของป้อมอัคระ เพื่อแสดงถึงความเด็ดเดี่ยวกล้าหาญของพระองค์

ป้อมปราการแห่งนี้จัดเป็นผลงานตัวอย่างของสถาปัตยกรรมโมกุล ซึ่งเป็นแบบอย่างของป้อมปราการของอินเดียตอนเหนือ ซึ่งแตกต่างจากของอินเดียตอนใต้ ซึ่งมักจะสร้างยื่นลงไปในทะเล หรือหน้าผาริมน้ำ อาทิเช่น ป้อมปราการแห่งเบกาล ในรัฐเกรละ[6]

ฟาเตห์ปูร์ สิครี

ดูบทความหลักที่: ฟาเตห์ปูร์ สิครี
Dīwān-i-Khās – ท้องพระโรง(เฉพาะพระองค์) ในฟาเตห์ปูร์ สิครี

สมเด็จพระจักรพรรดิอัคบาร์ ได้ทรงมีพระบัญชาให้สร้างฟาเตห์ปูร์ สิครี (Fatehpūr Sikrī) ซึ่งตั้งอยู่ห่างเมืองอัคระเป็นระยะทาง 35 กิโลเมตร (22 ไมล์) และต่อมาได้ย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่นั่น (ในระหว่างปีค.ศ. 1571 ถึงค.ศ. 1585) ในที่สุดก็ได้ทิ้งร้างลงกลับมาที่อัคระอีกหนหนึ่ง ฟาเตห์ปูร์ สิครีจึงประกอบด้วยอาคารที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มากมาย ซึ่งได้ถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก โดยองค์การยูเนสโก

ชื่อของสถานที่แห่งนี้ถูกตั้งขึ้นภายหลังที่จักพรรดิบาบูร์ (Bābar) แห่งจักวรรดิโมกุลได้มีชัยชนะต่อราชบุตรราณสังฆ์ (Rana Sanga) ในสถานที่ที่เรียกว่า "สิครี" (Sikrī) ซึ่งห่างจากอัคระประมาณ 40 กิโลเมตร (25 ไมล์) ซึ่งต่อมาสมเด็จพระจักรพรรดิอัคบาร์ ซึ่งเป็นพระนัดดาของจักรพรรดิบาบูร์ (Bābar) มีพระประสงค์จะสร้างที่แห่งนี้เป็นที่ประทับหลักของพระองค์ จึงได้มีการล้อมรอบด้วยปราการขนาดใหญ่ แต่เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนน้ำอย่างหนัก พระองค์จึงต้องย้ายกลับสูนครอัคระ ที่ป้อมอัคระอีกครั้งหนึ่ง

บูลันด์ ดาร์วาซา (Buland Darwāza) คือ ประตูเมืองที่สร้างโดยพระบัญชาของสมเด็จพระจักรพรรดิอัคบาร์ ในปีค.ศ. 1601 ที่ฟาเตห์ปูร์ สิครี เป็นประตูชัยแก่ชัยชนะของพระองค์ต่ออาณาจักรคุชราต ประกอบด้วยขั้นบันไดทั้งหมด 52 ขั้น สูง 53.63 เมตร และกว้าง 35 เมตร สร้างจากหินทรายสีแดง ตกแต่งด้วยงานสลักหินอ่อนสลับสีขาวดำ บริเวณทางเข้าหลักพบหลักศิลาจารึกแสดงให้เห็นถึง"ความใจกว้าง"ของการนับถือศาสนาของพระองค์ ว่าเป็นสาสน์จากพระเยซูถึงสาวกของพระองค์ไม่ให้ยึดติดกับโลกเสมือนบ้านอย่างถาวร

อิตมัด-อุด-โดละห์

อนุสรณ์สถานอิตมัด-อุด-โดละห์ หรือ "เบบี้ ทัช" แห่งอัคระ

พระจักรพรรดินีนูร์ ชะฮัน (Nūr Jahān) สร้างอนุสรณ์สถานอิตมัด-อุด-โดละห์ (Itmad-Ud-Daulah's Tomb) เป็นหลุมฝังศพให้แก่พระบิดาของพระองค์ นามว่า "มีร์ซา กียาซ เบค" (Mirza Ghiyas Beg) ซึ่งเป็นมนตรีระดับสูงคนสำคัญของสมเด็จพระจักรพรรดิชะฮันคีร์ ในปัจจุบันเรียกสถานที่แห่งนี้ว่า "เบบี้ ทัช" (Baby Taj) ตั้งอยู่ริมฝั่งด้านซ้ายมือของแม่น้ำยมุนา ตัวอาคารตั้งอยู่ในสวนขนาดใหญ่เป็นรูปกางเขน สลับด้วยทางน้ำไหล และทางเดินต่าง ๆ ตัวอาคารหลักนั้นมีขนาด 23 ตารางเมตร และสร้างบนฐานกว้างขนาดประมาณ 50 ตารางเมตร สูงประมาณ 1 เมตร แต่ละมุมเป็นที่ตั้งของหอคอยทรงหกเหลี่ยมสูงประมาณ 13 เมตร เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับหลุมฝังศพ และหลุมฝังพระศพในยุคสมัยจักรวรรดิโมกุลนั้นจะถือว่ามีขนาดเล็ก จึงมักถูกเรียกว่าเป็นดั่ง "กล่องอัญมณี" นอกจากนี้ยังพบการจัดสวน การใช้หินอ่อนสีขาว การตกแต่งอินเลย์หินอ่อน (ปิเอตรา ดูร่า) ฯลฯ เป็นตัวอย่างสำคัญของการก่อสร้างทัชมาฮาล ในภายหลัง

กำแพงนั้นทำจากหินอ่อนสีขาวจากราชสถาน และตกแต่งด้วยอัญมณีหลากสีประเภทต่างๆ เช่น แจสเปอร์ คาร์เนเลียน โอนิกซ์ โทปาซ และลาพิส ลาซูไล เป็นรูปของต้นสนตระกูลไซเปรส และขวดไวน์ รวมทั้งยังตกแต่งเป็นองค์ประกอบที่ซับซ้อนเพิ่มขึ้น เช่น รูปผลไม้ที่ตัดแต่ง หรือแจกันพร้อมช่อดอกไม้ ในเวลาที่แดดส่องแสงผ่านด้านในของตัวอาคาร จะผ่านช่องแสงเรียกว่า จาลี (Jālī) ที่สลักเสาจากหินอ่อนสีขาว

พระญาติหลายๆคนของพระจักรพรรดินีนูร์ ชะฮัน (Nūr Jahān) ก็ยังถูกฝังที่อนุสรณ์สถานแห่งนี้ องค์ประกอบอย่างเดียวที่ไม่สมมาตรในสถานที่แห่งนี้มีเพียงแค่หลุมฝังศพของพระบิดาและพระมารดาของพระองค์ ซึ่งตั้งอยู่ข้างๆกัน แต่ขนาดไม่เท่ากัน ซึ่งก็คล้ายกับการวางหลุมพระศพที่ทัชมาฮาล

หลุมฝังพระศพอักบัรมหาราช ที่เมืองสิกันทรา

หลุมฝังพระศพจักรพรรดิอักบัร ตั้งอยู่ใกล้กับเมืองอัคระ

เมืองสิกันทรา (Sikandra) ซึ่งเป็นที่ตั้งของหลุมฝังพระศพสมเด็จพระจักรพรรดิอัคบาร์มหาราช (อักบัรมหาราช) แห่งราชวงศ์โมกุล ตั้งอยู่ระหว่างทางบนทางหลวงสายเดลี-อัคระ เพียง 13 กิโลเมตรจากป้อมอัคระ การออกแบบหลุมฝังพระศพแห่งนี้นั้นสะท้อนให้เห็นถึงบุคลิกของพระองค์อย่างครบถ้วน สร้างบนบริเวณกว้างขวางท่ามกลางสวนอันร่มรื่น ภายในอาคารอันสวยงามมีหลุมฝังพระศพสร้างจากหินทรายสีเหลือง-แดงที่สลักอย่างวิจิตรพิศดาร ตกแต่งเป็นลายรูปกวาง กระต่าย ค่างหนุมาน โดยว่ากันว่าพระองค์เป็นผู้เลือกสถานที่ตั้งหลุมพระศพของพระองค์เอง โดยถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติทางศาสนาของชาวโมกุลที่จะต้องสร้างหลุมฝังศพของตนโดยนำธรรมเนียมมาจากกลุ่มชนเตอร์กิก สมเด็จพระจักรพรรดิชะฮันคีร์ พระโอรสของพระองค์ได้เป็นผู้สานต่องานก่อสร้างจนสำเร็จในปีค.ศ. 1613 บนโลงหินนั้นยังสลักชื่อ 99 ชื่อของพระอัลเลาะห์

ใกล้เคียง

อัคระ อัครทูตสวรรค์มีคาเอล อัครวัฒน์ จุมพลวิวัฒน์ อัครทูตสวรรค์ อัครินทร์ อัครนิธิเมธรัฐ อัครัฐ นิมิตรชัย อัครทูต อัครินทร์ กิจวิจารณ์ อัครพรรฒ บุนนาค อัครบิดรคีริลล์แห่งมอสโก

แหล่งที่มา

WikiPedia: อัคระ http://www.sanskrit-lexicon.uni-koeln.de http://www.columbia.edu/itc/mealac/pritchett/00art... http://www.census2011.co.in/city.php http://agra.nic.in http://asi.nic.in/asi_monu_whs_agrafort.asp http://worldweather.wmo.int/066/c01561.htm http://web.archive.org/web/20061117081029/www.worl... http://web.archive.org/web/20091203060952/http://w... http://www.archive.org/stream/agrahistoricald00lat... http://www.archive.org/stream/ahandbookforvis00kee...