กัมพูชายุคเขมรแดง ของ เขมรแดง

การประกาศใช้รัฐธรรมนูญกัมพูชาประชาธิปไตย

ดูบทความหลักที่: กัมพูชาประชาธิปไตย
ธงแดงรูปค้อนเคียวของพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา (ต่อมาคือพรรคกัมพูชาประชาธิปไตย)ภาพสมาชิกระดับผู้นำของเขมรแดง - พล พต หรือซาลอธ ซาร์ หัวหน้าขบวนการ ยืนอยู่ตำแหน่งซ้ายมือสุด (ภาพนี้ถูกแสดงในพิพิธภัณฑ์ตวล สเลง)

หลังจากที่บุกยึดกรุงพนมเปญและสาธารณรัฐกัมพูชาได้สำเร็จ เขมรแดงได้เปลี่ยนระบอบการปกครองของกัมพูชาให้เป็นระบอบสังคมนิยมลัทธิคอมมิวนิสต์ โดยมีคณะผู้ปกครองหลักคือ พรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา หรือพรรคกัมพูชาประชาธิปไตย[41] และมีกลุ่มผู้ปกครองสูงสุดที่เรียกตนเองว่า "อังการ์เลอ" (Angkar Loeu) หรือ "องค์การจัดตั้งระดับสูง" ซึ่งชื่อ "อังการ์เลอ" นี้ ถูกนำมาใช้เพื่ออำพรางตนเองจากการรับรู้ของชาวกัมพูชารวมไปถึงสมาชิกระดับล่างของพรรค[42] ภารกิจต่าง ๆ ของฝ่ายบริหารจะอยู่ในความรับผิดชอบของบุคคลในคณะกรรมาธิการประจำ (กรมการเมือง) ซึ่งเป็นองค์กรหลักภายในคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา ในขณะที่คณะกรรมการของพรรคจะมีหน้าที่ควบคุมทุกระดับของการจัดตั้ง นับตั้งแต่กลุ่มที่ประกอบด้วยครอบครัว 10 ครอบครัว กระทรวง สำนักงานของรัฐ และเขตการปกครองต่าง ๆ ของกัมพูชา[43]

กลุ่มคอมมิวนิสต์ประกาศยกเลิกรัฐบาลราชอาณาจักรกัมพูชาพลัดถิ่น ทำให้กัมพูชาไม่มีรัฐบาลจนกระทั่งมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญกัมพูชาประชาธิปไตยเมื่อ 5 มกราคม พ.ศ. 2519 เขมรแดงได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญกัมพูชาฉบับใหม่ ภายในนั้นได้มีการบัญญัติชื่ออย่างเป็นทางการของประเทศกัมพูชาว่า "กัมพูชาประชาธิปไตย" (Democratic Kampuchea) [42] แทนชื่อ "สาธารณรัฐเขมร" พระนโรดม สีหนุยังคงเป็นประมุขรัฐจนกระทั่งพระองค์ลาออกไปเมื่อ 2 เมษายน พ.ศ. 2519 พระองค์ถูกกักบริเวณอยู่ในพนมเปญ จนกระทั่งเกิดสงครามกับเวียดนาม พระองค์จึงไปสหรัฐก่อนจะลี้ภัยในประเทศจีนในเดือนมกราคม พ.ศ. 2519

ศูนย์กลางอำนาจของกัมพูชาในขณะนั้นอยู่ที่ "พล พต" หรือที่รู้จักกันในชื่อเดิมว่าซาลอธ ซาร์ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการใน พ.ศ. 2519 โดยมีเอียง ซารี ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกิจการต่างประเทศ วอน เวต ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกิจการเศรษฐกิจ และซอน เซน ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกิจการกลาโหม[44] สมาชิกของพรรคส่วนใหญ่ ได้แก่ กองกำลังติดอาวุธทั้งชายและหญิงจากครอบครัวชาวนาในชนบทอันห่างไกล ซึ่งทั้งยากจนและขาดโอกาสในการศึกษา[45] โดยส่วนหนึ่งเป็นผู้ที่เจ็บปวดและโกรธแค้นจากการที่ต้องสูญเสียบ้าน การงาน และครอบครัวเพราะระเบิดของสหรัฐอเมริกาในช่วงสงครามกลางเมือง[46]

สถาบันหลักทางการเมืองของกัมพูชาประชาธิปไตย คือ “สภาผู้แทนประชาชนกัมพูชา” (Kampuchean People’s Representative Assembly) มีสมาชิก 250 คน ที่ประกอบด้วย 1) ฝ่ายนิติบัญญัติ ที่มาจากการเลือกตั้งอย่างลับ ๆ ทุก 5 ปี (ตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่ใช้ในขณะนั้น) 2) ฝ่ายบริหาร ที่มาจากการคัดเลือกของสมาชิกสภาผู้แทนประชาชน มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงต่อสภา และ 3) ฝ่ายตุลาการ ที่ทำหน้าที่โดยศาลประชาชน นอกจากนั้นยังมี “สภาเปรสิเดียม” ที่ประกอบด้วยประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี 2 คน ที่ได้รับการคัดเลือกโดยสมาชิกสภาผู้แทนประชาชนเช่นเดียวกับฝ่ายบริหาร เพื่อทำหน้าที่ตัวแทนของรัฐทั้งในและต่างประเทศ[47] การเลือกตั้งครั้งแรกและครั้งเดียวมีขึ้นเมื่อ 20 มีนาคม พ.ศ. 2519 โดยประชาชนใหม่ไม่ได้เข้าร่วม ผู้บริหารได้รับเลือกเข้าสู่สภาซึ่งถือเป็นสภาเปรซิเดียมของรัฐ หลังจากพระนโรดม สีหนุลาออก ตำแหน่งประมุขรัฐคือประธานาธิบดี ซึ่งผู้ดำรงตำแหน่งคือ เขียว สัมพัน ระบบศาลเป็นการประชาชนซึ่งควบคุมโดยสภา และไม่ได้ระบุถึงการปกครองส่วนท้องถิ่น

สิทธิและหน้าที่ของพลเมืองมีกล่าวถึงในมาตราที่ 12 ของรัฐธรรมนูญ ชายและหญิงมีความเสมอภาคกัน และจะไม่มีคนว่างงานในกัมพูชาประชาธิปไตย หลักการเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศถูกระบุไว้ในมาตราที่ 21 โดยระบุถึงความเป็นเอกราช สันติภาพและเป็นกลาง ประกาศสนับสนุนการต่อต้านจักรวรรดินิยมในประเทศโลกที่สาม แม้จะมีการโจมตีแนวชายแดนของไทย ลาว และเวียดนาม แต่ในรัฐธรรมนูญกล่าวว่ารักษาความสัมพันธ์ที่เป็นมิตรและใกล้ชิดกับประเทศที่มีพรมแดนติดต่อกัน

เขมรแดงได้ประกาศยกเลิกการแบ่งเขตจังหวัดแบบเดิม และแทนที่ด้วยการแบ่งเขตจำนวน 7 เขต คือ เหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ ตะวันตกเฉียงเหนือ ตะวันออก ตะวันตก ตะวันตกเฉียงใต้ และเขตศูนย์กลาง มีเขตพิเศษ 2แห่งคือ เขตพิเศษกระแจะ หมายเลข 105 และเขตพิเศษเสียมราฐ หมายเลข 106 ซึ่งคงอยู่ถึง พ.ศ. 2520 แต่ละเขตแบ่งย่อยเป็นตำบล ซึ่งถูกกำหนดด้วยหลายเลข หมายเลข 1 อยู่ที่บริเวณสัมลต ในเขตตะวันตกเฉียงเหนือ ตำบลถูกแบ่งย่อยเป็นสรุก ขุม และภูมิ (หมู่บ้าน) หมู่บ้านประกอบด้วยคนหลายร้อยคน ภายในหมู่บ้านแบ่งเป็นกรม ที่ประกอบด้วย 10 – 15 หลังคาเรือน การบริหารประกอบด้วยคณะที่มีสมาชิกสามคน สมาชิกพรรคควบคุมการบริหารในระดับสูง การบริหารระดับขุมและหมู่บ้านปกครองโดยคนในท้องถิ่น ส่วนน้อยที่เป็นประชาชนใหม่ ในแต่ละเขตการปกครองจะมีคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชาประจำอยู่ เพื่อทำหน้าที่ตัดสินใจทั้งในด้านการเมืองและการทหารในเขตพื้นที่ของตน และรอรับคำสั่งจากศูนย์กลางพรรคเพื่อนำไปตีความและประยุกต์ใช้อีกครั้งตามความเหมาะสมของแต่ละท้องที่[48]

การอพยพออกจากเมือง

ทันทีที่เข้ายึดพนมเปญได้ เขมรแดงได้สั่งให้อพยพประชาชนทั้งหมดออกจากเมืองหลวงไปสู่พื้นที่ชนบท พนมเปญที่เคยมีประชากรถึง 2.5 ล้านคนกลายเป็นเมืองร้าง ถนนที่ออกจากเมืองเต็มไปด้วยประชาชนที่ถูกบังคับให้เดินทางออกจากเมือง ลต ฉาย พี่ชายของพล พตที่ทำงานเป็นนักหนังสือพิมพ์ตายระหว่างการอพยพอกจากพนมเปญ โรงพยาบาลในพนมเปญว่างเปล่า ไม่มีผู้ป่วย เขมรแดงอนุญาตให้ใช้พาหนะได้เฉพาะคนแก่และคนพิการ ในระหว่างการอพยพคนออกจากเมืองนี้ เขียว สัมพันกล่าวว่ามีคนตายราว 2,000 - 3,000 คน ชาวต่างชาติราว 800 คนถูกกักตัวไว้ในสถานทูตฝรั่งเศส และในช่วงปลายเดือนนั้น คนต่างชาติเหล่านี้ ถูกส่งมายังชายแดนไทยด้วยรถบรรทุก หญิงชาวเขมรที่แต่งงานกับชาวต่างชาติ จะได้รับอนุญาตให้ออกไปได้ แต่ชายชาวเขมรไม่ได้รับอนุญาตให้ติดตามภรรยาออกไป

หลังจากที่เขมรแดงขึ้นมามีอำนาจแล้ว สิ่งแรกที่ทำคือ ประกาศให้ชาวเขมรทุกคนทิ้งทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นบ้าน เงินทอง หรือแม้แต่คนที่ตัวเองรักทั้งหลาย เพื่อมาทำงานให้กับคอมมูน คอมมูนคือหน่วยย่อยของเขมรแดง มีคอมมูนละ 10,000 คน หน้าที่ที่คนในค่ายต้องทำทุกวันคือทำงานเกี่ยวกับการเกษตรทั้งหมด ตามแต่ที่คอมมูนใดจะสั่งลงมา แต่ทุกคอมมูนเหมือนกันหมดคือทำงานโดยใช้แรงงานคนทั้งหมดโดยไม่มีเครื่องมือใด ๆ ช่วยทุ่นแรง และต้องทำงานเป็นเวลา 11 ชั่วโมง เป็นเวลา 9 วันติดใครทำงานช้าหรืออิด ๆ ออด ๆ จะถูกลงโทษอย่างหนัก ส่วนวันที่ 10 ต้องมานั่งฟังพวกเขมรแดงอบรมเรื่องลัทธิคอมมิวนิสต์

ความน่าหวาดกลัว

หน่วยรักษาความปลอดภัยที่เรียกว่าสันติบาลที่จัดตั้งขึ้นหลังจาก 17 เมษายน พ.ศ. 2518 นำโดย ซอน เซน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของกัมพูชาประชาธิปไตย เขาได้มอบหมายให้ดุจ เป็นผู้ดำเนินการหน่วยนี้ ในช่วงแรก เขาใช้บริเวณเมืองหลวงเป็นที่กักขังนักโทษ ต่อมา ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2519 ดุจได้ย้ายสถานที่คุมขังมาที่คุกตวล แซลงที่คุมขังนักโทษได้ถึง 1,500 คน รัฐบาลเขมรแดงได้สั่งให้จับกุมและประหารชีวิตบุคคลที่ต้องสงสัยว่าเป็นศัตรูของรัฐ ได้แก่

  • ทุกคนที่มีความเกี่ยวข้องกับรัฐบาลสาธารณรัฐเขมรหรือรัฐบาลต่างชาติ
  • ผู้เชี่ยวชาญและอาจารย์ รวมทั้งทุกคนที่มีการศึกษาหรือแม้แต่คนที่สวมแว่นตา
  • ผู้มีความชำนาญในศิลปะ นักดนตรี นักเขียน นักแสดงถูกประหารชีวิต เช่น รส เสรีโสทา แปน โรน และสิน ศรีสมุท
  • ชนกลุ่มน้อยที่มีเชื้อสายเวียดนาม จีน ไทย และชนกลุ่มน้อยบางส่วนในพื้นที่สูงทางตะวันออก ชาวกัมพูชาที่นับถือศาสนาคริสต์หรืออิสลาม พระสงฆ์
  • พ่อค้าในเมืองที่ไม่มีความสามารถในการทำการเกษตร

มีประชาชนประมาณ 17,000 คนที่เคยเข้าคุกตวลซแลง ส่วนใหญ่ถูกประหารชีวิต มีเพียงราวพันคนที่รอดชีวิตออกมาได้ จำนวนประชากรที่เสียชีวิตในช่วงที่เขมรแดงครองอำนาจยังเป็นที่โต้แย้งกันอยู่ รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชาที่ครองอำนาจสืบต่อจากเขมรแดงระบุว่ามีคนตายไป 3.3 ล้านคน แต่ยังหาตัวเลขที่เป็นการสรุปแน่นอนไม่ได้ งานวิจัยสมัยใหม่ที่ศึกษาทางด้านนี้ระบุว่าคนที่เสียชีวิตน่าจะอยู่ที่ 1.4 - 2.2 ล้านคน มีทั้งที่ถูกฆ่าและตายเพราะขาดอาหารและโรคระบาด โครงการวิจัยทางด้านการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในกัมพูชาระบุว่ามีผู้เสียชีวิตราว 1.2 – 1.7 ล้านคน ส่วนข้อมูลของเขมรแดงเอง พล พตระบุว่ามีคนตาย 800,000 คน ส่วนเขียว สัมพันระบุว่าถูกฆ่าไปราว 1 ล้านคน

การเปลี่ยนแปลงสังคม

ประชากรที่อพยพออกจากเมืองจะถูกเรียกว่าประชาชนใหม่ ส่วนประชาชนที่อยู่ในเขตชนบทดั้งเดิมถูกเรียกว่าประชาชนเก่า ในระดับล่างสุดของสังคมคือกรม ประกอบด้วย 10 – 15 ครอบครัว กรมบริหารโดยคณะกรรมการสามคน ประธาน พรรคคอมมิวนิสต์เป็นผู้เลือก มีหน้าที่เผยแพร่ความเป็นสังคมนิยมแก่ประชาชนและรายงานขึ้นไปเป็นลำดับชั้น ในระยะแรกมีประชาชนใหม่อยู่ราว 2.5 ล้านคน ประชาชนใหม่ถูกบังคับให้ใช้แรงงานในพื้นที่ที่ยากลำบาก เช่น ในป่า ที่สูงและที่ลุ่ม และมักเกิดปัญหาขัดแย้งกับประชาชนเก่า สมาชิกในครอบครัวถูกแบ่งแยก เพราะต้องทำงานตามอายุและเพศ และมีการแบ่งไปทำงานยังส่วนต่าง ๆ ของประเทศ ประชาชนเก่าจะได้รับการปฏิบัติจากเขมรแดงดีกว่า

จากการสัมภาษณ์ผู้อพยพของไมเคิล วิกกอรี ผู้เขียนหนังสือ Cambodia 1975–1982 กล่าวว่าการตายเกิดขึ้นในพื้นที่ด้อยพัฒนาและเกิดกับประชาชนใหม่ที่ถูกส่งไปบุกเบิกพื้นที่ในบริเวณนั้น ในเขตตะวันออกซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีผู้นิยมเวียดนามอยู่มาก และอิทธิพลของพล พตไม่ได้เข้าไปถึงอย่างเต็มที่ การปฏิบัติต่อประชาชนเก่าและประชาชนใหม่เป็นธรรมกว่าและการประหารชีวิตเกิดขึ้นน้อยกว่า ประชาชนใหม่จะไม่ถูกบีบบังคับถ้าให้ความร่วมมือที่ดี ในภาคตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือเป็นบริเวณที่มีความอดอยากมากกว่า เพราะเป็นพื้นที่ที่ต้องส่งข้าวเข้าสู่พนมเปญ เขตเหนือและเขตกลาง ส่วนใหญ่ถูกประหารชีวิตมากกว่าเป็นเหยื่อของความอดอยาก ส่วนข้อมูลในเขตตะวันออกเฉียงเหนือมีจำกัด

ปกติในภาษาเขมรจะมีคำที่แสดงถึงระดับชั้นของสังคม ในสมัยเขมรแดง ประชาชนถูกบังคับให้เรียกคนอื่นว่าสหาย (เขมร: មិត្ដ; "มิตร") และงดเว้นการแสดงความเคารพ เขมรแดงได้สร้างคำใหม่ขึ้นใช้ในภาษา เช่น ประชาชนกล่าวว่าพวกเขาต้องทำปลอม (lot dam) ลักษณะของนักปฏิวัติ เพราะพวกเขาเป็นเครื่องมือ (opokar - อุปกรณ์) ขององค์กร การคิดถึงช่วงเวลาก่อนการปฏิวัติเป็นความทรงจำที่เจ็บป่วย (chheu satek arom) ซึ่งจะทำให้องค์กรมานำตัวไปสู่ค่ายกักกันได้

เขียว พอนนารี ภรรยาของพล พตเป็นผู้นำของสมาคมสตรีประชาธิปไตยเขมร และน้องสาวคือเขียว ธิริทธ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการสังคม ยุน ยัต ภรรยาของซอน เซนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมและการศึกษา หลาน ๆ ของพล พตทำงานในกระทรวงการต่างประเทศหลายคน ลูกสาวของเอียง ซารีเป็นประธานโรงพยาบาลแม้จะไม่จบชั้นมัธยมศึกษา หลานของเอียง ซารีเป็นผู้แปลภาษาอังกฤษของสถานีวิทยุพนมเปญแม้จะรู้ภาษาอังกฤษน้อยมาก

แหล่งที่มา

WikiPedia: เขมรแดง http://www.bangkokbiznews.com/2006/07/21/g006_1223... http://www.bflybook.com/BookDetail.aspx?CategoryID... http://www.economist.com/world/asia/displaystory.c... http://jim.com/canon.htm http://www.matichonbook.com/index.php/matichonbook... http://www.sanskritbook.com/FntProductAction.do?me... http://www.timeout.com/film/people/345671/vann-nat... http://www.cambodia.gov.kh/krt/english/ http://www.eccc.gov.kh/ http://www.edwebproject.org/sideshow/