วรรณกรรมลาวที่เกี่ยวเนื่องกับพระราชประวัติ ของ เจ้าอนุวงศ์

ในภายหลังพระราชประวัติของเจ้าอนุวงศ์ได้รับการเรียบเรียงและแต่งเติมจากนักปราชญ์ทางวรรณกรรมลาว ในฐานะวรรณกรรมประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียงมาก ๒ เรื่องแต่ไม่เป็นที่รับรู้ของชาวไทยนัก เรื่องแรกคือพื้นเวียงจันทน์หรือเพ็ชรพื้นเมืองเวียงจันทน์ คนทั่วไปรู้จักในนามพื้นเวียง ซึ่งออกพระนามของพระองค์ว่าเจ้าอนุรุธราช และเรื่องที่สองคือวรรณกรรมประวัตินครเวียงจันทน์หรือพื้นเมืองเวียงจันทน์ ซึ่งออกพระนามของพระองค์ว่าพระยาอนุราชบัพพาวันดี วรรณกรรมเรื่องแรกกล่าวถึงเรื่องราวการพยายามประกาศเอกราชของพระองค์อย่างตรงไปตรงมา ว่าไม่ได้ขัดแย้งกับสยามแต่ทรงขัดแย้งกับเมืองนครราชสีมา เอกสารชิ้นนี้ไม่มีการกล่าวถึงวีรกรรมท้าวสุรนารี (โม ณ ราชสีมา) และหลังจากตีเมืองนครราชสีมาแตกแล้วทรงตั้งพระบรมราชา (มัง มังคละคีรี) เจ้าเมืองนครพนมให้เป็นเจ้าเมืองนครราชสีมาและสร้างเมืองท่าแขกของประเทศลาวด้วย เอกสารชิ้นนี้กล่าวเนื้อความตรงกันข้ามกับทรรศนะของสยามโดยสิ้นเชิง และถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในไทยโดยนายทรงพล ศรีจักร์ บุตรชายของท้าวเพ็ชรราชหลานชายของเพียวรจักรี ชาวตำบลน้ำก่ำ อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม วรรณกรรมเรื่องที่สองได้รับการปรุงแต่งออกจากวรรณเรื่องแรก แต่มีการต่อเติมเรื่องราวอื่นๆ แทรกไว้โดยคงเค้าเรื่องเดิมไว้อยู่ เช่น ความขัดแย้งกับกรุงศรีหรือบางกอก การขอกำลังจากญวณมาช่วยทัพ พร้อมทั้งแต่งตำนานคำสาปพระยาศรีโคตรบองสาปเวียงจันทร์แทรกไว้ที่ต้นเรื่อง และยังกล่าวถึงพระราชโอรสพระองค์หนึ่งของพระองค์พระนามว่า ท้าวเหลาคำ หรือเจ้าราชวงษ์ ว่ามีความสามารถมากและเป็นชนวนเหตุแห่งสงคราม เอกสารชิ้นนี้ถูกเผยแพร่ในไทยจากหนังสือประเพณีอีสานของ ส. ธรรมภักดี ในสมัยก่อนรัชกาลที่ ๕ นั้นวรรณกรรมทั้งสองเรื่องเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ชนอีสานและชาวลาว นิยมอ่านกันในงันเฮือนดีหรืองานศพทำนองเดียวกันกับวรรณกรรมเรื่องท้าวฮุ่งท้าวเจือง หรือพื้นนิสสัยบาเจือง

นอกจากวรรณกรรมทั้งสองแล้ว ยังมีข้อสันนิษฐานว่ามีวรรณกรรมอีกเรื่องหนึ่งซึ่งเชื่อว่าแต่งในรัชกาลของเจ้าอนุวงศ์ และอาจแต่งในช่วงก่อนสงครามกับสยาม คือ วรรณกรรมเรื่องกาละนับมื้อส่วยหรือวรรณกรรมสาส์นลึบพสูน นักวิชาการบางท่านเชื่อว่าเจ้าอนุวงศ์ทรงแต่งเองหรืออาจใช้ให้เสนามนตรีในพระราชสำนักแต่งขึ้น เพื่อระบายความในใจเกี่ยวกับเหตุการณ์บ้านเมืองของพระองค์ ในยามถูกรุกรานและกดขี่ข่มเหงจากสยาม วรรณกรรมชิ้นนี้ถูกยกย่องว่าเป็นเพ็ชรน้ำเอกแห่งวรรณกรรมลาวในด้านวรรณกรรมปรัชญาหรือวรรณกรรมแฝงการเมือง พื้นเวียง พื้นเมืองเวียงจันทน์ และกาละนับมื้อส่วย ไม่ถูกนำมาศึกษาในระดับมัธยมของไทยแต่ในระดับอุดมศึกษานั้นก็มีการศึกษาอยู่บ้างแต่ไม่เป็นที่โดดเด่นในประเทศไทย อาจเนื่องจากปัญหาความมั่นคงและปัญหาการแบ่งแยกดินแดน ทว่าในประเทศลาวนั้นวรรณกรรมทั้ง ๓ เรื่องเป็นที่ยกย่องเชิดชูและใช้ในการศึกษาโดยปกติ ต้นฉบับของวรรรกรรมทั้ง ๓ เรื่อง ปรากฏอยู่ทั่วไปในคัมภีร์ใบลานของวัดหลายแห่งในอีสานและลาว

ใกล้เคียง

เจ้าอนุวงศ์ เจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ เจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้าอุบลวรรณา เจ้าอาวาส เจ้าอินทยงยศโชติ เจ้าอุตรการโกศล (ศุขเกษม ณ เชียงใหม่) เจ้าอุปราช (บุญทวงษ์) เจ้าอุปราช (สิทธิสาร ณ น่าน) เจ้าอินทนนท์ ณ เชียงใหม่