องค์ศาสนูปถัมภก ของ เจ้าอนุวงศ์

พ.ศ. ๒๓๔๙ (จ.ศ. ๑๑๖๘) ปีฮวายยี่ (ปีขาล) เจ้าอนุวงศ์สร้างพระราชวังหลวง (โฮงหลวง) นครเวียงจันทน์ จากนั้นเสด็จสร้างสะพาน (ขัวตะพาน) ปูลานอิฐจากท่าน้ำโขงสู่หน้าลานพระธาตุพนมพร้อมพระบรมราชา (สุตตา) เจ้าเมืองนครพนมและเจ้าพระยาจันทรสุริยวงศา (กิ่ง) เจ้าเมืองมุกดาหารที่เมืองธาตุพนม แล้วเสด็จไปวัดพระธาตุสีโคดตะบอง เมืองเก่าท่าแขก ทรงบูรณะพระธาตุสีโคดตะบองร่วมกับเจ้าขัตติยะราชเจ้าเมืองมรุกขนคร (เมืองเก่าท่าแขก) จนแล้วเสร็จ พระธาตุสีโคดตะบองเป็นปูชนียสถานเก่าแก่สมัยศรีโคตรบูรสร้างโดยพระยาสุบินราช (สุมินทราช) กษัตริย์เมืองมรุกขนคร รับการบูรณะอีกครั้งโดยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชมหาราชแห่งนครหลวงเวียงจันทน์ พ.ศ. ๒๓๕๐ (จ.ศ. ๑๑๖๙) ปีเมิงเม่า (ปีเถาะ) เสด็จฉลองสะพานหน้าวัดพระธาตุพนมพร้อมเจ้าเมืองนครพนมและมุกดาหาร โปรดฯ ให้สร้างทวารบาล ๒ ตน อุ้มบาตรประทับนั่งทับส้นเท้าประดิษฐานที่ท่าน้ำโขงปากสะพานต่อหน้าลานพระธาตุ คนนิยมเรียกท้าวเทวา-นางเทวา ตนหนึ่งมีรูปเป็นยักษ์ตนหนึ่งมีรูปเป็นเทดา พร้อมโปรดฯ สร้างฮาวใต้เทียนแผงไม้ปิดทองประดับแก้วสีรูปสัตตะบูลิพันมีราหูสูนจันทร์ขนาดใหญ่ประดิษฐานที่สิม (พระอุโบสถ) วัดพระธาตุพนม ปัจจุบันชำรุดและรักษาชิ้นส่วนที่พิพิธภัณฑ์รัตนโมลีศรีโคตรบูร วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ทรงถวายข้ามโหรีหลวงในราชสำนักเวียงจันทน์ไว้บรรเลงถวายพระธาตุพนมเป็นพุทธบูชา ถวายเครื่องดนตรี เช่น ฆ้องสำริด เป็นต้น แต่งตั้งบรรดาศักดิ์ขุนนางท้องถิ่นตำแหน่งพระละครให้เป็นหัวหน้าควบคุมคณะมโหรีหลวง[16] เอกสารประวัติวัดหัวเวียงรังสีซึ่งเป็นวัดอรัญวาสีประจำหัวเวียงธาตุพนมระบุว่าทรงโปรดฯ ให้ขุดสระน้ำมงคลขนาดใหญ่ ๓ แห่งในบริเวณวัดและรอบวัดทิศเหนือใกล้น้ำโขง ปัจจุบันถูกถม ๒ แห่ง เหลือ ๑ แห่ง เชื่อว่าเป็นสระสำหรับชำระพระวรกายครั้งเสด็จมานมัสการพระธาตุพนมและใช้ประกอบพิธีมุทธาพิเสกฮดสรง (มุรธาภิเษก) ขุนโอกาสขึ้นปกครองข้าโอกาสเมืองธาตุพนม

พ.ศ. ๒๓๕๑ (จ.ศ. ๑๑๗๐) เสด็จสร้างวัดสีบุนเฮือง (ศรีบุญเรือง) เมืองหนองคาย (ลาหนองคายเดิม) บูรณะปฏิสังขรณ์พระธาตุพนม ประกอบพระราชพิธียกฉัตรทองคำ ๗ ชั้น ประดับยอดพระธาตุ ยกช่อฟ้าประดับหลังคาสิมและอุทิศถวายข้าโอกาสแด่พระธาตุพนมตามโบราณราชประเพณีกษัตริย์ลาว ต่อมา พ.ศ. ๒๓๕๓-๒๓๕๕ (จ.ศ. ๑๑๗๒-๑๑๗๔) เสด็จสร้างวัดหอพระแก้วเมืองศรีเชียงใหม่หรือเมืองพันพร้าวเก่าตรงข้ามนครหลวงเวียงจันทน์ ปัจจุบันคืออำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย ซึ่งเป็นเมืองประทับของเจ้ามหาอุปฮาด (ติสสะ) พระราชอนุชาต่างพระราชมารดา หล่อพระพุทธปฏิมาเป็นพระประธานสิม โปรดฯ สร้างพระปูนปั้น ๑๑๓ องค์ประดิษฐานรอบกมมะละเลียน (ระเบียงคต) ให้ช่างเขียนฮูปแต้ม (จิตกรรรมฝาผนัง) ภาพอดีตพุทธมากถึง ๑,๐๐๐ ที่วัดช้างเผือก จากนั้นสร้างขัว (สะพาน) ข้ามน้ำโขงระหว่างศรีเชียงใหม่ไปนครหลวงเวียงจันทน์ ณ ที่สร้างวัดหอพระแก้ว[17] จารึกวัดหอพระแก้วมี ๒ ด้าน ด้าน ๑ จารึก จ.ศ. ๑๑๗๒ (พ.ศ. ๒๓๕๓) ด้าน ๒ จารึก จ.ศ. ๑๑๗๔ (พ.ศ. ๒๓๕๕) ด้านที่ ๑ ระบุว่าทรงสร้างวัดหอพระแก้วพร้อมอุทิศที่ดินถวายข้าโอกาสให้วัด ถวายสิ่งของต่าง ๆ ในการสร้างวัด ด้าน ๒ ระบุว่าทรงสร้างสะพานข้ามน้ำโขง ฉลองวัดหอพระแก้ว ถวายเครื่องของไทยทานจำนวนมากแก่ภิกษุ และพระราชทานสิ่งของบริจาคเป็นทานเพื่อสร้างหอแจก (ศาลาโรงทาน) ของวัด พ.ศ. ๒๓๕๕ (จ.ศ. ๑๑๗๔) เสด็จฉลองหอพระวัดพระธาตุพนม ราว พ.ศ. ๒๓๕๖ (จ.ศ. ๑๑๗๕) ปีกาเฮ้า (ปีระกา) เดือนเจียง แรม ๔ ค่ำ เสด็จทำบุญฉลองที่วัดพระธาตุพนม ราว พ.ศ. ๒๓๕๙ (จ.ศ. ๑๑๗๘) ตั้งบุญหลวง (กองบุญใหญ่) ฉลองหอพระแก้วและหอไตรนครหลวงเวียงจันทน์ สร้างหอพระแก้วและพระพุทธรูปมารวิชัยประดิษฐานภายในหอพระแก้ว

พ.ศ. ๒๓๖๒ (จ.ศ. ๑๑๘๐-๑๑๘๑) ทรงบูรณะสิมและหอไตรวัดสีสะเกดนครหลวงเวียงจันทน์ครั้งใหญ่จนเสร็จ ปรากฏในจารึกวัดสีสะเกดบนผนังระเบียงข้างประตูทางเข้าทิศตะวันตก จารึกข้อความด้านเดียวว่ามีพระราชโองการนี้ไว้กับวัดสัตตสหัสวิหารามหรือวัดแสน อันเป็นนามเดิมของวัด บูรณะและก่อสร้างระเบียงคด สร้างพระพุทธรูปและพระพิมพ์ประดิษฐานที่ช่องผนัง สร้างจุลวิหาร ถวายสิ่งของเครื่องใช้จำนวนมากแก่พระอารามนี้ พระราชอุทิศส่วนกุศลถวายพระราชบิดา พระราชมารดา พระญาติวงศ์ และสรรพสัตว์ทั้งปวง วัดสีสะเกดปัจจุบันมีสภาพสมบูรณ์ในอดีตไม่ถูกทำลายจากสงครามสยาม ปฏิสังขรณ์จากสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพาทิศเมืองฮานอย เป็นวัดที่มีผังต่างจากวัดต่าง ๆ ในนครหลวงเวียงจันทน์เนื่องจากมีจงกม (กมมะเลียนหรือระเบียงคต) ล้อมสิมเช่นเดียวกับวัดช้างเผือกเมืองพันพร้าว รอบระเบียงคตประดิษฐานพระปูนปั้นขนาดเท่ากันแบบเดียวกันหมดโดยขนาดเท่าคนจริง ๑๒๐ องค์ มีประตูเข้าออกสี่ทิศ พระระเบียงตอนบนทุกด้านมีช่องกุดบรรจุพระพุทธรูปองค์เล็ก ๆ เช่น พระบุเงิน พระบุคำ (บุทอง) และพระพิมพ์จำนวนมาก พบหลักฐานในศิลาเลกจารึกข้างประตูด้านหน้าว่า ...ส้างพระใส่ซ่องกุดฝาผนังวัด พระเงินบุ ๒๗๖ องค์ พระพิมพ์ ๒๐๕๒ องค์...พระพิมพ์ใส่ซ่องกุดฝาผนังจงกม ๖๘๔๐ องค์... ผนังระเบียงใกล้ประตู ๔ ทิศมีฮูปแต้มงดงาม ภายในสิมเหนือผนังระดับหน้าต่างเจาะช่องกุดเล็ก ๗ แถว เรียง ๓ ด้าน มีฮูปแต้มชาดกและทศชาติเต็มทุกด้าน บานประตูเขียนลายฟอกคำรูปทวารบาลหรือเสี้ยวกางคล้ายแบบจีน หัตถ์ขวาจับเครายาวหัตถ์ซ้ายทรงกริช ผสมลายดอกพุดตาน บานหน้าต่างด้านนอกเขียนลายพอกคำบานด้านในเขียนรูปเทวดาประนมหัตถ์ยืนบนแท่นคล้ายวัดดุสิตารามหรือวัดสุวรรณารามธนบุรี จารึกความว่า ...จ้างซ่างเขียนฝาผนังวัดและจงกมเป็นนิทานหลายประการต่าง ๆ เป็นเงินซ่าง ๒ ตำลึงเฟื้อง เบี้ย ๕ แหว้น ๑๕ หน่วย... ภายในสิมนอกจากสร้างพระประธานปูนปะทายเพ็ด (ซะทายเพ็ชร) ขนาดใหญ่ยังสร้างพระพุทธรูปสำริดประทับยืน ๒ องค์ขนาดเท่าพระองค์จริงประดิษฐานหน้าพระประธาน ๒ ข้าง จารึกความว่า ...ส้างฮูปพระทองหล่อค่าพระองค์ ๒ องค์ หนัก ๔ แสน ๙ หมื่น ๘ พัน.. หอไตรนั้นโปรดฯ สร้างทรงมณฑปมีเสาหานรอบรองรับปีกพาไล หลังคาซ้อนชั้นวิจิตร อาคารและเสาก่ออิฐถือปูนมีบันไดขึ้น ภายในมีซุ้มประตูสี่ทิศมีตู้พระไตรปิฎกลงรักเขียนลายพอกคำหรือแต้มคำ (ปิดทอง) ขอบประตูฐานมีปูนปั้นประดับ ตัวอาคารประดับลายเครือเถา กระจกสี (แก้วซืน) ดอกกกาละกับ บานประตูด้านนอกมีรูปรดน้ำเสี้ยวกาง คันทวยลายดอกก้านดกแปว และตีนเสาประดับกาบพรหมศร[18]

พ.ศ. ๒๓๖๒-๒๓๖๕ (จ.ศ. ๑๑๘๑-๑๑๘๔) ราวช่วงปีเดียวกันกับที่บูรณะวัดสีสะเกดหรือหลังจากนั้นไม่กี่ปี ทรงมีพระบรมราชโองการพระราชทานเขตที่ดินเขตบ้านเหนือและบ้านใต้แก่วัดป่านันทวัน โดยมีพระยาหลวงจันทบุรีและพระยายศเสถียรฝ่ายฆราวาสเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการใส่เกล้า ปรากฏความตามจารึกวัดป่านันทวัน ปัจจุบันจารึกนี้ประดิษฐานอยู่ที่วัดสีอำพอน กำแพงนครเวียงจันทน์ เป็นจารึกด้านเดียวไม่ระบุศักราช นอกจากนี้ยังมีพระบรมราชโองการพระราชทานเขตที่ดินค่านาและค่าที่แก่วัดมณีเชษฐาราม เพื่อสืบต่อพระวรพุทธศาสนาตราบห้าพันวรรษา ปรากฏความตามจารึกวัดมณีเชษฐารามหรือวัดจอมมณี ตำบลมีชัย อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย จารึกมี ๓ ด้าน อ่านได้เฉพาะด้านที่ ๒ และด้านที่ ๓ บางส่วนของจารึกนั้นชำรุด

พ.ศ. ๒๓๖๓ (จ.ศ. ๑๑๘๒) ทรงสร้างจารึกวัดสีสะเกด (ศีรษะเกศ) นครเวียงจันทน์หลังจากบูรณะวัดเสร็จแล้ว พ.ศ. ๒๓๖๔ (จ.ศ. ๑๑๘๓) ทรงเสด็จไปสร้างเมืองนครจำปาศักดิ์ใหม่ และมีพระบรมราชโองการให้พระราชโอรสคือ เจ้าราชบุตร์ (โย้หรือโย่) คณะอาชญาสี่นครเวียงจันทน์ เสด็จไปครองนครจำปาศักดิ์ ปรากฏในพงศาวดารย่อเมืองเวียงจันทน์ว่า "...ศักราชได้ ๑๘๓ ปีฮวดไส้ เดือนยี่ ขึ้น ๙ ค่ำ วันอังคาร... เจ้าแผ่นดินเสด็จจากเมืองไปสร้างปาศักดิ์ เจ้าราชบุตรไปนั่งแล..." [19] พ.ศ. ๒๓๖๗ (จ.ศ. ๑๑๘๖) ทรงตั้งบุญหลวงฉลองวัดสีสะเกด หลังจากที่ทรงบูรณะวัดนี้สำเร็จแล้ว ทรงสร้างหอพระบางเพื่อประดิษฐานพระบางเจ้า ซึ่งพระเจ้านันทเสนพระราชเชษฐาทรงขออัญเชิญคืนจากกรุงเทพพระมหานครมาประดิษฐาน ณ นครเวียงจันทน์เมื่อพุทธศักราช ๒๓๒๖

พ.ศ. ๒๓๖๙ (จ.ศ. ๑๑๘๘) ทรงยกหอพระบางทิศตะวันออก (ตะเว็นออก) สองหลังที่นครเวียงจันทน์ และทรงสร้างพระพุทธรูปสำริดพระแก้วมรกตองค์เทียมหรือองค์จำลอง สูง ๓๖.๕ ซม. พร้อมทรงจารึกพระนามที่ฐานพระพุทธรูปองค์นั้น ปัจจุบันประดิษฐาน ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอุบลราชธานี ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี จารึกด้านล่างฐานพระพุทธรูปนี้มี ๕ บรรทัด ความว่า "...สมเด็จพระราชเชษฐาอาปณคามาธิราชชาติสายสุริยวงศ์ ทรงมีกุศลเจตนาในบวรพุทธศาสนาเป็นอันยิ่ง ให้หล่อพระพุทธรูปเจ้าน้ำหนัก ๒ หมื่น ๕ พัน เทียมพระแก้วมรกตเจ้า เพื่อให้มั่นคงแก่พระพุทธศาสนาตราบเท่า ๕๐๐๐ พระวัสสา..." พระพุทธรูปองค์นี้ประวัติกล่าวว่า พระองค์ทรงหล่อในปีเดียวกันกับที่เสด็จกรีฑาทัพเข้าตีและยึดเมืองนครราชสีมาสำเร็จ เชื่อว่าทรงมีพระราชประสงค์ให้พระพุทธรูปองค์นี้เป็นตัวแทนพระแก้วมรกตที่ถูกสยามชิงไปครั้งสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสิน เพื่อนำไปประดิษฐาน ณ หอพระแก้วเมืองนครเวียงจันทน์ ในปีพุทธศักราช ๒๓๗๐ สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาศักดิ์พลเสพเป็นแม่ทัพตีนครเวียงจันทน์ได้ คงนำพระพุทธรูปสำคัญองค์นี้และองค์อื่นๆ กลับมาพระมหานครด้วย ภายหลังพระพุทธรูปนี้ตกเป็นสมบัติของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ต่อมาพุทธศักราช ๒๕๓๒ จึงย้ายมาแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอุบลราชธานี

พ.ศ. ๒๓๖๙-๒๓๗๐ (จ.ศ. ๑๑๘๘-๑๑๘๙) เกิดสงครามต่อสู้ระหว่างนครเวียงจันทน์กับสยาม ทรงโปรดเกล้าฯ ให้หัวเมืองต่างๆ เช่น เมืองคำเกิด คำม่วน ท่าแขก มหาไชยกองแก้ว ฯลฯ นำพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองทั้งหลาย ไปประดิษฐานหลบซ่อนในถ้ำลึกตามเทือกเขาหินปูน และโปรดฯ ให้ชาวเมืองนำเงินทองไปฝังดินไว้ตามที่ต่างๆ เพื่อให้รอดพ้นจากการชิงปล้นของทหารไทย แต่อย่างไรก็ตาม พระพุทธรูปสำคัญและมีชื่อเสียงหลายองค์ก็ถูกชิงปล้นไปประดิษฐานที่สยามมาจนกระทั่งปัจจุบัน

พ.ศ. ๒๓๗๐ (จ.ศ. ๑๑๘๙) ทรงอัญเชิญพระแสง พระพุทธรูปสำคัญของนครเวียงจันทน์ไปประดิษฐาน ณ ถ้ำเมืองมหาไชยกองแก้ว ในตำนานว่าพระแสงสร้างพร้อมกันกับพระสุก พระเสริม และพระใส พระแสงสร้างโดยเจ้านางคำแสงพระราชธิดาของสมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ต่อมา หลังสงครามเจ้าอนุวงศ์สยามได้สั่งให้เจ้าเมืองนครพนมเชิญขึ้นไปประดิษฐาน ณ กรุงเทพมหานคร แต่พระแสงสำแดงปาฏิหาริย์ไม่ยอมเสด็จจนเกวียนอัญเชิญหัก เจ้าเมืองจึงนำมาประดิษฐานไว้ ณ วัดป่า ต่อมาจึงนำมาประดิษฐาน ณ วัดศรีคุณเมืองกลางเมืองนครพนม ปัจจุบันคือวัดศรีเทพประดิษฐาราม จังหวัดนครพนม[20] นอกจากนี้ ในตำนานเมืองหินบูนหรือเมืองฟองวินห์เก่า ยังกล่าวว่า เมื่อครั้งเสด็จลี้ภัยไปประทับ ณ ถ้ำผาช่างหรือถ้ำผาช้าง เขตเมืองอรันรัตจานาโบราณและเมืองเวียงสุรินทร์โบราณ ปัจจุบันคือส่วนหนึ่งของเมืองหินบูน ประเทศลาว ทรงโปรดให้บูรณะปัดกวาดพระอุโบสถโบราณ (สิมเก่า) ในเมืองนี้มากถึง ๑๒ แห่ง และโปรดให้บูรณะกะตืบ (กุฏิหรืออาคารตึกดิน) ด้วยกันอีก ๑ แห่ง รวมเป็น ๑๓ แห่ง ฝ่ายตำนานเมืองมหาชนไชยก่องแก้วหรือเมืองมหาชัยของลาวนั้นกล่าวว่า เมื่อครั้งเสด็จมาสู้ศึกทหารไทยที่ถ้ำผานางเมืองมหาไชย ทรงตั้งทัพที่วัดแถนอันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปทองคำ พระพุทธรูปทองแดง และพระพุทธรูปเงิน ทรงโปรดเกล้าให้พระสงฆ์และชาวเมืองนำพระพุทธรูปมีค่าทั้งหลายไปประดิษฐานซุกซ่อนไว้ในถ้ำผานางใกล้น้ำสร้างแก้ว[21]

นอกจากนี้ในตำนานเมืองร้อยเอ็ดยังกล่าวว่า พระองค์ยังทรงเสด็จไปสร้างสิมหลวงกลางเมืองร้อยเอ็ดและโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าอุปฮาตเวียงจันทน์เสด็จไปควบคุมดูแลการก่อสร้างด้วย ในการณ์นี้พระยาขัติยวงศา (สีลัง) เจ้าเมืองร้อยเอ็จ ได้ถวายธิดาผู้หนึ่งพระนามว่า อาชญานางนุ้ย ให้เป็นหม่อมหรือบาทบริจาริกาในพระองค์ด้วย

ใกล้เคียง

เจ้าอนุวงศ์ เจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ เจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้าอุบลวรรณา เจ้าอาวาส เจ้าอินทยงยศโชติ เจ้าอุตรการโกศล (ศุขเกษม ณ เชียงใหม่) เจ้าอุปราช (บุญทวงษ์) เจ้าอุปราช (สิทธิสาร ณ น่าน) เจ้าอินทนนท์ ณ เชียงใหม่