พระราชประวัติ ของ เจ้าอนุวงศ์

ราชตระกูล

เจ้าอนุวงศ์เป็นพระราชโอรสลำดับ ๓ ของสมเด็จพระเจ้าสิริบุญสาร กษัตริย์ล้านช้างเวียงจันทน์ (ครองราชย์ราว พ.ศ. ๒๒๙๔-๒๓๒๒) พระราชมารดาเป็นชาวเมืองหนองบัวลุ่มพู (หนองบัวลำภู) พระนัดดาเจ้าเอกเมืองพานหมอคง (ในอุดรธานี) สันนิษฐานว่าอาจเป็นเชื้อสายหรือพระราชนัดดาเจ้าพระตาผู้สถาปนานครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน (หนองบัวลุ่มพู) ซึ่งพื้นเมืองอุบลหรือพงศาวดารเมืองอุบลราชธานีออกพระนามเจ้านางแสนสีชาติ (แสนสีซาด) พงศาวดารเมืองหลวงพระบาง (พื้นเมือง) ฉบับบ้านเซียงม่วน นครหลวงพระบาง แขวงหลวงพระบางระบุว่า ...เจ้าองบูนนั้นจั่งเอานางลู่มพูหนองบัวแม่นหลานเจ้าเอกเมืองพานหมอคง (คัง) อันโตนสวาดนำที่กิ่วบางกอกเมืองขวาปางนั้นละเจ้าไว้ อินทโสมจึ่งหนีไปอยู่ลู่มพูปางนั้น ลูกนางลู่มพูนั้นจึงมีเจ้าอิน เจ้าอานุ...[6] นักประวัติศาสตร์บางกลุ่มเห็นว่าพระราชมารดาของพระองค์อาจมีตำแหน่งเป็นนางเจ้าเอกเมืองคือพระอัครมเหสีในสมเด็จพระเจ้าศิริบุญสาร เอกสารนี้ทำให้ทราบว่าพระองค์เป็นพระราชอนุชาร่วมพระราชมารดากับสมเด็จพระเจ้าอินทวงศ์แต่ต่างพระราชมารดากับสมเด็จพระเจ้านันทเสน ส่วนราชตระกูลฝ่ายพระราชบิดาราชสืบสันตติวงศ์จากเจ้าชมภู (ซมพู) พระราชเชษฐาองค์ใหญ่ของพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชซึ่งถูกเนรเทศไปเมืองเว้ราชธานีจักรวรรดิเวียดนาม เนื่องจากพระเจ้าสุริยวงศาต้องการกำจัดคู่แข่งการเมือง ครั้งเจ้าชมภูประทับอยู่เวียดนามทรงมีพระโอรสพระนามเจ้าไชย เนื่องจากประสูติที่กรุงเว้จึงออกพระนามพระไชยองค์เว้ (องค์แว้) ภายหลังพระไชยองค์เว้ชิงราชสมบัติเจ้านันทราชและปราบดาภิเษกเป็นพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ ๒ มีพระราชโอรสคือเจ้าองค์ลอง พระราชนัดดาคือเจ้าองค์บุญหรือสมเด็จพระเจ้าสิริบุญสาร พระราชพงศาวดารล้านช้าง ภาษาลาว ฉบับหอสมุดแห่งชาติกรุงเทพฯ ระบุว่า ...เจ้าสุริยกุมารลูกหล้าเจ้าต่อนคำได้เสวยเมืองล้านซ้างผาบแผ่นดินลาวทั้งมวล ทรงนามกรขึ้นซื่อว่าพระสุริยวงษาธรรมิกราชาบรมบพิตรราชะเจ้าล้านซ้างฮ่มขาวแล แล้วใส่มาบรรพาซนิยกรรมขับพี่อ้ายทั้ง ๔ องค์หนีจากเมือง ส่วนดั่งเจ้าซมภูผู้เป็นพี่ตนจึ่งเอาเมียทั้งแสนทิพนาบัวหนีไปอยู่เมืองแว้พึ่งแกวนั้นแล ครั้งนั้นเจ้าบุญซูหนีไปบวชอยู่ภูหอภูโฮงโน้นแล ท้าวบุ (ปุ) นั้นพ่ายหนีมาอยู่เซียงคานก็อนิจกรรมเสียหั้นแล ท้าวส้อย (ซ้อย) ผู้น้องนั้นพ่ายไปอยู่สะพือหลวงก็ถึงอนิจกรรมเสียนั้น ดั่งเจ้าซมภูไปพึ่งอยู่สะพือหลวงแกวนั้นมีลูกผู้หนึ่งซื่อพระไซยองค์แว้...พระไซยองค์แว้ก็หลานเจ้าสุริย...พระไซยองค์แวนั่งเวียงจัน ลูกพระไซยองค์แว้นั้นแม่นองค์รอง (ลอง) ลูกเจ้าองค์รองนั้นแม่นองค์บุญ...

เหตุการณ์สงครามเจ้าอนุวงศ์

ดูบทความหลักที่: สงครามเจ้าอนุวงศ์

พ.ศ. ๒๓๖๘ เจ้าอนุวงศ์เสด็จถวายพระเพลิงพระบรมศพ ร. ๒ ของสยาม เอกสารฝ่ายสยามคือพระราชพงศาวดารระบุว่าทรงพิจารณาว่ากองทัพสยามอ่อนแอเนื่องจากแม่ทัพนายกองรุ่นเก่าที่มีฝีมือสิ้นชีวิตหลายคน และมีข่าวลือถึงนครหลวงเวียงจันทน์ว่าสยามกับอังกฤษวิวาทกันจากการทำสนธิสัญญาเบอร์นี ต่อมากรมหมื่นเจษฎาบดินทร์สถาปนาขึ้นเป็น ร. ๓ เจ้าอนุวงศ์ทูลขอพระราชทานละครในของเวียงจันทน์ เจ้าหญิงลาวพระนามเจ้านางดวงคำ[7] และชาวลาวที่ถูกกวาดต้อนมาสยามสมัยธนบุรีให้กลับคืนบ้านเมืองแต่ไม่อนุญาต อาจเป็นเหตุให้พระองค์ไม่พอพระทัยจึงยกทัพลงมาโดยตั้งใจเข้าตีกรุงเทพฯ ทรงเริ่มวางอุบายแก่เจ้าเมืองลาวตามรายทางว่าจะยกทัพช่วยกรุงเทพฯ รบอังกฤษทำให้กองทัพลาวสามารถเดินทัพผ่านได้โดยสะดวก เอกสารฝ่ายลาวคือพื้นเวียงจันทน์ระบุว่าทรงโปรดฯ ให้เจ้านายหัวเมืองลาวเข้าร่วมตีนครราชสีมาเนื่องจากเจ้านครราชสีมาล่วงล้ำแดนลาวเข้าตีข่าสักเลกไปมอบให้สยาม พระองค์ไม่ได้ตั้งใจลงตีกรุงเทพฯ แต่ประการใด บรรดาเจ้าเมืองลาวทั้งสองฝั่งโขงต่างไม่พอใจเจ้าเมืองนครราชสีมาอยู่แล้วจึงร่วมมือกับพระองค์ เช่น พระยาไกรสอนคำแดงเจ้าเมืองภูขัน (ขุขันธ์) พระยาขัติยวงศาเจ้าเมืองร้อยเอ็ด พระบรมราชาเจ้าเมืองนครพนม พระยานรินทรสงครามเจ้าเมืองสี่มุม เป็นต้น เอกสารฝ่ายสยามระบุว่าเมื่อทัพลาวยกถึงนครราชสีมาทรงฉวยโอกาสที่เจ้าเมืองและพระยาปลัดเมืองนครราชสีมาไปราชการที่ขุขันธ์เข้ายึดเมืองและกวาดต้อนครัวโคราชขึ้นไปนครหลวงเวียงจันทน์ เอกสารฝ่ายลาวระบุว่าเจ้าเมืองนครราชสีมาทราบข่าวทัพลาวยกถึงนครราชสีมาเกรงว่าจะต้องโทษที่ล่วงล้ำแดนนครหลวงเวียงจันทน์และนครจำปาศักดิ์จึงทิ้งเมืองและปลอมตัวหนี เมื่อพระองค์เสด็จถึงวังเจ้านครราชสีมาอันใหญ่โตซึ่งมีถึง ๗ หลังและมีพื้นที่บรรจุทหารกว่าพันคนจึงโปรดฯ ให้พระบรมราชา (มังต้นสกุลมังคละคีรี) เจ้าเมืองนครพนมเป็นเจ้าเมืองนครราชสีมาแทน ต่อมาเอกสารฝ่ายสยามระบุว่าระหว่างทัพลาวพักไพร่พลเชลยที่ทุ่งสัมฤทธิ์ครัวเมืองนครราชสีมาวางอุบายลวงฆ่าทหารลาวจำนวนมากแล้วตั้งค่ายรอทัพกรุงเทพฯ ขึ้นมาช่วย ทหารลาวเห็นการไม่สำเร็จจึงถอยทัพกลับตั้งมั่นที่นครหลวงเวียงจันทน์เพื่อรอรับศึกสยาม สยามเห็นว่าเหตุการณ์นี้เป็นจุดเริ่มต้นวีรกรรมทุ่งสัมฤทธิ์ของท้าวสุรนารี (โมหรือโม้) ชายาเจ้านครราชสีมา[8] และวีรกรรมนางสาวบุญเหลือธิดากรมการเมืองนครราชสีมา ส่วนลาวไม่พบเอกสารชั้นต้นหรือเอกสารปฐมภูมิระบุวีรกรรมสตรีทั้งสองท่าน ข้อสังเกตในมุขปาฐะฝ่ายลาวระบุว่าท้าวสุรนารีเดิมเป็นชาวลาวมีใจใฝ่สยามจึงร่วมวางแผนกับสยามตีเวียงจันทน์ซึ่งยังไม่พบเอกสารลายลักษณ์มายืนยัน กรณีดังกล่าวลาวระบุว่าเหตุการณ์นี้เป็นจุดเริ่มต้นวีรกรรมเจ้าเมืองและราชวงศ์ลาวอย่างน้อย ๕ ท่านที่จงรักภักดีแก่เวียงจันทน์คือ วีรกรรมพระยานรินทร์สงคราม (เจ้าจอมนรินทร์หรือพระยาโนลินต้นสกุลลาวัณบุตร์) เจ้าเมืองจตุรัส (เมืองสี่มุม) และเมืองหนองบัวลุ่มภู (หนองบัวลำภู) วีรกรรมพระบรมราชา (มัง บ้างว่าสุตตา) เจ้าเมืองนครพนมและนครราชสีมา วีรกรรมเจ้าอุปอาดและท้าวคำม่วน (คำ) เมืองยโสธร[9] และวีรกรรมสมเด็จเจ้าราชวงศ์ (เหง้า) พระราชโอรสของเจ้าอนุวงศ์

สงครามนี้ฝ่ายกรุงเทพฯ ทราบข่าวทัพลาวช้ากว่าที่คิดหลังทัพลาวตั้งมั่นที่นครราชสีมา ต่อมาสยามส่งกองลาดตระเวนหาข่าวถึงเมืองสระบุรี เมื่อ ร. ๓ ทราบข่าวศึกจึงโปรดเกล้าฯ กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์เป็นแม่ทัพใหญ่ยกจากสระบุรี ให้พระยาราชสุภาวดี (สิงห์ สิงหเสนี) ซึ่งเอกสารฝ่ายลาวเรียกพระยามุนินเดชยกทัพไปทางเมืองปัก (อำเภอปักธงชัย) สมทบกันที่นครราชสีมา กองทัพทั้ง ๒ ตีทัพลาวแตก ฝ่ายเจ้าอนุวงศ์และพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จลี้ภัยและปรึกษาราชการศึกที่เวียดนามโดยความคุ้มครองของจักรพรรดิเวียดนาม หลังทัพสยามทำลายนครหลวงเวียงจันทน์ได้กรมพระราชวังบวรฯ โปรดฯ ให้สร้างเจดีย์ปราบเวียงที่หนองคายและให้พระยาราชสุภาวดีกวาดครัวนครหลวงเวียงจันทน์ไปกรุงเทพฯ ทัพสยามอัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญไปจำนวนมาก​ เช่น​ พระบาง พระแซกคำ (พระแทรกคำ) พระสันส้มมอ (พระฉันสมอ) พระเสริม พระสุก พระใส พระแสน พระแก่นจันทน์ พระเงินหล่อ พระเงินบุ พระสรงน้ำ พระศิลาเขียว (พระนาคสวาดิเรือนแก้ว) เป็นต้น เอกสารฝ่ายลาวระบุว่ายังมีสมบัติล้ำค่าและพระพุทธรูปประจำหัวเมืองลาวหลายองค์ที่ทัพสยามพยายามอัญเชิญไปแต่ประชาชนลาวนำไปซ่อนในถ้ำก่อน อาทิ พระแสงเมืองนครพนมซ่อนที่เมืองมหาไชย พระแก้วมรกตจำลองซ่อนในองค์พระธาตุพนม พระทองคำจำนวนมากซ่อนในถ้ำปลาฝาและถ้ำพระ เมืองท่าแขก เป็นต้น พ.ศ. ๒๓๗๐ ร. ๓ ไม่พอใจที่พระยาราชสุภาวดีไม่ทำลายนครหลวงเวียงจันทน์ให้สิ้นซากจึงโปรดเกล้าฯ ให้กลับไปทำลายอีกครั้ง ความชอบนี้ทรงโปรดเกล้าฯ เลื่อนเป็นเจ้าพระยาราชสุภาวดีที่สมุหนายก พระยาพิชัยสงครามคุมทหาร ๓๐๐ ข้ามโขงดูลาดเลาได้ความว่าพระราชวงศ์เหงียนให้ข้าหลวงเชิญเจ้าอนุวงศ์และเจ้าราชวงษ์ (เหง้า) กลับมาเจริญสัมพันธไมตรีกับสยามอีกครั้ง เอกสารฝ่ายลาวระบุว่าเจ้าอนุวงศ์ไม่พอพระทัยพระจักรพรรดิเวียดนามที่ไม่มีความจริงใจและคิดแสวงหาทรัพย์สินเงินทองจากลาวครั้นเห็นทหารสยามอาศัยในนครหลวงเวียงจันทน์จึงนำพลฆ่าฟันขับไล่ทหารสยามออกไป เอกสารฝ่ายสยามระบุว่ารุ่งขึ้นเจ้าอนุวงศ์และเจ้าราชวงษ์ (เหง้า) กลับยกพลเข้าโจมตีทหารสยามล้มตายเป็นอันมาก เจ้าพระยาราชสุภาวดีเห็นทหารลาวไล่ฆ่าทหารสยามถึงชายหาดหน้าเมืองพันพร้าวทราบว่าเกิดเหตุร้ายจึงขอกำลังเพิ่มจากเมืองยโสธร เจ้าอนุวงศ์โปรดฯ ให้เจ้าราชวงศ์ (เหง้า) นำพลข้ามตามมาปะทะทัพสยามที่ค่ายบกหวาน บ้านบกหวาน เมืองหนองคาย สู้กันถึงขั้นตะลุมบอน แม่ทัพทั้ง ๒ รบกันตัวต่อตัวจนบาดเจ็บปรากฏฝ่ายเจ้าราชวงษ์ (เหง้า) มีชัย ส่วนเจ้าพระยาราชสุภาวดีแพ้ราบคาบเพราะถูกฟัน ทหารสยามยิงปืนต้องเจ้าราชวงษ์ (เหง้า) บาดเจ็บเล็กน้อย ทัพสยามเร่งติดตามทัพลาวถึงพันพร้าวปรากฏทัพลาวข้ามโขงไปแล้ว ทหารลาวหามเจ้าราชวงษ์ (เหง้า) ไปรักษาพระองค์ในค่ายและไม่ปรากฏเรื่องราวของพระองค์อีกเลย

เจ้าอนุวงศ์เห็นเหตุการณ์จึงพาครอบครัวและพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จขึ้นเหนือไปพึ่งพระราชธิดาซึ่งเป็นพระมเหสีพระเจ้าสุททะกะสุวันนะกุมารเจ้านครเชียงขวาง (เจ้าน้อยเมืองพวน) เจ้าน้อยถูกสยามลวงให้บอกที่ซ่อนและจับกุมพระองค์พร้อมพระบรมวงศานุวงศ์ลงกรุงเทพฯ เอกสารฝ่ายลาวระบุว่าสงครามนี้ทรงสูญเสียพระราชโอรสพระนามท้าวหมื่นนามซึ่งประสูติแต่พระนางสอนราชเทวีราชธิดาพระบรมราชาเจ้าเมืองนครพนม พระนางสอนถูกทหารสยามนำไปถวาย ร. ๓ สยามนำเจ้าอนุวงศ์ประทับกรงเหล็กประจานหน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ นำเครื่องทรมานต่าง ๆ ทรมานพระองค์อย่างโหดร้าย ให้อดข้าว น้ำ ทั้งพระมเหสี พระชายา พระสนม ตลอดจนพระราชโอรสธิดาพระราชนัดดาหลายพระองค์ ไม่นานก็สิ้นพระชนม์ด้วยความทุกข์ทรมานสิริพระชนมายุรวม ๖๑ ชันษา เสวยราชย์ราชอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ ๒๓ ปี สยามลดฐานะนครหลวงเวียงจันทน์เป็นหัวเมืองชั้นจัตวาขึ้นเมืองหนองคาย ยกหนองคายเป็นเมืองชั้นเอก ให้มีเจ้าเมืองลาวอยู่รักษาเมืองเวียงจันทน์ ไม่สถาปนาพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใดในราชวงศ์ล้านช้างเวียงจันทน์ขึ้นเสวยราชย์ นครหลวงเวียงจันทน์ถูกปล้นเผาทำลายไม่เหลือสภาพราชธานีกลายเป็นเมืองร้างเหลือวัดสำคัญไม่กี่แห่งคือวัดสีสะเกด หลังสิ้นพระชนม์ราชอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ถึงกาลอวสาน เอกสารฝ่ายสยามไม่ระบุพระราชพิธีพระบรมศพของพระองค์ เอกสารฝ่ายลาวระบุว่าสยามจัดอย่างพิธีลาวใหญ่โตและงดงามกลางกรุงเทพฯ ไม่พบข้อมูลการสร้างพระเจดีย์บรรจุพระบรมอัฐิ ลือว่าพระบรมอัฐิของพระองค์ถูกรักษาไว้ใต้บันไดวัดอรุณราชวราราม วรรณกรรมประวัติศาสตร์พื้นเมืองเวียงจันทน์หรือพื้นเจ้าราชวงศ์เหลาคำระบุการสิ้นพระชนม์ต่างไปโดยทรงสั่งพระมเหสีนำง้วนสาร (ยาพิษ) เจือข้าวต้มมัดมาเสวย สยามนำพระบรมศพฝังใต้ฐานพระธาตุดำกลางนครหลวงเวียงจันทน์ สมัย ร. ๔ ทรงปรารถนาชุบเลี้ยงเจ้านายราชวงศ์ล้านช้างเวียงจันทน์ทายาทเจ้าอนุวงศ์จึงโปรดเกล้าฯ สถาปนาเจ้าจอมมารดาดวงคำพระราชนัดดาเจ้าอนุวงศ์ขึ้นเป็นเจ้าจอมพระสนม โปรดเกล้าฯ พระราชนัดดาทั้ง ๒ คือเจ้าจันทรเทพสุริยวงศ์ดำรงรัฐสีมามุกดาหาราธิบดี (หนู ต้นสกุล จันทนากร) ขึ้นเสวยราชย์เมืองมุกดาหารบุรี (มุกดาหาร) ในฐานะประเทศราช โปรดฯ ให้เจ้าพรหมเทวานุเคราะห์วงศ์ดำรงรัฐสีมาอุบลราชธานีบาล (หน่อคำ ต้นสกุล เทวานุเคราะห์, พรหมโมบล, พรหมเทพ) เสวยราชย์เมืองอุบลราชธานีในฐานะเมืองประเทศราชเช่นกัน

ข้อสังเกตการพ่ายสงครามของเจ้าอนุวงศ์

นักประวัติศาสตร์บางกลุ่มวิเคราะห์เหตุผลการพ่ายแพ้ของเจ้าอนุวงศ์ไว้หลายประการคือ

๑. ทัพลาวอาจมีแสนยานุภาพน้อยกว่าทัพสยามและทัพนครราชสีมา เมื่อตรวจสอบหลักฐานฝ่ายลาวกลับพบว่านครราชสีมาด้อยกว่าลาวมากแต่สยามมีแสนยานุภาพ มียุทธศาสตร์และยุทธวิธีมากกว่าลาวเนื่องจากอาวุธที่ทันสมัย

๒. เจ้าอนุวงศ์ถูกทรยศโดยสมเด็จเจ้ามหาอุปราช (ติสสะ) พระราชอนุชาต่างพระราชมารดาของพระองค์ และถูกทรยศโดยเจ้าน้อยเมืองพวนแห่งอาณาจักรเชียงขวางราชบุตรเขยของพระองค์

๓. อาณาจักรลาวหลวงพระบางและล้านนาต่างเป็นเอกเทศหรืออาจฝักใฝ่สยามจึงไม่ร่วมมือกับทัพลาว

๔. ทายาทบุตรหลานเจ้านายลาวบางกลุ่มซึ่งเป็นผู้นำท้องถิ่นขณะนั้นถูกเกณฑ์เข้าร่วมทัพสยามเพื่อต้านอิทธิพลของเวียงจันทน์[10]

มูลเหตุสงครามจากเอกสารปฐมภูมิพื้นเวียงจันทน์ของลาวและอีสาน

จากพื้นเมืองเวียงจันทน์สามารถสรุปมูลเหตุสงครามได้ดังนี้

๑. เจ้าพระยานครราชสีมามีพฤติการณ์ยุแยงเจ้านายลาวให้วิวาทกันเป็นนิจ เช่น ยุเจ้าเมืองขุขันธ์และน้องชายให้แย่งเมืองกัน ยุเจ้าหัวสาเกียดโง้งเข้ายึดและเผาจำปาศักดิ์ ใช้อำนาจเหนือเจ้าเมืองกาฬสินธุ์ให้สักเลกข้าอุปัฏฐากพระธาตุพนม ติดสินบนพระยามหาอำมาตย์ให้ตนพ้นคดีจนได้เป็นเจ้าเมืองและได้ปกครองด่านเมืองโขงเพื่อต้านอิทธิพลเวียดนาม เป็นต้น

๒. การยุยงเจ้าหัวสาภูเกียดโง้ง (ภูเขียดโง้ง) ให้นำกำลังข่าระแดในลาวใต้เข้าเผาจำปาศักดิ์จนร้อนถึงเจ้าอนุวงศ์เสด็จปราบกบฏด้วยพระองค์เอง และกษัตริย์จำปาศักดิ์องค์ก่อนซึ่งเป็นญาติกษัตริย์เวียงจันทน์ถูกเจ้านครราชสีมาบริภาษว่าหวาดกลัวข้าศึก อาจเป็นแรงผลักดันให้เวียงจันทน์ต้องหาทางจัดการนครราชสีมา

๓. เจ้านครราชสีมายุน้องชายพระยาไกรภักดีหรือพระยาไกรสอนคำแดงเจ้าเมืองภูขัน (ขุขันธ์) ให้สู้กับพี่ชายเพื่อชิงตำแหน่งเจ้าเมืองและเผาเมืองภูขัน ทำให้เจ้าเมืองภูขันไม่พอใจและเข้าเป็นกำลังสำคัญของเวียงจันทน์

๔. สยามอาจพอใจผลงานการตีข่าสักเลกหัวเมืองลาวของเจ้านครราชสีมา แต่ลาวไม่พอใจเนื่องจากเลกส่วนมากเคยขึ้นกับเวียงจันทน์

๕. เจ้าพระยานครราชสีมาบริภาษสมเด็จเจ้าราชบุตร์ (โย้) กษัตริย์จำปาศักดิ์พระราชโอรสของเจ้าอนุวงศ์ พร้อมไม่ฟังคำทัดทานห้ามตีข่าในแดนลาว ซึ่งพื้นเมืองอุบลระบุว่าเหตุการณ์นี้สร้างความไม่พระทัยต่อสมเด็จเจ้าราชบุตร์ (โย้) อย่างมากจนเสด็จขึ้นไปฟ้องพระราชบิดาที่นครหลวงเวียงจันทน์ด้วยพระองค์เอง

๖. การล่วงพระราชอำนาจกษัตริย์เวียงจันทน์ของเจ้านครราชสีมาโดยนำนายกองเข้าสักเลกข้าอุปัฏฐากพระธาตุพนมซึ่งเป็นศูนย์กลางทางศาสนาของอาณาจักร จากการสนับสนุนของเจ้าเมืองกาฬสินธุ์ขัดต่อประเพณีพระพุทธศาสนาของบ้านเมือง เนื่องจากข้าเลกเหล่านี้ได้ถูกกัลปนาไว้ไม่มีหัวเมืองใดสามารถแย่งชิงเป็นข้าของตนได้ และการสักเลกนี้ยังลามถึงประชาชนที่อาศัยอยู่บนภูเขา (ไทภู) ด้วย[11]

มุมมองเหตุการณ์และทรรศนะประชาชนสองประเทศ

สงครามเจ้าอนุวงศ์ถูกเรียกต่างกันขึ้นกับมุมมองแต่ละฝ่าย ลาวใช้พระองค์เป็นสัญลักษณ์การต่อสู้เพื่อปลดแอกจากการปกครองของสยามจึงเรียกเหตุการณ์นี้เป็น สงครามกู้เอกราช ทั้งยกย่องพระองค์เป็นวีรบุรุษและมหาราชของชาติทั้งสมัยพระราชอาณาจักรลาวและสมัยสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ทรงเป็นองค์ศาสนูปถัมภกที่สำคัญและทรงคุณธรรมทางการปกครอง[12] เป็นพระหน่อพุทธเจ้าผู้เปี่ยมพระราชอำนาจราชบารมีเป็นที่ครั่นคร้ามและนับถือของเจ้านายหัวเมืองลาว เอกสารพื้นเวียงชี้ว่าพระราชอำนาจของพระองค์เป็นที่หวั่นเกรงไปถึงนครราชสีมาและหัวเมืองชายพระราชอาณาเขตสยาม แต่ไทยมองการบุกรุกของพระองค์เป็นภัยคุกคามความมั่นคงของอาณาจักรจึงเรียกเหตุการณ์นี้ว่า กบฏเจ้าอนุวงศ์ เอกสารประวัติศาสตร์สยามกล่าวขวัญถึงพระองค์ในฐานะกษัตริย์ประเทศราชผู้ก่อการขบถต่อแผ่นดิน[13] ประชุมพงศาวดารบางฉบับของสยามจึงดูหมิ่นพระเกียรติยศของพระองค์โดยออกพระนาม อ้ายอนุ และเชื่อว่าทรงมีพระราชประสงค์แน่ชัดที่จะทำลายกรุงเทพฯ เพื่อยึดสยามเป็นเมืองขึ้น หากไม่สามารถยึดได้ก็เผาทำลายกรุงเทพฯ และยึดบางส่วนที่สามารถปกครองได้[14] นักประวัติศาสตร์บางกลุ่มมองว่าเหตุการณ์นี้อาจไม่ใช่การทั้งการกอบกู้เอกราชและกบฏ แต่เป็นสงครามชิงอำนาจตามปกติเหมือนอาณาจักรต่าง ๆ ในยุคนั้น หากทรงปรารถนากอบกู้เอกราชเพียงตั้งแข็งเมืองก็พอแล้ว

ผลพวงของสงครามในยุคปัจจุบัน

หลังเหตุการณ์เผานครเวียงจันทน์ ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางสำคัญของการปกครองหัวเมืองลาว และหลังความพยายามทำลายราชวงศ์เวียงจันทน์ให้สิ้นซากของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) แห่งสยามนั้น ได้ก่อให้เกิดเหตุการณ์กบฏหัวเมืองลาว-อีสานยืดเยื้อตามมาอีกหลายครั้งสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน อาทิ กบฎเจ้าแก้ว ผู้เป็นพระราชโอรสในสมเด็จเจ้าราชบุตร์ (โย้) เจ้านครจำปาศักดิ์ พระราชนัดดาในเจ้าอนุวงศ์ กบฏผีบุญอีสานและฝั่งซ้าย ซึ่งนำโดยกลุ่มองค์มั่นและกลุ่มต่างๆ ตามหัวเมืองลาว-อีสาน ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ตลอดจนกบฏท่านเตียง ศิริขันธ์และกลุ่มรัฐมนตรีอีสาน ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นต้น บ่อยครั้งชาวลาวและชาวอีสานต่างก็นิยมอ้างถึงเหตุการณ์เผานครเวียงจันทน์ในอดีต มาเป็นเหตุผลในการต่อสู้กับอำนาจสยามและอำนาจรัฐ เรื่องราวของเจ้าอนุวงศ์ไม่เพียงแต่เป็นชนวนเหตุความขัดแย้งของประชาชนชาวลาวกับชาวไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นชนวนเหตุให้ชาวลาวในภาคอีสานขัดแย้งกับชาวไทยสยาม เป็นชนวนเหตุให้ชาวลาวในอีสานที่นิยมสยามกับชาวลาวในอีสานที่นิยมลาวขัดแย้งกันเอง และเป็นชนวนเหตุให้เกิดการปลุกระดมการแบ่งแยกดินแดนของชาวลาวอีสาน [15] ไม่เพียงเท่านี้ เหตุการณ์สงครามเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ยังสามารถถือเป็นทั้งจุดเปราะบางและจุดแตกหักของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศลาวและประเทศไทยอีกด้วย

ใกล้เคียง

เจ้าอนุวงศ์ เจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ เจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้าอุบลวรรณา เจ้าอาวาส เจ้าอินทยงยศโชติ เจ้าอุตรการโกศล (ศุขเกษม ณ เชียงใหม่) เจ้าอุปราช (บุญทวงษ์) เจ้าอุปราช (สิทธิสาร ณ น่าน) เจ้าอินทนนท์ ณ เชียงใหม่