ความนิยม ของ เซนต์เซย์ย่า

หน้าปกหนังสือการ์ตูนเซนต์เซย์ย่า เล่มที่ 27 ฉบับภาษาฝรั่งเศส

เซนต์เซย์ย่าเป็นหนึ่งในผลงานที่ตีพิมพ์ออกมาในช่วงยุคทองของนิตยสารจัมป์รายสัปดาห์ ซึ่งเป็นช่วงที่มีการ์ตูนดังๆ ในยุค'80 ตีพิมพ์อยู่หลายเรื่อง เช่น ดราก้อนบอล ฤทธิ์หมัดดาวเหนือ คินนิคุแมน โรงเรียนลูกผู้ชาย และซิตี้ฮันเตอร์ มีเนื้อหาเกี่ยวกับกลุ่มนักรบเด็กหนุ่มห้าคน (เซนต์) ซึ่งต่อสู้โดยใช้ร่างกายของตนเองเป็นอาวุธ ในโลกร่วมสมัยที่มีบรรยากาศของเทพปกรณัมกรีก เด็กหนุ่มทั้งห้าคนนี้ได้รับมอบหมายหน้าที่ให้ปกป้อง คิโดะ ซาโอริ ผู้เป็นอวตารของเทพีเอเธนา เทพีแห่งปัญญาและสงคราม และต่อสู้กับทัพศัตรูแห่งความชั่วร้าย ซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูงจากทั้งผู้ชมที่เป็นผู้ชายและผู้หญิง ต่อมาเมื่อถูกสร้างเป็นอนิเมะออกอากาศทางโทรทัศน์ ก็มีกระแสตอบรับที่ดีจนได้ออกอากาศติดต่อกันนานเกือบ 3 ปี ส่งผลให้สินค้าต่างๆ ที่เกี่ยวกับเซนต์เซย์ย่า เช่น วิดีโอภาพยนตร์การ์ตูน ซอฟต์แวร์เกม หุ่นฟิกเกอร์และหุ่นเหล็กในรูปแบบต่างๆ ที่ผลิตโดยบริษัทบันไดในช่วงนั้น ได้รับความนิยมและขายดีเป็นอย่างมากทั้งในประเทศญี่ปุ่นและต่างประเทศ[2][3][4] ยิ่งไปกว่านั้นในปัจจุบันยังได้มีการผลิตของเล่นที่เรียกว่า เซนต์คลอธมิธ ซึ่งเป็นเหมือนกับหุ่นแอคชันฟิกเกอร์รุ่นปรับปรุงใหม่ออกมาวางจำหน่ายอีกด้วย

นอกจากนี้ เซนต์เซย์ย่า ยังได้สร้างอิทธิพลให้แก่การ์ตูนญี่ปุ่นในยุคต่อมาอย่าง ซามูไรทรูปเปอร์ ที่สร้างโดยซันไรส์ ในปี พ.ศ. 2531 และชูราโตะยอดองครักษ์ ที่สร้างโดยทัตสึโนะโกะโปร ในปี พ.ศ. 2532 ซึ่งแนวเรื่องของผลงานทั้ง 2 ที่กล่าวมา ต่างก็เน้นในด้านการต่อสู้และมิตรภาพของเหล่าเด็กหนุ่มที่สวมชุดเกราะ โดยรูปแบบของเกราะจะแยกชิ้นส่วนมาประกอบเข้ากับร่างกายเช่นเดียวกับในเรื่องเซนต์เซย์ย่า[4][5]

ยิ่งไปกว่านั้น นอกจากในประเทศไทยแล้ว เซนต์เซย์ย่ายังได้ไปแพร่ภาพทางโทรทัศน์ในประเทศต่างๆ อีกหลายประเทศ ทั้งในแถบเอเชียด้วยกัน เช่น ประเทศจีน ฮ่องกง สิงคโปร์ และอีกฟากของทวีปอย่างแถบยุโรป สหรัฐอเมริกา รวมไปถึงลาตินอเมริกา โดยถึงแม้ว่าในแถบยุโรปจะมีความเข้มงวดเกี่ยวกับฉากต่อสู้ที่มีความรุนแรงในเรื่อง แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เซนต์เซย์ย่าเสื่อมความนิยมลงแต่อย่างใด เพราะหลังจากที่แพร่ภาพจบชุด ยังถูกนำกลับมาฉายใหม่อีกหลายครั้ง ส่วนที่ประเทศเม็กซิโกในแถบละตินอเมริกา ก็ได้มีการแพร่ภาพเรื่องเซนต์เซย์ย่าถึง 14 ครั้งด้วยกัน[4]

และจากการถูกนำไปแพร่ภาพในหลายๆ ประเทศ ทำให้ชื่อเรื่อง เซนต์เซย์ย่า ได้รับการตั้งขึ้นใหม่ตามภาษาและวัฒนธรรมของบางประเทศ เช่น ช่องการ์ตูนเน็ตเวิร์กในสหรัฐอเมริกาใช้ชื่อว่า "Knights of the Zodiac" ภาษาฝรั่งเศสใช้ชื่อว่า "Les Chevaliers du Zodiaque" ภาษาอิตาลีใช้ชื่อว่า "I Cavalieri dello zodiaco" ภาษาโปรตุเกสใช้ชื่อว่า "Os Cavaleiros do Zodíaco" ภาษาโปแลนด์ใช้ชื่อว่า "Rycerze Zodiaku" เป็นต้น

ใกล้เคียง

เซนต์ เซนต์เซย์ย่า เซนต์ปีเตอส์เบิร์ก เซนต์เซย์ย่า ภาค The Lost Canvas จ้าวนรกฮาเดส เซนต์เจมส์พาร์ก เซนต์หลุยส์ เซนต์เฮเลนา อัสเซนชัน และตริสตันดากูนยา เซนต์เบอร์นาร์ด (พันธุ์สุนัข) เซนต์แมรีส์สเตเดียม เซนต์เซย์ย่า กำเนิดอัศวินจักรราศี

แหล่งที่มา

WikiPedia: เซนต์เซย์ย่า http://www.cartooninter.com/main/allproduct-cartoo... http://www.dexclub.com/webboard/show.php?Category=... http://draco.exteen.com/20050903/t-t http://starking.blog45.fc2.com/blog-entry-21.html http://www.kartoon-discovery.com/focus/seiya/focus... http://www.saintobio.com http://www.saintseiyathaifanclub.com/ http://www.saintseiyathaifanclub.com/smf_n/index.p... http://www.thaisaintseiya.com/ http://www.thaisaintseiya.com/review_clothmyth.php