เบื้องหลังการประพันธ์และการตีพิมพ์ ของ เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์

โทลคีนแต่งเรื่อง เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ เป็นตอนต่อจากเรื่อง เดอะฮอบบิท ซึ่งตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2480 (ค.ศ. 1937) และประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม[4] ทำให้สำนักพิมพ์เรียกร้องให้โทลคีนรีบส่งผลงานเกี่ยวกับ ฮอบบิท และ กอบลิน มาอีกโดยด่วน ในปีนั้นโทลคีนอายุ 45 ปี เขาจึงได้เริ่มวางโครงเรื่องนิยายตอนใหม่ ต่อมา กลายเป็น เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ โดยใช้เวลาประพันธ์ยาวนานถึง 12 ปี เขาเขียนเสร็จในปี พ.ศ. 2492 (ค.ศ. 1949) แต่กว่าจะได้ตีพิมพ์ครบทั้งหมดก็ล่วงไปถึง ค.ศ. 1955 ซึ่งเขามีอายุได้ 63 ปี[5]

ที่จริงโทลคีนไม่ได้คิดจะเขียนตอนต่อของ เดอะฮอบบิท งานประพันธ์หลัก ๆ ของเขาส่วนใหญ่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของโลกอาร์ดา เรื่องราวของซิลมาริล และชนชาติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นที่มาของเหตุการณ์ใน เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ ผู้ที่ศึกษาชีวประวัติของโทลคีนจำนวนมากต่างลงความเห็นว่า งานที่เป็น "ผลงานแห่งดวงใจ" ของโทลคีนที่แท้แล้ว คือ ซิลมาริลลิออน[6] แต่เขาเขียนเรื่องนี้ยังไม่ทันเสร็จเรียบร้อยดี ก็เสียชีวิตไปเสียก่อน คริสโตเฟอร์ โทลคีน บุตรชายของเขาเป็นผู้รวบรวมเรียบเรียง แต่งเติมช่องว่างจนสมบูรณ์ และตีพิมพ์ ซิลมาริลลิออน ออกมาในที่สุดเมื่อ ค.ศ. 1977 อย่างไรก็ดี เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ ก็เป็นเหตุการณ์ส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์อาร์ดาของโทลคีน เป็นเหตุการณ์ลำดับสุดท้ายของปกรณัมซึ่งโทลคีนเคยหวังว่าจะเป็นส่วนเติมเต็มที่สมบูรณ์สำหรับวงล้อประวัติศาสตร์ทั้งมวล[7]

ในที่สุด โทลคีนก็ตัดสินใจเขียนเรื่องการผจญภัยของ "ฮอบบิทคนใหม่" ในเดือนธันวาคมปี พ.ศ. 2480 (ค.ศ. 1937)[5] เขาลองผิดลองถูกอยู่หลายโครง จนความคิดเกี่ยวกับ "แหวนเอก" แวบเข้ามา เขาเปลี่ยนแนวเรื่องจากการเขียนตอนต่อของ เดอะฮอบบิท ไปเป็นตอนต่อจาก ซิลมาริลลิออน งานที่ยังไม่ได้ตีพิมพ์ของเขานั่นเอง ถึงกระนั้น กว่าแนวคิดเรื่องการปรากฏตัวและการหายตัวไปของบิลโบ นัยยะของแหวนเอก และรายละเอียดอื่น ๆ จะเข้าที่เข้าทางก็ล่วงไปถึงปี พ.ศ. 2481 (ค.ศ. 1938)[5] แนวคิดเริ่มแรกเขาคิดจะเขียนให้บิลโบใช้สมบัติจนหมดและออกผจญภัยเพื่อค้นหาขุมทรัพย์ใหม่ ๆ แต่เมื่อแนวเรื่องเปลี่ยนมาเป็นเรื่องของ "แหวนเอก" บรรยากาศของเรื่องก็จริงจังมากขึ้นจนเกินกว่าจะใช้ตัวละครเอกเป็นฮอบบิทผู้ร่าเริงสนุกสนานอย่างบิลโบ โทลคีนนึกหาตัวละครอื่นที่เป็นญาติกับบิลโบมาแทน เริ่มแรกเขาคิดจะให้เป็นลูกชาย (ชื่อ บิงโก แบ๊กกิ้นส์) แต่มีคำถามอื่น ๆ ตามมาอีกมากมาย เช่น ใครเป็นภรรยาของบิลโบ และทำไมบิลโบจึงยอมให้ลูกชายเดินทางเสี่ยงอันตรายอย่างนั้น ในที่สุด เรื่องจึงมาลงตัวที่ญาติห่าง ๆ คนหนึ่งของบิลโบที่รับมาเลี้ยงเป็นหลาน คือ โฟรโด แบ๊กกิ้นส์[5]

ความที่โทลคีนเป็นคนประณีตละเอียดลออ งานเขียนจึงคืบหน้าไปอย่างเชื่องช้า และมักโดนขัดจังหวะอยู่บ่อย ๆ ด้วยงานสอนกับงานด้านวิชาการของโทลคีนเอง โทลคีนเคยหยุดเขียนเรื่อง เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ ไปในปี พ.ศ. 2486 (ค.ศ. 1943) แต่ด้วยแรงผลักดันจากคริสโตเฟอร์ ลูกชาย และ ซี. เอส. ลิวอิส เพื่อนรัก ซึ่งโทลคีนเขียนเรื่องเป็นตอน ๆ ส่งให้ทั้งสองคนอ่าน โทลคีนพยายามเขียนต่อจนจบและส่งต้นฉบับให้สำนักพิมพ์ได้ในปี พ.ศ. 2490 (ค.ศ. 1947) ทว่า โทลคีนยังคงปรับแก้รายละเอียดของเรื่องต่อไปอีกจนกระทั่งเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2492 (ค.ศ. 1949)[5]

ปกหนังสือ เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ วาดโดย พอลลีน เบย์นส (พ.ศ. 2511)

การตีพิมพ์

ในเวลานั้นเองโทลคีนมีปัญหาขัดแย้งกับสำนักพิมพ์ของเขา คือ อัลเลนแอนด์อันวิน เนื่องจากโทลคีนต้องการให้ตีพิมพ์ เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ กับ ซิลมาริลลิออน พร้อม ๆ กันเป็นเรื่องราวต่อเนื่อง เมื่ออัลเลนแอนด์อันวินไม่เห็นด้วย โทลคีนจึงส่งต้นฉบับไปให้เพื่อนคนหนึ่งของเขา คือ มิลตัน วอลด์แมน ที่สำนักพิมพ์คอลลินส์ ทว่า ทางคอลลินส์เห็นว่าลำพัง เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ เองนั้น ก็จำเป็นต้องถูกหั่นให้สั้นลง โทลคีนจึงหันกลับไปหาอัลเลนแอนด์อันวินอีกครั้ง

เวลานั้นเป็นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง กระดาษหายากฝืดเคือง และเพื่อให้ราคาหนังสือถูกลง สำนักพิมพ์จึงแบ่งการพิมพ์เรื่องนี้ออกเป็นสามภาค คือ The Fellowship of the Ring (เล่ม 1 และ 2) The Two Towers (เล่ม 3 และ 4) และ The Return of the King (เล่ม 5, 6 และภาคผนวก) งานจัดทำภาคผนวก แผนที่ รวมทั้งดรรชนี ทำให้การตีพิมพ์ล่าช้ากว่ากำหนดออกไป หนังสือทั้งสามภาคออกวางจำหน่ายดังนี้ ภาคแรกเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2497 (ค.ศ. 1954) ภาคสองเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2497 (ค.ศ. 1954) และภาคสามเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2498 (ค.ศ. 1955) ชื่อหนังสือในภาคที่สาม โทลคีนไม่ค่อยเห็นด้วยเพราะคิดว่าเป็นการบอกถึงเนื้อเรื่องมากเกินไป เขาเคยเสนอให้ใช้ชื่อ The War of the Ring แต่สำนักพิมพ์ไม่ตกลง[8]

โทลคีนรับผลตอบแทนจากสำนักพิมพ์ในระบบปันกำไร หมายความว่า เขาจะไม่ได้รับเงินล่วงหน้าหรือค่าส่วนแบ่งจากสำนักพิมพ์จนกว่าการพิมพ์ครั้งนั้นจะคุ้มทุนแล้ว หลังจากนั้น โทลคีนก็ได้รับส่วนแบ่งในผลกำไรเป็นจำนวนมาก หนังสือชุดนี้มักเรียกกันว่า "ไตรภาค" ซึ่งโทลคีนเห็นว่าไม่ถูกต้อง เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องเดียวกันโดยตลอด ไม่ได้แบ่งเป็นภาค นอกจากนี้ ยังเรียกว่า "นวนิยาย" ซึ่งโทลคีนก็ไม่เห็นด้วย เนื่องจากเขาบอกว่าเรื่องนี้เป็น "มหากาพย์"[7]

เมื่อปี พ.ศ. 2542 (ค.ศ. 1999) มีการตีพิมพ์เรื่องนี้เป็นหนังสือชุดเจ็ดเล่ม ประกอบด้วย เนื้อเรื่องหกเล่มตามบทประพันธ์ และภาคผนวกอีกหนึ่งเล่ม ชื่อย่อยของหนังสือแต่ละเล่มนำมาจากแนวคิดของโทลคีนที่เคยเอ่ยถึงเมื่อสมัยที่เขายังมีชีวิตอยู่ ชื่อหนังสือจากเล่ม 1 ถึง เล่ม 6 ได้แก่ The Ring Sets Out (แหวนปรากฏตัว) The Ring Goes South (แหวนลงใต้) The Treason of Isengard (ไอเซนการ์ดทรยศ) The Ring Goes East (แหวนสู่บูรพา) The War of the Ring (สงครามแห่งแหวน) และ The End of the Third Age (การสิ้นสุดยุคที่สาม) ในจำนวนนี้ ชื่อหนังสือสามเล่มคือ The Treason of Isengard, The War of the Ring, และ The End of the Third Age ได้กลายมาเป็นชื่อเล่มในหนังสือชุด ประวัติศาสตร์ลอร์ดออฟเดอะริงส์ (อยู่ในหนังสือชุด ประวัติศาสตร์มิดเดิลเอิร์ธ) ซึ่งเรียบเรียงโดยคริสโตเฟอร์ โทลคีน

ชื่อย่อของหนังสือมักเรียกกันว่า LotR หรือ LR (โทลคีนเองเรียกว่า L.R.) ส่วนชื่อภาคเรียกว่า FotR หรือ FR (สำหรับ The Fellowship of the Ring) , TTT หรือ TT (สำหรับ The Two Towers) , และ RotK หรือ RK (สำหรับ The Return of the King)

การแปลเป็นภาษาอื่น

หนังสือชุดนี้ได้แปลไปเป็นภาษาอื่นอย่างน้อย 38 ภาษา[9] โทลคีนซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาศาสตร์ยังได้เป็นผู้ตรวจสอบการแปลด้วยตนเองหลายครั้ง เขาได้ทำหนังสือ "คู่มือเกี่ยวกับชื่อต่าง ๆ ในเดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์" เพื่อช่วยเหลือบรรดานักแปลทั้งหลาย เพราะหนังสือเรื่องนี้แต่งขึ้นบนฐานเรื่องที่ว่า มันแปลมาจาก 'หนังสือปกแดงแห่งเวสต์มาร์ช' ดังนั้น ชื่อต่าง ๆ ในภาษาอังกฤษที่อาจมีหลายความหมาย จะต้องแปลไปเป็นภาษาปลายทางให้ได้ความหมายที่ถูกต้อง เช่น ฉบับแปลภาษาเยอรมัน ชื่อ "Baggins (แบ๊กกิ้นส์) " จะต้องกลายเป็น "Beutlin" (เพื่อให้ได้คำว่า Beutel ซึ่งหมายถึง Bag (ถุง)) หรือคำว่า "Elf (เอลฟ์) " จะกลายเป็น "Elb" (โดยที่คำว่า Elb ไม่ได้มีความหมายอื่นที่ทำให้ผู้อ่านเข้าใจผิดเหมือนกับที่เกิดขึ้นในฉบับภาษาอังกฤษ)

เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ได้แปลเป็นภาษาไทยเมื่อปี พ.ศ. 2544 - 2545 โดยคุณวัลลี ชื่นยง พิมพ์โดยสำนักพิมพ์แพรวเยาวชน[10] แบ่งการตีพิมพ์ออกเป็นสามตอน แต่ละตอนมีเนื้อหา 2 เล่ม (ตามการจัดแบ่งเนื้อเรื่องของผู้เขียน) คือ

  1. มหันตภัยแห่งแหวน (The Fellowship of the Ring)
  2. หอคอยคู่พิฆาต (The Two Towers)
  3. กษัตริย์คืนบัลลังก์ (The Return of the King)

แนวคิดในการประพันธ์

โทลคีนแต่งเรื่อง เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ ขึ้นจากพื้นฐานความสนใจส่วนตัวเกี่ยวกับภาษาศาสตร์ ศาสนา (โดยเฉพาะความเชื่อแบบโรมันคาทอลิก) และนิทานพื้นบ้านโดยเฉพาะตำนานนอร์ส นอกเหนือจากนั้น ประสบการณ์ของเขาในระหว่างการเป็นทหารในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งก็มีส่วนอยู่ด้วยค่อนข้างมาก [11] รายละเอียดที่เขานำมาตกแต่งลงในโลกในจินตนาการของเขา (หรือเออา) เป็นฉากหลังของเรื่อง เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ ก็มีส่วนมาจากประสบการณ์เหล่านี้[7]

ครั้งหนึ่งโทลคีนเคยบอกกับเพื่อนคนหนึ่งของเขา คือ คุณพ่อโรเบิร์ต เมอเรย์ เกี่ยวกับ เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ ว่า "เป็นงานที่มีพื้นฐานมาจากศาสนา แม้ตอนแรกจะไม่ได้เขียนขึ้นโดยตั้งใจ แต่ในระหว่างการแก้ไข ผมจงใจปรับให้เป็นอย่างนั้น"[7] เพราะแนวทางของเรื่องโดยพื้นฐานเป็นการต่อสู้กันระหว่างฝ่ายธรรมะกับฝ่ายอธรรม และการที่ความถ่อมตนสามารถเอาชนะความยโส ในมหากาพย์ยังมีเนื้อหาที่เกี่ยวกับเรื่องชีวิตหลังความตาย เรื่องของความเป็นอมตะ ความเมตตากรุณา การฟื้นคืนชีพ การกลับใจและสำนึกในบาป การเสียสละตนเอง ความมุ่งมั่นในจิตวิญญาณแห่งอิสรภาพ ความยุติธรรม ความเป็นมิตร และการเยียวยารักษา นอกจากนี้ ในบทอธิษฐานต่อพระผู้เป็นเจ้าซึ่งมีความตอนหนึ่งว่า "โปรดนำทางพวกเราให้พ้นจากความมัวเมาและปีศาจร้าย" ก็เป็นประเด็นสำคัญยิ่งที่โทลคีนสื่อออกมาผ่านตัวละคร โฟรโด ในการที่เขาพยายามกระเสือกกระสนให้พ้นจากการครอบงำของแหวนเอก [7]

สำหรับความเชื่อในศาสนาอื่น ๆ นอกเหนือจากศาสนาคริสต์ ก็มีปรากฏในงานชุดมิดเดิลเอิร์ธนี้เช่นกัน เช่น ตัวละครไอนัวร์ - เหล่าวาลาร์และไมอาร์ ที่เป็นเสมือน "เทพ" ผู้คอยทำหน้าที่สร้างและปกปักรักษาโลก เป็นแนวคิดในลักษณะเดียวกับปวงเทพของตำนานกรีกและนอร์ส ถึงแม้ในเรื่องนี้ เหล่าไอนัวร์ก็ล้วนเป็นผลงานสร้างสรรค์จากเอรู อิลูวาทาร์ หรือ "พระผู้เป็นหนึ่ง" เช่นกัน ความเชื่อในตำนานอื่นนอกศาสนาคริสต์ยังปรากฏออกมาผ่านตัวละครที่ไม่ใช่มนุษย์ทั้งหลาย เช่น คนแคระ เอลฟ์ ฮอบบิท และเอนท์ เป็นต้น

หากไม่นับศาสนาคริสต์แล้ว ตำนานปรัมปราของยุโรปเหนือนับว่าเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่องานของโทลคีนมากที่สุด เพราะเรื่องของ "เอลฟ์" และ "คนแคระ" เป็นเรื่องที่มาจากตำนานนอร์สกับตำนานเยอรมัน ชื่อหลายชื่อในเรื่องเช่น "แกนดัล์ฟ" "กิมลี" หรือแม้คำว่า "มิดเดิลเอิร์ธ" ก็มีที่มาจากตำนานนอร์ส "แกนดัล์ฟ" เป็นตัวละครที่สร้างจากเทพโอดินซึ่งกลับมาเกิดใหม่เป็น "ผู้พเนจร" เฒ่าผู้มีตาเดียว มีหนวดยาวสีขาว สวมหมวกยอดแหลมและถือไม้เท้า จดหมายฉบับหนึ่งของโทลคีนที่เขียนขึ้นในปี พ.ศ. 2489 (ค.ศ. 1946) ระบุว่าเขาจินตนาการแกนดัล์ฟขึ้นมา "แบบโอดินเฒ่าพเนจร"[7]

วรรณกรรมอีกชิ้นหนึ่งในบรรดาตำนานยุโรปเหนือที่มีอิทธิพลต่องานของโทลคีน คือ บทกวีแองโกลแซกซอน เรื่อง เบวูล์ฟ[6] โทลคีนนำองค์ประกอบหลายส่วนมาจากมหากาพย์โวลซุงกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของแหวนวิเศษที่ทำจากทองคำ และดาบหักที่ถูกตีขึ้นใหม่ ในมหากาพย์โวลซุงกา แหวนมีชื่อว่า Andvarinaut ส่วนดาบมีชื่อว่า Gram นั่นคือ แหวนเอกธำมรงค์ และดาบนาร์ซิล อย่างไม่ต้องสงสัย ยังมีตำนานปรัมปราของฟินแลนด์อีกเรื่องหนึ่งชื่อ คาเลวาลา ซึ่งตัวโทลคีนเองก็ยอมรับว่า เป็นแรงบันดาลใจให้แก่เขาในการสร้างโลก 'มิดเดิลเอิร์ธ' ขึ้น[12] เรื่อง คาเลวาลา ดำเนินไปเกี่ยวกับของวิเศษทรงอำนาจชิ้นหนึ่ง คือ ซัมโป ซึ่งนำพาอำนาจยิ่งใหญ่มาสู่ผู้ถือครอง แต่ไม่ทราบแน่ชัดถึงลักษณะธรรมชาติของตัวมันเอง ฝ่ายธรรมะและอธรรมในเรื่องต่างทำสงครามกันเพื่อแย่งชิง ซัมโป เช่นเดียวกับแหวนเอก ท้ายที่สุด มันก็ถูกทำลายสูญสิ้นไป นอกจากนี้ พ่อมดคนหนึ่งในเรื่องคาเลวาลา คือ ไวแนเมยเนน (Väinämöinen) ก็มีลักษณะคล้ายคลึงกับแกนดัล์ฟ ด้วยมีกำเนิดเป็นอมตะ เป็นผู้เฉลียวฉลาด และสุดท้ายหลังกระทำภารกิจสำเร็จได้ออกเดินทางล่องเรือไปเสียจากแผ่นดินของมรรตัยชน โทลคีนยังสร้างภาษาเควนยาของเขาขึ้นมาจากพื้นฐานภาษาฟินนิชอีกด้วย [13]

นอกเหนือจากปัจจัยภายนอก ฉากและตัวละครบางตัวก็มาจากประสบการณ์วัยเด็กของโทลคีนเองเมื่อสมัยที่อาศัยอยู่ Sarehole กับ เบอร์มิงแฮม[7] เช่น ภาพของแคว้นไชร์และแผ่นดินอันอุดมสมบูรณ์นั้นมาจากดินแดนชนบทรอบ ๆ วิทยาลัย Stonyhurst ที่แลงคาไชร์ ซึ่งโทลคีนมักไปเที่ยวบ่อย ๆ ในช่วงทศวรรษ 1940[14]

หลังจากที่ เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ ตีพิมพ์เผยแพร่ มีการวิจารณ์กันมากว่า 'แหวนเอก' เป็นตัวแทนอุปมาถึงระเบิดนิวเคลียร์ เรื่องนี้โทลคีนยืนยันหนักแน่นว่างานเขียนของเขาไม่ใช่งานสัญลักษณ์แฝงคติ (Allegory) ในบทนำของหนังสือ เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ เขาถึงกับเขียนไว้ว่า เขาไม่ชอบนิยายเปรียบเทียบแฝงคติ และเรื่องนี้ก็ไม่ใช่นิยายแบบนั้น[15] เขายังบอกว่าผู้กล่าวเช่นนั้นช่างไร้ความรับผิดชอบที่จะมาแก้ไขประเด็นเหล่านี้เสียให้ถูก เพราะโทลคีนเขียนเนื้อเรื่องส่วนใหญ่รวมถึงเนื้อหาตอนจบเสร็จก่อนที่ระเบิดนิวเคลียร์ลูกแรกจะปรากฏขึ้นบนโลกในปี ค.ศ. 1945 เสียอีก

อย่างไรก็ดี แนวคิดหลักของเรื่องก็ช่างสอดคล้องกับเหตุการณ์ทันยุคทันสมัย นั่นคือ อารมณ์ของความสิ้นหวังเมื่อต้องต่อสู้กับอาวุธจักรยนต์ที่โทลคีนต้องเผชิญในระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมในชนบทอันร่มรื่นของเขาไปสู่เขตอุตสาหกรรม การแพร่พันธุ์ใหม่ ๆ ของพวกออร์คและการผลาญทำลายธรรมชาติเพื่อการแพร่พันธุ์นั้น ยังคงสื่อความหมายที่ทันสมัยอยู่เสมอ รวมถึงเรื่องของ "อำนาจ" ที่แหวนเอกมีต่อผู้ครอบครองประหนึ่งผู้เสพติดยา ทำให้วรรณกรรมชิ้นนี้เป็นงานที่มีความหมายอย่างมากชิ้นหนึ่งในประวัติบรรณพิภพ

ใกล้เคียง

เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ (ภาพยนตร์ชุด) เดอะลาสต์ออฟอัส เดอะลอดส์ออฟมิสเซอรี เดอะลูนีย์ทูนส์โชว์ เดอะลาสต์เบลด 2 เดอะลาสต์ออฟอัส (ละครโทรทัศน์) เดอะลาวด์เฮาส์ เดอะลีกออฟเนชันส์ เดอะลาสต์ไทม์

แหล่งที่มา

WikiPedia: เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ http://wwwu.uni-klu.ac.at/jkoeberl/Courses/Tolkien... http://www.theage.com.au/media/2004/12/05/11021821... http://www.theage.com.au/news/Books/Tolkien-has-us... http://www.cbc.ca/story/arts/national/2006/03/24/l... http://www.amarinpocketbook.com/writer_detail.asp?... http://www.amazon.com/Lord-Rings-Trilogy-Gift-Set/... http://search.barnesandnoble.com/booksearch/isbnin... http://www.bookmoot.com/2004/10/germanys-favorite-... http://www.boxofficemojo.com/alltime/world/ http://www.brothershildebrandt.com/Brothers.htm