ในประวัติศาสตร์ ของ เปาบุ้นจิ้น

ต้นชีวิต

เปา เจิ่ง เกิดในครอบครัวบัณฑิตแห่งหลูโจว (廬州)[1] ครอบครัวของเขาเป็นชนชั้นกลาง แม้บิดามารดาสามารถส่งเสียให้เขาเล่าเรียนได้ตลอดรอดฝั่ง แต่ก่อนเขาจะเกิด มารดาของเขาต้องสะสมทุนรอนด้วยการขึ้นเขาไปเก็บฟืนมาขายอยู่พักใหญ่[2] เนื่องจากเปา เจิ่ง เติบโตขึ้นในท่ามกลางสังคมชั้นล่างซึ่งเป็นพลเมืองหลักของประเทศ เขาจึงรับรู้และเข้าใจปัญหาของคนชั้นล่างเป็นอย่างดี[2]

ครั้น ค.ศ. 1028 อายุได้ 29 ปี[3] เปา เจิ่ง สอบขุนนางชั้นสูงสุดผ่าน ได้เป็นราชบัณฑิตชั้นจิ้นชื่อ (進士) และได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ว่าการเทศมณฑลจิ้นชาง (建昌县) แต่เขาขอผัดออกไปก่อน เพื่อกลับบ้านเกิดไปดูแลบิดามารดาผู้ชรา[2]

เวลานั้น หลิว ยฺวิน (刘赟) ผู้ว่าการหลูโจวซึ่งมีชื่อเสียงว่า เป็นกวีเอกและขุนนางใจซื่อมือสะอาด แวะเวียนมาหาเขาเป็นประจำ ทั้งสองถูกคอกัน และเปา เจิ่ง ได้รับอิทธิพลเรื่องการมีใจกรุณาต่อราษฎรมาจากหลิว ยฺวิน[2]

ชีวิตราชการ

ภาพวาดเปา เจิ่ง ตัดสินคดีแม่ตัวจริงตัวปลอม จากหนังสือพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 1832

ผู้ว่าการเทียนฉาง

เมื่อบิดามารดาเสียชีวิตใน ค.ศ. 1038 และปลงศพตามประเพณีแล้ว เปา เจิ่ง กลับมารับใช้แผ่นดิน เริ่มแรกเขาได้เป็นผู้ว่าการนครเทียนฉาง (天长市) ซึ่งไม่ไกลจากหลูโจวบ้านเกิด มีบันทึกว่า ครั้งนั้น ชาวนาผู้หนึ่งมาร้องทุกข์ว่า วัวของตนถูกลอบตัดลิ้น เปา เจิ่ง จึงสั่งให้เขากลับบ้านไปฆ่าวัวนั้นทิ้งเสีย แต่อย่าแพร่งพรายให้ผู้ใดทราบ ตามกฎหมายสมัยนั้น การฆ่าปศุสัตว์เป็นสิ่งต้องห้าม เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากทางราชการ ชาวนาผู้นั้นเมื่อได้รับอนุญาตก็กลับไปฆ่าวัวตามคำสั่ง วันต่อมา ชายอีกผู้หนึ่งมาฟ้องว่า ชาวนาข้างบ้านลอบฆ่าวัว เปา เจิ่ง ตบโต๊ะตวาดว่า ลักลอบตัดลิ้นวัวเขาแล้วยังมาฟ้องกล่าวหาเขาอีก ชายผู้นั้นตกใจที่เปา เจิ่ง ล่วงรู้ความจริง ก็รับสารภาพว่า ตนผิดใจกับชาวนามาแต่เดิมแล้ว จึงกลั่นแกล้งตัดลิ้นวัวเขา เขาจะได้จำใจฆ่าวัวนั้นทิ้ง และจะได้มีความผิดฐานฆ่าปศุสัตว์[4]

ผู้ว่าการตฺวันโจว

ใน ค.ศ. 1040 เปา เจิ่ง ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ว่าการตฺวันโจว (端州) ซึ่งเป็นแหล่งขึ้นชื่อด้านผลิตจานฝนหมึก เปา เจิ่ง ตรวจสอบพบว่า ผู้ว่าการคนก่อน ๆ มักขูดรีดจานฝนหมึกจำนวนมากจากราษฎร เมื่อทำราชการอยู่ที่นี่ เปา เจิ่ง จึงใช้จานฝนหมึกเพียงอันเดียว โดยกล่าวว่า ความจำเป็นมีเท่านั้น ครั้น ค.ศ. 1043 เขาต้องย้ายไปท้องที่อื่น ประชาชนรักใคร่ก็นำจานฝนหมึกมามอบให้เป็นของขวัญมากมาย เปา เจิ่ง ไม่รับไว้เลย และโยนจานฝนหมึกที่ใช้ประจำอยู่นั้นทิ้งลงสู่แม่น้ำกวางตุ้ง ไม่ยอมพกไปด้วยแม้แต่อันเดียว[5]

ผู้ตรวจกำกับ

ใน ค.ศ. 1044 เปา เจิ่ง ได้รับการเรียกเข้านครหลวงไคเฟิง (開封) เพื่อดำรงตำแหน่งผู้ตรวจกำกับ (監察御史) ภายในสองปีนับจากนี้ เขาได้ถวายฎีกาอย่างน้อย 13 ฉบับว่าด้วยการทหาร ภาษีอากร การสอบขุนนาง และการฉ้อราษฎร์บังหลวงในวงราชการ ใน ค.ศ. 1045 เขายังได้รับแต่งตั้งเป็นราชทูตอัญเชิญพระราชสาสน์ไปยังราชวงศ์เหลียว (遼朝) มีบันทึกว่า ขณะเข้าเฝ้ากษัตริย์เหลียว ขุนนางเหลียวทูลฟ้องว่า จีนละเมิดสัญญาสันติภาพด้วยการแอบสร้างประตูบานหนึ่งไว้ที่กำแพงชายแดนเพื่อให้ชาวเหลียวแปรพักตร์เข้ามาแจ้งข่าวกรอง เปา เจิ่ง จึงถามว่า เหตุใดประตูจึงจำเป็นต่อการหาข่าวกรอง แต่ขุนนางเหลียวตอบไม่ได้[6]

ระหว่างที่เปา เจิ่ง ทำราชการอยู่ในราชสำนักไคเฟิงนั้น จักรพรรดิเหรินจง (仁宗) ประสงค์จะตั้งพระชายาจากสกุลจาง (张) ขึ้นเป็นมเหสี แต่พระพันปีหลิว (刘太后) พระราชมารดา คัดค้าน[7] กระนั้น จักรพรรดิก็ทรงอวยยศให้แก่จาง เหยาจั่ว (張堯佐) ลุงของพระชายาจาง อย่างรวดเร็ว ไม่กี่ปีก็ได้เลื่อนจากขุนนางชั้นล่างขึ้นเป็นขุนนางผู้ใหญ่[8] ในวันที่ 12 กรกฎาคม ค.ศ. 1050 เปา เจิ่ง และผู้ตรวจกำกับอีกสองคน จึงร่วมกันถวายฎีกากล่าวโทษจาง เหยาจั่ว แต่จักรพรรดิทรงเมินเฉย และสี่วันให้หลังยังประทานยศให้แก่น้องสาวของพระชายาจาง เปา เจิ่ง ไม่ลดละความพยายาม เขาถวายฎีกาอีกฉบับหนึ่งแต่ผู้เดียว พรรณนาถึงความไม่เหมาะสมของจาง เหยาจั่ว ในการดำรงตำแหน่งต่าง ๆ[9] แต่จักรพรรดิกลับให้จาง เหยาจั่ว ควบอีกสี่ตำแหน่ง เปา เจิ่ง จึงถวายฎีกาอีกฉบับ ลงวันที่ 26 ธันวาคม ค.ศ. 1050 ว่า ถ้าทรงขืนจะตั้งจาง เหยาจั่ว ให้ได้ ไม่รับฟังคำปรึกษาที่ถวายแล้ว ก็ขอให้ถอดที่ปรึกษาผู้นี้ออกจากตำแหน่งเสียเถิด[10] ในการประชุมคราวถัดมาในท้องพระโรง เปา เจิ่ง และเสนาบดีอีกเจ็ดคน ยังเปิดประเด็นร้อนเกี่ยวกับความไม่เหมาะสมของจาง เหยาจั่ว ทำให้จักรพรรดิทรงยอมถอดจาง เหยาจั่ว ออกจากตำแหน่งในที่สุด[10]

ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจกำกับ เปา เจิ่ง ได้ลงโทษลดขั้นและไล่ออกแก่ขุนนางผู้ใหญ่ 30 คน ฐานทุจริต รับสินบน และละเลยหน้าที่ เปา เจิ่ง ยังประสบความสำเร็จในการทูลคัดค้านเสมอ ๆ ผิดกับบุคคลอื่น ๆ ในประวัติศาสตร์ที่ถูกลงโทษสถานหนักเพราะทูลคัดค้านแม้ในเรื่องเล็กน้อย[2]

ผู้ว่าการไคเฟิง

อาคารจำลองที่ทำงานของเปา เจิ่ง ในกวั่งตง มีป้ายเขียนอักษรสี่ตัวว่า "กงเจิ้งเหลียนหมิง" (公正廉明; "สุจริตเที่ยงธรรม")

ใน ค.ศ. 1057 เปา เจิ่ง ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการนครหลวงไคเฟิง ซึ่งเวลานั้นเรียกว่า เปี้ยนเหลียง (汴梁)[3]

เปา เจิ่ง เป็นผู้ว่าการไคเฟิงจนถึง ค.ศ. 1058 ในช่วงเวลาไม่ถึงหนึ่งปีแห่งการดำรงตำแหน่งดังกล่าว เปา เจิ่ง ได้ปฏิรูปการปกครองหลายประการเพื่อให้ราษฎรสามารถเข้าถึงผู้ว่าการได้โดยตรง ทำให้เขาได้รับการยกย่องเชิดชูเป็นอันมาก[11]

แต่ชีวิตการทำงานของเขาหลังพ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการไคเฟิงแล้วกลับเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างยิ่ง เป็นต้นว่า เมื่อเขาปลดจาง ฟางผิง (張方平) ซึ่งควบสามตำแหน่งสำคัญ เขากลับได้รับแต่งตั้งเข้าสู่ตำแหน่งเหล่านั้นแทน โอวหยาง ซิว (欧阳修) จึงถวายฎีกาประณามเขาอย่างรุนแรง[11]

ตำแหน่งอื่น ๆ

หลังจากนั้น เปา เจิ่ง ได้ดำรงตำแหน่งอีกหลายตำแหน่ง โดยมากเกี่ยวข้องกับการคลัง เขายังได้เป็นเสนาบดีคลังอยู่ช่วงหนึ่ง[12]

ถึงแม้จะมีตำแหน่งสูงในวงราชการ เปา เจิ่ง กลับใช้ชีวิตเรียบง่ายจนเป็นที่เลื่องลือ เขายังมีชื่อเสียงในการตรวจสอบการทุจริต กับทั้งอุปนิสัยที่เข้มงวดกวดขัน และไม่อดทนหรือรอมชอมต่อความอยุติธรรมและการฉ้อฉล บุคลิกภาพของเปา เจิ่ง ก็เป็นที่ขึ้นชื่อเช่นกัน มีบันทึกว่า เปา เจิ่ง วางตัวเคร่งครัดเคร่งขรึม ถึงขนาดพูดกันทั่วไปว่า รอยยิ้มของเขาหาดูยากยิ่งกว่าฮวงโหกลายเป็นสีใสสะอาด[13]

กิตติศัพท์เกี่ยวกับความเที่ยงตรงของเปา เจิ่ง นั้นเลื่องลือไปทั่วแผ่นดิน ชื่อเขาจึงกลายเป็นไวพจน์ของคำว่า "ตงฉิน" (忠臣) ขณะที่ตัวเขาเองก็กลายเป็นหัวเรื่องยอดนิยมในวรรณกรรมและอุปรากรอย่างรวดเร็ว พลเมืองมักเล่าขานว่า เปา เจิ่ง นั้นกลางวันรับราชการอยู่บนโลกมนุษย์ กลางคืนไปรับราชการเป็นยมราชอยู่ในนรกภูมิ พูดกันติดปากว่า เช้าชำระคดีคน ค่ำชำระคดีผี[14]

อสัญกรรม

สุสานของเปา เจิ่ง ที่หลูหยาง, เหอเฝย์, อานฮุย

เปา เจิ่ง ถึงแก่อสัญกรรมที่ไคเฟิงเมื่อ ค.ศ. 1062[3] จักรพรรดิเหรินจงทรงรับศพเขาไว้ในพระราชานุเคราะห์ และประทานสมัญญาแก่เขาว่า "เซี่ยวซู่" (孝肅) แปลว่า กตัญญูปูชนีย์

ก่อนเสียชีวิต เปา เจิ่ง สั่งเสียไว้ว่า "ลูกหลานเราคนใดเป็นข้าราชการแล้วกินสินบาตรคาดสินบน ห้ามกลับคืนมายังบ้านเราและห้ามเผาผีร่วมสกุลกันอีก ใครไม่นับถือคุณงามความดีอย่างเรา เราไม่นับเป็นลูกเป็นหลาน"[5]

ครอบครัว

ในด้านครอบครัว เปา เจิ่ง มีภริยาสามคน คือ นางจาง (張氏), นางต่ง (董氏), และนางซุน (孙氏)[11]

เปา เจิ่ง มีบุตรสามคนกับนางต่ง เป็นบุตรชายหนึ่งคนชื่อว่า เปา อี้ (包繶) เกิดใน ค.ศ. 1033 และบุตรสาวสองคน[11]

เปา อี้ สมรสกับนางชุย (崔氏) ในราว ค.ศ. 1051 ต่อมาใน ค.ศ. 1053 เปา อี้ เสียชีวิตขณะรับราชการ เปา อี้ มีบุตรชายหนึ่งคนชื่อว่า เปา เหวินฝู่ (包文辅) ซึ่งเสียชีวิตเมื่ออายุได้ห้าปี[11]

เมื่อสาวใช้ในบ้านนามว่า นางซุน ตั้งครรภ์ขึ้น เปา เจิ่ง ก็ให้นางกลับบ้านเกิดโดยที่ไม่ทราบว่า บุตรในครรภ์ของนางคือบุตรของเปา เจิ่ง เอง แต่นางชุย ภริยาของเปา อี้ ทราบความทั้งหมด และแอบส่งเสียเลี้ยงดูนางซุนมาตลอด ครั้น ค.ศ. 1057 นางซุนให้กำเนิดบุตรชายชื่อ เปา หยาน (包綖) นางชุยก็พานางซุนและลูกมาอยู่ที่บ้านตนแล้วอุปการะอย่างดี ต่อมาใน ค.ศ. 1058 นางชุยพานางซุนและเปา หยาน กลับคืนตระกูลเปา ทำให้เปา เจิ่ง ดีใจที่เชื้อสายยังไม่สิ้นสูญ จึงเปลี่ยนชื่อให้เปา หยาน เป็น เปา โช่ว (包綬)[11]

พงศาวดารหลวงยกย่องนางชุย บุตรสะใภ้ของเปา เจิ่ง เป็นอย่างยิ่งที่รู้จักพิทักษ์เลือดเนื้อเชื้อไขของวงศ์ตระกูล[11] เชื่อกันว่า เหตุการณ์นี้เป็นที่มาของเรื่องราวในวรรณกรรมที่ว่า เปา เจิ่ง นั้นบิดามารดาจงเกลียดจงชังมาตั้งแต่เด็ก จึงได้รับการเลี้ยงดูจากพี่สะใภ้ ผู้ซึ่งเขาเรียกขานว่า "แม่สะใภ้" (嫂娘)[11]

ใกล้เคียง

เปาบุ้นจิ้น เปาบุ้นจิ้น (ละครโทรทัศน์ พ.ศ. 2536) เปาบุ้นจิ้น (ละครโทรทัศน์ พ.ศ. 2553) เปาบุ้นจิ้น เปิดตำนานศาลไคฟง เปาบุ้นจิ้น (ละครโทรทัศน์ช่อง ATV) เปาบุ้นจิ้นหนุ่ม พิทักษ์ธรรม ภาค 2 เปาบุ้นจิ้น หัวใจคุณธรรม เปาบุ้นจิ้น (ละครโทรทัศน์ช่องทีวีบี) เปาบุ้นจิ้น ภาคออกล้างมลทินทั่วหล้า เปาบุ้นจิ้น เทพผู้ทรงธรรม

แหล่งที่มา

WikiPedia: เปาบุ้นจิ้น http://www.chinatoday.com.cn/English/20024/honest.... http://www.china.org.cn/culture/2009-07/23/content... http://chineseculture.about.com/library/weekly/aa1... http://book.chaoxing.com/ebook/read_10118445.html http://chinesemov.com/1994/Hail%20the%20Judge.html //tools.wmflabs.org/geohack/geohack.php?pagename=%... http://www.thapra.lib.su.ac.th/objects/rarebook/r2... http://books.google.co.th/books?id=745f0npV9YoC&pr... http://books.google.co.th/books?id=9vQEHbDp0mIC&pr... http://books.google.co.th/books?id=aeMTAAAAQBAJ&pr...