การวินิจฉัย ของ เลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง

ภาพ arteriogram แสดงให้เห็นหลอดเลือดโป่งพองของหลอดเลือดแดง posterior cerebral ที่ได้รับการใส่ขดลวดแล้วบางส่วน (ลูกศรสีเหลือง) โดยยังคงมีถุงหลอดเลือดโป่งพอง (aneurysmal sac) เหลืออยู่บางส่วน ผู้ป่วยรายนี้เป็นหญิงอายุ 34 ปีที่เคยได้รับการรักษาเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลางมาก่อนแล้วบุคลากรทางการแพทย์กำลังเจาะน้ำไขสันหลัง แผ่นหลังของผู้รับการตรวจได้รับการฆ่าเชื้อด้วยสารฆ่าเชื้อไอโอดีนทำให้มีสีน้ำตาล

การตรวจภาพถ่ายรังสี

การประเมินผู้ป่วยที่สงสัยว่าจะมีเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลางในเบื้องต้นคือการซักประวัติและตรวจร่างกายซึ่งมีจุดประสงค์หลักเพื่อประเมินว่าอาการที่นำผู้ป่วยมาพบแพทย์นั้นเป็นผลจากการมีเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลางหรือสาเหตุอื่น อย่างไรก็ดีแพทย์ไม่อาจให้การวินิจฉัยภาวะนี้ได้จากการตรวจทางคลินิกเพียงอย่างเดียวดังนั้นการตรวจภาพรังสีทางการแพทย์จึงมีความจำเป็นไม่เพื่อยืนยันการมีเลือดออกก็เพื่อคัดออก การตรวจที่นิยมเลือกใช้เป็นอันดับต้นๆ คือการตรวจด้วยการถ่ายภาพรังสีส่วนตัดอาศัยคอมพิวเตอร์ (CT scan) ของสมอง ซึ่งเป็นการตรวจที่มีความไวสูงโดยสามารถตรวจพบภาวะนี้ได้อย่างถูกต้องได้ถึงกว่า 95% โดยเฉพาะหากได้รับการตรวจในวันแรกที่มีเลือดออก การสร้างภาพด้วยเรโซแนนซ์แม่เหล็ก (MRI) อาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่มีความไวมากกว่าหากตรวจผู้ป่วยที่มีอาการมาหลายวัน[1] การศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่งรายงานว่าหากทำ CT ภายใน 6 ชั่วโมงหลังเริ่มมีอาการ จะมีความไวในการตรวจพบเลือดออกสูง 100%[11]

การเจาะน้ำไขสันหลัง

การเจาะน้ำไขสันหลังอาจทำให้พบหลักฐานของการมีเลือดออกได้ในผู้ป่วย 3% ที่ผลตรวจ CT ปกติ ดังนั้นจึงถูกกำหนดให้เป็นการตรวจที่จำเป็นต้องทำในผู้ป่วยที่สงสัยว่าจะมีเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลางแต่ผลภาพสมองปกติ[1] โดยอย่างน้อยต้องเก็บตัวอย่างน้ำไขสันหลังให้ได้ 3 ขวด[6] หากมีจำนวนเม็ดเลือดแดงมากกว่าปกติในทั้ง 3 ขวดจะเป็นการบ่งชี้ว่ามีเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง ถ้าจำนวนไม่เท่ากันโดยค่อย ๆ ลดลงในแต่ละขวด จะแสดงว่าเลือดน่าจะมาจากการบาดเจ็บของหลอดเลือดขนาดเล็กระหว่างการทำหัตถการมากกว่า ("traumatic tap") [3] ตัวอย่างน้ำไขสันหลังที่เก็บได้จะถูกนำไปตรวจว่ามี xanthochromia (การมีสีออกเหลือง[12]) หรือการที่น้ำไขสันหลังที่ผ่านการปั่นให้ตกตะกอนแล้วมีสีเป็นสีเหลือง การตรวจที่มีความไวมากกว่าคือการตรวจด้วย spectrophotometry ซึ่งเป็นการตรวจการดูดกลืนคลื่นแสงในความยาวคลื่นต่าง ๆ เพื่อตรวจว่ามีบิลิรูบินซึ่งเป็นผลผลิตจากการย่อยสลายเฮโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงหรือไม่[1][13] การตรวจหา xanthochromia และการตรวจด้วย spectrophotometry ยังคงเป็นวิธีที่เชื่อถือได้ในการตรวจหาเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลางหลังจากเริ่มมีอาการปวดศีรษะมาหลายวัน[13] แต่ต้องทำหลังจากปวดศีรษะอย่างน้อย 12 ชั่วโมง เนื่องจากกว่าที่เฮโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงจะถูกเปลี่ยนเป็นบิลิรูบินนั้นต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง[1][13]

จากการที่มีผู้ป่วยที่มาห้องฉุกเฉินด้วยอาการปวดศีรษะรุนแรงเฉียบพลันเพียง 10% เท่านั้นที่มีเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง จึงต้องมีการคิดถึงสาเหตุอื่น ๆ ไว้ด้วยเสมอ สาเหตุอื่น ๆ เหล่านี้เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ไมเกรน และลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำสมอง (cerebral venous sinus thrombosis) [4] ภาวะเลือดออกในสมองใหญ่ (intracerebral hemorrhage) ซึ่งมีเลือดออกในเนื้อสมองนั้นพบบ่อยกว่าถึงสองเท่าและมักได้รับการวินิจฉัยผิดเป็นเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง[14] ไม่บ่อยนักที่จะมีการวินิจฉัยเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลางผิดไปเป็นไมเกรนหรือการปวดศีรษะจากความเครียด (tension headache) ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้รับการตรวจ CT scan ช้ากว่าที่ควร งานวิจัยปี ค.ศ. 2004 พบว่าเกิดกรณีเช่นนี้สูงถึง 12% ของผู้ป่วย ส่วนใหญ่เกิดกับผู้ป่วยที่มีเลือดออกเป็นบริเวณน้อยและไม่มีการเปลี่ยนแปลงของสภาพจิต การวินิจฉัยล่าช้าจะนำไปสู่ผลการรักษาที่ไม่ดี[15] ผู้ป่วยบางรายอาจหายจากอาการปวดศีรษะได้เองโดยไม่มีอาการอื่นหลงเหลือ อาการปวดศีรษะเช่นนี้ถูกเรียกว่าอาการปวดศีรษะแสดงเบื้องต้น ("sentinel headache") เนื่องจากเชื่อกันว่าเกิดจากการมีเลือดไหลจากหลอดเลือดโป่งพองเป็นปริมาณน้อย ๆ อาการปวดศีรษะแสดงเบื้องต้นเช่นนี้ควรได้รับการตรวจเพิ่มเติมด้วย CT scan และการเจาะหลังเนื่องจากอาจมีเลือดออกเพิ่มเติมได้ในเวลาสามสัปดาห์[3]

การฉีดสีหลอดเลือด

เมื่อยืนยันการวินิจฉัยเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลางแล้วจะต้องหาตำแหน่งที่เกิดเลือดออก หากจากภาพตรวจ CT scan บ่งชี้ว่าเลือดน่าจะออกจากหลอดเลือดโป่งพองแล้วมีทางเลือกระหว่างการฉีดสีหลอดเลือดสมอง (cerebral angiography - ฉีดสารทึบรังสีเข้าหลอดเลือดสมองแล้วถ่ายภาพรังสี) และการฉีดสีหลอดเลือดอาศัยคอมพิวเตอร์ (CT angiography - ฉีดสารทึบรังสีเข้าหลอดเลือดแล้วทำ CT scan) เพื่อหาตำแหน่งของหลอดเลือดโป่งพอง การสอดท่อเพื่อฉีดสีอาจทำให้มีโอกาสใส่ขดลวดรักษาหลอดเลือดโป่งพองไปพร้อมกันได้[1][3]

การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ

การเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจซึ่งคล้ายกับที่พบในภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดชนิดมีการยกของช่วง ST (STEMI) ในผู้ป่วยหญิงรายหนึ่งซึ่งมีเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง

ผู้ป่วยเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง 40-70% มีการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ โดยอาจตรวจพบช่วง QT ยาวขึ้น, คลื่น Q, หัวใจเต้นผิดจังหวะ และ การยกของช่วง ST ซึ่งอาจคล้ายกับที่พบในภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้[16]

ใกล้เคียง

เลือด เลือดมังกร เลือดข้นคนจาง เลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง เลือดในอุจจาระ เลือดแฝงในอุจจาระ เลือดตัดเลือด เลือดชั่ว: เรื่องลับและคำลวงเบื้องหลังบริษัทดาวรุ่งแห่งซิลิคอนแวลลีย์ เลือดเจ้าพระยา เลือดออกเหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นนอก

แหล่งที่มา

WikiPedia: เลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง http://jnnp.bmj.com/cgi/content/full/72/6/772 http://jnnp.bmj.com/cgi/content/full/75/3/491 http://www.diseasesdatabase.com/ddb12602.htm http://www.em-consulte.com/article/126528 http://www.emedicine.com/emerg/topic559.htm http://www.emedicine.com/med/topic2883.htm http://www.emedicine.com/neuro/topic357.htm http://www.icd9data.com/getICD9Code.ashx?icd9=430 http://www.icd9data.com/getICD9Code.ashx?icd9=852.... http://www.icd9data.com/getICD9Code.ashx?icd9=852....