ประวัติ ของ เลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง

แม้จะมีการสังเกตเห็นอาการทางคลินิกของเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลางมาตั้งแต่สมัยของฮิปโปกราเตสแล้วแต่การมีอยู่ของโรคหลอดเลือดสมองโป่งพองและข้อเท็จจริงที่ว่ามันสามารถแตกได้นั้นยังไม่เป็นที่ทราบกันจนกว่าจะถึงคริสต์ศตวรรษที่ 18[52] มีการอธิบายอาการที่เกี่ยวข้องเอาไว้โดยละเอียดกว่าโดยนายแพทย์ ไบรอม แบรมเวลล์ ชาวเอดินบะระในปีค.ศ. 1886[53] ต่อมาในปีค.ศ. 1924 เซอร์ ดร. ชาร์ลส์ ไซมอนส์ (1890-1978) นักประสาทวิทยาชาวลอนดอนได้บันทึกอาการหลัก ๆ ของการมีเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลางเอาไว้อย่างครบถ้วน และเสนอให้ใช้คำว่า "เลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลางเกิดเอง" (spontaneous subarachnoid hemorrhage) [52][54][55] ไซมอนส์ ยังได้อธิบายการใช้การเจาะน้ำไขสันหลังและการมีสีออกเหลืองในการช่วยวินิจฉัยเอาไว้ด้วย[56]

การรักษาด้วยการผ่าตัดครั้งแรกทำโดยนอร์แมน ดอตต์ ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของ ดร. ฮาร์วีย์ คุชชิง ซึ่งตอนนั้นทำงานอยู่ในเอดินบะระ เขาได้เสนอการรักษาด้วยการห่อหลอดเลือดที่โป่งพอง (wrapping of aneurysm) ในช่วงราวคริสต์ทศวรรษ 1930 และเป็นผู้บุกเบิกการฉีดสีหลอดเลือดคนหนึ่ง[55] ประสาทศัลยแพทย์ชาวอเมริกา ดร. วอลเตอร์ แดนดี ซึ่งทำงานในบอลทิมอร์เป็นผู้ที่ใช้คลิปหนีบในการรักษาเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1938[29] มีการนำการผ่าตัดด้วยการใช้กล้องขยายช่วย (microsurgery) มาใช้ในการรักษาหลอดเลือดโป่งพองในปี ค.ศ. 1972 เพื่อเพิ่มผลการรักษา[57] การรักษาแบบ Triple H[39] เริ่มนำมาใช้ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1980 โดยใช้เป็นการรักษาการขาดเลือดภายหลังที่เกิดจากการหดเกร็งของหลอดเลือด (delayed ischemia due to vasospasm) และในช่วงเดียวกันมีการวิจัยทดลองใช้ nimodipine[37][58] เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนนี้ ในปี ค.ศ. 1983 ประสาทศัลยแพทย์ชาวรัสเซีย Zubkov และคณะได้รายงานการใช้บอลลูน (transluminal balloon angioplasty) ในการรักษาและป้องกันการหดเกร็งของหลอดเลือดหลังเกิดเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลางที่เกิดจากหลอดเลือดโป่งพอง[59][60] ประสาทศัลยแพทย์ชาวอิตาลี ดร. กวีโด กวีลเอลมี ได้เสนอการรักษาด้วยการใช้ขดลวดในหลอดเลือดในปี ค.ศ. 1991[30][61]

ใกล้เคียง

เลือด เลือดมังกร เลือดข้นคนจาง เลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง เลือดในอุจจาระ เลือดแฝงในอุจจาระ เลือดตัดเลือด เลือดชั่ว: เรื่องลับและคำลวงเบื้องหลังบริษัทดาวรุ่งแห่งซิลิคอนแวลลีย์ เลือดเจ้าพระยา เลือดออกเหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นนอก

แหล่งที่มา

WikiPedia: เลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง http://jnnp.bmj.com/cgi/content/full/72/6/772 http://jnnp.bmj.com/cgi/content/full/75/3/491 http://www.diseasesdatabase.com/ddb12602.htm http://www.em-consulte.com/article/126528 http://www.emedicine.com/emerg/topic559.htm http://www.emedicine.com/med/topic2883.htm http://www.emedicine.com/neuro/topic357.htm http://www.icd9data.com/getICD9Code.ashx?icd9=430 http://www.icd9data.com/getICD9Code.ashx?icd9=852.... http://www.icd9data.com/getICD9Code.ashx?icd9=852....