รายละเอียด ของ เศรษฐกิจตลาดแบบสังคมนิยม

การปฏิรูปไปสู่รูปแบบเศรษฐกิจตลาดแบบสังคมนิยม เป็นหนึ่งในพื้นฐานของหลักวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ของลัทธิมาร์กซ์. ช่วงปลายทศวรรษ 1970, เติ้งเสี่ยวผิง ผู้นำสูงสุดในขณะนั้น และบรรดาผู้นำอื่นๆ ของ พคจ. ปัดตกแนวคิดเดิมของหลักความคิดเหมาเจ๋อตง ที่เพียงมุ่งเน้นพลังขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจด้วยการเมืองและวัฒนธรรม โดย พคจ. ริเริ่มให้ความสำคัญต่อการพัฒนาที่มุ่งเน้นไปที่พลังการผลิตทางวัตถุ ในฐานะที่เป็นความจำเป็นขั้นพื้นฐานต่อความก้าวหน้าทางสังคมในรูปแบบสังคมนิยม. นโยบายที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันนี้ของจีน บวกกับมุมมองของลัทธิมาร์กซ์แบบดั้งเดิม – ที่กล่าวว่าเศรษฐกิจสังคมนิยมแบบวางแผนที่พัฒนาเต็มรูปแบบนั้น จะเกิดขึ้นจริงได้ก็ต่อเมื่อเศรษฐกิจแบบตลาดได้รีดเค้นบทบาททางประวัติศาสตร์ของตัวเอง และแปลงรูปตัวเองไปสู่เศรษฐกิจแบบวางแผนตามลำดับ – ประกอบกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ทำให้การวางแผนเศรษฐกิจเป็นไปได้ จึงทำให้ความสัมพันธ์เชิงตลาดมีความจำเป็นน้อยลง.[1]

พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนมองเศรษฐกิจตลาดแบบสังคมนิยมในฐานะที่เป็นระยะเริ่มแรกของการพัฒนาลัทธิสังคมนิยม (ระยะแรกนี้ อาจเรียกว่า “ระยะเบื้องต้น” หรือ “ระยะอุ่นเครื่อง” ของลัทธิสังคมนิยม), โดยกรรมสิทธิ์สาธารณะดำรงอยู่เคียงกันกับลักษณะกรรมสิทธิ์นอกสาธารณะอื่นๆ. พคจ. ให้เหตุผลว่า แม้จะมีการดำรงอยู่ร่วมกันของนายทุนเอกชน วิสาหกิจสาธารณะ และวิสาหกิจรวมหมู่, จีนก็มิได้เป็นประเทศทุนนิยม เนื่องจากพรรคยังเป็นผู้ควบคุมทิศทางของประเทศ, โดยยังยึดกุมเส้นทางการพัฒนาในรูปแบบสังคมนิยมไว้ได้.[1] นักทฤษฎีที่เสนอรูปแบบทางเศรษฐกิจนี้ ได้แยกตัวแบบทางเศรษฐกิจชนิดนี้ออกจากสังคมนิยมตลาด โดยกล่าวว่านักสังคมนิยมตลาดมีความเชื่อว่าเศรษฐกิจแบบวางแผนนั้นไม่สามารถสร้างให้เป็นจริงได้, ไม่เป็นที่ปรารถนา, หรือไม่มีประสิทธิภาพ เพราะฉะนั้นจึงมองตลาดในรูปที่เป็นส่วนสำคัญของลัทธิสังคมนิยม ในขณะที่นักทฤษฎีสายเศรษฐกิจตลาดแบบสังคมนิยม มองว่าการใช้ระบบตลาดเป็นเพียงระยะชั่วคราวก่อนจะมีการพัฒนาเศรษฐกิจแบบวางแผนเต็มรูปแบบ.[5]

ชุยจือหยวน ทำการศึกษาพื้นฐานทางทฤษฎีของเศรษฐกิจตลาดแบบสังคมนิยม ย้อนหลังไปถึงตัวแบบสังคมนิยมเสรี ของเจมส์ มีดส์ ที่ว่า รัฐมีฐานะเป็นผู้อ้างสิทธิ์ในผลกำไรของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งดำเนินการเป็นเอกเทศจากการบริหารของรัฐ.[6]

ความเป็นมา

นับตั้งแต่ปี 1999 เศรษฐกิจภาคเอกชนเพิ่มสัดส่วนมากขึ้นเรื่อยๆ ในทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจจีน

หลังจากช่วงนโยบายก้าวกระโดด (ปี 1958-1961) และการขับไล่แก๊งสี่คนลงจากอำนาจในปี 1976, เติ้งเสี่ยวผิง (ผู้นำสูงสุด ปี 1978 ถึง 1989) กลับมามุ่งเน้นเรื่องการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน และมองหาระบบที่เข้ากันได้กับเงื่อนไขเฉพาะแบบจีน. อย่างไรก็ดี, แม้จะต้องดำเนินงานดังกล่าว เติ้งเสี่ยวผิงยังคงยึดมั่นในตัวแบบของลัทธิเลนิน ว่าด้วยการควบคุมทางการเมืองจากส่วนกลาง และแนวคิดการปกครองรัฐโดยพรรคเดียว.

เจียงเจ๋อหมิน เป็นผู้ริเริ่มใช้คำศัพท์ “เศรษฐกิจตลาดแบบสังคมนิยม” ในปี 1992” เจียงได้ทดสอบแนวคิดดังกล่าว เพื่อที่จีนจะสามารถเรียนรู้จากประเทศทุนนิยมได้ โดยที่ไม่ต้องอธิบายเสริมว่า การปฏิรูปนั้นเป็น “สังคมนิยม” หรือ “ทุนนิยม” กันแน่. โดยก่อนหน้านั้นเจียงได้รับความเห็นชอบการใช้คำศัพท์นี้จากเติ้งเสี่ยวผิงล่วงหน้าแล้ว.[2] นโยบายโด๋ยเม้ย ในสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ก็เป็นการปรับใช้แนวคิดนี้เช่นกัน.[7] หลังจากที่เริ่มดำเนินการปฏิรูป ระบบเศรษฐกิจรูปแบบนี้ก็ได้เข้าแทนที่เศรษฐกิจวางแผนจากส่วนกลางในสาธารณรัฐประชาชนจีน, และได้เห็นการเติบโตของ GDP ในระดับสูงในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา. ในตัวแบบเศรษฐกิจนี้ วิสาหกิจของเอกชนได้กลายเป็นองค์ประกอบหลักของระบบเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับรัฐวิสาหกิจจากส่วนกลาง ตลอดจนวิสาหกิจแบบรวมหมู่ แบบตำบล และแบบหมู่บ้าน.

การแปลงรูปไปสู่เศรษฐกิจตลาดแบบสังคมนิยม เริ่มในปี 1978 เมื่อเติ้งเสี่ยวผิงประกาศนโยบายว่าด้วยสังคมนิยมแบบอัตลักษณ์จีน. การปฏิรูประยะแรกเริ่มด้วยการปรับลดภาคการเกษตรจากระบบรวมหมู่ และเปิดประเทศเพื่อรับเงินลงทุนจากต่างชาติในช่วงปลายทศวรรษ 1970 และต้นทศวรรษ 1980 ที่ภายหลังนำไปสู่การปฏิรูปอย่างกว้างขวางและครอบคลุม, รวมถึงการแปลงรูปให้เป็นบรรษัทของวิสาหกิจภาครัฐ, บางส่วนแปลงรูปให้เป็นเอกชน, ปลดข้อจำกัดด้านการค้าและราคา และรื้อระบบ “ชามข้าวเหล็ก” ที่ถือเป็นคติเก่าว่าด้วยความมั่นคงในการจ้างงานในช่วงปลายทศวรรษ 1990. ด้วยการปฏิรูปของเติ้งเสี่ยวผิง, GDP ของจีนพุ่งทะยานจาก 1.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 1.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2004, คิดเป็นอัตราการเติบโตร้อยละ 9.4 ต่อปี.[8]

แหล่งที่มา

WikiPedia: เศรษฐกิจตลาดแบบสังคมนิยม http://www.chinadaily.com.cn/business/2017-11/19/c... http://english.mofcom.gov.cn/article/topic/bizchin... http://en.people.cn/200507/13/eng20050713_195876.h... https://books.google.com/books?id=MHFsBgAAQBAJ https://books.google.com/books?id=O1POAQAACAAJ https://books.google.com/books?id=TK3BBAAAQBAJ https://books.google.com/books?id=it5JAgAAQBAJ https://books.google.com/books?id=k-FJAgAAQBAJ https://books.google.com/books?id=zGS-0bNWDGAC https://www.scmp.com/economy/china-economy/article...