ลักษณะเฉพาะ ของ เศรษฐกิจตลาดแบบสังคมนิยม

วิสาหกิจ และประเภทของกรรมสิทธิ์

กรรมสิทธิ์สาธารณะภายใต้เศรษฐกิจตลาดแบบสังคมนิยม ประกอบด้วยสินทรัพย์ของรัฐ, วิสาหกิจรวมหมู่, และวิสาหกิจที่ภาคสาธารณะถือครองหุ้นตามสัดส่วน. ทั้งนี้รูปแบบกรรมสิทธิ์สาธารณะที่หลากหลายมีบทบาทสำคัญในเศรษฐกิจตลาดแบบสังคมนิยม ควบคู่ไปกับสัดส่วนเศรษฐกิจจากภาคเอกชน และวิสาหกิจข้ามชาติ.[1]

ตัวอย่างบางรูปแบบของวิสาหกิจของภาครัฐในจีน:

  • รัฐวิสาหกิจ: วิสาหกิจการพาณิชย์ จัดตั้งโดยรัฐบาลกลางหรือรัฐบาลท้องถิ่น, โดยบรรดาผู้จัดการได้รับแต่งตั้งจากรัฐบาล และองค์กรการปกครองอื่น. วิสาหกิจประเภทนี้เจาะจงเฉพาะองค์กรที่รัฐบริหารและเป็นเจ้าของทั้งหมด. รัฐวิสาหกิจโดยมากมิได้เป็นของรัฐบาลกลาง. รัฐวิสาหกิจที่เป็นของรัฐบาลกลางถือเป็นหน่วยงานย่อยของกรรมาธิการตรวจสอบและบริหารสินทรัพย์ของรัฐ (SASAC).
  • รัฐวิสาหกิจโฮลดิ้ง: เป็นวิสาหกิจมหาชนที่รัฐถือหุ้น, หรือรัฐควบคุม, ที่รัฐถือครองหุ้นส่วนใหญ่ หรือมีส่วนควบคุมการดำเนินงาน, ดังนั้นจึงสามารถใช้อิทธิพลเข้าไปบริหารจัดการในองค์กร. วิสาหกิจประเภทนี้รวมถึงองค์ที่ได้รับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDA).[15]
  • รัฐวิสาหกิจร่วมทุน

เศรษฐกิจภาครัฐ

เศรษฐกิจตลาดแบบสังคมนิยม ประกอบด้วยรัฐวิสาหกิจหลากหลายประเภท ที่เป็นตัวแทนรูปแบบของกรรมสิทธิ์สาธารณะ. นับตั้งแต่การปฏิรูปแห่งปี 1978, ทศวรรษ 1980 ระหว่างการปฏิรูปอุตสาหกรรม รัฐวิสาหกิจมีการแปลงรูปเป็นบรรษัท และเปลี่ยนเป็นบรรษัทร่วมทุนตามลำดับ โดยรัฐยังเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด หรือเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในนั้น. ล่วงถึงทศวรรษ 2000, รัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่ในภาคเศรษฐกิจนอกยุทธศาสตร์ กลายเป็นกิจการมหาชนในตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้และฮ่องกง และบางส่วนปรับตัวเป็นวิสาหกิจที่มีโครงสร้างกรรมสิทธิ์แบบผสม โดยรัฐบาลกลางและหน่วยงานรัฐอื่นๆ - รวมถึงธนาคารของรัฐ, รัฐวิสาหกิจรายอื่น, รัฐบาลระดับมณฑลและท้องถิ่น – ถือกรรมสิทธิ์ในหุ้นในระดับต่างๆ กัน ควบคู่ไปกับผู้ถือหุ้นเอกชนและต่างชาติ. ยังให้เกิดผลลัพธ์ที่ปรากฏเป็นรูปแบบการกระจายตัวของกรรมสิทธิ์สาธารณะ. สิ่งนี้ทำให้การคำนวณขนาดและขอบเขตที่แท้จริงของเศรษฐกิจภาครัฐมีความยากลำบาก, โดยเฉพาะเมื่อรัฐวิสาหกิจที่มีโครงสร้างกรรมสิทธิ์แบบผสมต้องอยู่ในสมการคำนวณ. ในปี 2013, เศรษฐกิจภาครัฐนับเป็น 30% ของจำนวนวิสาหกิจทั้งหมดในจีน, แต่มีสินทรัพย์กว่า 55%, รายได้กว่า 45% และผลกำไรกว่า 40%.[16]

ปี 1996, จีนดำเนินการปฏิรูปอุตสาหกรรมด้วยหลากหลายนโยบาย โดยรวมเรียกว่า “เก็บส่วนที่ใหญ่, ปล่อยส่วนที่เล็ก”. การปฏิรูปเหล่านี้ทำให้มีการปิดรัฐวิสาหกิจที่ไม่มีกำไร, ควบรวมวิสาหกิจขนาดเล็กเข้าด้วยกัน และแปลงรูปวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมส่วนอื่นๆ. รัฐวิสาหกิจของรัฐบาลกลางปรับเปลี่ยนเป็นบริษัทร่วมทุน โดยเล็งที่จะกระจายอำนาจไปสู่เหล่าผู้จัดการของรัฐวิสาหกิจเหล่านั้น. รัฐวิสาหกิจทุกระดับมีการปรับจุดโฟกัสหลักไปสู่การทำกำไร และสละภารกิจด้านสวัสดิการสังคมที่ให้บริการสังคมและประโยชน์แก่คนงาน อันเป็นที่รู้จักว่าระบบ “ชามข้าวเหล็ก”. กรรมาธิการตรวจสอบและบริหารสินทรัพย์ของรัฐ (SASAC) ก่อตั้งขึ้นในปี 2003 เพื่อดูแลการบริหารงานของรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ของส่วนกลางเหล่านี้.[17]

รัฐวิสาหกิจยุคใหม่มีการดำเนินงานที่แตกต่างกันอย่างมากเมื่อเทียบกับยุคทศวรรษ 1990. วิสาหกิจดังกล่าวมีขนาดใหญ่กว่ามาก แต่มีจำนวนน้อยกว่า, ประกอบไปด้วยวิสาหกิจภายใต้คลัสเตอร์ที่รัฐบาลกลางเรียกว่า “ภาคเศรษฐกิจยุทธศาสตร์” ซึ่งรวมถึงการธนาคาร, การเงิน, เหมืองแร่, พลังงาน, การขนส่ง, โทรคมนาคม และการสาธารณูปโภค. โดยเปรียบเทียบแล้วนั้น, วิสาหกิจระดับมณฑลและระดับเมืองนับพัน ดำเนินการอยู่ในเกือบทุกอุตสาหกรรม รวมถึงอุตสาหกรรมสารสนเทศ และ การออกแบบและผลิตยานยนต์. การปฏิรูปเศรษฐกิจภาครัฐยังเป็นการดำเนินที่ต่อเนื่องในปัจจุบัน. ณ ปี 2017, พรรคคอมมิวนิสต์ได้ปฏิเสธที่จะโอบรับและปรับใช้ตัวแบบเทมาเส็กของสิงคโปร์สำหรับกิจการรัฐวิสาหกิจของจีน, ด้วยว่ารัฐวิสาหกิจภายใต้ตัวแบบดังกล่าวดำเนินกิจการพาณิชย์เพื่อแสวงหากำไรสูงสุดเพียงอย่างเดียว. โดยเฉพาะอย่างยิ่งแล้ว, จีนรักษาไว้ซึ่งรัฐวิสาหกิจของส่วนกลางเพื่อแสวงหาผลสัมฤทธิ์ทางนโยบายอุตสาหกรรม ตลอดจนสนองนโยบายของชาติ.[18] ด้วยเหตุดังกล่าว การปฏิรูปในช่วงหลังจึงตั้งวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความสามารถในการทำกำไร และเพื่อปลดหนี้, รัฐบาลได้มีรายงานว่าผลกำไรของรัฐวิสาหกิจของส่วนกลาง เพิ่มขึ้นกว่า 15.2% ในปี 2017.

แม้ว่าจะมีผลกำไรเพิ่มขึ้น, รัฐวิสาหกิจของจีนหลายแห่งก็ยังไม่ได้จ่ายเงินปันผลเข้ารัฐ, เป็นเหตุให้นักวิเคราะห์หลายฝ่ายตั้งคำถามถึงตรรกะของการมีกรรมสิทธิ์สาธารณะตั้งแต่แรก.[9][19] ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งในการปฏิรูปต่อเนื่องของ SASAC, รัฐวิสาหกิจถูกเรียกร้องและต้องให้ความร่วมมือให้ปันผลกำไรในสัดส่วนที่สูงขึ้นเข้ารัฐ, โดยมีการโอนถ่ายสินทรัพย์ของรัฐบางรายการไปสู่กองทุนประกันสังคม เพื่ออุดหนุนเงินบำนาญให้แก่ประชากรผู้สูงวัยของจีน.[20] นี่เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการปฏิรูปด้านกว้าง ที่จะปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจภาครัฐ ให้กลายเป็นแหล่งการคลังของภาคสาธารณะ.[21] อีกส่วนหนึ่งของการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจที่ประกาศโดย SASAC ในปี 2015 มีอยู่ว่า รัฐวิสาหกิจต่างๆ จะถูกปรับหมวดหมู่ให้เป็นกิจการพาณิชย์ หรือกิจการบริการสาธารณะ, โดยหมวดหมู่แรกจะต้องให้ความร่วมมือในการจัดสรรเงินปันผลในสัดส่วนที่สูงกว่าเดิม. การชำระเงินปันผลดังกล่าวตั้งให้เพิ่มขึ้นจาก 5-15% เป็น 30% ภายในปี 2020.

เศรษฐกิจภาคเอกชน

วิสาหกิจเอกชน ได้รับการยอมรับว่าเป็นองค์ประกอบหนึ่งของเศรษฐกิจตลาดแบบสังคมนิยม เคียงกันกับรัฐวิสาหกิจ, วิสาหกิจรวมหมู่, และวิสาหกิจเอกเทศอื่นๆ. เศรษฐกิจภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญมากขึ้นเรื่อยมา ตั้งแต่มีการประการกฏหมายบริษัทจำกัดในปี 2014. เส้นแบ่งระหว่างรัฐวิสาหกิจและวิสาหกิจเอกชนเริ่มพร่ามัวขึ้นเรื่อยๆ ในจีน โดยบริษัทมหาชนจำนวนมากมีเจ้าของที่มาจากภาครัฐและนอกภาครัฐ.  นอกจากนั้นแล้ว, บริษัทเอกชนที่ทำกิจการในอุตสาหกรรมที่มีการตั้งเป้าหมายการเติบโต มักได้รับเงินกู้พิเศษ หรือสิทธิพิเศษจากภาครัฐ ในขณะที่รัฐวิสาหกิจนอกยุทธศาสตร์กลับอยู่นอกเกณฑ์ที่จะได้รับเงินอุดหนุน. ยกตัวอย่างเช่น, บริษัท ZTE Corporation เป็นวิสาหกิจที่ภาครัฐเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ถูกบังคับให้พึ่งพาแหล่งเงินทุนจากตลาดทุน ในขณะที่คู่แข่งผู้ที่เป็นวิสาหกิจเอกชน Huawei ถูกมองว่าเป็น “แชมเปี้ยนระดับชาติ” ดังนั้นจึงได้รับเงินช่วยเหลือจำนวนมากจากธนาคารของรัฐ. เช่นเดียวกับกิจการรัฐวิสาหกิจ, วิสาหกิจเอกชนถูกคาดหวังให้ปฏิบัติตามนโยบายของรัฐ และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของพรรคคอมมิวนิสต์, อันเป็นการบ่งบอกว่าความแตกต่างระหว่างวิสาหกิจของรัฐและเอกชนนั้น ไม่มีนัยยะสำคัญต่อการทำความเข้าใจในตัวแบบเศรษฐกิจของจีน. ณ ปี 2015, พัฒนาการของการกำกับดูแลและการบริหารโดยตรงจากรัฐ (ทั้งในเศรษฐกิจภาครัฐและภาคเอกชน) มีอำนาจเหนือส่วนต่างๆ ของระบบเศรษฐกิจของจีน และมีบทบาทสำคัญที่มากกว่าการเป็นเพียงผู้มีกรรมสิทธิ์ของสินทรัพย์สาธารณะ.[9]

ขณะที่เศรษฐกิจภาคเอกชนได้รับการยินยอมให้มีบทบาทในเศรษฐกิจตลาดแบบสังคมนิยม และมีการขยายตัวทั้งในด้านขนาดและขอบเขตเป็นอย่างมากนับตั้งแต่ทศวรรษ 1990, ภาคเอกชนก็มิได้ครองอำนาจเหนือเศรษฐกิจของจีน. ขนาดที่แท้จริงของเศรษฐกิจภาคเอกชนเป็นเรื่องที่ประเมินได้ยาก ส่วนหนึ่งเพราะวิสาหกิจเอกชนอาจถือหุ้นส่วนน้อยในวิสาหกิจของรัฐ และเนื่องจากมาตรฐานการจัดประเภทที่ใช้แยกประเภทวิสาหกิจที่แตกต่างกัน. ยกตัวอย่างเช่น ไตรมาสแรกของปี 2016 สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนรายงานระดับการลงทุนคงที่โดยภาคเอกชนที่ 35%, และโดยวิสาหกิจของรัฐที่ 27%, สัดส่วนที่เหลืออยู่เป็นของกองทุนของรัฐที่ถือครองหุ้นในบริษัทต่างๆ แบบมิได้เป็นเจ้าของทั้งหมด.[22]

การวางแผนเศรษฐกิจ

ช่วงต้นทศวรรษ 1990, การวางแผนเศรษฐกิจแบบสหภาพโซเวียตถูกแทนที่ด้วยระบบตลาด และกลายเป็นกำลังขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจตลาดแบบสังคมนิยม, ผ่านการแปลงรูปจากกรรมาธิการวางแผนของรัฐ ไปเป็นกรรมาธิการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติในปี 2003. การวางแผนแบบชี้นำและนโยบายอุตสาหกรรม เข้าแทนที่การวางแผนแบบดุลยวัตถุ และมีบทบาทสำคัญในการนำพาเศรษฐกิจแบบตลาดของทั้งภาครัฐและเอกชน. ระบบการวางแผนมีอยู่ 3 ระดับ, โดยแต่ละระดับใช้กลไกการวางแผนต่างๆ กัน.

การวางแผนภาคบังคับจำกัดเฉพาะรัฐวิสาหกิจที่ดำเนินการในภาคเศรษฐกิจยุทธศาสตร์, รวมถึงการพัฒนาแผนการวิจัย, การศึกษา, และโครงสร้างพื้นฐาน. การวางแผนภาคบังคับมีการร่างโครงของผลสัมฤทธิ์เป้าหมาย และอุปทานของวัตถุดิบ ตลอดจนทรัพยากรทางการเงินที่จำเป็น. การวางแผนแบบสัญญา จะกำหนดวัตถุประสงค์และวิธีการที่จะทำให้เป้าหมายเหล่านั้นประสบผลสำเร็จ จากนั้นจึงเจรจากับบรรดาวิสาหกิจและรัฐบาลท้องถิ่น เพื่อระบุวัตถุประสงค์ที่มีรายละเอียด ตลอดจนวิธีการจัดสรรทรัพยากรไปสู่ภาคเศรษฐกิจเป้าหมาย. การวางแผนแบบชี้นำ ดำเนินกิจการภายใต้กรอบการวางแผนระดับต่ำสุด, โดยรัฐบาลเพียงตีกรอบเป้าหมายทางอุตสาหกรรม จากนั้นจะใช้กลไกของตลาด (มาตรการยกเว้นภาษี, เงินอุดหนุน, และเงินกู้ธนาคารพิเศษ) เพื่อกระตุ้นให้บรรดาวิสาหกิจในอุตสาหกรรมเป้าหมายบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้[23]

แหล่งที่มา

WikiPedia: เศรษฐกิจตลาดแบบสังคมนิยม http://www.chinadaily.com.cn/business/2017-11/19/c... http://english.mofcom.gov.cn/article/topic/bizchin... http://en.people.cn/200507/13/eng20050713_195876.h... https://books.google.com/books?id=MHFsBgAAQBAJ https://books.google.com/books?id=O1POAQAACAAJ https://books.google.com/books?id=TK3BBAAAQBAJ https://books.google.com/books?id=it5JAgAAQBAJ https://books.google.com/books?id=k-FJAgAAQBAJ https://books.google.com/books?id=zGS-0bNWDGAC https://www.scmp.com/economy/china-economy/article...