การอนุรักษ์ ของ เสือโคร่ง

ปัจจุบัน เสือโคร่งทุกชนิดจัดเป็นสัตว์ที่อยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ของสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN[1]) โดยถูกล่าเพื่อนำเอาชิ้นส่วนต่าง ๆ ขายในตลาดค้าสัตว์ป่าหรือตลาดมืด ซึ่งชิ้นส่วนของเสือโคร่งนับว่าเป็นที่ต้องการอย่างมากของทวีปเอเชียรองลงมาจากงาช้างและนอแรด

สถานภาพของเสือโคร่งพันธุ์เบงกอล

ต้นศตวรรษที่ 20 ยังมีเสือโคร่งพันธุ์เบงกอลอยู่ในประเทศอินเดียถึง 40,000 ตัว แต่ในปี 1964 พบว่าเหลือเพียง 4,000 ตัว พอถึงปี 2515 เหลืออยู่ไม่ถึง 2,000 ตัว โดยอยู่ในป่า 4 ผืนใหญ่ ผืนหนึ่งที่ตีนเขาหิมาลัยในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ผืนหนึ่งในภาคกลาง ผืนหนึ่งในภาคตะวันออก และอีกผืนหนึ่งเป็นแนวป่าแคบ ๆ ตามชายฝั่งภาคตะวันตกเฉียงใต้ หลังจากนั้นเพียงไม่นาน โครงการอนุรักษ์เสือโคร่ง (Project Tiger) ก็ได้เกิดขึ้นโดยรัฐบาลอินเดียและราชวงศ์แห่งเนปาล ทำให้ป่าอนุรักษ์หลายแห่งถูกจัดตั้งขึ้น และมีกฎหมายคุ้มครองอย่างเข้มงวด ต่อมาโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนทางด้านเทคโนโลยีโดยกองทุนสัตว์ป่าโลก โครงการนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีจนประชากรเสือโคร่งเบงกอลในอินเดียเพิ่มขึ้นเป็น 4,334 ตัวในปี 2532 แต่อย่างไรก็ตาม การล่าเสือโคร่งอย่างหนักที่มีมาตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990 ทำให้จำนวนเสือโคร่งลดลงจนเหลือเพียง 3,750 ตัวในปี 2536

ในประเทศเนปาล พบเสือโคร่งอยู่เฉพาะที่จิตวัน, บาร์เดีย, Royal Sukhla Phanta และ Parsa IV คาดมีอยู่ประมาณ 250 ตัวในปี 2536

ในบังกลาเทศ พบเสือโคร่งอยู่ทั่วไปในป่าชายเลนสุนทรพน รวมทั้งป่าอนุรักษ์ผืนเล็ก ๆ ที่อยู่ติดกันซึ่งมีพื้นที่รวม 320 ตารางกิโลเมตร จากการสำรวจในปี 2537 พบว่าอาจมีเสือโคร่งในพื้นที่นี้ 300-460 ตัว และเชื่อว่าอาจยังมีเหลืออยู่ดินแดนตะวันออกเฉียงใต้ของเทกนาฟ ซึ่งติดกับชายแดนประเทศพม่า

ในภูฏาน เชื่อว่ามีเสือโคร่งอยู่ในป่าอนุรักษ์ที่ราบต่ำที่อยู่ตอนใต้ของประเทศทั้ง 9 แห่ง โดยเฉพาะป่ามานัสซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับป่ามานัสในอินเดีย มีพื้นที่มากที่สุด รัฐบาลของประเทศภูฏานระบุว่ามีประชากรเสือโคร่ง 237 ตัวในปี 2537 อย่างไรก็ตาม ในจำนวนนี้บางส่วนซ้ำซ้อนกับเสือโคร่งในอินเดีย ส่วนตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการในปี 2536 ระบุว่ามีเพียง 20-50 ตัว

รวมจำนวนประชากรเสือโคร่งพันธุ์เบงกอลทั้งหมดที่มีอยู่ในประเทศอินเดีย เนปาล ภูฏาน บังกลาเทศ และตะวันตกของพม่า ในปี 2536 คาดว่ามีไม่เกิน 4,500 ตัว

สรุปจำนวนของประชากรเสือโคร่งพันธุ์เบงกอลในประเทศต่าง ๆ

ประเทศต่ำสุดสูงสุด
บังกลาเทศ300460
ภูฏาน80240
จีน3035
อินเดีย2,5003,000-3,750
เนปาล150250
รวม3,0603,985-4,735

* ข้อมูลจากไอยูซีเอ็นในประเทศอินเดียมีป่าอนุรักษ์ 21 แห่งที่ตั้งขึ้นมาเพื่ออนุรักษ์เสือโคร่งโดยเฉพาะ ทั้งหมดมีพื้นที่รวมกัน 30,000 ตารางกิโลเมตร มีเสือโคร่งในพื้นที่ 1,300 ตัว มากถึงหนึ่งในสามของเสือโคร่งทั้งหมดของประเทศ (3,750) กว่าครึ่งหนึ่งของพื้นที่นี้เป็นป่ากันชน ซึ่งมีทั้งหมู่บ้าน พื้นที่การเกษตรและการทำปศุสัตว์ นอกจากพื้นที่นี้แล้ว เสือโคร่งยังคงมีอยู่ในป่าอื่นอีก 80 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นป่าที่มีผู้คนอยู่อาศัย สถาบันสัตว์ป่าของอินเดียระบุว่ามีป่าขนาดใหญ่ 12 แห่งที่มีศักยภาพในการอนุรักษ์พันธุ์เสือโคร่งในระยะยาว อย่างไรก็ตาม หนึ่งแห่งในจำนวนนี้คือที่เขตอนุรักษ์พันธุ์เสือโคร่งเมลกัต ซึ่งจัดตั้งโดยโครงการอนุรักษ์เสือโคร่ง เขตนี้กำลังจะถูกลดพื้นที่ไปหนึ่งในสามหรือเหลือเพียง 1,046 ตารางกิโลเมตร เพื่อจัดสรรที่ดินทำกินให้ประชาชนที่เพิ่มจำนวนขึ้น มีป่า 56 แห่งที่มีจำนวนเสือโคร่งน้อยเกินไปและถูกกดดันจากมนุษย์จนเชื่อว่าจะไม่สามารถรักษาพันธุ์เสือโคร่งเอาไว้ในพื้นที่ได้และคงจะหมดไปจากพื้นที่ภายในไม่กี่สิบปีต่อจากนี้ นั่นหมายความว่า เมื่อถึงเวลานั้นเสือโคร่งจะลดไปอีกเกือบครึ่งหนึ่งของเสือโคร่งเบงกอลที่มีอยู่ 3,000-4,000 ตัวในขณะนี้

สถานภาพของเสีอโคร่งพันธุ์อินโดจีน

สถานภาพและจำนวนประชากรของเสือโคร่งอินโดจีนยังไม่เป็นที่รับรู้มากนัก เนื่องจากเขตกระจายพันธุ์ที่กว้างขวางของมัน ซึ่งกินอาณาบริเวณตั้งแต่จีนตอนใต้ เวียดนาม กัมพูชา ลาว มาเลเซีย ไทย และพม่าตะวันตก เสือโคร่งจำนวนไม่น้อยอยู่ตามเทือกเขาสลับซับซ้อนตามชายแดนระหว่างประเทศ ทำให้การเข้าถึงพื้นที่ดังกล่าวเป็นไปได้ยาก มีหลายแห่งที่นักชีววิทยาเพิ่งจะได้รับอนุญาตเข้าไปสำรวจเมื่อไม่นานมานี้เอง ตามข้อมูลของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านเสือและแมว (Cat specialist Group) ของไอยูซีเอ็น เนื่องจากในป่าของหลายประเทศ เสือโคร่งได้ถูกล่าอย่างหนักและขาดการอนุรักษ์ที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ไปมากมายการการพัฒนาของเมืองในช่วงทศวรรษ 80 ทำให้เสือโคร่งอินโดจีนส่วนใหญ่ในสูญพันธ์ไปในหลายประเทศ ปัจจุบันมีเสือโคร่งพันธุ์อินโดจีนเหลืออยู่ในธรรมชาติทั้งสิ้นประมาณ 210-350 ตัว โดยมีเสือโคร่งส่วนหนึ่งอยู่ในป่ารอยต่อของพม่า และ ประชากรเสือโคร่งกลุ่มหลักอยู่ในเขตอนุรักษ์ของประเทศไทย สวนสัตว์ในเอเชียและในอเมริกามีเสือพันธุ์นี้ประมาณ 60 ตัว

ในเวียดนาม เสือโคร่งถูกลักลอบล่าอย่างหนักจากค่านิยมความเชื่อทางยาจีนแผนโบราณ และ ไม่มีมาตรการอนุรักษ์ ทำให้เสือโคร่งในเวียดนามมีเพียงลดลง จนในช่วงปี 2559 นักสำรวจไม่พบร่องรอยใดๆของเสือในป่าอนุรักษ์ทั้ง 9 แห่ง จึงคาดว่า เสือโคร่งในเวียดนามได้สูญพันธ์ไปแล้ว[12]

สถานภาพของเสือโคร่งในประเทศลาวไม่ชัดเจนนัก เพราะเพิ่งมีการจัดตั้งพื้นที่อนุรักษ์มาไม่นานมานี้เอง และพื้นที่ส่วนใหญ่ที่จัดตั้งขึ้นมาก็เป็นเพียงร่างในกระดาษ บางแห่งไม่มีแม้แต่เจ้าหน้าที่ประจำ ในปี 2534 แซลเตอร์ได้สำรวจตามหมู่บ้านที่อยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ 18 แห่งและรายงานว่าพบเสือโคร่งทุกพื้นที่ ๆ สำรวจ กรมสัตว์ป่าของลาวได้สำรวจป่าในปี 2535 ได้รายงานว่าพบเสือโคร่งในพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 17 แห่ง อย่างไรก็ตาม แหล่งอาหารของเสือโคร่งในประเทศลาวไม่สมบูรณ์นัก จำนวนสัตว์เหยื่อมีอยู่น้อยมาก และป่าในพื้นที่ต่ำถูกทำลายจนเกือบหมด ทำให้เสือโคร่งต้องถอยร่นขึ้นไปหากินบนภูเขาสูงซึ่งมีเหยื่อน้อยกว่า ในขณะที่การล่าและการค้าขายสัตว์ป่าก็มีอย่างหนัก สิ่งเหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นถึงอนาคตที่สิ้นหวังของเสือโคร่งในประเทศลาว

กรมสัตว์ป่าของกัมพูชามีศักยภาพต่ำมาก ประเทศไม่มีแม้แต่สวนสัตว์ มีการล่าเสือโคร่งอย่างหนัก กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านเสือและแมวประเมินว่าในประเทศกัมพูชามีเสือโคร่งอยู่ประมาณ 100-200 ตัว และกำลังลดจำนวนลงเรื่อย ๆ อย่างไรก็ตาม การสำรวจสัตว์ป่าครั้งแรกของเสือโคร่งเมื่อปี 2543 ที่ผ่านมาพบว่าอาจมีเสือโคร่งและสัตว์ป่าอื่น ๆ ในกัมพูชามากกว่าที่เคยคาดคิดไว้ แต่ภายหลังปี 2550 ก็ไม่มีหลักฐานการพบเสือโคร่งเพิ่มอีก จนปี 2559 จึงยอมรับว่าเสือโคร่งสูญพันธ์[13]

ราบิโนวิตช์ ได้สำรวจเสือโคร่งในป่าอนุรักษ์ในประเทศไทยระหว่างปี 2530-2534 และประเมินว่ามีจำนวนประมาณ 250 ตัว ซึ่งตัวเลขนี้แตกต่างอย่างมากจากตัวเลขของทางการไทยที่ระบุว่ามีประมาณ 450-600 ตัว ในการสำรวจปี 2538 ทางการจึงได้ประกาศว่าเหลืออยู่ราว 250 ตัวซึ่งใกล้เคียงกับยอดของราบิโนวิตช์ แม้จะมีแผนการอนุรักษ์ แต่จำนวนเสือก็ไม่เพิ่มอย่างที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากเขตอนุรักษ์ในไทย ส่วนมากเป็นป่าพื้นที่สูงและภูเขาซึ่งมีความเหมาะสมในระดับปานกลางในการฟื้นฟูประชากรสัตว์ป่า


สรุปจำนวนของประชากรเสือโคร่งพันธุ์อินโดจีนในประเทศต่าง ๆ

(ข้อมูลยังไม่แยกเสือโคร่งพันธุ์มลายู)

ประเทศต่ำสุดสูงสุด
กัมพูชาสูญพันธุ์
จีนสูญพันธุ์
ลาว<5
เวียดนามสูญพันธุ์
มาเลเซีย100170
พม่า<3080
ไทย180270
รวม210350

ข้อมูลจากไอยูซีเอ็น

ในประเทศมาเลเซีย นับตั้งแต่ปี 2519 กฎหมายของประเทศระบุให้เสือโคร่งเป็นสัตว์คุ้มครองอย่างเข้มงวดภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองสัตว์ป่า ในปีนั้น กรมสัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติประเมินว่ายังมีเสือโคร่งอยู่ในประเทศประมาณ 300 ตัว มาเลเซียประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในการควบคุมและลดปริมาณการล่าสัตว์ ในช่วงปี 2515-2519 มีการล่าเสือโคร่งถึง 19 ตัวต่อปีโดยเฉลี่ย แต่ในปัจจุบันเหลือประมาณ 1 ตัวต่อปีเท่านั้น และประชากรเสือโคร่งได้เพิ่มขึ้น ปัจจุบัน (2550) ประเมินว่ามีเสือโคร่งพันธุ์มลายูตัวเต็มวัยอยู่ประมาณ 490 ตัว ส่วนใหญ่อยู่ใน กลันตัน ตรังกานู เปรัก และปะหัง พื้นที่ป่าเหล่านี้มักจะเป็นป่าผืนเล็ก ๆ และแต่ละแห่งมีประชากรเสือโคร่งไม่มาก เสือโคร่งพันธุ์มลายู่ชอบอยู่ตามป่าเต็งรังที่ต่ำ แต่ก็พบในป่าพรุด้วย

จนการสำรวจล่าสุดในช่วง พ.ศ. 2560-2561 กลับพบข้อเท็จจริงว่า เสือโคร่งมลายูมีจำนวนลดลงอย่างมาก ทั้งจากการลักลอบล่า และ เสียพื้นที่หากิน จนทำให้จำนวนพวกมันน้อยกว่าที่เคยประเมิน อาจจะเหลือเพียงไม่ถึง 200 ตัว[14][15]

สถานภาพของเสือโคร่งพันธุ์จีนใต้

ประเทศจีนมีพื้นที่ครอบคลุมเขตกระจายพันธุ์ถึง 4 พันธุ์ คือพันธุ์ไซบีเรียบริเวณชายแดนที่ติดกับประเทศรัสเซียและเกาหลีเหนือตอนเหนือสุดของประเทศ พันธุ์จีนใต้ทางตอนใต้ของประเทศ พันธุ์อินโดจีนทางชายแดนที่ติดกับประเทศพม่า ลาว และเวียดนาม และพันธุ์เบงกอลบริเวณชายแดนที่ติดกับประเทศอินเดียและพม่า

ในทศวรรษ 1950 ยังมีเสือโคร่งพันธุ์จีนใต้อยู่ประมาณ 4,000 ตัว แต่หลังจากนั้นก็ลดจำนวนอย่างรวดเร็วจากการถูกล่า สาเหตุหนึ่งเนื่องจากทางการจีนประกาศว่าเสือโคร่งเป็นสัตว์รบกวนที่ต้องกำจัด ภายในเวลาเพียง 30 ปีเสือโคร่งพันธุ์จีนใต้ถูกล่าไปถึงประมาณ 3,000 ตัว ตัวเลขอย่างเป็นทางการของรัฐบาลจีนแสดงว่าจำนวนหนังเสือโคร่งที่จับยึดมาได้โดยเฉลี่ยต่อปีลดลงจาก 78.6 ในต้นทศวรรษ 1950 เหลือ 30.4 ในต้นทศวรรษ 1960 ในต้นทศวรรษ 1970 เป็น 3.8 และเหลือเพียง 1 ในปี 1979 ซึ่งเป็นปีที่รัฐบาลเริ่มประกาศห้ามล่า

การสำรวจป่า 19 แห่งในปี 2533 มี 11 แห่งที่พบร่องร่อยของเสือโคร่ง มีพื้นที่รวมกันเพียง 2,500 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น พื้นที่ ๆ พบอยู่ทางตอนใต้และตอนเหนือของมณฑลหูหนาน ตอนเหนือของกวางตุ้ง และตะวันตกของฟูเจี้ยน นอกจากนี้การสำรวจในปี 2534 และ 2536 ยังพบเสือทางตะวันออกของหูหนานและทางภาคกลางของเจียงซี พื้นที่หลักที่พบเสือโคร่งคือป่าดิบเขากึ่งร้อนชื้นตามรอยต่อระหว่างมณฑล ป่าที่พบถูกตัดขาดจากกันเป็นผืนเล็กผืนน้อย ส่วนใหญ่มีพื้นที่น้อยกว่า 500 ตารางกิโลเมตร ในปี 2538 ได้มีรายงานอย่างไม่เป็นทางการจากกรมป่าไม้ของจีนว่าเหลือเสือโคร่งพันธุ์จีนใต้ในธรรมชาติไม่ถึง 20 ตัวเท่านั้น จัดเป็นเสือโคร่งพันธุ์ที่อยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์มากที่สุด แม้แต่ในสถานเพาะเลี้ยงหรือตามสวนสัตว์ทั่วโลก 19 แห่งที่มีเสือโคร่งพันธุ์นี้ก็มีจำนวนเพียง 48 ตัวเท่านั้น ทั้ง 48 ตัวนี้เป็นลูกหลานที่สืบเชื้อสายมาจากเสือโคร่งที่ถูกจับมาจากป่า 6 ตัว

สถานภาพของเสือโคร่งพันธุ์ไซบีเรีย

เสือโคร่งพันธุ์ไซบีเรียเกือบทั้งหมดอาศัยอยู่ทางตะวันออกสุดของประเทศรัสเซีย มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่อยู่บริเวณชายแดนทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน และอาจมีอยู่ทางเหนือของเกาหลีเหนือ เสือโคร่งในรัสเซียส่วนใหญ่อยู่ในแคว้นปรีมอร์เย และบางส่วนอยู่ในฮาบารอฟสค์ เสือโคร่งในรัสเซียประสบแรงกดดันมากจากการล่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการเมือง ในปี 2537 ข้อมูลจากกระทรวงสิ่งแวดล้อมโดย อา. อะมีร์ฮานอฟระบุว่ามีเสือโคร่งพันธุ์ไซบีเรียในรัสเซียเหลือเพียง 150-200 ตัว ทั้งที่ในกลางทศวรรษ 1980 มียังมีอยู่ 250 ถึง 430 ตัว ก่อนหน้านั้นในทศวรรษ 1930 เสือโคร่งพันธุ์ไซบีเรียเคยมีจำนวนต่ำถึงประมาณ 20 ถึง 30 ตัวเท่านั้น แต่หลังจากเริ่มมีกฎหมายคุ้มครองในปี 1947 จำนวนเสือโคร่งก็ค่อยเพิ่มมากขึ้น

ช่วงปลายทศวรรษ 1980 มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง เนื่องจากมีข้อเสนอให้มีการล่าเสือโคร่งเชิงกีฬาเพื่อลดจำนวนของมัน ฝ่ายที่ยื่นข้อเสนออ้างว่าจำนวนเสือโคร่งมีมากเกินไปจนไม่สมดุลกับจำนวนประชากรของสัตว์เหยื่อ และยังเป็นอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงในฟาร์มของชาวบ้าน แต่ข้อพิพาทนี้ยุติในเวลาต่อมาเพราะมีการล่าอย่างผิดกฎหมายมากจนทำให้จำนวนเสือโคร่งลดลง หลังจากนั้นการคุ้มครองเสือโคร่งเริ่มมีประสิทธิภาพมากขึ้นจากการร่วมมือของรัฐบาลกับองค์กรพัฒนาเอกชน

ในประเทศรัสเซีย พบเสือโคร่งในซีโฮเตอะลิน (พื้นที่ 3,471 ตารางกิโลเมตร) ลาซอฟสกีย์ (พื้นที่ 1,165 ตารางกิโลเมตร) และ ทุ่งเคโดรวายา (พื้นที่ 179 ตารางกิโลเมตร) เสือโคร่งไซบีเรียในรัสเซียแตกต่างจากเสือโคร่งในที่อื่น ๆ เพราะส่วนใหญ่อาศัยอยู่นอกเขตพื้นที่อนุรักษ์ ในต้นปี 2536 ได้มีการสำรวจในเขตลาซอฟสกี พบเสือโคร่ง 22 ตัว (ตัวเต็มวัย 14 ตัว และเสือวัยรุ่น 8 ตัว) ในจำนวนนี้มีประมาณ 10 ตัว (เสือเต็มวัย 8 ตัวและเสือวัยรุ่น 2 ตัว) ที่อาศัยอยู่ตามขอบของพื้นที่ ในปี 2529 บรากิน ได้สำรวจจำนวนเสือโคร่งในเขตอนุรักษ์ซีโฮเตอะลินพบว่าในจำนวนเสือโคร่งทั้งหมดที่พบ มี 25 ตัวหรือหนึ่งในสามประสบปัญหาขาดแคลนอาหารและพื้นที่ป่าไม่เพียงพอ มีจำนวนเพียงไม่กี่ตัวที่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ภายในเขตอนุรักษ์ ในปี 1991 คอร์คิชโค และ พิคูนอฟ ประเมินว่ามีเสือโคร่ง 9 ตัว (ตัวผู้เต็มวัย 3 ตัว วัยรุ่น 1 ตัว ตัวเมียเต็มวัย 4 ตัว วัยรุ่น 1 ตัว) อาศัยอยู่ในทุ่งเคโดรวายา

กล่าวโดยสรุปแล้ว มีเสือโคร่งพันธุ์ไซบีเรียในรัสเซียประมาณ 20 เปอร์เซนต์เท่านั้นที่อาศัยอยู่ภายในเขตอนุรักษ์ นอกนั้นอยู่ในพื้นที่ ๆ มีการทำป่าไม้และมีการล่าสัตว์กีบอย่างหนักและเพิ่มขึ้นทุกวัน

ที่ประเทศจีน ในปี 2533 มีการพบเห็นเสือโคร่งพันธุ์ไซบีเรียในเทือกเขาฉางไป๋ (1,905 ตารางกิโลเมตร) ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน

ในเกาหลีเหนือ เชื่อว่ายังมีเสือโคร่งพันธุ์ไซบีเรียหลงเหลืออยู่บริเวณภูเขาแปกดู ซึ่งเป็นบริเวณพรมแดนที่ติดต่อเทือกเขาฉางไป๋ของจีน

สรุปจำนวนของประชากรเสือโคร่งพันธุ์ไซบีเรียในประเทศต่าง ๆ

ประเทศต่ำสุดสูงสุด
จีน1220
เกาหลีเหนือ<10<10
รัสเซีย562600
รวม584600

ข้อมูลจากไอยูซีเอ็น

สถานภาพของเสือโคร่งพันธุ์สุมาตรา

เสือโคร่งพันธุ์สุมาตราอาศัยอยู่บนเกาะสุมาตราเท่านั้น มันต้องเผชิญชะตากรรมอันเลวร้ายจากการถูกบุกรุกถิ่นที่อยู่อาศัยและจากการล่าเช่นเดียวกับเสือโคร่งพันธุ์อื่น ๆ จากการสำรวจประมาณว่ายังมีเสือโคร่งพันธุ์นี้อยู่ 600 ตัว ในจำนวนนี้ 400 ตัวอยู่ในป่าอนุรักษ์ผืนใหญ่ 5 แห่ง และอีก 200 ตัวอยู่กระจัดกระจายอยู่ตามพื้นที่อื่น ๆ

สถานภาพของเสือโคร่งพันธุ์แคสเปียน

เสือโคร่งพันธุ์แคสเปียนถูกล่าและสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยไปจนสูญพันธุ์ไปในช่วงต้นทศวรรษ 1970 มีบันทึกถึงเสือโคร่งตัวท้าย ๆ ในแต่ละท้องถิ่นดังนี้

เสือโคร่งตัวสุดท้ายในแถบคอเคซัสถูกฆ่าในปี 1922 ใกล้กับ ทบิลิซี จอร์เจีย มันถูกฆ่าหลังจากไปฆ่าสัตว์ในฟาร์มของชาวบ้าน เสือโคร่งตัวสุดท้ายในตุรกีถูกฆ่าในปี 2513 ใกล้กับอูลูเดเร จังหวัดฮักคารี

ในประเทศอิรักเคยพบเสือโคร่งเพียงตัวเดียว มันถูกฆ่าใกล้กับโมซุล ในปี 1887 ในประเทศอิหร่าน เสือโคร่งตัวสุดท้ายถูกฆ่าในปี พ.ศ. 2502 ในโมฮัมหมัดรีซาชา (ปัจจุบันคือโกลีสตาน) เสือโคร่งพันธุ์แคสเปียนตัวหนึ่งในลุ่มน้ำทาริม ของประเทศจีนถูกฆ่าในปี 1899 ใกล้กับแอ่งลอบนอร์ในมณฑลซินเจียง และหลังจากทศวรรษ 1920 ก็ไม่มีใครเห็นเสือโคร่งแคสเปียนในลุ่มน้ำนี้อีกเลย

เสือโคร่งหายไปจากลุ่มแม่น้ำมานัสในเทือกเขาเทียนซานทางตะวันตกของอูรุมชี ในทศวรรษ 1960 ที่แม่น้ำไอรี ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยสำคัญแหล่งสุดท้ายในบริเวณทะเลสาบบัลฮัช มีผู้พบครั้งสุดท้ายในปี 2491

เสือโคร่งที่อยู่ในตอนปลายแม่น้ำอะมู-ดาร์ยาบริเวณชายแดนระหว่างเติร์กเมนิสถาน อุสเบกิสถาน และอัฟกานิสถานเชื่อว่าสูญพันธุ์ไปตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1970 แล้ว แม้จะมีรายงานอย่างไม่เป็นทางการว่าพบเสือโคร่งบริเวณทะเลเอรัลใกล้กับนูคัส ในปี 2511 ก็ตาม


สถานภาพของเสือโคร่งพันธุ์ชวา

จากการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยและถูกล่าอย่างหนัก ทำให้เสือโคร่งพันธุ์ชวาลดจำนวนลงอย่างมาก ในทศวรรษ 1940 เหลือเสือโคร่งพันธุ์น้อยมาก จนถึงในปี 2513 เหลืออยู่เพียงในเมรูเบตีรีเพียงแห่งเดียวเท่านั้น และหลังจากปี 2519 ก็ไม่มีใครเห็นเสือโคร่งพันธุ์ชวาอีกเลย

สถานภาพของเสือโคร่งพันธุ์บาหลี

เสือโคร่งพันธุ์บาหลีมีขนาดเพียงครึ่งหนึ่งของเสือโคร่งพันธุ์ไซบีเรียเท่านั้น พิพิธภัณฑ์ทั่วโลกมีตัวอย่างซากของเสือโคร่งบาหลีเพียง 8 ตัว ซึ่งส่วนใหญ่จะได้มาในช่วงทศวรรษ 1930 เสือโคร่งพันธุ์นี้ได้สูญพันธุ์ไปจากโลกในช่วงทศวรรษ 1940 หลังสงครามโลกครั้งที่สอง

ไซเตสจัดเสือโคร่งไว้ในบัญชีหมายเลข 1 ไอยูซีเอ็นจัดเสือโคร่งไว้ในประเภทที่มความเสี่ยงสูงที่จะสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ

ประเทศที่ห้ามล่า

บังกลาเทศ ภูฏาน กัมพูชา จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย พม่า เนปาล รัสเซีย ไทย เวียดนาม

อนาคตของเสือโคร่ง

แม้ว่าเสือโคร่งสามารถเพาะพันธุ์ในกรงเลี้ยงได้มากจนแน่ใจได้ว่าเสือโคร่งจะไม่มีวันสูญพันธุ์ไปจากโลกแน่นอน แต่สำหรับอนาคตของเสือโคร่งในธรรมชาติยังอยู่ในความมืดมน เสือที่อยู่ภายนอกเขตอนุรักษ์มีโอกาสอยู่รอดน้อยมาก มันจะต้องถูกคนล่าอย่างน้อยเพราะเป็นอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงและมนุษย์ พื้นที่ที่เสือโคร่งอาศัยอยู่ส่วนใหญ่ก็อยู่ในบริเวณที่มีมนุษย์อาศัยอยู่มากที่สุดของโลก นับตั้งแต่โครงการอนุรักษ์เสือโคร่ง เริ่มขึ้นในประเทศอินเดียมา 20 ปี ประชากรในประเทศได้เพิ่มจำนวนกว่า 300 ล้านคนหรือเกือบ 50 เปอร์เซนต์และมีสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้นกว่า 100 ล้านตัว เสือโคร่งในภูมิภาคอื่นก็อยู่ในภาวะคล้ายคลึงกัน

ปัจจุบัน ประชากรของเสือโคร่งลดลงอย่างรวดเร็วจนแทบจะสูญพันธุ์ ถ้ายังปล่อยให้มีการล่าอย่างไม่มีการควบคุมอย่างเข้มงวด เสือโคร่งคงจะสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติไปภายในไม่กี่สิบปีข้างหน้านี้ ทุกคนล้วนมีส่วนช่วยในการอนุรักษ์เสือโคร่งทั้งสิ้นแม้แต่คนในเมือง เราสามารถช่วยการดำรงเผ่าพันธุ์ของเสือโคร่งด้วยการเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับเสือโคร่งเสียใหม่ เสือโคร่งมีสิทธิที่จะอาศัยอยู่ในธรรมชาติอย่างผาสุข ทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมประชากรและคุณภาพของสัตว์ชนิดอื่น และลูกหลานของเราทุกคนก็มีสิทธิที่จะเห็นเสือโคร่งในธรรมชาติเช่นกัน จงเลิกซื้อเลิกหายาหรือเครื่องประดับใด ๆ ที่ทำมาจากอวัยวะเสือโคร่ง เมื่อใดผู้ซื้อหยุด ผู้ล่าก็จะหยุดด้วย

แหล่งที่มา

WikiPedia: เสือโคร่ง http://www.goal.com/th/news/4280/%E0%B8%9F%E0%B8%B... http://www.ubonzoo.com/wild_animals/tigris.html http://www.iucnredlist.org/apps/redlist/details/15... http://www.savethetigerfund.org http://www.thairath.co.th/content/514459 http://app.tv5.co.th/%E0%B8%94%E0%B8%B9%E0%B8%97%E... https://mgronline.com/indochina/detail/95900000354... https://www.nst.com.my/news/nation/2019/08/509651/... https://www.iucnredlist.org/species/136893/5066502... https://commons.wikimedia.org/wiki/Category:Panthe...