เบื้องหลัง ของ เหตุจลาจลในพนมเปญ_พ.ศ._2546

ทางประวัติศาสตร์

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและกัมพูชามีความไม่แน่นอนอย่างมาก สะท้อนภาพของการแบ่งการปกครองเป็นนครรัฐมากกว่ารัฐชาติ โดยนครรัฐเหล่านี้ผูกรวมเข้าด้วยกันโดยจักรวรรดิที่มีความสัมพันธ์ทางการเมือง การทหารและรัฐบรรณาการที่เข้มแข็งกว่า ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14 ศูนย์กลางอำนาจของไทยย้ายจากอาณาจักรสุโขทัย มายังอาณาจักรอยุธยาที่อยู่ทางตอนใต้ ในพื้นที่ซึ่งในอดีตเคยเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิขะแมร์ ภัยคุกคามของอยุธยาที่มีต่อนครธมได้เพิ่มมากขึ้นเมื่ออำนาจของอยุธยาเริ่มแข็งแกร่ง และในคริสต์ศตวรรษที่ 15 นครธมก็ถูกตีแตกโดยกองทัพอยุธยา

ในหลายศตวรรษถัดมา กองทัพอยุธยาได้รุกล้ำเข้าไปในกัมพูชาอยู่หลายครั้ง ตลอดช่วงเวลาส่วนใหญ่ของคริสต์ศตวรรษที่ 19 กัมพูชาตอนเหนือ ซึ่งรวมไปถึงนครธม ได้เป็นรัฐบรรณาการที่ขึ้นตรงกับไทย ระดับความมีเอกราชของรัฐเหล่านี้ไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์กับชนชั้นปกครองของไทย, กัมพูชาและผู้ล่าอาณานิคมฝรั่งเศส

พ.ศ. 2450 ไทยได้เสียดินแดนกัมพูชาตอนเหนือให้กับฝรั่งเศสเป็นครั้งแรก ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1930 เหตุการณ์ดังกล่าวได้กลายมาเป็นพื้นฐานของคำกล่าวอ้างของรัฐบาลชาตินิยมว่าดินแดนดังกล่าวเป็น "ดินแดนที่สูญเสียไป" อันเป็นของประเทศไทยโดยชอบธรรม คำกล่าวอ้างดังกล่าวยังมีต่อไปจนกระทั่งคริสต์ทศวรรษ 1950

ทางเศรษฐกิจ

อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยที่สูงระหว่างคริสต์ทศวรรษ 1980 และ 1990 ทำให้เศรษฐกิจไทยถือเป็นหนึ่งในเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตรงกันข้ามกับการปกครองภายใต้รัฐบาลเขมรแดงและสงครามกลางเมืองกัมพูชา ซึ่งยังทำให้กัมพูชายังอ่อนแอทางเศรษฐกิจ ผลที่ตามมาคือ ชาวไทยได้เข้าควบคุมเศรษฐกิจกัมพูชา ซึ่งก่อให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ชาวกัมพูชา

ทางวัฒนธรรม

เมื่อเทียบกับกัมพูชาแล้ว ประเทศไทยมีประชากรสูงกว่ามากและเปิดรับเอาอิทธิพลตะวันตกเข้ามามากกว่าด้วย ปัจจัยดังกล่าวได้ทำให้ประเทศไทยมีอิทธิพลทางวัฒนธรรมต่อดนตรีและโทรทัศน์ของกัมพูชา ซึ่งทำให้ชาวกัมพูชาจำนวนมากเข้าใจว่าคนไทยเป็นพวกหยิ่งยโสและเหยียดเชื้อชาติต่อประเทศเพื่อนบ้านของตน

ใกล้เคียง