พฤติกรรม ของ เหยี่ยวออสเปร

อาหาร

ลักษณะการพุ่งโฉบ จับเหยื่อ และโผบินขึ้นไปพร้อมเหยื่อของเหยี่ยวออสเปรในประเทศอินเดีย

อาหารของเหยี่ยวออสเปรเป็นปลาถึง 99% [28] โดยปกติแล้วมันสามารถจับปลาหนักได้ถึง 150–300 กรัม ยาว 25–35 เซนติเมตร แต่น้ำหนักปลาที่สามารถจับได้อยู่ในช่วง 50 ถึง 2,000 กรัม

เหยี่ยวออสเปรจะมองเห็นเหยื่อเหนือน้ำ 10-40 เมตร หลังจากนั้นนกจะโฉบลงไปและแหย่ขาจุ่มลงไปในน้ำเพื่อจับเหยื่อ[29] เหยี่ยวออสเปรมีการปรับตัวเป็นพิเศษโดยเฉพาะสำหรับจับปลา ด้วยนิ้วเท้าด้านนอกที่พลิกกลับได้ ใต้นิ้วเท้ามีรูปร่างคล้ายเข็ม[30] รูจมูกปิดได้เพื่อกันน้ำเข้าระหว่างการพุ่งโฉบ และเกล็ดย้อนกลับบนกรงเล็บทำหน้าที่คล้ายหนามเพื่อช่วยยึดสิ่งที่มันจับได้

บางคราว เหยื่อของเหยี่ยวออสเปรอาจเป็นสัตว์ฟันแทะ กระต่าย สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ นกชนิดอื่นๆ[31] และสัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็ก[32]

การสืบพันธุ์

แหล่งผสมพันธุ์วางไข่ของเหยี่ยวออสเปรเป็นทะเลสาบน้ำจืด หรือชายฝั่งน้ำกร่อย บนก้อนหินที่โผล่พ้นน้ำทะเลใกล้ชายฝั่งของเกาะร็อตท์เนสท์ (Rottnest Island) บริเวณชายฝั่งของรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย มีประมาณ 14 แห่งถูกใช้เป็นสถานที่ทำรังซึ่งในปีหนึ่งๆจะมีการใช้ 5-7 แห่ง และหลายแห่งมีการซ่อมแซมเพื่อใช้งานทุกฤดู และบางแห่งใช้มานานถึง 70 ปี รังมีขนาดใหญ่ สร้างจากกิ่งไม้ เศษไม้ และสาหร่ายทะเล โดยสร้างบนง่ามต้นไม้ แท่งหิน เสาสาธารณูปโภค รังเทียม หรือ เกาะแก่งใกล้ชายฝั่ง[28][33] โดยทั่วไปเหยี่ยวออสเปรจะโตเต็มที่และเริ่มผสมพันธุ์เมื่ออายุ 3-4 ปี แต่ในบางพื้นที่ที่มีความหนาแน่นของประชากรของเหยี่ยวออสเปรสูง เช่น อ่าวเชซาพีค (Chesapeake Bay) ในสหรัฐอเมริกา และขาดแคลนสิ่งก่อสร้างที่สูงพอเหมาะสำหรับการทำรัง นกจะเริ่มผสมพันธุ์เมื่อมีอายุ 5-7 ปี ถ้าไม่มีสถานที่สำหรับทำรังวางไข่ เหยี่ยวออสเปรที่เป็นวัยรุ่นจะถูกบังคับให้ยืดการผสมพันธุ์วางไข่ออกไปอีก เพื่อลดปัญหานี้ บางครั้งจึงมีการสร้างสถานที่ที่เหมาะสมให้กับนกเพื่อสร้างรัง[34]

รังเทียมที่ได้รับการออกแบบจากองค์กร Citizens United to Protect the Maurice River and Its Tributaries, Inc. กลายเป็นรังเทียมมาตรฐานของรัฐนิวเจอร์ซีย์ สหรัฐอเมริกา ด้วยแบบของรังเทียมและวัสดุหาได้ง่ายจึงมีการนำไปใช้เป็นจำนวนมากในหลายๆพื้นที่ที่มีภูมิประเทศต่างกันไป[35]

โดยปกติเหยี่ยวออสเปรมีคู่เพียงตัวเดียวตลอดชีวิต แต่ก็มีกรณีที่มีคู่มากกว่าหนึ่งตัวบันทึกไว้ซึ่งพบเห็นได้ยาก[36] ฤดูผสมพันธุ์ขึ้นกับสถานที่โดยกำหนดได้จากเส้นรุ้ง ในตอนใต้ของประเทศออสเตรเลียจะเป็นฤดูใบไม้ผลิ (กันยายน-ตุลาคม) ในตอนเหนือของประเทศออสเตรเลียเป็นเดือนเมษายนถึงกรกฎาคม และในตอนใต้ของรัฐควีนส์แลนด์เป็นฤดูหนาว (มิถุนายน-สิงหาคม)[33] ในฤดูใบไม้ผลิคู่นกจะเริ่มใช้เวลาร่วมกันถึง 5 เดือนในการเลี้ยงดูลูก เหยี่ยวเพศเมียจะวางไข่ 2-4 ฟองในเดือนแรก และทำการกกไข่เพื่อให้ความร้อนแก่ไข่ ไข่มีสีขาว มีจุดหนาสีน้ำตาลแดง มีขนาดประมาณ 6.2 x 4.5 เซนติเมตร และหนักประมาณ 65 กรัม[33] ไข่ให้เวลาประมาณ 5 สัปดาห์ในการฟักเป็นตัว

ลูกนกเกิดใหม่มีน้ำหนัก 50-60 กรัม ใช้เวลาเลี้ยงดูประมาณ 8-10 สัปดาห์ จากการศึกษาบนเกาะจิงโจ้ (Kangaroo Island) ตอนใต้ของประเทศออสเตรเลียเวลาเฉลี่ยที่ใช้เลี้ยงดูลูกนกอยู่ที่ 69 วัน จากการศึกษาเดียวกันพบว่าเฉลี่ยแล้วมีลูกนกที่โตเต็มที่ 0.66 ตัวต่อปีต่ออาณาเขตครอบครอง และ 0.92 ตัวต่อปีต่อรัง มีนกวัยอ่อน 22 % ที่สามารถรอดตายอาศัยอยู่บนเกาะหรือกลับมาเมื่อโตเต็มที่เพื่อผสมพันธุ์[36] เมื่ออาหารขาดแคลน ลูกนกที่ฟักตัวแรกมีหวังจะรอดตายมากที่สุด ปกติเหยี่ยวออสเปรช่วงชีวิต 7-10 ปี แต่ก็มีนกบางตัวที่มีอายุยืน 20-25 ปี เหยี่ยวออสเปรที่อายุมากที่สุดในยุโรปมีอายุมากกว่า 30 ปี ในอเมริกาเหนือ นกเค้าหูยาวและนกอินทรีหัวล้าน (และนกอินทรีชนิดอื่นที่มีขนาดใกล้เคียง) เป็นศัตรูหลักของลูกนกและนกวัยอ่อน[32] พบปรสิตพยาธิตัวแบน (Scaphanocephalus expansus และ Neodiplostomum spp.) ในเหยี่ยวออสเปรตามธรรมชาติ[37]

การอพยพ

เหยี่ยวออสเปรในทวีปยุโรปจะอพยพไปทวีปแอฟริกาในฤดูหนาว[38] นกเหยี่ยวในสหรัฐอเมริกาและประเทศแคนาดาจะอพยพไปทวีปอเมริกาใต้ แต่ก็มีบางตัวที่รั้งอยู่ในรัฐทางตอนใต้สุดของสหรัฐอเมริกา เช่น รัฐฟลอริดา และ รัฐแคลิฟอร์เนีย[39] และก็มีเหยี่ยวออสเปรบางตัวในรัฐฟลอริดาอพยพไปทวีปอเมริกาใต้[40] เหยี่ยวออสเปรในออสตราเลเซียมักจะเป็นนกประจำถิ่น

จากการศึกษาเหยี่ยวออสเปรในประเทศสวีเดนแสดงว่าเหยี่ยวเพศเมียจะอพยพไปทวีปแอฟริกาก่อนเพศผู้ พบนกอพยพผ่านจำนวนมากระหว่างการย้ายถิ่นในฤดูใบไม้ร่วง ความผันแปรของเวลาและช่วงเวลาในฤดูใบไม้ร่วงมีความไม่แน่นอนมากกว่าในฤดูใบไม้ผลิ แม้ว่าการอพยพปกติจะกระทำในเวลากลางวัน แต่ก็มีการบินอพยพในเวลากลางคืนโดยเฉพาะในการบินข้ามน้ำ ครอบคลุมโดยเฉลี่ย 260-280 กม./วัน มากที่สุด 431 กม./วัน[41] นกเหยี่ยวในยุโรปอาจมีการอพยพย้ายถิ่นฐานไปเอเชียใต้ในฤดูหนาว เคยมีการพบเหยี่ยวออสเปรที่สวมแหวนที่ข้อเท้าของประเทศนอร์เวย์ในทางตะวันตกของประเทศอินเดีย[42]

แหล่งที่มา

WikiPedia: เหยี่ยวออสเปร http://www.etymonline.com/index.php?term=osprey http://www.flickr.com/groups/birdguide/pool/tags/P... http://ibc.lynxeds.com/species/osprey-pandion-hali... http://www.marthas-vineyard-vacation-tips.com/ospr... http://www.microwavetelemetry.com/newsletters/wint... http://www.scricciolo.com/classificazione/sequence... http://archimedes.fas.harvard.edu/cgi-bin/dict?nam... http://www.flmnh.ufl.edu/wwwsounds/birds/hardy4sh.... http://animaldiversity.ummz.umich.edu/site/account... http://www.uncw.edu/facts/traditions.html