ประวัติ ของ แก๊สมีสกุล

แก๊สมีสกุล แปลมาจากคำว่า Edelgas ในภาษาเยอรมัน คำดังกล่าวถูกใช้คำครั้งแรกใน ค.ศ. 1898 โดยฮิวโก้ เอิร์ดแมนน์[3] เพื่อบ่งบอกถึงระดับความว่องไวต่อปฏิกิริยาที่ต่ำ ตั้งชื่อดังกล่าวด้วยเหตุผลเดียวกับ "โลหะมีสกุล" ซึ่งมีค่าความว่องไวต่อปฏิกิริยาที่ต่ำเช่นเดียวกัน อีกชื่อของแก๊สมีสกุลอย่างแก๊สเฉื่อยไม่ได้รับความนิยมแล้ว เนื่องจากสารประกอบของแก๊สมีสกุลเป็นที่รู้จักมากกว่าเดิม[4] และ แก๊สหายาก ซึ่งเป็นอีกชื่อที่เคยใช้[5] ไม่ถูกต้อง เพราะการสลายตัวของกัมมันตภาพรังสีโพแทสเซียม-40 ทำให้อาร์กอนเป็นส่วนประกอบของบรรยากาศของโลกมากถึง 0.94% โดยปริมาตร และ 1.3% โดยมวล[6]

พบฮีเลียมครั้งแรกในชั้นบรรยากาศรอบดวงอาทิตย์ เนื่องจากคุณสมบัติเฉพาะของมันเส้นสเปกตรัม

ปีแยร์ ฌ็องซ็องและนอร์แมน ล็อกเยอร์ค้นพบธาตุใหม่ในวันที่ 18 สิงหาคม ค.ศ. 1868 ขณะมองไปที่ชั้นโครโมสเฟียร์ของดวงอาทิตย์ และตั้งชื่อมันว่าฮีเลียม จากคำว่า ἥλιος (hḗlios)[7] ซึ่งมีความหมายในภาษากรีกว่าดวงอาทิตย์ การวิเคราะห์ทางเคมีที่สามารถพิสูจน์ว่าฮีเลียมเป็นแก๊สมีสกุลเกิดขึ้นในภายหลัง ก่อนการพิสูจน์ดังกล่าว เมื่อ ค.ศ. 1784 นักเคมีและนักฟิสิกส์ชาวอังกฤษ เฮนรี คาเวนดิชค้นพบสารจำนวนน้อยในอากาศที่มีความว่องไวต่อปฏิกิริยาต่ำกว่าไนโตรเจน[8] ต่อมาใน ค.ศ. 1895 จอห์น วิลเลียม สตรัทท์ หรือ ลอร์ดเรย์ลี ค้นพบว่าสารไนโตรเจนตัวอย่างจากอากาศมีความหนาแน่นต่างจากไนโตรเจนที่ได้จากปฏิกิริยาเคมี ร่วมกันกับนักวิทยาศาสตร์ชาวสกอตแลนด์ วิลเลียม แรมซีย์จากยูนิเวอร์ซิตีคอลลิจลันเดิน เรย์ลีได้ตั้งทฤษฎีขึ้นว่าไนโตรเจนที่สกัดได้จากอากาศปนเปื้อนกับแก๊สอื่น นำไปสู่การทดลองที่ประสบความสำเร็จในการสกัดธาตุใหม่อย่างอาร์กอน ซึ่งตั้งชื่อจากคำภาษากรีกว่า ἀργός (argós ซึ่งมีความหมายว่า "ไม่ได้ใช้งาน" หรือ "ขี้เกียจ")[8] การค้นพบใหม่ทำให้พวกเขาตระหนักว่ามีแก๊สจำนวนมากหายไปจากตารางธาตุ ในการทดลองเพื่อหาธาตุอาร์กอน แรมซีย์ก็ยังพบวิธีสกัดฮีเลียมเป็นครั้งแรก ขณะให้ความร้อนแก่แร่ธาตุชื่อคลีเวต หลังได้รับหลักฐานการมีอยู่ของธาตุฮีเลียมและอาร์กอน ใน ค.ศ. 1902 ดมีตรี เมนเดเลเยฟได้เพิ่มแก๊สมีสกุลทั้งสองลงในกลุ่มที่ 0 ของลำดับการเรียงธาตุของเขา ภายหลังรู้จักในชื่อตารางธาตุ[9]

แรมซีย์ทำการทดลองหาแก๊สมีสกุลต่อไป ด้วยการใช้วิธีการกลั่นแบบลำดับส่วนในการแยกอากาศเหลวกลายเป็นส่วนประกอบต่างๆ จน ค.ศ. 1898 เขาได้ค้นพบธาตุคริปทอน, นีออน, และซีนอน ซึ่งตั้งชื่อตามคำภาษากรีกว่า κρυπτός (kryptós, "หาย"), νέος (néos, "ใหม่") และ ξένος (ksénos, "แปลก") ตามลำดับ เรดอนถูกค้นพบตั้งแต่ ค.ศ. 1898 โดยฟรีดริช แอ็นสท์ ดอร์น[10] และตั้งชื่อจากการแผ่รังสีเรเดียม แต่เรดอนเพิ่งจัดเป็นแก๊สมีสกุลหลัง ค.ศ. 1904 เมื่อค้นพบว่าคุณสมบัติต่าง ๆ มีลักษณะเหมือนกับแก๊สมีสกุลอื่นๆ [11] เรย์ลีและแรมซีย์ได้รับรางวัลโนเบล ประจำ ค.ศ. 1904 ในสาขาฟิสิกส์และเคมีตามลำดับ จากการค้นพบการมีอยู่ของแก๊สมีสกุล[12][13] เจ. อี. เซเดอร์บลอม นายกราชบัณฑิตยสภาวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดนกล่าวไว้ว่า "การค้นพบกลุ่มของธาตุใหม่ทั้งหมด โดยที่ยังไม่มีธาตุใดเป็นต้นแบบของกลุ่มอยู่เลย นับเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่และมีเอกลักษณ์มากในประวัติศาสตร์ของเคมี สิ่งนี้จะเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญต่อการค้นคว้า" การค้นคว้าเกี่ยวกับแก๊สมีสกุลมีส่วนช่วยอย่างมากในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านโครงสร้างอะตอม ใน ค.ศ. 1895 นักเคมี ชาวฝรั่งเศส อ็องรี มัวซ็องได้พยายามสร้างปฏิกิริยาเคมีระหว่างฟลูออรีนที่มีคุณสมบัติอิเล็กโตรเนกาทิวิตีสูง และอาร์กอน หนึ่งในแก๊สมีสกุล แต่การทดลองกลับล้มเหลว การเตรียมสารประกอบอาร์กอนยังเป็นไปไม่ได้จนจบคริสต์ศตวรรษที่ 20 แต่การท้าทายความเป็นไปได้ดังกล่าวทำให้เกิดทฤษฎีของโครงสร้างอะตอมใหม่ ๆ ตามมา ด้วยความรู้จากการทดลองที่ผ่านมา เมื่อ ค.ศ. 1913 นักฟิสิกส์ชาวเดนิช นิลส์ โปร์เสนอทฤษฎีโครงสร้างอะตอมว่า อิเล็กตรอนในอะตอมต่างเรียงอยู่ภายในชั้นพลังงานรอบนิวเคลียส และธาตุทั้งหมดในแก๊สมีสกุลยกเว้นฮีเลียม ล้วนมีอิเล็กตรอนในระดับพลังงานวงนอกครบ 8 อิเล็กตรอนเสมอ[11] ต่อมาใน ค.ศ. 1916 กิลเบิร์ต เอ็น ลิวอิสได้คิดค้นกฎออกเตตซึ่งสามารถสรุปได้ว่าการจับตัวครบแปดของอิเล็กตรอนในระดับพลังงานวงนอกเป็นการจัดเรียงตัวที่เสถียรที่สุดสำหรับอะตอมใดๆ โดยธาตุที่มีการจัดรูปแบบนี้จะไม่ตอบสนองต่อธาตุอื่น ๆ เนื่องจากไม่ต้องการอิเล็กตรอนมารวมในระดับพลังงานวงนอกอีกแล้ว[14]ใน ค.ศ. 1962 นักเคมี นีล บาร์ตเลตต์ค้นพบซีนอนเฮกซะฟลูออโรแพลทิเนต[15] สารประกอบของแก๊สมีสกุลที่ค้นพบเป็นครั้งแรก สารประกอบของแก๊สมีสกุลชนิดอื่นค้นพบในเวลาต่อมา เช่น สารประกอบของธาตุเรดอนอย่างเรดอนไดฟลูออไรด์ (RnF2) [16] ค้นพบใน ค.ศ. 1962 จากรอยสารกัมมันตภาพรังสี สารประกอบของธาตุคริปทอนอย่างคริปทอนไดฟลูออไรด์ (KrF2)[17]ค้นพบใน ค.ศ. 1963 ส่วนสารประกอบอาร์กอนตัวแรกที่เสถียรบันทึกไว้ใน ค.ศ. 2000 เมื่ออาร์กอนฟลูออโรไฮไดรด์ (HArF) เกิดการจับตัวที่อุณหภูมิ 40 เคลวิน (−233.2 องศาเซลเซียส; −387.7 องศาฟาเรนไฮต์)[18]

ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2006 นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันร่วมเพื่อการวิจัยนิวเคลียร์และห้องปฏิบัติการแห่งชาติ ลอว์เรนซ์ ลิเวอร์มอร์สามารถสังเคราะห์โอกาเนสซอนซึ่งเป็นธาตุที่ 17 ในกลุ่มที่ 18 ของตารางธาตุ[19]ได้สำเร็จ โดยการรวมตัวของแคลิฟอร์เนียมกับแคลเซียม[20]

แหล่งที่มา

WikiPedia: แก๊สมีสกุล https://doi.org/10.1002%2Fanie.201502571 https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/25950423 https://ftl.toolforge.org/cgi-bin/ftl?st=&su=Gases... https://ftl.toolforge.org/cgi-bin/ftl?st=&su=Gases... https://ftl.toolforge.org/cgi-bin/ftl?st=&su=Gases... https://commons.wikimedia.org/wiki/Category:Noble_... https://archive.org/details/trent_0116400178434 https://www.britannica.com/eb/article-9110613/nobl... https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC78146... https://doi.org/10.1002%2Fanie.202011976