สาเหตุ ของ แบคทีเรียดื้อยา

แผนภาพแสดงการเกิดและการแพร่กระจายของแบคทีเรียดื้อยาทั้งในมนุษย์และสัตว์

ถึงแม้ว่าการดื้อต่อยาปฏิชีวนะของแบคทีเรียนั้นมีมาก่อนที่จะมีการใช้ยาดังกล่าวในมนุษย์[21][22] แต่การใช้ยาปฏิชีวนะโดยมนุษย์กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบันนี้ทำให้การดื้อยาปฏิชีวนะของแบคทีเรียเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติผ่านกระบวนการการกดดันทางวิวัฒนาการ (evolutionary pressure)[23][24] ทั้งนี้ สาเหตุหลักที่ทำให้การใช้ยาปฏิชีวนะในมนุษย์ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยเป็นผลมาจากความสามารถในการผลิตยาปฏิชีวนะในระดับอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นทั่วโลกตลอดทุกช่วงเวลาตั้งแต่ปี 1950 ทำให้ปริมาณยาปฏิชีวนะที่ผลิตขึ้นมีจำนวนมากพอที่จะจำหน่ายแก่ประชาชนได้อย่างกว้างขวาง ประกอบกับการที่รัฐไม่สามารถควบคุมการขายได้ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศรายได้น้อยและรายได้ปานกลางหลายประเทศ ซึ่งสามารถซื้อยาดังกล่าวได้โดยไม่ต้องใช้ใบสั่งยาจากแพทย์ และการซื้อยาใช้เองในกรณีดังกล่าว ส่วนใหญ่มักเป็นการใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่ตรงข้อบ่งใช้ ซึ่งจะส่งผลให้ความเสี่ยงที่อาจเกิดการดื้อยาปฏิชีวนะของแบคทีเรียสูงขึ้นได้ในทุก ๆ สายพันธุ์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน[25]

เหตุผลอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดการดื้อยาของจุลชีพในปัจจุบัน ได้แก่:

  • การใช้ยาปฏิชีวนะในการปศุสัตว์ โดยมีการรับรองให้มีการใช้ยาปฏิชีวนะในขนาดต่ำแก่ปศุสัตว์เพื่อเสริมการเจริญเติบโตของสัตว์ดังกล่าวในประเทศอุตสาหกรรมหลายประเทศ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าการใช้ยาปฏิชีวนะในกรณีนี้สามารถนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของการดื้อยาปฏิชีวนะของแบคทีเรียได้[26][27]
  • การปล่อยของเสียที่มีส่วนผสมของยาปฏิชีวนะอยู่ในปริมาณสูงสู่สิ่งแวดล้อมของโรงงานผลิตยา เนื่องจากไม่มีระบบการบำบัดน้ำเสีย (wastewater treatment) ที่ดีมากพอ ทำให้ความเสี่ยงที่จะเกิดการดื้อยาของแบคทีเรียในสิ่งแวดล้อมเพิ่มสูงมากขึ้น และแพร่กระจายได้มากขึ้น[28][29]
  • ถึงแม้จะยังไม่ทราบแน่ชัดว่าสารต้านแบคทีเรียในสบู่และผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่นนั้นมีส่วนช่วยในการดื้อยาของแบคทีเรียหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตาม องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาได้ห้ามให้มีการใช้สารต้านแบคทีเรียจำนวน 19 ชนิดในผลิตภัณฑ์สบู่ต้านแบคทีเรียเมื่อวันที่ 2 กันยายน ค.ศ. 2016 ด้วยให้เหตุผลประกอบว่า "ไม่มีข้อมูลที่แสดงให้เห็นได้เด่นชัดว่าสบู่ที่มีส่วนผสมของสารต้านแบคทีเรียนั้นมีประสิทธิภาพดีกว่าการล้างทำความสะอาดด้วยน้ำเปล่าและสบู่ทั่วไปในการป้องกันภาวะความเจ็บป่วยจากแบคทีเรีย"[30][31][32]

การดื้อยาจากการใช้ยาปฏิชีวนะในมนุษย์

แผนภาพเปรียบเทียบจำนวนผู้ที่เสียชีวิตจากการติดเชื้อจุลชีพดื้อยากับผู้ที่เสียชีวิตจากสาเหตุอื่น คาดว่าในปี ค.ศ. 2050 การเสียชีวิตจากการติดเชื้อจุลชีพดื้อยาจะเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตด้วยโรคเจ็บบป่วยของมนุษย์ โดยมีจำนวนมากถึง 10 ล้านคน [14]

การเพิ่มขึ้นของการดื้อยาปฏิชีวนะของแบคทีเรียนั้นมีความสัมพันธ์กับปริมาณการสั่งใช้ยาหรือการใช้ยาดังกล่าว รวมไปถึงการรับประทานยาปฏิชีวนะไม่ครบตามที่ได้ควรได้รับ[33] โดยการสั่งยาใช้ปฏิชีวนะที่ไม่เหมาะสมนี้มีสาเหตุมาจากหลายประการ ทั้งจากการที่ผู้ป่วยยืนยันที่จะให้แพทย์สั่งใช้ยาปฏิชีวนะแก่ตน ถึงแม้จะไม่มีข้อบ่งชี้ที่จำเป็นต้องใช้ยาดังกล่าว และแพทย์บางรายก็อาจสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะให้แก่ผู้ป่วยของตนตามที่ร้องขอ เนื่องจากไม่มีเวลามากพอที่จะอธิบายให้ผู้ป่วยตระหนักรู้ได้ถึงเหตุผลที่ไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาการเจ็บป่วยครั้งนั้น ๆ และในบางกรณี แพทย์ผู้สั่งใช้ยาเองก็ไม่ทราบแน่ชัดว่าเมื่อใดที่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะหรือมีความระมัดระวังมากเกินไปในการสั่งใช้ยาเนื่องมาจากเหตุผลทางการแพทย์ รวมไปถึงเหตุผลทางกฎหมาย[34] นอกจากนี้แล้ว การที่มีระดับความเข้มข้นของยาปฏิชีวนะในร่างกายต่ำมากเกินไปก็อาจก่อให้เกิดการดื้อยาของแบคทีเรียได้ผ่านกระบวนการการเหนี่ยวนำให้เกิดการกลายพันธุ์ของแบคทีเรียนั้น ๆ ส่งผลให้แบคทีเรียดังกล่าวสามารถเจริญเติบโตอยู่ได้ตามปกติถึงแม้จะมีการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะชนิดเดิมที่ให้ความเข้มข้นของยาในกระแสเลือดมากขึ้นกว่าเดิมก็ตาม ยกตัวอย่างเช่น การดื้อยาของแบคทีเรีย Pseudomonas aeruginosa และ Bacteroides fragilis ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการกลายพันธุ์จากการได้รับยาปฏิชีวนะในขนาดที่ให้ความเข้มข้นของยาดังกล่าวในร่างกายต่ำกว่าความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถยับยั้งการเจริญของแบคทีเรียดังกล่าว (subinhibitory concentration)[35]

ดังที่กล่าวไปในข้างต้นว่า การใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่เหมาะสมและไม่จำเป็นเพื่อการรักษาความเจ็บป่วยของมนุษย์ในปัจจุบันนั้นเป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดภาวะฉุกเฉินด้านการดื้อยาของแบคทีเรีย โดยมากกว่าร้อยละ 50 ของการใช้ยาปฏิชีวนะในมนุษย์พบว่าเป็นการใช้ยาที่ไม่เหมาะสมและไม่ตรงตามข้อบ่งใช้[8] ยกตัวอย่างเช่น คน 1 ใน 3 คน ยังคงมีความเชื่อว่ายาปฏิชีวนะมีประสิทธิภาพในการรักษาโรคไข้หวัด[36] โดยพบว่าการสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาโรคไข้หวัดนั้นพบเห็นได้มากที่สุดในประเด็นของการสั่งใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่ตรงตามข้อบ่งใช้ ถึงแม้จะเป็นที่ทราบกันดีของบุคลากรทางการแพทย์ว่ายาดังกล่าวไม่มีประสิทธิภาพในการต้านไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคไข้หวัด[37] นอกจากนี้การใช้ยาปฏิชีวนะแม้เพียงครั้งเดียว ถึงแม้จะเป็นการใช้ในผู้ที่มีข้อบ่งใช้ที่จำเป็นต้องได้รับยาดังกล่าว ก็สามารถเพิ่มความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดการดื้อยาปฏิชีวนะของแบคทีเรียได้ โดยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวจะคงอยู่ได้นานประมาณ 1 เดือน ถึง 1 ปี ตั้งแต่เริ่มมีการใช้ยาดังกล่าว[38][39]

ความเสี่ยงที่จะเกิดการดื้อยาปฏิชีวนะของแบคทีเรียนั้นจะเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาที่ใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษา ดังนั้น ตราบใดที่ยังมีการใช้ยาปฏิชีวนะในจำนวนที่น้อยที่สุดที่ให้ประสิทธิภาพดีในการรักษา และใช้ยาดังกล่าวเป็นระยะเวลาที่สั้นที่สุดเท่าที่เป็นได้จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดการดื้อยาของแบคทีเรีย ช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย ให้ผลลัพธิ์การรักษาที่ดีกว่าและมีภาวะแทรกซ้อนน้อย[10] .ทำให้ในปัจจุบันมีการใช้สูตรการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะระยะสั้นในผู้ที่เจ็บป่วยด้วยโรคติดเชื้อแบคทีเรียหลายชนิด ได้แก่ โรคปอดอักเสบชุมชน (community-acquired pneumonia; CAP),[40] เยื่อบุช่องท้องอักเสบเองจากแบคทีเรีย (spontaneous bacterial peritonitis; SBP),[41] ผู้ป่วยหนักในหน่วยอภิบาลที่คาดว่าอาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียในปอด,[42] กลุ่มอาการที่เข้าได้กับอาการปวดท้องเฉียบพลัน (acute abdominal),[43] หูชั้นกลางอักเสบ, โพรงอากาศอักเสบ และการติดเชอื้แบคทีเรียในช่องคอ (throat infection),[44] และการเจ็บป่วยจากการทะลุของลำไส้[45][46] ในบางกรณี การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะสูตรระยะสั้นอาจไม่สามารถรรักษาภาวะการติดเชื้อนั้น ๆ ได้ เช่นเดียวกันกับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะสูตรระยะยาว[47] การศึกษาทางคลินิกที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ของสมาคมการแพทย์อังกฤษ (British Medical Association) พบว่า หากอาการและอาการแสดงของการติดเชื้อแบคทีเรียถูกกำจัดออกไปด้วยการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะแล้ว ควรหยุดการบริหารยาดังกล่าว ณ 72 ชั่วโมงหลังอาการดีขึ้น[48] ทั้งนี้ ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักมีอาการดีขึ้นก่อนที่เชื้อก่อโรคจะถูกกำจัดออกไปหมด ดังนั้นแพทย์ควรให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยทุกคนที่ได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะให้ตระหนักรู้ถึงการได้รับการรักษาด้วยยาดังกล่าวจนถึงระยะเวลาที่แนะนำในแนวทางการรักษามาตรฐาน นักวิจัยบางคนสนับสนุนให้แพทย์ใช้หลักสูตรยาปฏิชีวนะที่สั้นมากในการรักษา และประเมินผู้ป่วยหลังจากนั้น 2–3 วันและหยุดการรักษาหากไม่มีอาการทางคลินิกที่บ่งบอกถึงการติดเชื้อแบคทีเรีย[49]

นอกจากนี้ การใช้ยาปฏิชีวนะในกลุ่มที่แตกต่างกันพบว่ามีความสัมพันธ์กับการเกิดการดื้อยาหรือการแพร่กระจายของเชื้อบางสายพันธ์ที่มากกว่าการใช้ยาปฏิชีวนะในกลุ่มอื่น อาทิ อัตราการติดเชื้อสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียสที่ดื้อต่อยาเมทิซิลลิน (Methicillin-resistant Staphylococcus aureus; MRSA) จะสูงขึ้นเมื่อมีการใช้ยาปฏิชีวนะกลุ่มไกลโคเปปไทด์ (Glycopeptide antibiotics), เซฟาโลสปอริน, และควิโนโลน[50][51] เซฟาโลสปอริน และโดยเฉพาะควิโนโลนและคลินดามัยซินนั้นมีสามารถเหนี่ยวนำให้เกิดการเพิ่มจำนวนที่มากเกินปกติของแบคทีเรีย Clostridium difficile ในทางเดินอาหารได้[52][53]

นอกเหนือจากปัจจัยดังข้างต้นแล้ว ปัจจัยบางประการที่จำเป็นต่อการรักษาผู้ป่วยในหน่วยอภิบาล (intensive care unit; ICU) อย่างการใส่เครื่องช่วยหายใจ (mechanical ventilation) และการมีโรคร่วมหลายโรค ก็เป็นปัจจัยเสริมที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาได้เช่นกัน[54] รวมถึงการล้างมือและการทำให้ปราศจากเชื้อ (disinfecting) ที่ไม่ดีพอระหว่างการสัมผัสผู้ป่วยแต่ละคนของบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่หอผู้ป่วยนั้นก็มีความสัมพันธ์กับการแพร่กระจายของจุลชีพดื้อยาเช่นกัน[55]

การดื้อยาจากการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์

แผนภาพแสดงการดื้อยาของแบคทีเรียในสัตว์ โดยปกติแล้วในสัตว์ทุกชนิดจะมีแบคทีเรียในลำไส้ เมื่อมีการให้ยาปฏิชีวนะแก่สัตว์เลี้ยงเหล่านั้น ยาจะเข้าไปฆ่าแบคทีเรียส่วนใหญ่ในทางเดินอาหาร ส่วนแบคทีเรียที่ยังหลงเหลืออยู่จะเป็นเสตรนที่ดื้อยาปฏิชีวนะนั้น โดยเสตรนดังกล่าวจะแบ่งตัวและเจริญขึ้นมาแทนที่เสตรนเดิมที่ถูกฆ่าไป เมื่อมนุษย์นำเนื้อสัตว์เหล่านี้มาบริโภคอาจทำให้ได้รับเชื้อแบคทีเรียดื้อยาเหล่านี้เข้าสู่ร่างกายและเกิดโรคได้

ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา เป็นที่สงสัยถึงความสัมพันธ์ระหว่างการใช้ยาปฏิชีวนะในการปศุสัตว์กับการเกิดการดื้อยาปฏิชีวนะของแบคทีเรีย จนกระทั่งองค์การอนามัยโลกได้ให้ข้อสรุปในประเด็นดังกล่าวว่า "การใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่เหมาะสมในการเลี้ยงสัตว์เป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดและการแพร่กระจายของเชื้อโรคที่ทนต่อยาปฏิชีวนะและควรห้ามไม่ให้มีการใช้ยาปฏิชีวนะเป็นตัวกระตุ้นการเจริญเติบโตในอาหารสัตว์"[56] องค์การอนามัยโลกได้เพิ่มหลักเกณฑ์ด้านสุขอนามัยสัตว์บกเพื่อเป็นแนวทางในการให้คำแนะนำแก่สมาชิกขององค์กรในการสร้างและประสานการตรวจสอบและติดตามเฝ้าระวังการดื้อยาต้านจุลชีพระดับประเทศ,[57] ติดตามตรวจสอบปริมาณยาปฏิชีวนะที่ใช้ในการเลี้ยงสัตว์,[58] และให้คำแนะนำแก่องค์กรหรือหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อให้มั่นใจว่ามีการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสมและรอบคอบ ส่วนอีกแนวทางหนึ่งคือ การใช้วิธีการที่จะช่วยในการตรวจหาปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการดื้อยา และประเมินความเสี่ยงนั้น ๆ ต่อการดื้อยาปฏิชีวนะของแบคทีเรีย[59]

การดื้อยาโดยธรรมชาติ

การดื้อยาปฏิชีวนะของแบคทีเรียนั้นสามารถเกิดขึ้นได้เองทั่วไปในธรรมชาติ[60] โดยมีการค้นพบยีนที่มีมาแต่โบราณซึ่งเป็นยีนทำให้แบคทีเรียเหล่านั้นดื้อต่อยาปฏิชีวนะ โดยยาปฏิชีวนะนั้นอาจเป็นยาที่ถูกผลิตขึ้นมาโดยแบคทีเรียนั้น ๆ[61][62] ซึ่งยีนที่ทำให้เกิดการดื้อยาดังกล่าวเป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นรีซิสโตม (resistome) ที่พบการเกิดขึ้นได้เองในธรรมชาติ[60] โดยยีนเหล่านั้นอาจถูกถ่ายทอดจากแบคทีเรียที่ไม่ก่อโรคไปยังแบคทีเรียอื่นที่ก่อโรคและทำให้แบคทีเรียที่ได้รับยีนนี้เข้าไปสามารถทนต่อยาปฏิชีวนะได้เช่นกัน[60]

ใน ค.ศ. 1952 มีการค้นพบการดื้อยาเพนิซิลลินในแบคทีเรียบางสายพันธุ์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนที่จะมีการนำยาดังกล่าวมาใช้ในทางคลินิก[63] นอกจากนี้ยังมีการค้นพบว่ามีการดื้อยาสเตรปโตมัยซินของแบคทีเรียบางชนิดในช่วงเวลาก่อนหน้านั้นอีกด้วย[64] ต่อมาใน ปี ค.ศ. 1962 ได้มีการตรวจพบเอนไซม์เพนิซิลิเนสในเอนโดสปอร์ของแบคทีเรีย Bacillus licheniformis ซึ่งเอนไซม์ดังกล่าวเป็นเอนไซม์ที่ทำลายโครงสร้างหลักของยากลุ่มเพนิซิลลิน จากดินแห้งบนรากพืชที่ถูกเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์บริติชตั้งแต่ปี ค.ศ. 1689[65][66][67] นอกจากนั้น การศึกษาจุลชีพในทางเดินอาหารของวิลเลียม เบรน (William Braine) และจอห์น ฮาร์ทเนลล์ (John Hartnell) ซึ่งเป็นลูกเรือที่เสียชีวิตในการเดินสำรวจมหาสมุทรอาร์กติกของจอห์น แฟรงคลิน (Franklin's lost expedition) พบแบคทีเรียสกุล Clostridium จำนวน 6 สเตรนที่ดื้อต่อเซโฟซิตินและคลินดามัยซิน[68]

ทั้งนี้ การสร้างเอนไซม์เพนิซิลิเนสของแบคทีเรียนั้นอาจขึ้นอยู่กับบางสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมด้วย โดยการหลั่งเอนไซม์นี้อาจเป็นผลมาจากการสร้างกลไกการป้องกันตนเองของแบคทีเรีนนั้น ๆ จากสภาพแวดล้อมในแหล่งที่อยู่ของตนที่เป็นอันตราย ยกตัวอย่างเช่น Staphylococcus aureus จะมีการสร้างเอนไซม์เพนิซิลิเนสออกมาเป็นจำนวนมากเมื่อต้องอาศัยอยู่ในแหล่งที่มีราตระกูลสกุลทริโคไฟตอนที่ผลิตเพนิซิลลิน ซึ่งส่งผลให้แบคทีเรียเกิดการดื้อต่อยาเพนิซิลลินได้[67] Search for a penicillinase ancestor has focused on the class of proteins that must be a priori capable of specific combination with penicillin.[69] แต่ในทางกลับกัน การดื้อยาของแบคทีเรียที่พบในทางเดินอาหารของวิลเลียม เบรน และจอห์น ฮาร์ทเนลล์ ดังที่ได้กล่าวไว้ในข้างต้น อาจเป็นผลมาจากการที่ทั้งสองคนได้รับเชื้อแบคทีเรียที่สามารถสร้างเอนไซม์หรือเกิดการกลายพันธุ์แบบสุ่มของโครโมโซมได้เองตามธรรมชาติจนทำให้ทนต่อยาปฏิชีวนะดังกล่าวก็เป็นได้[68]

นอกจากนี้ยังมีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่บ่งชี้ได้ว่าโลหะหนัก และสารก่อมลพิษอื่น ๆ อาจมีส่วนในการทำให้เกิดการแพร่กระจายของแบคทีเรียดื้อยาได้โดยโลหะหนักและสารพิษเหล่านั้นจะทำให้แบคทีเรียที่ไม่ดื้อยาไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ แต่ในทางตรงกันข้าม แบคทีเรียที่ดื้อยาจะไม่ได้รับผลกระทบดังกล่าวและจะมีการเพิ่มจำนวนมากขึ้นเพื่อทดแทนแบคทีเรียไม่ดื้อยาที่ลดจำนวนลงไป[70]

การดื้อยาจากมลภาวะในสิ่งแวดล้อม

ปัญหาการดื้อต่อยาปฏิชีวนะของแบคทีเรียในปัจจุบันได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นจนเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพทั้งมนุษย์และสัตว์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะมีแหล่งอาศัยอยู่บนบกหรือในน้ำ โดยปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่มีส่วนหนุนให้ปัญหาดังกล่าวแพร่กระจายจนส่งผลกระทบในวงกว้างก็คือ การปนเปื้อนและการแพร่กระจายของยาปฏิชีวนะหรือสารที่ออกฤทธิ์เป็นยาปฏิชีวนะในสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง น้ำเสียจากโรงพยาบาลและน้ำเสียจากชุมชนเมืองที่ถูกปล่อยออกสู่ธรรมชาติโดยไม่ได้รับการบำบัดหรือมีระบบการบำบัดที่ไม่รัดกุม ถือเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการปนเปื้อนดังกล่าว[71][72] ยาปฏิชีวนะได้ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมนับตั้งแต่มีการนำมาใช้ในมนุษย์ (ยา, การเกษตร) ผ่านทางของเสียต่าง ๆ ที่ถูกขับออกจากร่างกายกมนุษย์ สัตว์เลี้ยง และของเสียจากอุตสาหกรรมยา[73] การที่ของเสียที่มีการปนเปื้อนของยาปฏิชีวนะถูกปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมโดยไม่ได้รับการบำบัดหรือได้รับการบำบัดที่ไม่ดีมาก จะเป็นปัจจัยเสริมให้เกิดการดื้อยาปฏิชีวนะของแบคทีเรียได้มากขึ้น และเกิดการปนเปื้อนและแพร่กระจายของแบคทีเรียดื้อยาดังกล่าวในสิ่งแวดล้อมนั้นอีกด้วย ในปี ค.ศ. 2011 การทำแผนที่ของตัวอย่างน้ำทิ้งและน้ำประปาในนิวเดลี ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่ามีจำนวนการใช้ยาปฏิชีวนะของประชาชนบริเวณนั้นในสัดส่วนที่สูง ผลการตรวจพบว่ามีการปนเปื้อนแบคทีเรียอยู่เป็นจำนวนมากและยังส่งผลให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียในทางเดินอาหารในชุมชนที่อุปโภคบริโภคน้ำจากแหล่งดังกล่าวอย่างเป็นวงกว้างและยากแก่การควบคุมโรค โดยพบว่าเชื้อก่อโรคดังกล่าวส่วนใหญ่มักมีผลตรวจเอนไซม์ NDM-1 เป็นบวก ซึ่งเป็นเอนไซม์ดังกล่าวจะส่งผลให้แบคทีเรียนั้น ๆ เกิดการดื้อต่อยาที่มีโครงสร้างหลักเป็นวงบีตา-แลคแตมได้หลายชนิด[74] ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ร้อยละ 70–80 ของผู้ปวยที่มีอาการท้องร่วงมักมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งไม่สามารถรักษาได้โดยการใช้ยาปฏิชีวนะ แต่ในการข้อมูลจากการศึกษากลับพบว่าราวร้อยละ 40 ของผู้ป่วยที่มีอาการข้างต้นยังคงพยายามที่จะรักษาอาการท้องร่วงนั้นด้วยยาปฏิชีวนะ[75] ในบางพื้นที่ผู้ที่รักษาอาการท้องร่วงอย่างไม่เหมาะสมด้วยยาปฏิชีวนะนั้นมีสัดส่วนที่มากถึงร้อยละ 80[75]

เนื่องจากแบคทีเรียเป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถแบ่งเซลล์เพื่อเพิ่มจำนวนได้อย่างรวดเร็ว ทำให้แบคทีเรียดื้อยาที่แพร่กระจายลงสู่สิ่งแวดล้อมนั้นสามารถเจริญเติบโตและแพร่จำนวนได้มากภายในระยะเวลาอันสั้น ยิ่งไปกว่านั้น แบคทีเรียที่ดื้อยาเหล่านี้ยังสามารถถ่ายทอดยีนดื้อยาไปยังแบคทีเรียสายพันธุ์หรือสเตรนอื่น ๆ ได้ผ่านกระบวนการที่เรียกว่า การถ่ายทอดยีนในแนวราบ (horizontal gene transfer; HGT) ดังนั้น ถึงแม้ว่ายาปฏิชีวนะที่แบคทีเรียดังกล่าวดื้อยาจะไม่ถูกปล่อยลงสู่ธรรมชาติเพิ่มเติมในอนาคต ยีนที่ดื้อยาปฏิชีวนะดังกล่าวก็จะยังคงพบเห็นอยู่ในแบคทีเรียธรรมชาติทั่วไป เนื่องจากแบคทีเรียดังกล่าวจะมีการแบ่งตัวและถ่ายทอดยีนดื้อยาให้กันจากรุ่นสู่รุ่น[73] นอกจากนี้ยังพบว่า มีการแพร่กระจายเป็นวงกว้างของแบคทีเรียดื้อยาในสัตว์ทะเลที่มีกระดูกสันหลัง ซึ่งเป็นที่คาดการณ์กันว่าแบคทีเรียดื้อยาที่พบเหล่านี้อาจเป็นแหล่งสำคัญที่จะทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อดื้อยาในสิ่งแวดล้อมทางทะเล[76]

ใกล้เคียง

แบคทีเรีย แบคทีเรียดื้อยา แบคทีเรียที่ตรึงไนโตรเจนได้ แบคทีเรียแกรมลบ แบคทีเรียแกรมบวก แบคทีเรียก่อโรค แบคทีเรียกินเนื้อ แบคทีริโอฟาจ แบคทีเรียที่ไม่ใช้ออกซิเจน แบคทีเรียวิทยา

แหล่งที่มา

WikiPedia: แบคทีเรียดื้อยา http://www.csiro.au/solutions/Alternatives-to-anti... http://hicsigwiki.asid.net.au/images/4/41/Should_y... http://www.nps.org.au/publications/health-professi... http://www.catchshortfilm.com/ http://linkinghub.elsevier.com/retrieve/pii/S14733... http://www.ihe-online.com/feature-articles/clostri... http://www.sciencedaily.com/releases/2009/02/09020... http://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S... http://www.thelancet.com/journals/laninf/article/P... http://www.thelancet.com/journals/laninf/article/P...