ประเพณีไหว้ครูและความเชื่อ ของ โขน

โขนเป็นนาฏศิลปชั้นสูง ที่มีธรรมเนียมประเพณีและความเชื่อในการปฏิบัติหลายอย่าง สืบต่อกันมาแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน บางอย่างมีการปรับเปลี่ยนตามกาลเวลาและความเหมาะสม บางอย่างคงใช้อยู่ตามรูปแบบเดิม บางอย่างสูญหายไปตามกาลเวลา โดยเฉพาะหัวโขนซึ่งจัดเป็นอุปกรณ์สำคัญอย่างมากในการแสดงโขน เนื่องจากเป็นตัวชี้บ่งถึงบุคลิกและลักษณะนิสัยของตัวละครนั้น ๆ ช่างทำหัวโขนที่จัดอยู่ในงานช่างสิบหมู่ ต้องผ่านการไหว้ครูและครอบครูเช่นเดียวกับนาฏศิลป์ประเภทอื่น ๆ มีความเคารพครูอาจารย์ตั้งแต่เริ่มฝึกหัด[76] ก่อนเริ่มการออกโรงแสดงในแต่ละครั้ง ต้องมีการตั้งเครื่องเซ่นไหว้บายศรีให้ครบถ้วน ในการประกอบพิธีจะต้องมีหัวโขนตั้งประดิษฐานเป็นเครื่องสักการะต่อครูบาอาจารย์ที่ล่วงลับไปแล้ว

พิธีไหว้ครู

ในพิธีไหว้ครูจะมีการนำหัวโขนหรือศีรษะครู ที่เป็นเสมือนตัวแทนของครูแต่ละองค์มาตั้งประกอบในพิธี[77] การจัดตั้งหัวโขนต่าง ๆ มีหลายรูปแบบเช่น การตั้งแบบรวมกับพระพุทธรูป แบ่งเป็นแบบ 12 หน้า 10 หน้า 8 หน้า 6 หน้า 4 หน้าและ 2 หน้า มีการเปลี่ยนแปลงจำนวนของหัวโขนตามแต่รูปแบบในการตั้ง นอกจากการตั้งแบบรวมกับพระพุทธรูปแล้ว ยังมีการตั้งหัวโขนแบบพระพุทธรูปแยกระหว่างหัวโขนต่างหาก นิยมจัดให้หัวโขนมีความลดหลั่นเป็นชั้น โดยที่ชั้นบนสุดเป็นชั้นของมหาเทพได้แก่ พระอิศวร พระนารายณ์และพระพรหม ชั้นสองเป็นชั้นของเทพที่มีความสำคัญต่อโลกมนุษย์และนาฏศิลป์เช่น พระอินทร์ พระวิษณุกรรม พระพิราพ

ชั้นที่สามเป็นชั้นของหัวโขนหน้ามนุษย์ หน้าลิง และมีศัสตราวุธและเครื่องประดับศีรษะที่ใช้ในการแสดงวางอยู่ตรงกลาง และชั้นสุดท้ายเป็นชั้นของหัวโขนหน้ายักษ์ ผู้แสดงทุกคนก่อนแต่งตัวตามตัวละครก็ต้องมีการไหว้ครู ภายหลังจากแต่งกายเสร็จแล้ว ก่อนจะทำการสวมหัวโขนหน้ายักษ์ หน้าลิง มงกุฎหรือชฎา ก็จะต้องมีการทำพิธีครอบหัวโขนและไหว้ครูเพื่อแสดงความเคารพ[78] ซึ่งนอกจากประเพณีไหว้ครูแล้ว ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับหัวโขนสืบทอดต่อกันมาอีกหลายอย่างเช่น การเจาะรูสำหรับมองเห็น ผู้ที่สามารถเจาะได้คือช่างทำหัวโขนเท่านั้น

ในสมัยโบราณมีความเชื่อกันว่า หัวโขนที่ใช้ในการแสดงที่ผ่านพิธีเบิกเนตรเรียบร้อย ก่อนนำไปใช้ในการแสดง ช่างทำหัวโขนจะวัดขนาดความห่างของดวงตาผู้แสดง และเจาะรูให้สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน ห้ามผู้แสดงเจาะรูดวงตาเองเด็ดขาด เพราะเชื่อว่าจะทำให้พิการตาบอด แต่ความเชื่อดังกล่าวเป็นเพียงกุศโลบายเท่านั้น ความเป็นจริงคือในการตกแต่งดวงตาของหัวโขน จะใช้เปลือกหอยมุกมาประดับตกแต่ง ซึ่งถ้าผู้เจาะรูไม่ใช่ช่างทำหัวโขนที่มีความชำนาญ อาจทำให้หัวโขนเกิดความผิดพลาดและเสียหายได้ง่าย

การบวงสรวง

ในการปลูกโรงโขนสำหรับใช้แสดง ก่อนเริ่มก่อสร้างต้องมีการทำพิธีบวงสรวงเซ่นไหว้ ขอขมาลาโทษในสิ่งต่าง ๆ ที่เคยล่วงเกิน และขออนุญาตบอกกล่าวแก่เจ้าที่เจ้าทางให้รับทราบ เพื่อเป็นการเปิดทางให้แก่ผู้แสดง ช่วยให้ทำการแสดงได้อย่างราบรื่นไม่ติดขัด รวมทั้งปกป้องคุ้มครองและปัดเสนียดรังควานต่อการแสดงให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี เนื่องจากในการแสดงโขนนั้น หลายต่อหลายครั้งที่มีการแแข่งขันชิงชัยหรือประชันฝีมือซึ่งกันและกัน ซึ่งมีความเชื่อกันว่าฝ่ายตรงข้ามมักมีการใช้ไสยศาสตร์ กลั่นแกล้งโจมตีฝ่ายตรงข้ามให้เสียเปรียบและพ่ายแพ้ เพื่อให้ได้รับชัยชนะในการแสดง ดังนั้นก่อนเริ่มการแสดงจึงต้องมีพิธีถอนอาถรรพ์ทุกครั้ง

สำหรับผู้แสดงที่ไม่เคยออกโรงแสดงมาก่อน หลังจากรับครอบครูแล้ว ก่อนทำการแสดงครูผู้ฝึกสอน จะครอบครูครอบหน้าให้เป็นการปฐมฤกษ์ ช่วยให้ไม่ติดขัดในการแสดงหลังจากการแสดงเสร็จสิ้น ผู้แสดงทุกคนจะต้องเข้าร่วมพิธีไหว้ครูอีกครั้ง หลังจากนั้น ผู้แสดงทุกคนจะต้องเอ่ยปากขอขมาลาโทษซึ่งกันและกันเป็นใจความว่า "หากข้าพเจ้าพลาดพลั้งด้วยกายกรรมก็ดี วจีกรรมก็ดี โดยมิได้ตั้งใจ โปรดให้อภัยและอโหสิด้วย"[79] เนื่องจากบางครั้งในการแสดงอาจมีการกระทบกระทั่ง ละเมิดล่วงเกินหรือพลาดพลั้งโดยไม่ตั้งใจหรือเจตนาเช่น ผู้แสดงเป็นพาหนะได้แก่ ครุฑ ช้าง ม้า ราชสีห์ ซึ่งมักถูกตัวพระ ตัวยักษ์หรือตัวลิงล่วงเกิน จนกลายเป็นเหตุให้เกิดการทะเลาะวิวาทได้ในภายหลัง

โดยการขอขมานั้น ผู้แสดงจะขอขมาตามความอาวุโสที่ด้านหลังเวที นอกจากพิธีไหว้ครูและความเชื่อในด้านต่าง ๆ แล้ว ในการแสดงโขนยังมีกฎข้อห้ามสำคัญอีกจำนวนมากเช่น ห้ามนั่งเล่นบนเตียงหรือนราวโขนเมื่อยังไม่ถึงคิวการแสดงของตน ห้ามนำอาวุธสำหรับใช้ในการแสดงมาเล่นนอกเวลาแสดงโดยเด็ดขาด ห้ามเดินข้ามเหล่าศัสตราวุธ ห้ามนำกรับมาตีเล่น ห้ามนำไม้ตะขาบหรือไม้ที่ใช้สำหรับตีเพื่อให้เกิดเสียงดังสำหรับการแสดงของตัวตลกมาตีเล่นเพื่อความสนุกสนาน เป็นต้น[80]

แหล่งที่มา

WikiPedia: โขน http://www.anurakthai.com/ http://www.anurakthai.com/khon_mask/index.asp http://www.anurakthai.com/thaidances/khone/dress.a... http://www.anurakthai.com/thaidances/khone/history... http://www.anurakthai.com/thaidances/khone/story.a... http://www.anurakthai.com/thaidances/khone/train.a... http://www.artbangkok.com/detail_page.php?sub_id=3... http://www.artbangkok.com/detail_page.php?sub_id=3... http://www.artbangkok.com/detail_page.php?sub_id=3... http://www.arthousegroups.com/artshow.php?art_show...