เพลงประกอบการแสดง ของ โขน

เพลงหน้าพาทย์

เป็นเพลงที่ใช้บรรเลงประกอบกิริยาอาการและบทบาทต่าง ๆ ของโขนละคร ไม่มีบทร้อง ใช้ทำนองในการดำเนินกิริยา เช่น

  1. เพลงเข้าม่าน ใช้ประกอบการเดินเข้าฉากในระยะใกล้ ๆ ของตัวเอก
  2. เพลงเสมอ ใช้ประกอบการไปมาในระยะใกล้ ๆ ของตัวเอก
  3. เพลงพราหมณ์เข้า ใช้ประกอบกิริยาการเข้าโรงพิธีสำคัญ เช่น กุมภกรรณเข้าโรงพิธีลับหอกโมกขศักดิ์ ไมยราพเข้าโรงพิธีหุงสพรรยา
  4. เพลงพราหมณ์ออก ใช้ประกอบกิริยาการออกจากโรงพิธีสำคัญ เช่น อินทรชิตออกจากโรงพิธีชุบศรพรหมาศ อินทรชิตออกจากโรงพิธีศรนาคบาศ
  5. เพลงกลม ใช้ประกอบการเหาะไปของเทวดา
  6. เพลงเชิด ใช้ประกอบการไป มาในระยะไกล ๆ และใช้ในการต่อสู้
  7. เพลงตระนิมิตร ใช้ประกอบการแปลงกายของตัวเอก เช่น อินทรชิตแปลงเป็นพระอินทร์
  8. เพลงชุบ ใช้ประกอบการเดินของนางกำนัล เช่น เมื่อทศกัณฐ์ใช้นางกำนัลให้ไปตามเบญกาย
  9. เพลงโลม ใช้ประกอบการโลมเล้าเกี้ยวพาระหว่างตัวแสดงที่เป็นตัวเอก มักต่อด้วยเพลงตระนอน เช่น หนุมานเกี้ยวนางสุพรรณมัจฉา
  10. เพลงตระนอน ใช้สำหรับตัวเอกเมื่อจะเข้านอน เช่น หนุมาน องคต ชมพูพานสืบมรรคา เมื่อมืดก็ใช้ตระนอน อาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ตระบรรทมไพร" หรืออาจบรรเลงต่อจากเพลงโลมเมื่อเกี้ยวพาราสีกันแล้ว จึงนอน
  11. เพลงโอด ใช้ประกอบการเศร้าโศกเสียใจ
  12. เพลงโอดสองชั้น ใช้ประกอบการเศร้าโศกเสียใจของผู้สูงศักดิ์ เช่น พระราม ทศกัณฐ์
  13. เพลงโล้ ใช้ประกอบการเดินทางทางน้ำ เช่น เบญกายแปลงเป็นนางสีดาลอยน้ำไป
  14. เชิดฉิ่ง ใช้ประกอบการเดินทาง การเหาะ เช่น เบญกายเหาะมายังเขาเหมติรัน
  15. เชิดฉิ่งศรทะนง ใช้ประกอบการต่อสู้ด้วยศร และมีการแผลงศร เช่น พระรามแผลงศรต้องทศกัณฐ์ขาดเศียรขาดกร
  16. เชิดกลอง ใช้บรรเลงต่อจากเพลงเชิดฉิ่ง หรือใช้ในกรณีต่อสู้กัน หรือในการเดินทางไกล
  17. เพลงรัวต่าง ๆ ใช้ประกอบการแผลงอิทธิฤทธิ์ หรือแปลงตัวอย่างรวบรัด
  18. เพลงกราวนอก ใช้ประกอบการยกทัพตรวจพลของกระบวนทัพฝ่ายมนุษย์และลิง
  19. เพลงกราวใน ใช้ประกอบการยกทัพตรวจพลของกระบวนทัพฝ่ายยักษ์
  20. เพลงแผละ ใช้ประกอบการเดินทางทางอากาศ เช่น การบินมาของพญาครุฑ

เพลงร้อง

เพลงร้องแต่ละเพลงจะให้อารมณ์แตกต่างกัน บางเพลงอาจใช้วิธีร้องอย่างเดียวโดยไม่มีดนตรี (แต่มีจังหวะฉิ่งกำกับ) หรือร้องลำลอง ร้องคลอ ก็ได้ การบรรจุเพลงร้องตามทำนองเพื่อสื่ออารมณ์ในแต่ละตอนของโขนละครมีความสำคัญ และยังใช้ในโอกาสต่าง ๆ กัน เช่น

  1. อารมณ์โศกเศร้าเสียใจ ใช้เพลง กบเต้น พญาโศก โอ้ร่าย
  2. อารมณ์โกรธเคือง ใช้เพลง ลิงโลด ลิงลาน เทพทอง นาคราช
  3. อารมณ์รักใคร่ ใช้เพลง ลีลากระทุ่ม โอ้โลม
  4. โอกาสการขึ้นต้นการแสดงโดยเห็นตัวเอกเป็นหลัก ใช้เพลง ช้าปี่ ยานี
  5. โอกาสการดำเนินเรื่องอย่างธรรมดา ใช้เพลง ร่ายนอก ร่ายใน

แหล่งที่มา

WikiPedia: โขน http://www.anurakthai.com/ http://www.anurakthai.com/khon_mask/index.asp http://www.anurakthai.com/thaidances/khone/dress.a... http://www.anurakthai.com/thaidances/khone/history... http://www.anurakthai.com/thaidances/khone/story.a... http://www.anurakthai.com/thaidances/khone/train.a... http://www.artbangkok.com/detail_page.php?sub_id=3... http://www.artbangkok.com/detail_page.php?sub_id=3... http://www.artbangkok.com/detail_page.php?sub_id=3... http://www.arthousegroups.com/artshow.php?art_show...