เครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ ของ โขน

เครื่องแต่งกายมัยราพณ์ ประกอบด้วยศิราภรณ์ ภูษาภรณ์และถนิมพิมพาภรณ์ตามแต่ฐานะของตัวละครเครื่องแต่งกายทศกัณฐ์ จำลองเลียนแบบจากเครื่องทรงต้นของพระมหากษัตริย์แบบโบราณ สวมเกราะสายคาดอก มงกุฏยอดสามชั้น

เครื่องแต่งกายสำหรับใช้ในการแสดงโขน ใช้การแต่งกายแบบยืนเครื่อง ซึ่งเป็นการแต่งกายจำลองเลียนแบบจากเครื่องทรงต้นของพระมหากษัตริย์แบบโบราณที่มีความสวยงามวิจิตรตระการตา แบ่งเป็น 5 ฝ่ายคือ ฝ่ายมนุษย์ เทวดา พระ นาง ฝ่ายยักษ์และฝ่ายลิง สำหรับบ่งบอกถึงยศถาบรรดาศักดิ์และตำแหน่ง[62] นอกจากนั้นตัวละครอื่น ๆ จะแต่งกายตามแต่ลักษณะของตัวละครนั้น ๆ เช่น ฤๅษี กา ช้าง ม้า วัว ควาย ฯลฯ สวมหัวโขนซึ่งมีการกำหนดลักษณะและสีไว้อย่างเป็นระบบและแบบแผน ใช้สำหรับกำหนดให้ใช้เฉพาะกับตัวละคร สีของเสื้อเป็นการบ่งบอกถึงสีผิวกายของตัวละครนั้น ๆ เช่น พระรามกายสีเขียวมรกต พระลักษมณ์กายสีเหลืองบุษราคัม ทศกัณฐ์กายสีเขียวมรกต หนุมานกายสีขาวมุกดา สุครีพกายสีแดงโกเมน เป็นต้น แบ่งได้ 3 ประเภท คือ

ศิราภรณ์

ศิราภรณ์หรือเครื่องประดับ มาจากคำว่า "ศีรษะ" และ "อาภรณ์" หมายความถึงเครื่องประดับสำหรับใช้สวมใส่ศีรษะเช่น ชฎามงกุฎ ซึ่งเป็นชื่อเรียกเครื่องประดับศีรษะละครตัวพระ ที่มีวิวัฒนาการมาจากการโพกผ้าของพวกชฏิล ชฏาที่ใช้ในการแสดงโขนละครในปัจจุบัน ช่างผู้ชำนาญงานมักจะนิยมทำเป็นแบบมีเกี้ยว 2 ชั้น มีกรอบหน้า กรรเจียกจร ติดดอกไม้ทัด ดอกไม้ร้าน ประดับตามชั้นเชิงบาตร ซึ่งลักษณะของชฏานี้ เป็นการจำลองรูปแบบมาจากพระชฏาของพระมหากษัตริย์ในสมัยรัตนโกสินทร์

นอกจากชฏามงกุฏแล้ว ยังมีชฎายอดชัยที่เป็นชฏามียอดแหลมตรง มีลูกแก้ว 2 ชั้นประดับ เป็นชฏาที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในการแสดงโขนและละคร ซึ่งที่มาของชฏายอดชัยนั้น สันนิษฐานว่าเป็นการสร้างเลียนแบบพระชฏายอดชัยที่เป็นเครื่องทรงต้น ในรูปแบบและทรวดทรง มีความแตกต่างกันที่วัสดุและรายละเอียดในการตกแต่งเท่านั้น รัดเกล้ายอด รัดเกล้าเปลว กรอบพักตร์หรือกระบังหน้า ปันจุเหร็จ หรือแม้แต่หัวโขน ก็จัดอยู่ในประเภทเครื่องศิราภรณ์เช่นกัน

พัสตราภรณ์

พัสตราภรณ์หรือเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มเช่น เสื้อหรือฉลององค์ ในสมัยโบราณการแสดงโขนจะใช้เสื้อคอกลมผ่าด้านหน้าตลอด มีการต่อแขนเสื้อแบบต่อตรงและเสริมเป้าสี่เหลี่ยมตรงบริเวณใต้รักแร้ แต่ปัจจุบันได้มีการปรับเปลี่ยนให้ทันตามยุคสมัย เป็นเสื้อคอกลมสำเร็จรูป มี 2 แบบคือแบบเสื้อแขนสั้นและแขนยาว เว้าวงแขน สีเสื้อและสีแขนเสื้อแตกต่างกัน ปักลวดลาย สำหรับตัวนางจะมีผ้าห่มนางโดยเฉพาะ ลักษณะเป็นผ้าสไบแถบ ปักลวดลายตามความยาวของสไบเช่น ลายพุ่ม ลายกรวยเชิง ฯลฯ ห่มโอบจากทางด้านหลังให้ชายสไบทั้งสองข้างเสมอกัน การห่มผ้าในการแสดงโขนมีวิธีการห่มที่แตกต่างกัน สำหรับตัวนางที่เป็นนางกษัตริย์และตัวนางที่เป็นยักษ์

ตัวนางที่เป็นนางกษัตริย์ จะห่มผ้าแบบเพลาะไขว้ติดกันไว้ที่ด้านหลัง ทิ้งช่วงบริเวณหน้าอก คว้านบริเวณช่วงลำคอเหมือนกับการห่มแบบสองชาย และสำหรับตัวนางที่เป็นนางยักษ์ จะห่มแบบผ้าห่มผืนใหญ่ ปักลายพุ่มข้าวบิณฑ์ที่มีลักษณะลวดลายเป็นสัตว์ต่าง ๆ เช่นหน้าสิงห์ ตัวเสื้อกางเกงหรือสนับเพลา ผ้านุ่งหรือพระภูษา กรองคอหรือนวมคอ ใช้แบบ 8 กลีบ ปักลายหนุนรูปกระจัง ชายไหวหรือห้อยหน้า ชายแครงหรือห้อยข้าง ปักลวดลายแบบหนุนด้วยดิ้นแบบโปร่งและปักเลื่อมเช่นกัน ล้อมรอบตัวลายด้วยดิ้นข้อ ชายผืนติดดิ้นครุยสีเงิน รัดเอว ผ้าทิพย์ เจียระบาด สไบ เป็นต้น

ถนิมพิมพาภรณ์

ถนิมพิมพาภรณ์หรือเครื่องประดับต่าง ๆ ตามแต่ฐานะของตัวละคร คำว่าถนิมพิมพาภรณ์ มาจากคำว่า "พิมพา" และ "อาภรณ์" หมายถึงเครื่องประดับตกแต่งตามร่างกาย[63][64] ส่วนใหญ่เป็นเครื่องประดับที่ถมและลงยาเช่น ทับทรวง ซึ่งเป็นโลหะประกอบกัน 3 ชิ้น ชุบเงิน ประดับเพชรตรงกลาง ฝังพลอยสีแดง ลักษณะของสายเป็นเพชรจำนวน 2 แถว มีความยาวประมาณ 28 นิ้ว เข็มขัดหรือปั้นเหน่ง สังวาล ตาบหน้า ตาบทิศ ตาบหลัง อินธนู ธำมรงค์ แหวนรอบ ปะวะหล่ำ ทองกร กรองคอ สะอิ้ง พาหุรัด กำไลเท้า เป็นต้น

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าไว้ในละครพม่าเมื่อครั้งที่พระองค์เคยเสด็จไปทอดพระเนตรที่เมืองย่างกุ้งว่า การแต่งกายของผู้แสดงโขนนั้น ใช้การแต่งกายแบบสามัญชนคนธรรมดา ไม่ได้มีการแต่งตัวที่ผิดแปลกกว่าปกตินอกจากบทผู้หญิง ที่มีการห่มสไบเฉียงหรือบทเป็นยักษ์เป็นลิง ที่มีการเขียนหน้าเขียนตาหรือสวมหน้ากาก ใช้เครื่องแต่งกายของละครแบบยืนเครื่องเช่น สนับเพลา ผ้านุ่ง กรองคอ ทับทรวง สังวาล เป็นต้น แต่เดิมการแต่งกายของตัวพระหรือนายโรงจะไม่สวมเสื้อ ภายหลังมีการประดิษฐ์เครื่องแต่งกายสำหรับตัวพระขึ้น จึงเป็นที่มาของการแต่งกายแบบยืนเครื่องในปัจจุบัน

ต่อมาได้มีการประดิษฐ์เครื่องแต่งกายสำหรับโขนขึ้นโดยเฉพาะ และแก้ไขเครื่องแต่งกายให้แตกต่างไปจากเดิมเล็กน้อยคือ แต่เดิมตัวพระนั้นจะสวมสนับเพลายาวกรอมข้อเท้า ก็ให้เปลี่ยนมานุ่งให้เชิงแค่เพียงน่อง นุ่งผ้าแบบยกรั้งลดเชิงถึงหัวเข่าและสวมเสื้อแขนยาว ตัวนางนุ่งผ้าจีบกรอมถึงน่อง ห่มผ้าแถบลายทอง พาดชายไว้ข้างหลังให้ชายผ้าห้อยเสมอน่อง ซึ่งการแต่งกายของตัวพระ ตัวนาง เทวดา ตัวยักษ์และตัวลิง ไม่ว่าจะแสดงในตำแหน่งตัวละครใด ล้วนแต่แต่งกายแบบยืนเครื่องทั้งหมด ต่างกันตรงมงกุฎที่สวมใส่ประดับศีรษะเท่านั้นคือ กษัตริย์จะสวมมงกุฎ ชฎา เสนาอำมาตย์จะใช้ผ้าโพกศีรษะแทน ตัวนางที่เป็นนางกษัตริย์จะสวมรัดเกล้ายอด ยศศักดิ์รองลงมาสวมรัดเกล้าเปลว สำหรับนางสนมกำนัลสวมกระบังหน้า

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ได้มีการประดิษฐ์เครื่องประดับสำหรับสวมใส่ศีรษะแทนผ้าโพกและกระบังหน้าขึ้น ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้มีการประดิษฐ์รัดเกล้ายอดขึ้นสำหรับใช้เฉพาะละครหลวงเท่านั้น จนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงยกเลิกการห้ามนำรัดยอดเกล้าไปใช้สำหรับตัวละครอื่นที่ไม่ใช่ละครหลวง และมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเครื่องแต่งกายของโขนเรื่อยมา ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้ทรงปรับปรุงเสื้อของตัวยักษ์ให้แตกต่างไปจากเดิมคือ ลำตัวสีหนึ่งและแขนอีกสีหนึ่ง นัยว่าสีของแขนเสื้อคือสีผิวของตัวละคร สีของลำตัวคือสีเกราะที่สำหรับใช้สวมใส่ในยามออกศึกสงครามซึ่งมักเป็นสีที่ตัดกับสีแขนเสื้อเช่นเสื้อสีเขียว เกราะสีแดง เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีเกราะอีกหนึ่งประเภทคือ เกราะที่เป็นสายคาดรอบอกเช่น ตอนทศกัณฐ์เกี้ยวนางสีดาในสวน ทศกัณฐ์แต่งกายสวยงาม มีผ้าห้อยไหล่และถือพัดจันทน์ขนาดเล็ก คล้องพวงมาลัยที่ข้อมือด้านขวา มีเกราะสายคาดรอบอก[65] ดังกาพย์ในบทละครเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศล้านภาลัย ดังนี้

"สถิตแท่นแผ่นผาศิลาทองอาบละอองสุหร่ายสายสินธุ์
ขัดสีวารีรดหมดมลทินทรงสุคนธุ์ธารประทิ่นกลิ่นเกลา
น้ำดอกไม้เทศทาอ่าองค์บรรจงทรงพระสางเศรียรเกล้า
พระฉายตั้งคันฉ่องส่องเงาเวียนแต่เฝ้ากรีดพระหัตถ์ผัดพักตรา
ทรงภูษาผ้าต้นพื้นตองเขียนทองเรืองอร่ามงามนักหนา
คาดเข็ดขัดรัดองค์องคการ์ประดับพลอยถมยาราชาวดี
คล้องพระศอสีดอกคำร่ำอบหอมตลบอบองค์ยักษี
ใส่แหวนเพชรเม็ดแตงแต่งเต็มที่จะไปอวดมั่งมีนางสีดาฯ
ถือพัดด้ามจิ้วจันทน์บรรจงพวงมาลัยใส่ทรงพระกรขวา
แล้วลงจากปราสาทยาตราขึ้นทรงรัถาคลาไคลฯ"
บทพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ รัชกาลที่ 2

ซึ่งในการแต่งกายของทศกัณฐ์นั้น ปกติจะมีเกราะสายคาดรอบอกเป็นประจำ ตามบทพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ ทศกัณฐ์มีกุเปรันเป็นพี่ชายต่างมารดา แต่ด้วยนิสัยสันดาลพาลของทศกัณฐ์ ทำให้เกิดการแย่งชิงบุษบกแก้วของกุเปรันบริเวณเชิงเขาไกรลาส กุเปรันสู้ไม่ได้ก็หนีไปขอความช่วยเหลือจากพระอิศวรซึ่งประทับอยู่บนหลังช้าง พระอิศวรจึงทรงถอดงาจากช้างทรงขว้างใส่ทศกัณฐ์พร้อมกับสาปให้งานั้นติดอยู่จนกระทั่งทศกัณฐ์ตาย ทศกัณฐ์ต้องคำสาปพระอิศวร จึงไปขอให้พระวิศวกรรมเลื่อยงาช้างส่วนที่ยื่นออกมาให้ขาดเสมออก และเนรมิตเกราะสายคาดรอบอกขึ้นเพื่อปกปิดร่องรอยของงานช้าง ดังนั้นการแต่งกายของทศกัณฐ์ตามบทพระราชนิพนธ์ ตั้งแต่ทศกัณฐ์เกิดจนถึงถูกพระอิศวรสาป จะไม่มีเกราะสายคาดรอบอก[66]

ปัจจุบันกรมศิลปากรเป็นผู้กำหนดขนาดและลวดลายต่าง ๆ ของเครื่องแต่งกายโขนเช่น การกำหนดเครื่องแต่งกายของพระพรต มีรายละเอียดดังนี้[67]

เสื้อใช้ผ้าต่วนสีแดงคอกลมแขนยาว ปักลาย 2 ข้างเต็มด้านหน้า ปักลายหนุนใต้รักแร้ ปักลายกนกที่ตัวเสื้อและแขน หนุนในตัวกนกด้วยเชือกเกลียวขนาดเล็ก ถมลายกนกด้วยดิ้นข้อ-ดิ้นโปร่งสีเงินขนาดเล็ก ซับในด้วยผ้าโทเรสีแดง กรองคอใช้ผ้าต่วนสีเขียวปักลายกนก หนุนในตัวกนกด้วยเชือกเกลียวขนาดเล็ก ถมลายกนกด้วยดิ้นข้อ-ดิ้นโปร่งสีเงินขนาดเล็ก อินธนูใช้ผ้าต่วนสีเขียว เสริมภายในด้วยแผ่นหนังสังเคราะห์ ตรงปลายติดพู่เงิน-ทองยาว 1 นิ้ว จำนวน 1 คู่ ซับในด้วยผ้าโทเรสีเขียว

ห้อยหน้าใช้ผ้าต่วนสีแดงขลิบเขียวปักลายกนก หนุนในตัวกนกด้วยเชือกเกลียวขนาดเล็ก ถมลายกนกด้วยดิ้นข้อ-ดิ้นโปร่งสีเงินขนาดเล็กปักลายเต็มหน้าผ้า ซับในด้วยผ้าโทเรสีแดง ตรงกลางมีสุวรรณกระถอบใช้ผ้าตาดสีทองมีกระเป๋าติดซิปที่ซับใน ติดดิ้นครุยสีเงินทบกัน 2 ชั้นที่ชายด้านล่าง เจียระบาดติดดิ้นครุยสีเงินทบกัน 2 ชั้นที่ชายด้านล่าง รัดสะเอวใช้ผ้าต่วนสีแดงขลิบเขียวปักลายกนก หนุนในตัวกนกด้วยเชือกเกลียวขนาดเล็ก ถมลายกนกด้วยดิ้นข้อ-ดิ้นโปร่งสีเงินขนาดเล็ก ซับในด้วยผ้าโทเรสีแดงปักลายลักษณะโค้งตามรูปเอว

สนับเพลาใช้ผ้าโทเรสีแดง มีลิ้นซ้อนด้านในปลายขา ใช้ผ้าต่วนสีแดงปักลายกนกเชิงงอน คาดขอบลายด้านบนด้วยผ้าต่วนสีเขียวปักลายกนก หนุนในตัวกนกด้วยเชือกเกลียวขนาดเล็ก ถมลายกนกด้วยดิ้นข้อ-ดิ้นโปร่งสีเงินขนาดเล็ก เหนือลายปักต่อผ้าต่วนสีแดงเย็บติดกับกางเกง ผ้านุ่งใช้ผ้ายกเนื้อหนาขนาดมาตรฐาน มีลายเชิง 2 ข้างสีเขียวพร้อมผ้าคาดเอวสีขาว จำนวน 2 ชิ้น

ซึ่งเครื่องแต่งกายในการแสดงโขนในของตัวพระ ตัวนาง ตัวยักษ์และตัวลิง มีดังนี้[68]

ตัวแสดงเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ
ตัวพระเช่น พระราม พระลักษณ์ พระพรต พระสัตรุตผู้แสดงตัวพระจะสวมเสื้อแขนยาวปักดิ้นและเลื่อม ประดับด้วยปะวะหล่ำ มีอินธนูที่ไหล่และพาหุรัด สวมกรองศอทับด้วยทับทรวง สังวาลและตาบทิศ ส่วนล่างสวมสนับเพลาไว้ข้างใน นุ่งผ้านุ่งยกจีบโจงไว้หางหงส์ทับสนับเพลา ด้านหน้ามีชายไหวและชายแครงห้อยอยู่ ประดับด้วยสุวรรณประกอบ รัดเอวด้วยรัดพัสตร์ คาดปั้นเหน่ง ศีรษะสวมชฎา ประดับด้วยดอกไม้เพชรที่ด้านซ้าย ดอกไม้ทัดที่ด้านขวา มีอุบะ ตามตัวสวมเครื่องประดับต่าง ๆ ประกอบด้วยกำไลเท้า ธำมงรค์ แหวนรอบ กรรเจียกและทองกร แต่เดิมตัวพระจะสวมหัวโขนในการแสดง แต่ภายหลังไม่เป็นที่นิยม เพียงแต่แต่งหน้าและสวมชฎาแบบละครในเท่านั้น
ตัวนางเช่น นางสีดา นางเบญจกาย นางสุพรรณมัจฉาผู้แสดงตัวนางจะสวมเสื้อในนางแขนสั้นเป็นชั้นใน มีพาหุรัดแล้วห่มสไบทับ ทิ้งชายไปด้านหลังยาวลงไปถึงน่อง ประดับด้วยปะวะหล่ำ สวมกรองศอ สะอิ้งและจี้นาง ส่วนล่างนุ่งผ้านุ่งยกจีบหน้า คาดปั้นเหน่ง ศีรษะสวมมงกุฎ รัดเกล้ายอด รัดเกล้าเปลวหรือกระบังหน้าตามแต่ฐานะของตัวละคร ประดับด้วยดอกไม้ทัดที่ด้านซ้าย ดอกไม้ทัดที่ด้านขวา มีอุบะ ตามตัวสวมเครื่องประดับต่าง ๆ ประกอบด้วยธำมงรค์ กำไลเท้า แหวนรอบ กำไลตะขาบ กรรเจียกและทองกร แต่เดิมตัวนางที่เป็นตัวยักษ์เช่น นางสำมนักขา นางกากนาสูร จะสวมหัวโขน แต่ภายหลังมีการแต่งหน้าไปตามลักษณะของตัวละครนั้น ๆ โดยไม่สวมหัวโขน
ตัวยักษ์เช่น ทศกัณฐ์ พิเภก อินทรชิต มังกรกัณฐ์ผู้แสดงตัวยักษ์นั้น เครื่องแต่งกายส่วนใหญ่คล้ายกับตัวพระ จะแตกต่างกันที่การนุ่งผ้าเท่านั้น ตัวยักษ์จะนุ่งผ้าไม่มีหางหงส์แต่มีผ้าปิดก้นลงมาจากเอว ส่วนศีรษะสวมหัวโขนตามลักษณะของตัวละครซึ่งมีอยู่ประมาณร้อยชนิด การแต่งกายของตัวยักษ์คือทศกัณฐ์ ซึ่งเป็นพญายักษ์ตัวสำคัญที่สุดในการแสดงโขน สวมเสื้อแขนยาวปักดิ้นและเลื่อม ซึ่งในวรรณคดีสมมุติเป็นเกราะ ประดับด้วยแหวนรอบ ปะวะหล่ำ มีอินธนูที่ไหล่ สวมกรองศอทับด้วยทับทรวง พวงประคำคอ สังวาลและตาบทิศ ส่วนล่างสวมสนับเพลาไว้ข้างใน นุ่งผ้านุ่งยก ด้านหน้ามีชายไหวและชายแครงห้อยอยู่ ผ้าปิดก้นอยู่เบื้องหลัง รัดอกด้วยพระอุระ รัดเอวด้วยรัดพัสตร์ คาดปั้นเหน่ง ศีรษะสวมหัวโขนหัวทศกัณฐ์ ตามตัวสวมเครื่องประดับต่าง ๆ ประกอบด้วยกำไลเท้า ธำมงรค์ กรรเจียกและทองกร ถืออาวุธคือคันศร
ตัวลิงเช่น หนุมาน พาลี สุครีพ องคต ท้าวชมพูพานผู้แสดงตัวลิง เครื่องแต่งกายส่วนใหญ่คล้ายกับตัวยักษ์ แต่มีหางลิงห้อยอยู่ใต้ผ้าปิดก้นอีกที สวมเสื้อตามสีประจำตัวในเรื่องรามเกียรติ์ ไม่มีอินธนู ตัวเสื้อปักลายขดเป็นวงทักษิณาวรรต สมมุติว่าเป็นขนตามตัวลิง ส่วนศีรษะสวมหัวโขนตามลักษณะของตัวละครซึ่งมีอยู่ประมาณสี่สิบชนิด การแต่งกายของตัวลิงคือหนุมาน ซึ่งเป็นทหารเอกของพระราม สวมเสื้อแขนยาวปักดิ้นและเลื่อมลายวงทักษิณาวรรต มีพาหุรัด ประดับด้วยแหวนรอบ ปะวะหล่ำ สวมกรองศอทับด้วยทับทรวง สังวาลและตาบทิศ ส่วนล่างสวมสนับเพลาไว้ข้างใน นุ่งผ้านุ่งยก ด้านหน้ามีชายไหวและชายแครงห้อยอยู่ ผ้าปิดก้นอยู่เบื้องหลัง หางลิง รัดสะเอว คาดปั้นเหน่ง ศีรษะสวมหัวโขนหัวหนุมาน ตามตัวสวมเครื่องประดับต่าง ๆ ประกอบด้วยกำไลเท้า ธำมงรค์ กรรเจียกและทองกร ถืออาวุธคือตรีเพชร และอื่น ๆ

แหล่งที่มา

WikiPedia: โขน http://www.anurakthai.com/ http://www.anurakthai.com/khon_mask/index.asp http://www.anurakthai.com/thaidances/khone/dress.a... http://www.anurakthai.com/thaidances/khone/history... http://www.anurakthai.com/thaidances/khone/story.a... http://www.anurakthai.com/thaidances/khone/train.a... http://www.artbangkok.com/detail_page.php?sub_id=3... http://www.artbangkok.com/detail_page.php?sub_id=3... http://www.artbangkok.com/detail_page.php?sub_id=3... http://www.arthousegroups.com/artshow.php?art_show...