โขนในพระราชสำนัก ของ โขน

พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ก่อตั้งคณะโขนสมัครเล่นตามแบบธรรมเนียมโบราณ

ในสมัยโบราณข้าราชการ มหาดเล็กที่รับราชการในสำนักพระราชวัง มักได้รับการพิจารณาคัดเลือกให้ฝึกหัดแสดงโขน เนื่องจากโขนนั้นถือเป็นการละเล่นของผู้มียศถาบรรดาศักดิ์ ใช้สำหรับแสดงในงานพระราชพิธีเท่านั้น ทำให้ต้องมีการคัดเลือกผู้แสดงที่มีความสามารถ ฉลาดเฉลียว จดจำและฝึกหัดท่ารำท่าเต้นต่าง ๆ ให้เข้าใจได้โดยง่าย ดังคำสันนิษฐานของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ความว่า "บางทีเกิดมี 'กรมโขน' ขึ้นจะมาแต่การเล่นดึกดำบรรพ์ ในพระราชพิธีอินทราภิเษกนี้เอง โดยทำนองจะมีพระราชพิธีอื่นอันมีการเล่นแสดงตำนานเนือง ๆ จึงเป็นเหตุให้ฝึกหัดโขนหลวงนี้ขึ้นไว้ สำหรับเล่นในการพระราชพิธี และเอามหาดเล็กหลวงมาหัดเป็นโขนตามแบบแผน ซึ่งมีอยู่ในตำราพระราชพิธีอินทราภิเษก" แต่เดิมนั้นใช้ผู้ชายล้วนในการแสดงทั้งตัวพระและตัวนาง การได้รับคัดเลือกให้แสดงโขนในสมัยนั้น ถือเป็นความภาคภูมิใจต่อผู้ที่ได้ถูกรับคัดเลือก เนื่องจากโขนเป็นศิลปะการแสดงชั้นสูง และกลายเป็นประเพณีสืบต่อมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ผู้แสดงโขนในพระราชสำนักจะต้องเป็นพวกมหาดเล็ก ข้าราชการหรือบุตรหลานข้าราชการเท่านั้น[30]

ยุคเจริญรุ่งเรือง

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เจ้านายชั้นสูง ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ เสนาอำมาตย์และผู้ว่าราชการเมือง เข้ารับการฝึกหัดโขนเพื่อเป็นการประดับเกียรติยศแก่ตนเองและวงศ์ตระกูล และโปรดให้หัดไว้เฉพาะแต่เพียงผู้ชายตามประเพณีดั้งเดิม ทำให้ผู้ที่ฝึกหัดโขน มีความคล่องแคล่วว่องไว สามารถใช้อาวุธต่าง ๆ ในการต่อสู้ได้อย่างชำนาญ รวมทั้งโปรดให้มีการแต่งบทละครสำหรับแสดงโขนขึ้นอีกด้วย ทำให้เจ้านายชั้นสูง ขุนนางชั้นผู้ใหญ่จำนวนมากต่างหัดโขนไว้ในคณะของตนเองหลากหลายคณะเช่น โขนของกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ หรือพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งเสด็จดำรงพระยศเป็นพระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 และโขนของกรมพิทักษ์เทเวศร์ เป็นต้น และมีการประกวดแข่งขันประชันฝีมือ รวมทั้งได้มีการฝึกหัดโขนให้พวกลูกทาสและลูกหมู่[31]ซึ่งเป็นผู้ที่สังกัดกรมกองต่าง ๆ ตามวิธีควบคุมทหารแบบโบราณอีกด้วย ทำให้โขนในสมัยนั้นได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย

ต่อมาในสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ครั้งเสด็จดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร ประทับ ณ พระราชวังสราญรมย์ ได้โปรดให้มีการฝึกหัดโขนขึ้นตามแบบโบราณ โดยมีชื่อคณะว่า "โขนสมัครเล่น" โปรดให้ยืมครูผู้ฝึกสอนจากเจ้าพระยาเทเวศ์วิวัฒน์ จำนวน 3 คน ได้แก่

  1. ขุนระบำภาษา (ทองใบ สุวรรณภารต) ต่อมาภายหลังได้รับการเลื่อนบรรดาศักดิ์โดยลำดับจนถึงพระยาพรหมาภิบาล ทำหน้าที่เป็นครูยักษ์ ผู้ฝึกหัดสอนโขนในตัวยักษ์
  2. ขุนนัฏกานุรักษ์ (ทองดี สุวรรณภารต) ต่อมาภายหลังได้รับการเลื่อนบรรดาศักดิ์โดยลำดับจนเป็นพระยาในราชทินนาม ทำหน้าที่เป็นครูพระและครูนาง ผู้ฝึกหัดสอนโขนในตัวพระและตัวนาง
  3. ขุนพำนักนัจนิกร (เพิ่ม สุครีวกะ) ต่อมาภายหลังได้รับการโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระดึกดำบรรพ์ประจง ทำหน้าที่เป็นครูลิง ผู้ฝึกหัดสอนโขนในตัวลิง

สำหรับผู้ที่เข้ารับการฝึกหัดโขนนั้น ล้วนเป็นผู้ที่ถวายงานรับใช้ใกล้ชิดพระองค์มาโดยตลอดเช่น ลูกขุนนาง เจ้านายและมหาดเล็ก เป็นต้น โดยทรงฝึกหัดโขนด้วยความเอาพระทัยใส่เป็นอย่างยิ่ง รวมทั้งให้การสนับสนุนในการแสดงโขนมาโดยตลอด เคยนำออกแสดงในงานสำคัญสำคัญหลายครั้งเช่น งานเปิดโรงเรียนนายร้อย (ทหารบก) ชั้นมัธยม เมื่อวันเสาร์ที่ 25 ธันวาคม ร.ศ. 128 (พ.ศ. 2452) ดังความในสูจิบัตรที่แจกจ่ายในงาน ความว่า[32]

โขนโรงนี้ เรียกนามว่า 'โขนสมัครเล่น' เพราะผู้เล่นเล่นโดยความสมัครเอง ไม่ใช่ถูกกะเกณฑ์หรือเห็นแก่สินจ้าง มีความประสงค์แต่จะให้ผู้ที่คุ้นเคยชอบพอกันและที่เป็นคนชั้นเดียวกัน มีความรื่นเริงและเพื่อจะได้ไม่ลืมว่า ศิลปะวิทยาการเล่นเต้นรำ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นของฝรั่งจึงจะดูได้ ของโบราณของไทยเรามีอยู่ ไม่ควรจะให้เสื่อมสูญไปเสีย โขนโรงนี้ได้เคยเล่นแต่ที่พระราชวังสราญรมย์เป็นพื้น แต่ครั้งนี้เห็นว่าผู้ที่เป็นนักเรียนนายร้อย ก็เป็นคนชั้นเดียวกัน และเป็นที่หวังอยู่ว่าจะเป็นกำลังของชาติเราต่อไป พวกโขนจึงมีความเต็มใจมาช่วยงาน เพื่อให้เป็นการครึกครื้น ถ้าแม้ว่าผู้ที่ดูรู้สึกว่าสนุกและแลเห็นอยู่ว่า การเล่นอย่างไทยแท้ก็ยังเป็นสิ่งที่ควรดูอยู่แล้ว ผู้ที่ออกน้ำพักน้ำแรงเล่นให้ดูก็จะรู้สึกว่าได้รับความพอใจยิ่งกว่าได้สินจ้างอย่างใด ๆ ทั้งสิ้น

ยุคเสื่อมโทรม

หลังจากโขนที่เจริญรุ่งเรืองในสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และเจริญรุ่งเรืองจนถึงขีดสุดในสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เริ่มมีผู้ที่นำเอาโขนไปรับจ้างแสดงในงานต่าง ๆ เช่นงานศพหรืองานที่ไม่มีเกียรติเพียงเพื่อหวังค่าตอบแทน ทำให้โขนเริ่มถูกมองไปในทางที่ไม่ดี กลายเป็นการแสดงที่ไม่สมฐานะของผู้แสดง ไม่คำนึงถึงเกียรติยศของการแสดงศิลปะชั้นสูงที่ได้รับความนิยมยกย่อง เนื่องจากแต่เดิมนั้นโขนเป็นการแสดงที่มีเกียรติและศักดิ์ศรี ใช้สำหรับแสดงในงานพระราชพิธีเท่านั้น ทำให้ความนิยมในโขนเริ่มเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว ประกอบกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เจ้านายชั้นสูง ข้าราชการเสนาอำมาตย์มีละครหญิง ที่แต่เดิมมีเฉพาะพระมหากษัตริย์ได้ ดังพระราชปรารภว่า "มีละครด้วยกันหลายรายดี บ้านเมืองจะได้ครึกครื้น จะได้เป็นเกียรติยศแก่แผ่นดิน" ทำให้ส่งผลกระทบกระเทือนอย่างใหญ่หลวงต่อการแสดงโขนในพระราชสำนักของเจ้านายชั้นสูงและขุนนางชั้นผู้ใหญ่

การแหวกม่านประเพณีของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานอนุญาตให้มีละครหญิงได้นั้น ทำให้เจ้านายชั้นสูง เสนาอำมาตย์ขุนนางต่าง ๆ พากันเปลี่ยนแปลงเพศของผู้แสดงในสังกัดตนเองเป็นอย่างมาก ทำให้แต่เดิมโขนที่มีเฉพาะผู้ชายล้วนนั้น เริ่มมีการเล่นผสมผสานกับละครหญิง ที่ได้รับความนิยมแทนที่โขนอย่างรวดเร็ว เป็นเหตุให้หัวหน้าคณะที่เคยฝึกหัดและทำนุบำรุงโขนไว้ ก็เริ่มเปลี่ยนแปลงการแสดงในสังกัดตนเอง บางรายก็มีโขนและละครหญิงควบคู่กันไป บางรายถึงกัยยกเลิกโขนในสังกัดและเปลี่ยนมาหัดละครหญิงเพียงอย่างเดียว ทำให้โขนค่อย ๆ สูญหายไป ยกเว้นบางสังกัดที่มีความนิยมชมชอบศิลปะไทยแบบโบราณเช่นโขน ที่ยังคงอนุรักษ์รักษาไว้สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน และโขนหลวงที่พระมหากษัตริย์ทรงอุปถัมภ์ไว้เท่านั้น รวมทั้งได้ก่อตั้งเป็นกรมโขนขึ้นก่อนจะยกเลิกไปในสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3

ต่อมาภายหลังจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตแล้ว โขนที่เริ่มเข้าสู่ยุคเสื่อมโทรมก็ยิ่งตกต่ำลงอย่างรวดเร็ว ทั้งในด้านของสภาพจิตใจผู้แสดงและในด้านของศิลปวัตถุ[33] และในสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 โปรดให้เลิกโรงมหรสพต่าง ๆ รวมทั้งโขน เนื่องจากมหรสพต่าง ๆ นั้นเป็นการสิ้นเปลืองพระราชทรัพย์ในท้องพระคลังเป็นอย่างมาก และโอนงานทางด้านนาฏศิลป์และศิลปะ ให้อยู่ภายใต้สังกัดของกรมศิลปากร

แหล่งที่มา

WikiPedia: โขน http://www.anurakthai.com/ http://www.anurakthai.com/khon_mask/index.asp http://www.anurakthai.com/thaidances/khone/dress.a... http://www.anurakthai.com/thaidances/khone/history... http://www.anurakthai.com/thaidances/khone/story.a... http://www.anurakthai.com/thaidances/khone/train.a... http://www.artbangkok.com/detail_page.php?sub_id=3... http://www.artbangkok.com/detail_page.php?sub_id=3... http://www.artbangkok.com/detail_page.php?sub_id=3... http://www.arthousegroups.com/artshow.php?art_show...