โควิดเป็นศูนย์

โควิดเป็นศูนย์ (อังกฤษ: Zero-COVID) เป็นนโยบายด้านสาธารณสุขที่ใช้ในบางประเทศระหว่างการระบาดทั่วของโควิด-19[1] นโยบายนี้ซึ่งเป็นการ "ควบคุมและหยุดยั้งขั้นสูงสุด" ได้มีการใช้มาตรการทางสาธารณสุขต่าง ๆ เช่น การติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิด การตรวจเชื้อในหมู่คนจำนวนมาก การปิดพรมแดน การล็อกดาวน์ และการใช้ซอฟต์แวร์ เพื่อที่จะหยุดยั้งการแพร่กระจายของโรคโควิด-19 ในทันทีที่ตรวจพบ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้พื้นที่กลับมาปลอดโรค และกลับมาเริ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมได้เป็นปกติ[1][2]นโยบายโควิดเป็นศูนย์ได้เคยมีการใช้ในระดับที่แตกต่างกันในหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย แคนาดา[3] จีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง[4] นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ สกอตแลนด์[5] เกาหลีใต้[6] ไต้หวัน[7] ไทย ตองกา[8] และเวียดนาม อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2564 เนื่องจากการระบาดของสายพันธุ์เดลตาและสายพันธุ์โอมิครอนที่แพร่กระจายได้ง่ายขึ้น และการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ทำให้หลายประเทศประกาศเลิกใช้นโยบายนี้ ปัจจุบัน จีนแผ่นดินใหญ่[9] ฮ่องกง[10] ไต้หวัน[11] ตองกา[12] และออสเตรเลียตะวันตก[13] ยังคงใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์อยู่นโยบายนี้แตกต่างจากนโยบายลดการติดเชื้อ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อลดผลกระทบของเชื้อไวรัสต่อสังคม แต่ยังยอมรับให้มีการติดเชื้อในพื้นที่ได้ในระดับหนึ่งอยู่[14][2] ผู้สนับสนุนนโยบายโควิดเป็นศูนย์ให้เหตุผลถึงอัตราการเสียชีวิตที่ต่ำกว่า และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงกว่า ของประเทศที่ใช้นโยบายนี้[14] และอ้างว่านโยบายโควิดเป็นศูนย์สามารถทำให้ชีวิตกลับมาสู่สภาวะปกติได้เร็วขึ้น[14] ส่วนผู้คัดค้านนโยบายนี้ให้เหตุผลว่า การจะกำจัดเชื้อโควิด-19 ซึ่งเป็นเชื้อทางเดินหายใจนั้นไม่สามารถทำได้จริง พอ ๆ กับการพยายามจะกำจัดโรคหวัดหรือไข้หวัดใหญ่[15] มีการศึกษาพบว่า ในพื้นที่ที่มีการติดเชื้อสูงนั้น การจะทำให้การติดเชื้อกลายเป็นศูนย์ จะต้องใช้การล็อกดาวน์อย่างเข้มงวดนานถึง 3 เดือน[16]