การวินิจฉัย ของ โรคคอพอกตาโปน

โรคคอพอกตาโปนมักมีอาการทางคลินิก 1 ข้อในอาการแสดง ดังนี้

  • ตาโปน (exophthalmos) ข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง
  • บวมน้ำกดไม่บุ๋ม (non-pitting edema หรือ pretibial myxedema) ร่วมกับผิวหนังหนา มักพบที่ขา
  • เหนื่อยง่าย น้ำหนักลดร่วมกับอยากอาหาร และอาการอื่นๆ ของภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน
  • หัวใจเต้นเร็ว
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง

อาการแสดง 2 อย่างที่ใช้วินิจฉัยโรคเกรฟส์ (และไม่พบในภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกินชนิดอื่นๆ) คือตาโปนและบวมน้ำกดไม่บุ๋ม คอพอกซึ่งเกิดจากต่อมไทรอยด์โตเป็นชนิดกระจายทั่วทั้งต่อม (diffuse) ซึ่งสามารถพบได้ในภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกินจากสาเหตุอื่น แต่พบมากที่สุดในโรคเกรฟส์ ขนาดต่อมที่โตอาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่หากคอพอกมีขนาดไม่ใหญ่มากอาจตรวจเจอจากการตรวจร่างกายเท่านั้น ในบางครั้งอาการคอพอกอาจตรวจไม่พบทางคลินิก แต่อาจเห็นได้ด้วยการตรวจซีที สแกนหรืออัลตร้าซาวด์

อาการแสดงอื่นของโรคเกรฟส์คือภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน คือการผลิตไทรอยด์ฮอร์โมน T3 และ T4 มากกว่าปกติ อาจพบภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานปกติ (normothyroidism) หรือพบภาวะขาดไทรอยด์ (hypothyroidism) ซึ่งมีส่วนช่วยให้เกิดคอพอก (แม้ว่าภาวะดังกล่าวไม่ใช่สาเหตุของโรคเกรฟส์) ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกินในโรคเกรฟส์ตรวจยืนยันโดยการวัดระดับไทรอยด์ฮอร์โมน T3 และ T4 อิสระเพิ่มขึ้นในเลือดเช่นเดียวกับภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกินจากสาเหตุอื่นๆ

การตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่นๆ ที่มีประโยชน์ในโรคนี้เช่นการตรวจฮอร์โมนกระตุ้นต่อมไทรอยด์ (thyroid-stimulating hormone, TSH) ซึ่งมักลดลงในโรคเกรฟส์จากผลป้อนกลับ (negative feedback) จากปริมาณ T3 และ T4 ที่เพิ่มขึ้น และการวัดไอโอดีนที่จับกับโปรตีน (protein-bound iodine) ที่จะเพิ่มขึ้น นอกจากนี้อาจตรวจแอนติบอดีกระตุ้นต่อมไทรอยด์ (thyroid-stimulating antibodies) ได้จากวิธีทางวิทยาเซรุ่ม (serology)

การตัดเนื้อออกตรวจเพื่อตรวจทางจุลพยาธิวิทยาโดยปกติแล้วอาจไม่จำเป็น แต่อาจทำได้หลังจากการตัดต่อมไทรอยด์ (thyroidectomy)

การแยกภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกินที่พบได้บ่อย 2 รูปแบบซึ่งได้แก่โรคเกรฟส์และ Toxic multinodular goiter มีความจำเป็นในการวางแผนการรักษาที่เหมาะสม การวัดแอนติบอดีต่อตัวรับ TSH (TSH-receptor antibodies) ด้วยวิธี h-TBII assay ได้พิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิผล และเป็นวิธีที่ใช้ได้จริง[1]

อาการทางตา

พยาธิสภาพทางตาเป็นหนึ่งในอาการทั่วไปที่พบบ่อยสุดในโรคคอพอกตาโปน ซึ่งมีคำเรียกได้หลากหลาย ที่พบได้บ่อยคือ Graves' ophthalmopathy โรคตาจากต่อมไทรอยด์เป็นภาวะอักเสบซึ่งส่งผลต่อองค์ประกอบในเบ้าตารวมทั้งกล้ามเนื้อนอกลูกตา (extraocular muscles) และไขมันในเบ้าตา อาการดังกล่าวพบได้บ่อยร่วมกับโรคเกรฟส์ แต่อาจพบได้น้อยมากใน Hashimoto's thyroiditis, ภาวะขาดไทรอยด์ชนิดปฐมภูมิ (primary hypothyroidism) และมะเร็งต่อมไทรอยด์ (thyroid cancer)

อาการทางตาที่จำเพาะกับโรคเกรฟส์ได้แก่การอักเสบของเนื้อเยื่ออ่อน, ตาโปน, กระจกตาสัมผัสภายนอก (corneal exposure) , และการกดเบียดเส้นประสาทตา อาการทั่วไปที่พบได้เช่นหนังตาบนหดรั้งขึ้น และหนังตาบนปิดลงช้ากว่าปกติระหว่างการเพ่งมองลงล่าง

การรักษาอาการทางตา

อาการอื่นๆ

อาการทั่วไปที่พบบ่อยในโรคคอพอกตาโปน ได้แก่

  • อาการใจสั่น (palpitations) ใจหวิว
  • อัตราหัวใจเต้นเร็ว (tachycardia) มากกว่า 100-120 ครั้งต่อนาที
  • ความดันเลือดสูง (hypertension)
  • อาการสั่น (tremor) โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวละเอียด เช่น มือสั่น
  • เหงื่อออกมาก
  • ขี้ร้อน ทนร้อนไม่ได้
  • อยากอาหารมากขึ้น
  • น้ำหนักลดไม่ทราบสาเหตุ แม้กินจุ
  • หายใจลำบาก
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง (โดยเฉพาะกล้ามเนื้อใหญ่ เช่น แขนและขา) และกล้ามเนื้อลีบ
  • ความต้องการทางเพศลดลงหรือเปลี่ยนแปลง
  • นอนไม่หลับ (insomnia)
  • ใช้พลังงานมาก
  • เหนื่อยล้า (fatigue)
  • สภาวะจิตใจผิดปกติ ความจำเสื่อม
  • สมาธิสั้นลง
  • ประหม่า กังวล
  • หงุดหงิด โมโหง่าย

  • อยู่ไม่สุข หลุกหลิก
  • อารมณ์แปรปรวน
  • อารมณ์อ่อนไหว ไม่แน่นอน
  • เล็บเปราะ หักง่าย (brittle nails)
  • เต้านมโตผิดปกติ
  • คอพอก
  • ตาโปน
  • เห็นภาพซ้อน
  • ปวดตา ระคายตา รู้สึกยิบๆ ที่หลังเบ้าตา หรือรู้สึกเหมือนมีทรายในตา
  • ตาบวม แดง หรือหนังตาหดรั้ง
  • ไวต่อแสง
  • อาการระดูห่าง (oligomenorrhea) , ภาวะขาดระดู (amenorrhea)
  • มีบุตรยาก ต้องครรภ์ยาก หรือแท้งบ่อย
  • ผมร่วง
  • คันตามผิวหนัง อาการเหมือนลมพิษ
  • รู้สึกเหมือนมีก้อน บวมแดงที่ผิวหนังของขา (pretibial myxedema)
  • ทางเดินอาหารบีบตัวเร็ว หรือท้องเสีย
  • อาจมีอาการเวียนศีรษะ


แหล่งที่มา

WikiPedia: โรคคอพอกตาโปน http://www.emedicine.com/med/topic929.htm http://www.emedicine.com/ped/topic899.htm http://www.icd9data.com/getICD9Code.ashx?icd9=242.... //pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/15127319 http://www.nlm.nih.gov/cgi/mesh/2020/MB_cgi?field=... http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/ency/article/00... http://apps.who.int/classifications/icd10/browse/2... http://www.dmoz.org/Health/Conditions_and_Diseases... //doi.org/10.1055%2Fs-2004-817930 http://omim.org/entry/275000