อาการและอาการแสดง ของ ไข้เด็งกี

ภาพแสดงอาการของผู้ป่วยไข้เลือดออก

ผู้ติดเชื้อไวรัสเด็งกีส่วนใหญ่ไม่มีอาการ (80%) หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย เช่น เป็นไข้ และไม่มีภาวะแทรกซ้อนใด ๆ[7][8][9] อีกส่วนหนึ่งมีอาการรุนแรงกว่า (5%) และเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่อาการรุนแรงมากจนเสี่ยงต่อการเสียชีวิต[7][9] ระยะฟักตัวของโรคอยู่ที่ 3-14 วัน แต่ส่วนใหญ่ประมาณ 4-7 วัน[10] ดังนั้นสำหรับคนที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในพื้นที่ระบาด แต่เดินทางกลับมาจากพื้นที่ระบาด และเมื่อเดินทางกลับแล้ว มีไข้ตั้งแต่หลังวันที่ 14 มีโอกาสน้อยมากที่จะเป็นไข้เลือดออกเด็งกี[11] ผู้ป่วยเด็กส่วนใหญ่มีอาการไม่ต่างจากหวัดหรือกระเพาะอาหารกับลำไส้อักเสบ (ท้องร่วงและอาเจียน) [12] แต่มีโอกาสป่วยหนักได้มากกว่าผู้ใหญ่[11] แม้อาการระยะแรกจะค่อนข้างไม่รุนแรง แต่จะมีไข้สูงด้วย[13]

การดำเนินโรค

อาการที่เป็นลักษณะเฉพาะของไข้เลือดออกคือมีไข้เฉียบพลัน ปวดศีรษะ (มักปวดหลังดวงตา) ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ และผื่น อาการปวดข้อและปวดกล้ามเนื้อนี้เป็นที่มาของชื่ออีกชื่อหนึ่งของไข้เลือดออก คือ break-bone fever ("ไข้กระดูกแตก") [7][14] การดำเนินโรคแบ่งเป็นสามระยะ คือระยะไข้ ระยะวิกฤต และระยะฟื้น[15]

ในระยะไข้ ผู้ป่วยจะมีไข้สูง มักสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส มีอาการปวดตามตัวและปวดศีรษะ ระยะนี้มักกินเวลา 2-7 วัน[14][15] อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนด้วย[13] ผู้ป่วยระยะไข้ที่มีอาการ 50-80% จะมีผื่นขึ้น[14][16] ในวันแรกหรือวันที่สองของอาการป่วย ลักษณะเป็นปื้นแดง (erythema) หรือพบในวันที่ 4-7 ลักษณะเป็นผื่นคล้ายผื่นของโรคหัด[16][17] อาจมีจุดเลือดออก[15] (จุดเลือดออกนี้เกิดจากเส้นเลือดฝอยแตก และไม่ปรากฏเมื่อผิวหนังถูกกด) หรืออาจมีเลือดออกจากเยื่อบุปากและจมูกได้เล็กน้อย[11][14] ลักษณะเฉพาของอาการไข้ในไข้เลือดออก คือ ผู้ป่วยมีไข้ขึ้นสองรอบ โดยจะมีไข้ขึ้นครั้งหนึ่งก่อน จากนั้นไข้ลดลงไป และมีไข้ขึ้นอีก 1-2 วันให้หลัง แต่แบบแผนอาการไข้ของไข้เลือดออกมีความแตกต่างกันมาก และยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนว่าแบบแผนไข้เฉพาะเช่นนี้ปรากฏขึ้นบ่อยเพียงใด[17][18]

ผู้ป่วยบางคนมีอาการดำเนินไปถึงระยะวิกฤต คือช่วงที่ไข้ลง ระยะนี้มักกินเวลา 1-2 วัน[15] ซึ่งผู้ป่วยอาจมีสารน้ำสะสมในช่องปอดและช่องท้องมากเนื่องจากสารน้ำรั่วออกจากผนังหลอดเลือดฝอยที่อยู่ในภาวะที่มีสภาพให้ซึมผ่านได้สูงขึ้นอย่างมาก ทำให้มีสารน้ำในระบบไหลเวียนน้อยลง และมีการไหลของเลือดไปเลี้ยงอวัยวะสำคัญน้อยลง[15] ระยะนี้อาจพบอวัยวะทำหน้าที่ผิดปกติ และมีเลือดออกมาก โดยมักออกจากทางเดินอาหาร[11][15] ภาวะช็อก (กลุ่มอาการช็อกจากไข้เลือดออก, dengue shock syndrome) และการมีเลือดออก ("ไข้เลือดออกเด็งกี", dengue hemorrhagic fever) นั้นพบในผู้ป่วยไข้เด็งกีไม่ถึง 5%[11] อย่างไรก็ดีผู้ที่เคยติดเชื้อไวรัสเด็งกีชนิดอื่นมาก่อนแล้ว (ติดเชื้อครั้งนี้เป็นครั้งที่สอง) จะมีความเสี่ยงสูงขึ้น[11][19] ระยะวิกฤตนี้พบบ่อยในเด็กและวัยรุ่นมากกว่าวัยอื่น แม้จะพบน้อย[13]

ระยะต่อมาคือระยะฟื้น สารน้ำที่รั่วออกจากหลอดเลือดจะไหลกลับคืนเข้ามา[15] ระยะนี้กินเวลา 2-3 วัน[11] ผู้ป่วยอาจรู้สึกดีขึ้นอย่างมาก อาจมีอาการคันมาก หรือหัวใจเต้นช้าได้[11][15] ในระยะนี้ผู้ป่วยอาจมีสารน้ำในร่างกายเกิน ซึ่งหากเสียสมดุลจนทำให้สมองบวม ก็อาจมีระดับการรู้สึกตัวลดลงหรือมีอาการชักได้[11] ผู้ป่วยผู้ใหญ่อาจรู้สึกล้าต่อไปอีกหลายสัปดาห์[13]

ปัญหาที่พบร่วม

บางครั้งไข้เลือดออกอาจส่งผลต่อระบบอื่นของร่างกายได้[15] โดยอาจมีอาการของไข้เลือดออกร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้[12] 0.5-6% ของผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง มีระดับความรู้สึกตัวลดลง ซึ่งอาจเป็นผลโดยตรงจากการติดเชื้อไวรัสที่สมอง ทำให้เกิดสมองอักเสบ หรือเป็นผลโดยอ้อมจากการที่อวัยวะสำคัญทำงานบกพร่อง เช่น ตับ[12][18]

ความผิดปกติอื่นทางระบบประสาทที่มีการรายงานในผู้ป่วยไข้เลือดออก เช่น ไขสันหลังอักเสบตามขวาง และกลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร[12] ความผิดปกติอื่นที่พบได้ แต่น้อย เช่น กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากการติดเชื้อ และตับวายเฉียบพลัน เป็นต้น[11][15]

แหล่งที่มา

WikiPedia: ไข้เด็งกี http://en.tempo.co/read/news/2016/10/17/310812742/... http://edition.cnn.com/2016/04/06/health/dengue-fe... http://www.diseasesdatabase.com/ddb3564.htm http://linkinghub.elsevier.com/retrieve/pii/S11987... http://www.emedicine.com/med/topic528.htm http://books.google.com/books?id=nsh48WKIbhQC&pg=P... http://www.icd9data.com/getICD9Code.ashx?icd9=061 http://www.nature.com/nrmicro/journal/v8/n12_supp/... http://www.neurologyindia.com/article.asp?issn=002... http://www.sanofipasteur.com/en/articles/dengvaxia...