สาเหตุ ของ ไข้เด็งกี

โรคไข้เลือดออก เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากยุงลาย (Aedes aegyti) ตัวเมีย บินไปกัดคนที่ป่วยเป็นไข้เลือดออกโดยเฉพาะช่วงที่มีไข้สูง ทำให้ได้รับเชื้อไวรัสเด็งกี เชื้อจะเพิ่มจำนวนในตัวยุงประมาณ 8-10 วัน เชื้อไวรัสแดงกี่จะไปที่ผนังกระเพาะและต่อมน้ำลายของยุง เมื่อยุงกัดคนก็จะแพร่เชื้อสู่คน เชื้อจะอยู่ในร่างกายคนประมาณ 2-7 วันในช่วงที่มีไข้ หากยุงกัดคนในช่วงนี้ก็จะรับเชื้อไวรัสมาแพร่ให้กับคนอื่น ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นเด็ก โรคนี้ระบาดในฤดูฝน ยุงลายชอบออกหากินในเวลากลางวันตามบ้านเรือน และโรงเรียน ชอบวางไข่ในน้ำสะอาดที่อยู่นิ่งๆ ตามภาชนะที่มีน้ำขัง เช่น ยางรถยนต์ กะลา กระป๋อง จานรองขาตู้กับข้าว แต่ไม่ชอบวางไข่ในท่อระบายน้ำ ห้วย หนอง คลอง บึง ฯลฯ

วิทยาไวรัส

ดูบทความหลักที่: ไวรัสเด็งกี
ภาพจากกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน แสดงให้เห็นกลุ่มของตัวไวรัสไข้เด็งกี (จุดดำๆ กลางภาพ)

ไวรัสไข้เด็งกี (Dengue fever virus, DENV) เป็นไวรัสชนิดอาร์เอ็นเอไวรัสในวงศ์ Flaviviridae จีนัส Flavivirus ไวรัสอื่นในแฟมิลีนี้ เช่น ไวรัสไข้เหลือง ไวรัสเวสท์ไนล์ ไวรัสไข้สมองอักเสบเซนต์หลุยส์ ไวรัสไข้สมองอักเสบเจอี ไวรัสไข้สมองอักเสบซึ่งมีหมัดเป็นพาหะ ไวรัสโรคป่ายาซานูร์ และไวรัสไข้เลือดออกออมส์ก[18] ส่วนใหญ่ติดต่อโดยมีแมลงหรือแมง (ยุง หรือหมัด เห็บ เป็นต้น) เป็นพาหะ จึงเรียกรวมกันว่า arbovirus มาจาก arthropod-borne virus (ไวรัสซึ่งติดต่อโดยมีสัตว์ขาปล้อง [arthropod] เป็นพาหะ) [18]

จีโนมของไวรัสไข้เด็งกีมีขนาดประมาณ 11,000 นิวคลีโอไทด์เบส ถอดรหัสออกมาเป็นโมเลกุลโปรตีน 3 ชนิด (C, prM และ E) ซึ่งประกอบกันเป็นตัวไวรัส และโมเลกุลโปรตีนชนิดอื่น ๆ อีก 7 ชนิด (NS1, NS2a, NS2b, NS3, NS4a, NS4b, NS5) ซึ่งจะพบเฉพาะในเซลล์โฮสท์ที่ติดเชื้อ โดยเป็นโปรตีนที่มีความจำเป็นในการสร้างไวรัส[19][20] ไวรัส DENV มีอยู่ 4 สายพันธุ์หรือซีโรไทป์ คือ DENV-1, DENV-2, DENV-3 และ DENV-4[8] เชื่อกันว่าการติดเชื้อไวรัสซีโรไทป์หนึ่ง ๆ จะทำให้มีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสซีโรไทป์นั้น ๆ ไปตลอดชีวิต และมีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสซีโรไทป์อื่น ๆ ได้ในช่วงสั้น ๆ[8][14]

การติดต่อ

ยุงลายบ้านกำลังดูดเลือดมนุษย์

ไวรัสเด็งกีติดต่อผ่านทางยุงลายเป็นหลัก โดยเฉพาะยุงลายบ้าน หรือ A. aegypti[8] ซึ่งมีถิ่นอาศัยในเขตศูนย์สูตร บริเวณพื้นที่ละติจูด 35° เหนือและใต้เส้นศูนย์สูตร ซึ่งสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 1,000 เมตร[8] ส่วนใหญ่จะกัดคนในเวลากลางวัน[21] ยุงลายชนิดอื่น ๆ ที่เป็นพาหะของไข้เลือดออกได้แก่ A. albopictus, A. polynesiensis และ A.scutellaris[8] โฮสต์หลักของไวรัสไข้เลือดออกคือมนุษย์[8][18] แต่ก็สามารถพบเชื้อในไพรเมตชนิดอื่นนอกจากมนุษย์ได้[22] การกัดเพียงครั้งเดียวก็สามารถทำให้ติดเชื้อได้[23] เมื่อยุงตัวเมียดูดเลือดจากผู้ติดเชื้อไข้เลือดออกจะทำให้มีการติดเชื้อในทางเดินอาหารของยุงตัวนั้น ต่อมา 8-10 วัน ไวรัสจะแพร่ไปยังเนื้อเยื่ออื่น ๆ ของตัวยุงรวมทั้งต่อมน้ำลายของยุงด้วย ทำให้มีการหลั่งตัวไวรัสออกมาในน้ำลายของยุง ยังไม่ปรากฏว่าการติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออกจะมีผลเสียใด ๆ ต่อยุงที่ติดเชื้อ ซึ่งจะมีการติดเชื้อไปตลอดอายุขัย ยุงลายบ้านมักวางไข่ในแหล่งน้ำขัง ใกล้ที่อยู่อาศัยของมนุษย์ และมักดูดเลือดจากมนุษย์มากกว่าสัตว์มีกระดูกสันหลังอื่น ๆ[24]

ภาวะเสี่ยง

ผู้ป่วยที่เป็นทารกหรือเด็กเล็กมีโอกาสป่วยรุนแรงมากกว่าช่วงอายุอื่น และมักพบบ่อยในเด็กที่มีสุขภาพทั่วไปค่อนข้างดี ซึ่งขัดกับโรคติดเชื้อจำนวนมาก[11] ปัจจัยเสี่ยงอื่นที่ทำให้เกิดโรครุนแรง ได้แก่ เป็นเพศหญิง มีดัชนีมวลกายสูง และปริมาณไวรัส แม้ไวรัสทุกชนิดสามารถทำให้เกิดโรคได้ทั้งแบบไม่รุนแรงไปจนถึงรุนแรงมากไม่ต่างกัน[8] แต่สายพันธุ์ไวรัสก็เป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่ง ความเสี่ยงการเป็นโรครุนแรงจากการติดเชื้อครั้งที่สองเพิ่มขึ้นหากผู้ป่วยเคยได้รับซีโรไทป์ DENV-1 แล้วได้รับซีไรโทไทป์ DENV-2 หรือ DENV-3 ภายหลัง หรือหากผู้ป่วยเคยได้รับ DENV-3 แล้วติดเชื้อ DENV-2 ภายหลัง[20] และผู้ที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรังอยู่เดิมแล้ว (เช่น เบาหวาน หรือหอบหืด) มีโอกาสป่วยรุนแรงถึงชีวิตมากกว่า[20]

มีการศึกษาพบความแตกต่างตามปกติ (โพลีมอร์ฟิซึม) ของยีนบางยีนมีความสัมพันธ์กับการเพิ่มโอกาสการมีอาการป่วยรุนแรงเมื่อป่วยเป็นไข้เลือดออก ตัวอย่างของยีนเหล่านี้ เช่น ยีนที่ถอดรหัสออกมาเป็น TNFα, mannan-binding lectin,[7] CTLA4, TGFβ,[19] DC-SIGN และ HLA บางชนิด[20] ภาวะพร่องเอนไซม์กลูโคส-6-ฟอสเฟตดีไฮโดรจีเนส (ภาวะพร่องเอนไซม์จี-6-พีดี) ก็เพิ่มความเสี่ยง[25] นอกจากนี้ยังพบว่าการมีโพลีมอร์ฟิซึมของยีนที่ถอดรหัสออกมาเป็นตัวรับวิตามินดีและ FcγR อาจสามารถลดโอกาสการป่วยรุนแรงในการติดเชื้อครั้งที่สองได้[20]

แหล่งที่มา

WikiPedia: ไข้เด็งกี http://en.tempo.co/read/news/2016/10/17/310812742/... http://edition.cnn.com/2016/04/06/health/dengue-fe... http://www.diseasesdatabase.com/ddb3564.htm http://linkinghub.elsevier.com/retrieve/pii/S11987... http://www.emedicine.com/med/topic528.htm http://books.google.com/books?id=nsh48WKIbhQC&pg=P... http://www.icd9data.com/getICD9Code.ashx?icd9=061 http://www.nature.com/nrmicro/journal/v8/n12_supp/... http://www.neurologyindia.com/article.asp?issn=002... http://www.sanofipasteur.com/en/articles/dengvaxia...