ประเพณีและความเชื่อของไทเบิ้ง ของ ไทโคราช

ประเพณีชาวไทเบิ้ง ก็ไม่ต่างจากชาวไทยกลุ่มอื่นมากนักในเรื่องของความเชื่อดังกล่าว คือ บางอย่างก็ไม่มีเหตุผล บางอย่างก็มีเหตุผล แต่จะแตกต่างจากประเพณีชาวไทยภาคกลางบ้าง รายละเอียดเกี่ยวกับประเพณีชีวิตของชาวไทยเบิ้ง มีดังนี้

  • ประเพณีแต่งงานการแต่งงานจะมีพิธี หลายขั้นตอนคือ การทาบทามสู่ขอ วิธีชีวิตของชาวไทยเบิ้ง โอกาสที่หนุ่มสาวจะได้พบกันมีน้อย เพราะต้องทำงานตลอดช่วงกลางวัน และเวลาค่ำคืนเป็นโอกาสที่หนุ่มสาวจะได้พบปะเกี่ยวพากัน และเมื่อชายหนุ่มถูกใจก็จะจัดหาเถ้าแก่ไปสู่ขอ บิดามารดาฝ่ายหญิงอาจเรียกสินสอดทองหมั้นเป็นเงินทอง หรือเป็นเรือนหอเรียกว่า มาดเป็นเงิน มาดเป็นทอง การหมั้น เมื่อได้ทาบทามสู่ขอแล้วก็จะให้พระสงฆ์ หรือหมอดูกำหนดฤกษ์เพื่อเป็นวันหมั้นซึ่งจะต้องเป็นวันฟู เพราะตามประเพณีจะไม่จัดในวันจม วันฟูหมายถึงวันอธิบดี วันธงชัย และวันจมหมายถึงวันอุบาทว์ วันโลกาวินาศ สำหรับเดือนที่นิยมจัดงานจะเป็นเดือนคู่ และไม่จัดงานระหว่างเข้าพรรษา เมื่อใกล้วันแต่งงาน จะต้องมีการเตรียมตำข้าว หาฟืน ลงปลา หาผักป่า เนื้อสัตว์ที่นิยมใช้ทำอาหารของชาวไทยเบิ้ง นิยมใช้ปลาจะไม่มีการฆ่าหมู วัวหรือควาย อาหารจะเป็นอาหารพื้นบ้านง่ายๆ ไม่มีอาหารประเภทใดต้องห้ามสำหรับงานแต่งงานไม่เหมือนประเพณีของทางภาคกลาง
ในการจัดงานจะแบ่งเป็น 3 วันคือ วันแรกเป็นวันเตรียม วันต่อมาคือวันแต่งงานและวันที่สามคือวันทำบุญบ้าน ส่วนพิธีอื่นๆ จะคล้ายกับภาคกลาง ต่างกันตอนขบวนขันหมาก คือเมื่อบ้านฝ่ายหญิงยิงปืนขึ้น ๑ นัด ฝ่ายชายจึงเริ่มขบวนขันหมาก เมื่อขบวนมาถึงได้มีการขันหมากแล้ว ฝ่ายหญิงจะมอบแป้งกระสอบหนึ่งถุงเป็นของชำร่วย จากนนั้นจึงมีการผูกข้อไม้ข้อมือ วันที่สามมีพิธีทำบุญบ้านบ่าวสาว จะตักบาตร ขนมขันหมากที่ฝ่ายเจ้าบ่าวจัดมาจะถวายพระ เพราะมีข้อห้ามไม่ให้เจ้าบ่าวเจ้าสาวกินขนมขันหมาก หลังจากเลี้ยง พระแล้วจะมีพิธีประพรมน้ำพุทธมนต์ เป็นอันเสร็จพิธีแต่งงาน หลังจากแต่งฝ่ายชายจะต้องไปอยู่บ้านฝ่ายหญิงอย่างน้อย ๓ คืน แล้วจึงจะแยกเรือนไปดำเนินชีวิตเป็นครอบครัวใหม่ต่อไป
  • ประเพณีการเกิดผู้หญิงชาวไทยเบิ้ง เมื่อตั้งครรภ์จะมีการปฏิบัติตนเช่นเดิมปกติ คือ ยังทำงานบ้านทำไร่ทำนา ในระหว่างการตั้งครรภ์นั้น มีความเชื่อมีข้อควรปฏิบัติ และข้อห้ามหลายประการ เช่น ห้ามทำบาปไม่ตกปลาไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ให้ไปดูคนอื่นคลอดลูกเพราะมีความเชื่อว่าจะยันกันทำให้คลอดยาก ไม่ไห้อาบน้ำกลางคืน เพราะกลัวแฝดน้ำ เมื่อเกิดจันทรคราสบางคนก็เอาน้ำลูบท้องเพื่อให้คลอดง่าย ไม่ให้นั่ง ยืนคาบันไดหรือประตู ห้ามกินกล้วยแฝด กลัวจะมีลูกแฝดทำให้คลอดยาก ห้ามเตรียมของใช้ไว้ก่อนถ้าจะเย็บที่นอนและหมอนไว้ ต้องไม่เย็บปิดปากที่นอนหรือหมอน เมื่อคลอดแล้วจึงจะเย็บปิดปากหมอนเวลากินข้าวต้องรีบอิ่มก่อนคนอื่นถึงแม้จะยัง แล้วจึงกลับไปกินต่อที่หลังได้ เพราะเชื่อว่าอิ่มก่อนจะทำให้คลอดง่าย
  • การเตรียมการคลอด หญิงมีท้องโดยเฉพาะลูกคนแรก จะกลับไปคลอดที่บ้านแม่ตนเอง โดยจัดเตรียมห้อง"ในเรือน" เป็นห้องคลอดบางบ้านทำสายสิญจน์วนรอบห้องคลอด บางคนเอาคล้องคอคนท้องไว้เพื่อป้องกันไม่ให้ผีมารบกวน ในห้องที่จะใช้เป็นห้องคลอดต้องทำเตาไฟ โดยเอาไม้ขอนวางขวางกันเป็นคอกหมู เอากาบกล้วยปูรองพื้นและนำดินใส่จนเต็ม เตรียมแคร่นอนไว้ข้างเตาไฟ ใต้ถุนของห้องคลอดจะขุดหลุมตรงกับร่องขับถ่ายของเสียไว้ และรอบๆหลุมนั้นจะตัดหนามพุทรา หรือหนามอื่นมาสะไว้โดยรอบเพื่อป้องกันผีปอบ ผีกระสือ ไม่ให้มากินเลือดกินของคาว ของเสียที่ถ่ายมาตามร่องนั้น การคลอด เมื่อท้องแก่เริ่มปวดท้อง จะไปตามหมอตำแยมาทำคลอด เริ่มด้วยหมอตำแยจะทำพิธีไหว้ผีบ้านผีเรือนก่อน โดยจัดทำขนมต้ม ข้าวเหนียวนึ่ง กล้วย ดอกไม้ ธูป เทียน และเงิน จัดใส่พานไหว้ "ปู่ ย่า ตา ยาย ทางพ่อก็ดี ทางแม่ก็ดี ให้มาช่วยให้การคลอดง่ายให้มาปกปักรักษาให้คลอดง่าย" โดยการคลอดจะนิยมให้คนท้องหันหน้าไปทางทิศเหนือ หรือทิศตะวันออก และให้นั่งพิงครกหรือพิงหลังสามีเอาเท้ายันฝาไว้ เมื่อเด็กคลอดออกมาผู้เป็นสามีหรือคนในบ้านจะรีบติดไฟต้มน้ำร้อนเพื่ออาบน้ำเด็กต่อไป ถ้าการคลอดมีการผิดปกติจะใช้วิธีหาหมอพื้นบ้านมาเสกเป่า หรือทำน้ำมนต์ให้ดื่ม เพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์
  • การอยู่ไฟ การอยู่ไฟ"อยู่กรรม" จะเป็นการอยู่ไฟฟืนโดยท่อนล่างจะนุ่งเตี่ยว ท่อนบนจะเอาผ้าชุบน้ำโปะหน้าอกไว้ นอนเหยียดแขนขาบนแคร่ซึ่งส่วนมากจะเป็นไม้กระดานแผ่นเดียว การนอนอยู่ไฟจะไม่ให้งอแขนงอขา และห้ามไม่ให้ออกไปนอกบริเวณที่อยู่ไฟ เมื่อแข็งแรงดีแล้วจะลุกเดินได้
  • การเลี้ยงลูก การเลี้ยงดูเด็กอ่อน ขณะที่แม่ยังไม่มีน้ำนมคือให้เด็กกินน้ำ หรือน้ำผึ้งโดยใช้สำลีชุบน้ำผึ้งให้ดูด และเริ่มให้เด็กกินกล้วยสุกบด จนกระทั่งอายุประมาณ 1 เดือน จึงจะเลี้ยงด้วยข้าวบดใส่กล้วยสุก และเริ่มให้เด็กกินข้าวกับปลาก็ต่อเมื่อเด็กเริ่มหัดพูดและพูดคำว่า "ปลา"ได้ ถ้าเด็กลิ้นเป็นฝ้าจะใช้ปัสสวะของเด็กเองป้ายกวาดถ้าปวดท้องจะใช้ด้ายผูกก้อนมหาหิงค์ผูกติดข้อมือเด็กไว้เพื่อให้เด็กดมกลิ่น
  • ประเพณีการบวช ผู้ที่จะบวชตามประเพณีของชาวพุทธต้องมีอายุครบ 20 ปี มีร่างกายครบ 32 ประการ ส่วนมากนิยมบวชก่อนแต่งงาน การบวชของชาวไทยเบิ้งมีพิธีกรรมคล้ายกับประเพณีบวช ในพื้นที่อื่นๆ เช่น การเตรียมการบวช นิยมหาฤกษ์เพื่อกำหนดวันที่ดีทำพิธี ผู้บวชจะต้องหัดขานนาค หัดสวดมนต์ให้คล่อง โดยบิดามารดาจะนำดอกไม้ ธูป เทียน ใส่พานพาผู้ที่จะบวชไปให้อยู่ที่วัดอย่างน้อย 1 เดือน การบวช ประเพณีการบวชของชาวไทยเบิ้ง นิยมจัดกัน 2 วัน คือวันสุกดิบ และวันบวช ตอนกลางวันก่อนเพลในวันสุกดิบ จะทำพิธีปลงผมที่วัด บิดามารดานาคจะเป็นผู้เริ่มขลิบผมก่อน ต่อด้วยญาติและพระสงฆ์เป็นผู้โกนจนหมด ผมที่โกนจะนำไปลอยน้ำ หลังจากนั้นบิดามารดานาคจะอาบน้ำให้นาคและแต่งตัวใหม่ ตอนค่ำจะทำพิธีสู่ขวัญ หรือ ทำขวัญนาค โดยมีหมอซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้คนในหมู่บ้าน หมอทำขวัญจะเริ่มทำพิธีนำไหว้พระ สวดบทชุมนุมประชุมเทวดา แหล่บทไหว้ครูบทว่าด้วยคุณบิดามารดา บทว่าด้วยตัวนาคตั้งแต่เล็กจนโต และบทสอนนาคให้ประพฤติให้ถูกต้องตามกฎของวัด และบทบัญญัติพระพุทธศาสนา สอนให้รู้จักศีล สวดมนต์ภาวนา และบทสุดท้ายจะเป็นบทเชิญขวัญนาค ซึ่งในการแหล่จบแต่ละครั้งแต่ละบทจะมีการตีฆ้อง 3 ครั้ง โห่ร้องเอาชัย และเวียนเทียน วันรุ่งขึ้นเป็นวันบวช นิยมบวชตอนเช้าหลังจากถวายภัตตาหารเช้าแล้ว จะแห่นาคเดินจากบ้านไปวัด อาจมีกลองยาวหรือแตรวงนำขบวน
  • การลาสิกขาบท ชาวไทยเบิ้ง นิยมบวช 1 พรรษา คนที่บวชไม่ครบจะถูกเรียกว่า เป็นคนไม่เต็มคน ก่อนจะลาสิกขาบทจะหาฤกษ์ดี แล้วนำกรวยใบตองดอกไม้ ธูป เทียน ไปกราบลาพระอุปัชฌาย์ และเจ้าอาวาส ซึ่งจะสวดคาถาและรดน้ำมนต์ให้ ขณะที่ก้มลงกราบจะชักผ้าสังฆาฏิออก แล้วให้นำน้ำมนต์ไปอาบ จากนั้นแต่งกายเป็นฆราวาส ถึงแม้จะลาสิกขาบทแล้ว ทิดสึกใหม่จะคงอยู่ที่วัดอีก 3 วัน เพื่อช่วยงานในวัด
  • ประเพณีงานศพ การทำงานศพของชาวไทยเบิ้ง ในอดีตโดยทั่วไปนิยมการเผา นอกจากศพที่เกิดจากการถูกฆ่าตาย ตกต้นไม้ ฟ้าผ่า ตกน้ำตาย คลอดบุตรตาย หรือตายด้วยอุบัติเหตุต่างๆ จะนำศพฝังไว้ 3 - 5 ปี แล้วจึงทำพิธีเผาที่หลัง การทำความสะอาดศพ ด้วยน้ำร้อนต้มใส่ใบมะขาม ใบฝรั่ง ซึ่งการอาบน้ำ ศพนี้จะทำเฉพาะลูกหลาน และญาติใกล้ชิด ต่อจากนั้นแต่งตัวศพ ทาขมิ้น ผัดแป้ง หวีผม โดยจะหวีไปในทางตรงข้าม กับตอนมีชีวิตอยู่ ใส่เสื้อผ้ากลับด้านหน้าไว้ข้างหลัง จัดทำกรวยใบตองใส่ดอกไม้ ธูป เทียน ใส่มือพนมไว้เพื่อให้ผู้ตายนำไปบูชาพระจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และบอกกับศพว่าใครขอก็ไม่ให้ นำเงินเหรียญ ใส่ในปากศพ แล้วใช้ผ้าขาวมัดตราสังศพ แล้วทำพิธีเบิกโลงก่อนนำศพลงโลง ซึ่งเป็นหน้าที่ของสัปเหร่อ โดยใช้ไม้ไผ่ผ่าซีกเป็นปากกา มีลักษณะเป็นไม้คีบเหมือนไม้ปิ้งปลา 8 อันนำไปคีบตามขอบโลงด้านละ 2 อัน แล้วนำด้ายสายสิญจน์มัดโยงตามไม้คีบปากกาทั้ง 8 อัน ทำกระทงใบฝรั่ง 4 กระทง ใส่ข้าวดำ ข้าวแดง เพื่อวางในโลงเป็นเครื่องสังเวย ทำน้ำมนต์ธรณีสารพรมที่โลงและศพ แล้วใช้เทียนจุดด้ายสายสิญจน์ที่โยงไว้ระหว่างไม้คีบปากโลง ให้สายสิญจน์ขาดเป็นช่องๆ เป็นการแสดงว่าได้ตัดขาดจากญาติพี่น้อง ลูกหลานให้หมด ต่อจากนั้นจึงม้วนด้ายสายสิญจน์และนำไม้คีบปากทั้งหมดใส่ในโลงด้วย หลังจากนั้นจะยกโลงไปตั้งบนเรือนหันด้านศีรษะไปทางทิศตะวันตกเพื่อทำพิธีสวดศพต่อไป
  • การสวดศพ ในอดีตจะตั้งศพที่บ้าน ไม่นิยมไปตั้งศพที่วัดเหมือนปัจจุบัน และตั้งศพบำเพ็ญกุศลเพียง 1-3 วัน เนื่องจากในอดีตยังไม่มีการฉีดยาป้องกันศพเน่าเปื่อย จึงต้องรีบเผา ตลอดเวลาตั้งศพสวดนั้นจะจุดธูปหรือจุดตะเกียงตลอดไม่ให้ดับเมื่อถึงเวลาอาหารญาติของผู้ตายจะจัดสำรับอาหารไปวางข้างโลง และเคาะโลงเรียกให้กินอาหาร หรือเมื่อพระสงฆ์สวดพระอภิธรรมก็จะเคาะโลงเรียกให้ฟังพระสวดด้วย
  • การเผาศพ เมื่อสวดศพวันสุดท้ายแล้วจะหามศพไปทำพิธีที่วัดถ้าเป็นพ่อ แม่ หรือญาติผู้ใหญ่หลังจากการหามศพลงจากบ้านแล้วจะคว่ำโอ่งน้ำ 1 ใบ ขบวนศพที่หามไปนั้นจะนำหน้าศพด้วยหม้อไฟ (หม้อตาลใส่ฝ้ายจุดไฟ) และมีถาดใส่มะพร้าวปอกเปลือกแล้ว 1 ลูก กระทงใบฝรั่ง หรือ กระทงใบตองใส่ข้าวดำข้าวแดง และสตางค์กระทงละ 1 บาท แต่ละกระทงจะปักธงสามเหลี่ยม ขณะที่หามศพไปก็จะโรยข้าวตอกไปตลอดทาง เป็นการนำไปสู่สวรรค์ และตลอดทางที่หามศพไปจะไม่มีการหยุดพักระหว่างกลางทาง การกำหนดวันเผาศพของชาวไทยเบิ้ง จะห้ามเผาศพวันพระ และวันคู่ จะเผาศพเฉพาะวันคี่ ห้ามเผาวันศุกร์ วันเสาร์ และวันอังคาร การแต่งกายของผู้ไปร่วมงานศพจะแต่งกายสีใดก็ได้จะไม่ถือว่าผิดธรรมเนียมประเพณีแต่อย่างใด ประเพณีการแต่งกายสีดำ หรือสีขาว - ดำ ไปงานศพในเวลาต่อมานั้นได้รับแบบอย่างจากคนภาคกลาง การทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ตาย หลังจากเผาศพ 3 วันจะทำพิธีกลบธาตุ หรือกลับธาตุ โดยจะนิมนต์พระสงฆ์ ไปที่เชิงตะกอน สวดบังสุกุลตายพรมน้ำมนต์ที่กระดูก แล้วเขี่ยกระดูกเป็นรูปคนหันศีรษะไปทางตะวันออก แล้วพระสงฆ์สวดบังสุกุลเป็นเพื่อเป็นการแสดงการเกิด แล้วจึงเก็บกระดูกใส่โกศไว้บนหิ้งบูชา หรือเก็บไว้ที่วัด เมื่อถึงวันตรุษสงกรานต์ แต่ละปีจะนำโกศไปวัดให้พระสงฆ์สวดบังสุกุล หรือนิมนต์พระสงฆ์ไปทำบุญที่บ้าน เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับ นับเป็นการทำบุญใหญ่ประจำปี
  • การต่ออายุ เมื่อมีผู้ป่วยหนักมักจะทำพิธีต่ออายุโดยนิมนต์พระสงฆ์มาทำพิธีที่บ้านมีการทำ บุญเลี้ยงพระ สวดต่อชะตาชักบังสุกุลเป็น เป็นการสร้างเสริมกำลังใจผู้ป่วย ยืดอายุผู้ป่วยไปอีกระยะหนึ่ง
  • การบอกทางคนใกล้สิ้นใจเมื่อผู้ป่วยอาการหนัก เห็นว่าไม่มีทางรอดมีอาการใกล้สิ้นใจ ญาติพี่น้องจะบอกทางแก่ผู้ป่วย ให้นึกถึงพระอรหันต์ หรือบอกให้ท่องพุทโธๆ หรือจะกล่าวนำดังๆ ให้ผู้ป่วยได้ยินจะได้ยึดคำพุทโธๆ เป็นพุทธานุสติ ให้จิตใจสบายและเชื่อมั่นว่าเมื่อจากโรคนี้ไปแล้วจะไปสู่ภพภูมิที่ดี

ประเพณีท้องถิ่นของชาวไทยเบิ้ง ชาวไทยเบิ้งมีความเชื่อ และทำประเพณีต่างๆ คล้ายๆ กับชาวไทยภาคกลาง ประเพณีที่ทำในท้องถิ่นตลอดทั้งปีทีดังนี้

  1. เทศน์มหาชาติ แต่ละวัดอาจจะจัดในเวลาต่างกัน ถ้าไม่เทศน์ในช่วงเข้าพรรษาก็จะเทศน์กลางเดือน ๑๒ งานเล็ก หรือใหญ่ขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละวัด วัดที่จัดงานใหญ่จะตกแต่งสวยงาม บางวัดก็ไม่จัด เทศน์มหาชาติถือเป็นงานบุญที่สำคัญ ชาวบ้านจะร่วมมือกันจัดงานให้สำเร็จลงได้ด้วยดี
  2. ทำบุญในวันมาฆบูชา วิสาขบูชา และอาสาฬหบูชา การทำบุญในวันสำคัญทางพระพุทธ ศาสนาทั้ง 3 วันนี้ ชาวไทยเบิ้ง จะให้ความสำคัญกับวันวิสาขบูชามากที่สุด
  3. ประเพณีทำบุญเข้าพรรษา ถือเป็นวันพระสำคัญทำบุญในวันแรม ๒ ค่ำ เดือน ๘ ต่อจากงานบุญวันอาสาฬหบูชา ชาวบ้านจะนำพุ่มดอกไม้ ผ้าอาบน้ำฝนและเทียนพรรษาไปถวายพระ
  4. บุญออกพรรษาหรือลาพรรษาจะมีการตักบาตรเทโวในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ตามประเพณีชาวบ้านจะเตรียมอาหารไปตักบาตรเทโวกันอย่างพร้อมเพรียง ขนมที่ชาวไทยเบิ้งทำเป็นหลักเพื่อนำไป ตักบาตรเทโว คือ ข้าวต้มมัด ขนมเทียน และขนมกล้วย
  5. วันตรุษและสงกรานต์ ประเพณีตรุษจะทำในวันพระสิ้นเดือน ๔ ชาวบ้านจะกวนข้าวเหนียวแดงเพื่อนำไปถวายพระ ข้าวโป่งเป็นขนมที่มีลักษณะคล้ายกับข้าวเกรียบว่าวของภาคกลาง ปัจจุบันชาวบ้านไม่ค่อยทำกันเอง เนื่องจากขั้นตอนการทำยุ่งยากและวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป ส่วนประเพณีสงกรานต์จะทำในวันที่ 13 – 15 เมษายน เหมือนทั่วๆ ไป คือมีการทำบุญตักบาตรสรงน้ำพระพุทธรูป สรงน้ำพระสงฆ์ และชาวบ้านจะเล่นสาดน้ำกัน และที่พิเศษคือจะมีการละเล่นรื่นเริง ต่างๆ เช่น รำโทน ลูกช่วง ชักเย่อ ฯลฯ
  6. ลอยกระทง ทำในวันเพ็ญเดือน 12 ชาวบ้านช่วยทำกระทง ซึ่งกระทงที่จัดทำมีหลายแบบส่วนมากทำจากต้นกล้วย ใช้กาบกล้วยตัดได้ขนาดแล้วตัดเป็นรูปเรือ แล้วใส่ดอกไม้ ธูป เทียน ลงในแพ แล้วนำไปลอยแม่น้ำป่าสัก ชาวบ้านมักจะมาประชุมกันบริเวณวัด และมาลอยกระทงหน้าวัดพร้อมๆ กัน
  7. ประเพณีทอดกฐิน ทอดผ้าป่า การทอดกฐิน จะทอดตั้งแต่หลังออกพรรษาถึงวันเพ็ญเดือน 12 ซึ่งการทอดกฐินของชาวไทยเบิ้ง มี 2 แบบ คือ ทอดกฐินแบบธรรมดา และแบบจุลกฐิน ส่วนการทอด ผ้าป่าจะไม่มีกำหนดแน่นอน ในสมัยก่อนมักจะทอดผ้าป่าทุกวันพระในช่วงเข้าพรรษา
  8. วันสารท เป็นประเพณีที่นิยม เป็นการอุทิศส่วนกุศลไปให้บรรพบุรุษ ในเดือน ๑๐ ชาวบ้านจะกวนกระยาสารทเพื่อนำไปถวายพระหลังเสร็จพิธี ก็จะชวนกันเข้าป่าไปหาผลไม้ป่ากันอย่างสนุกสนาน
  9. บุญกลางบ้าน เป็นประเพณีของชาวไทยเบิ้ง จะทำเฉพาะปีที่ฝนฟ้าไม่ตก วัตถุประสงค์ในการทำเพื่อเป็นการทำบุญบูชาผี ให้คนในหมู่บ้านอยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุขไม่มีโรคภัยร้ายแรง
  10. ประเพณีแห่นางแมวขอฝน (จะอธิบายรายละเอียดในเรื่อง ความเชื่อของชาวไทยเบิ้ง)
  11. รับท้องข้าว เป็นประเพณีที่ทำมาแต่โบราณนิยมทำในวันเข้าพรรษาหรือลาพรรษา หลังจากเสร็จพิธีทำบุญพรรษาแล้ว แต่ละบ้านจะทำพิธีรับท้องข้าว ต่างคนต่างทำในที่นาของตน
  12. รับขวัญข้าว จะทำในเดือน 12 หลังจากเกี่ยวข้าวนวดเข้า นำข้าวเข้ายุ้งแต่ละบ้านที่เก็บเกี่ยวได้จะทำ พิธีรับขวัญ หรือเรียกขวัญข้าว โดยเลือกผู้หญิงที่มีเรือนและมีวัยวุฒิ ให้คอนกระบุงข้าวขึ้นบ่าเดินไปที่ลานจะวางกระบุงลง จุดธูปกล่าวเชิญแม่โพสพ จากนั้นจะมีคนช่วยนำฟางข้าวมาถูกเป็นรูปหุ่น มีแขน ขา ลำตัว ศีรษะขนาดสูงประมาณ 1 ฟุต สมมติว่าเป็นแม่โพสพ วางลงในกระบุงกล่าวเชิญเสร็จก็คอนกระบุงกลับยุ้งมีเคล็ดลับว่าตลอดทางห้ามพูดกับใคร ห้ามทักใคร คอนกระบุงมาเข้ายุ้งข้าวแล้วนำหุ่นฟางแม่โพสพไปตั้งไว้ที่มุมใดมุมหนึ่งบนกองข้าวในยุ้งเหมือนให้แม่โพสพตามจากนามาอยู่ในยุ้งข้าวด้วย